การปฏิรูประบบราชการไทยในช่วงปี 2545-2547 และแนวโน้ม

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ


          วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำเนินการปฏิรูประบบราชการ บทความนี้ ได้ประมวลการปฏิรูประบบราชการในช่วงปี 2545-2547 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการประจำ โดยเน้นเรื่อง เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ แนวทางการปฏิรูประบบราชการ และแนวทางการปฏิรูประบบราชการในอนาคต

1. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ

มีเหตุผลหลายประการที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบราชการ แต่ในที่นี้ยกมาเป็นตัวอย่าง 5 ประการ คือ

หนึ่ง การติดต่อกับต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองและการบริหาร ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อให้สามารถรับมือได้

สอง การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ และเหตุการณ์ในภาคใต้ที่ผู้ก่อความไม่สงบทำอันตรายข้าราชการและประชาชน ได้มีส่วนแสดงให้เห็นว่า  ระบบราชการและ
ข้าราชการอ่อนแอ ไม่อาจเป็นกำแพงที่แข็งแรงเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
  ดังนั้น จึง
จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการ

สาม สืบเนื่องมาจากแนวคิดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบ ที่ว่า ระบบที่ไม่ดี ย่อมทำให้คนดีเสียคน ประชาชนและประเทศชาติเสียหาย โดยประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและไม่ได้รับบริการสาธารณะจากข้าราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประเทศชาติไม่อาจเจริญ
ก้าวหน้าและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศได้
ในเรื่องระบบนั้น อาจกล่าวได้ว่า (1) ระบบไม่ดี ทำให้คนไม่ดีได้ประโยชน์ คนไม่ดีจะยิ่งมีการกระทำที่ไม่ดีเพิ่มขึ้น ๆ ส่วนคนดี จะไม่ก้าวหน้า ไม่อาจทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ คนดีก็จะวางเฉย ท้อแท้ และในที่สุดก็จะกลายเป็นคนไม่ดี เช่น ข้าราชการเริ่มเข้ามาปฏิบัติงานจะมีความคิด
“ริเริ่ม” (initiative thinking) ต้องการสร้างสรรสิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศ แต่เมื่อมาอยู่ในระบบราชการที่ไม่ดี ระบบนี้จะบีบหรือหล่อหลอมให้ข้าราชการมีความคิดและการกระทำเป็นไปในลักษณะที่ “รักษาสถานภาพเดิม” (status quo) เช่น ทำงานเช้าชามเย็มชาม วางเฉยไม่กระตือรือร้น หรือประจบสอพลอผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษ ระบบไม่ดียังจะทำให้ข้าราชการมีความคิดและการกระทำในลักษณะที่ “ท้อแท้ถดถอย” (desperation and retreat) และท้ายสุดกลายเป็นคนไม่ดี แต่ถ้า (2) ระบบดี หรือมีการปฏิรูประบบราชการ ระบบดีจะทำให้คนดี ส่งเสริมคนดีให้ทำประโยชน์ได้มากขึ้น เพราะคนดีจะทำตามระบบที่ดี ส่วนคนไม่ดีก็พยายามเล็ดลอดหาช่องทางทำไม่ดีตลอดเวลาในทุกระบบ ดังนั้น จึงต้องควบคุมคนไม่ดีเหล่านี้ไว้ เพราะในทุกประเทศไม่อาจทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ แต่อาจกระทำได้โดยสนับสนุนคนดีเข้าสู่ตำแหน่ง และมีมาตรการลงโทษคนไม่ดี ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทำให้คนกลาง ๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ยึดระบบที่ดีไว้ให้ได้ อันจะทำให้คนไม่ดีลดน้อยลง

สี่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหน้าที่ของข้าราชการในการอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนไว้ด้วย ซึ่งหน่วยงานของรัฐและข้าราชการต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ “มาตรา 70 บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน”

ห้า ข้าราชการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้น ถ้าข้าราชการยิ่งทำให้ประชาชนมีความสุขมากเท่าใด พระองค์ท่านก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นด้วย

ด้วยหลักการและเหตุผล 5 ประการข้างต้น จึงทำให้เกิดการปฏิรูประบบราชการขึ้น

2.  ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

การปฏิรูประบบราชการในช่วงเวลาดังกล่าวประสบความสำเร็จพอประมาณ เนื่องจากปัจจัยสำคัญ ดังนี้

2.1 นายกรัฐมนตรีมีเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) อย่างแน่วแน่มั่นคง (integrity) ที่จะปฏิรูประบบราชการ พร้อมกับมีนโยบาย และควบคุมกำกับดูแลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการปฏิรูประบบราชการนั้น ถ้าข้าราชการการเมือง (ฝ่ายการเมือง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไม่เข้มแข็ง การปฏิรูประบบราชการไม่อาจประสบผลสำเร็จได้
ข้าราชการประจำ (ฝ่ายประจำ) เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้อำนวยการบางส่วนจะต่อต้าน เพราะตนเองมีอำนาจสืบต่อกันมาช้านาน เกรงจะถูกลดบทบาท เสียอำนาจ และเสียผลประโยชน์

2.2 มีกระบวนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน การปฏิรูประบบราชการในสมัยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ
ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นกระบวนการที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก เริ่มด้วยการปฏิรูป (1) “โครงสร้าง”
 โดยนำงานหรือกระทรวง กรมที่เหมือนกันคล้ายกันมารวมไว้ด้วยกัน รวมตลอดถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายด้วย จากนั้นได้ปฏิรูป (2) “กระบวนการดำเนินงาน” หรือปฏิรูปขั้นตอนในการทำงานให้สั้นลง มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ต่อจากนั้น ได้ปฏิรูป (3) “วัฒนธรรมในการปฏิบัติงานของข้าราชการ” เดิมข้าราชการประจำให้ประชาชนเดินทางมาติดต่อราชการ ประชาชนมีความรู้สึกที่ไม่ต้องการมาติดต่อราชการเพราะไม่ได้รับความสะดวกและได้รับบริการไม่ดีเท่าที่ควร ข้าราชการจึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนด้าน “จิตใจ” โดยเฉพาะให้มีวัฒนธรรมหรือค่านิยมในการปฏิบัติงานไปในทิศทางที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง อันจะทำให้ข้าราชการมี “พฤติกรรมหรือการกระทำ” ที่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน เป็นต้นว่า
นำบริการสาธารณะไปให้ประชาชน การอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนด้วยความเต็มใจเพื่อให้ได้ “รอยยิ้มจากประชาชน”

2.3 มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพร้อมกับให้ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์เพิ่มแก่ข้าราชการด้วย เมื่อข้าราชการได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม ย่อมทำให้ข้าราชการมีความสุขเพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะได้รับบริการดีขึ้นตามไปด้วย

2.4 กระบวนการปฏิรูประบบราชการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักด้ามพล้าด้วยเข่า

2.5 เป็นการร่วมมือระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ โดยผ่านการประชุมปรึกษาหารือกัน

3. แนวทางการปฏิรูประบบราชการ

แนวทางการปฏิรูประบบราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึง วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ที่สำคัญ คือ

3.1 บูรณาการ (integration) หรือการผสมผสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานเข้าด้วยกัน ใช้การบริหารงานเชิงรุก และการบริหารจัดการยุคใหม่ที่ยึดถือ
ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนมีความสุข เช่นนี้ถือได้ว่า เป็นลักษณะที่เรียกว่า “การบริหารการบริการ” (service administration) เพื่อประชาชน ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึง การบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการบริการเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยยึดถือว่า การที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมี
ประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เน้นด้านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพด้วย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง หากการบริหารจัดการในด้านการให้บริการขาดประสิทธิภาพ ย่อมทำให้การอำนวยความสะดวกและการให้บริการแก่ประชาชนขาดประสิทธิภาพตามไปด้วย

3.2 ลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความคล่องตัว ยืดหยุ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และทันสมัย

3.3 นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ทำให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิก (E-Government) นำระบบคอมพิวเตอร์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติราชการให้บริการประชาชน เช่น ด้านการเงินการคลัง การจัดเก็บและการเสียภาษี การประมูลจัดซื้อจัดจ้าง

3.4 ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมของข้าราชการ โดยเฉพาะในเรื่อง คุณภาพคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และประหยัด

3.5 มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ เช่น ทุก 6 เดือน

3.6 เพิ่มเงินเดือนค่าตอบแทนให้ข้าราชการ และมีโครงการเอื้ออาทรให้ข้าราชการ เช่น เปิดโอกาสให้ซื้อคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร

3.7 ปรับปรุงระบบราชการให้เล็กลงและเพิ่มประสิทธิภาพของข้าราชการ ตัวอย่างเช่น ลดจำนวนหรือไม่เพิ่มจำนวนข้าราชการ มีโครงการให้ข้าราชการเกษียณอายุก่อนกำหนด รวมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แทนจำนวนข้าราชการที่ลดจำนวนลง เป็นต้น

4. แนวทางการปฏิรูประบบราชการในอนาคต

ในอนาคต นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป จำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิรูประบบราชการที่สำคัญ เช่น

4.1 การสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติงานเป็นทีม (team work) คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่นิยมการทำงานเป็นทีม แต่ชอบทำงานแบบเก่งคนเดียว (one man show) ถ้าคนไทยทำงานเดี่ยวจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ถ้าทำงานเป็นกลุ่ม จะแย่งกันเก่ง ความเก่งหรือประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ดังนั้น จึงต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นวัฒนธรรมดังกล่าว

4.2 การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงใน
วงราชการโดยถือเป็นนโยบายหลักและเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
 ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป โดยดำเนินการหลายอย่าง เช่น ออกกฎหมายหรือระเบียบใหม่กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างต้องประกาศผ่านเว็บไซต์ (website) มีการประมูลแข่งกันหรือสู้ราคากันในเว็บไซต์หรือโดยใช้คอมพิวเตอร์ สัญญาซื้อขายของทุกหน่วยราชการต้องนำมาใส่ไว้ใน
เว็บไซต์ บริษัทหรือบุคคลใดเป็นผู้ประมูลหรือประมูลได้ต้องแสดงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รู้เห็นและตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ และเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดผ่านทางสื่อต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้รางวัลและมีมาตรการคุ้มครองพยานหรือผู้แจ้งเบาะแสการกระทำที่ไม่สุจริตของข้าราชการอีกด้วย

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการจำเป็นต้องทำเพราะทุกวันนี้ ข้าราชการมีแต่สถานะทางสังคม เช่น มีเกียรติได้รับการยกย่องพอสมควร แต่สถานะเศรษฐกิจของข้าราชการไม่ดี คือ มีรายได้ต่ำ ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องและเลี้ยงครอบครัว มีหนี้สินมาก เมื่อมีทั้ง 2 สถานะนี้มีความแตกต่างกันมาก ยิ่งมีส่วนทำให้ข้าราชการปฏิบัติงานหรือให้บริการประชาชนไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะห่วงปากท้อง และบางส่วนถึงกับการกระทำการทุจริต
ฉ้อราษฎร์บังหลวง สำหรับวิธีการป้องกันส่วนหนึ่ง คือ การเพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทน หรือ
สวัสดิการให้ข้าราชการ พร้อมกับการประเมินผลประสิทธิภาพของข้าราชการ ส่วนการปราบปรามนั้น รัฐบาลต้องดำเนินงานอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชน ภาคเอกชน และประชาชน ที่สำคัญคือ ควรแต่งตั้งผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ศรัทธา เลื่อมใส และยอมรับของสังคมเข้ามาเป็นแกนนำในการป้องกันและปราบปรามด้วย

5. สรุป

การศึกษาการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เน้นไปที่ฝ่ายประจำเป็นหลัก ได้แสดงเหตุผลของการปฏิรูประบบราชการว่าเกิดจากสาเหตุที่สำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ การติดต่อกับต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในประเทศ การเกิดปัญหาวิกฤต การมีระบบราชการที่ไม่เข้มแข็งและการที่ประชาชนไม่ได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับปัจจัยสู่ความสำเร็จในการปฏิรูประบบราชการที่สำคัญ เช่น การที่นายกรัฐมนตรีมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างแน่วแน่มั่นคงที่จะปฏิรูประบบราชการ การมีกระบวนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและค่อยเป็นค่อยไป ส่วนแนวทางการปฏิรูประบบราชการที่ผ่านมา เช่น การผสมผสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานเข้าด้วยกัน การบริหารจัดการยุคใหม่ที่ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง การลดขั้นตอนการปฏิบัติงานการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ตลอดทั้งการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมของข้าราชการ ในส่วนของแนวทางการปฏิรูประบบราชการในอนาคต คือ การสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติงานเป็นทีม และการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ

P P P P P

บรรณานุกรม

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. ค่านิยมของข้าราชการไทยในยุคปฏิรูประบบราชการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2547.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการไทย : ปัญหาแนวทางแก้ไขและแนวโน้มของกฎหมายในอนาคต. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2547.

P P P P P