ผู้ว่าฯ ซีอีโอด้านลบ
วิรัช วิรัชนิภาวรรณแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ แม้จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนไม่น้อย รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีติดต่อกันมา แต่ไม่ได้กล่าวถึงข้อเสียหรือด้านลบไว้ด้วย ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดนี้เมื่อนำมาใช้ในระดับจังหวัดของราชการไทยมีข้อเสียมากกว่าข้อดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นนโยบายหรือเป็นความต้องการของฝ่ายการเมืองระดับชาติซึ่งประชาชนเลือกตั้งเข้ามาและมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบกับผู้เขียนได้ระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า "นโยบายอยู่เหนือเหตุผล" ซึ่งบุคคลสำคัญ เช่น จูเลียต ซีซ่าร์ อดอฟ ฮิตเล่อร์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ น่าจะได้เคยนำคำกล่าวนี้ไปใช้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยอมรับอย่างไม่ค่อยเต็มใจ แต่ขอมีส่วนร่วมด้วยการนำข้อมูลและความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับผู้ว่าฯ ซีอีโอในด้านลบมาเสนอไว้ในบทความนี้ อย่างน้อยบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอให้รัดกุม สมบูรณ์แบบ และเหมาะสมกับการบริหารจัดการระดับจังหวัดในส่วนภูมิภาคของไทยมากขึ้น
ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงข้อดี ข้อเสีย และวิเคราะห์เรื่อง ผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไว้แล้วในวารสารทางวิชาการหลายฉบับเช่น รัฐสภาสาร และพัฒนบริหารศาสตร์ รวมทั้งในหนังสือ เรื่อง "ผู้บริหารสูงสุดระดับจังหวัด: ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โฟร์เพซ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 จำนวน 280 หน้า ต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่สอง ในปี 2547 และเมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม จึงนำมาเขียนรวมไว้ในที่นี้
แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ของนายกรัฐมนตรี
เพื่อช่วยเพิ่มความรู้และความเข้าใจแนวคิดของผู้ว่าฯ ซีอีโอ ให้มากและชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอนำความเห็นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายการเมืองที่มุ่งนำแนวคิดนี้มากำหนดเป็นนโยบายเพื่อให้ฝ่ายประจำนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ซีอีโอหรือผู้รับจ้างเขียนวิสัยทัศน์ อาจนำไปใช้เป็นแนวทางหลักสำหรับเขียนวิสัยทัศน์เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี มีดังนี้ 1) แนวคิดผู้ว่าฯ CEO ไม่ใช่เรื่องพิเศษ หากแต่เพียงหาบุคคลขึ้นเป็น เจ้าภาพ เพราะไม่อยากรับผิดชอบไม่อยากถูกตำหนิ การเป็นเจ้าภาพไม่จำเป็นต้องเป็น "one man show"2) คำว่า CEO คือ Chief Executive Officer แปลว่า เป็นประธานคณะผู้บริหาร แสดงว่ามีผู้บริหารหลายคนมาอยู่รวมกัน แล้วมีท่านหนึ่งเป็นประธาน นั่นคือ การเอาหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนราชการเป็นคณะผู้บริหารแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานทั้งจังหวัดการเป็นประธานที่ประชุมนั้น ไม่ใช่การทำหน้าที่เพียงแค่เป็นประธานของที่ประชุม เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรในการบริหารประเทศ การชี้ให้ผลัดกันพูดแต่ไม่สามารถจุดประกายความคิดชักนำความคิดหรือจับประเด็นของการประชุมได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ผู้ว่าฯ ในฐานะเป็นประธานผู้บริหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ช่วยกันทำ เอายุทธศาสตร์มาวางร่วมกัน
3) ทุกครั้งที่มีปัญหาผู้บริหารต้องเจาะปัญหาให้รู้จัก โดยใช้ Operation Research Team หรือ Team OR องค์ประกอบ ก็คือ คณะบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้ที่มีความรู้หลากหลายในวิชาการต่างสาขามารวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน หรือ multidisciplinary ควรผสมผสานกันระหว่างระบบราชการ (bureaucracy) กับกลยุทธ์ในการจัดการ (management strategy) เพื่อมิให้เกิดความสูญเปล่า (redundant) เนื่องจากต่างคนต่างถือประโยชน์ของหน่วยงานตนเองเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่สามารถเกื้อกูลกันได้
4) ต้องใช้ Can-do Attitude คือ ถ้าเห็นว่าการดำเนินงานนั้นมีความเป็นไปได้เกินร้อยละ 60 ลงมือทำได้เลย อีกร้อยละ 40 ค่อยคิดแก้ไขต่อไป
5) ผู้ว่าฯ เมื่อเป็นเจ้าภาพแล้ว อย่า ตั้งรับ เพียงอย่างเดียวต้อง
รุก ด้วย คนที่มีหน้าที่ตั้งรับคือ ปลัดจังหวัด และรองผู้ว่าฯ จะต้องเป็นผู้ช่วยผู้ว่าฯ คอยผสมผสานปัญหาให้กลมกลืนระหว่างหน่วยงาน อยากให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีอยู่ในจังหวัด 6) ผู้ว่าฯ ต้องกล้าคิดออกนอกกรอบ (think out of the box) อย่าให้ธรรมชาติเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลง ต้องกล้าแก้กฎหมาย ระเบียบ กติกา ฯลฯ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน7) การบริหารจัดการในจังหวัดต้องไม่ฝืนธรรมชาติ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ คนจังหวัดเชียงใหม่เป็นคนใช้น้อย กินน้อย เศรษฐกิจเชียงใหม่จะโตได้ต้องมีการท่องเที่ยวและ มีการแปรรูปสินค้าการเกษตร เป็นต้น
8) ผู้ว่าฯ ต้องมีภาวะผู้นำ (leadership) ต้องสู้กับความจริง (face the fact) เมื่อผู้ว่าเป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีแล้วต้องรายงาน 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งส่งสำนักนายกรัฐมนตรี และอีกฉบับส่งกระทรวงมหาดไทย
9) เอกอัครราชฑูตเป็น CEO นอกประเทศส่วนผู้ว่าฯ จะต้องเป็น CEO ในประเทศ 10) ข้อมูลทุกอย่างจะเชื่อมโยงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีการวิเคราะห์ปัญหาในระดับมหภาค-จุลภาค (macro-micro) ตลอดเวลา โดยผู้ว่าวิเคราะห์มหภาคของจังหวัด แต่เป็นจุลภาคของประเทศ11) เรื่องการบริหารงานบุคคลภายในจังหวัด ผู้ว่าฯ เปรียบเสมือน
อธิบดีจังหวัด ต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษข้าราชการในจังหวัดได้ มิใช่มีอำนาจล้นฟ้า แต่เป็นการให้ภาวะผู้นำแก่ผู้ว่าฯ มิฉะนั้นจะไม่ใช่ผู้ช่วยนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่ เจ้าภาพ 12) ในการรับรู้และแก้ไขปัญหาของจังหวัดทั้งหมด ผู้ว่าฯ จะต้องรับฟังประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วม (participation) ต้องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยให้การกระจายอำนาจที่มีอยู่มารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (piecemeal)ความหมาย
คำว่า ซีอีโอ (CEO) มาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Chief Executive Officer ใช้ในการบริหารงานของภาคเอกชน เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นำมาปรับใช้ในปี พ.ศ. 2544 ได้กล่าวถึง การจัดระเบียบบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา หรือ "การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา" โดยจัดทำเป็น "โครงการจังหวัดทดลองการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการเพื่อการพัฒนา" (คบพ.) คำว่า ซีอีโอ นั้น นายกรัฐมนตรีแปลว่า "ประธานคณะผู้บริหาร" แต่ในที่นี้แปลว่า "ผู้บริหารสูงสุดระดับจังหวัด" สำหรับภาคเอกชนอาจเรียกว่า "หัวหน้าลูกจ้าง" หรือ "หัวหน้าพนักงาน" ดังจะได้กล่าวต่อไปแนวคิดซีอีโอในภาคเอกชน คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งและมอบอำนาจหน้าที่จากคณะกรรมการอำนวยการหรือบอร์ดของบริษัทให้มีอำนาจในการจัดการ ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการใช้อำนาจจัดการบริษัทอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากหัวหน้าฝ่ายบริหารดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำให้บริษัทกำไรหรือขาดทุน เจริญหรือเสื่อม จึงจำเป็นต้องมีอำนาจดังกล่าว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นซีอีโอของภาคเอกชนยังต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูง และซื่อสัตย์สุจริต บริษัทจะให้ค่าตอบแทนสูง พร้อมกับจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ให้อย่างเพียงพอเพื่อทำให้สามารถจัดการกิจการทั้งหลายของบริษัทให้ประสบผลสำเร็จทางวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้าผู้ทำหน้าที่เป็นซีอีโอจัดการกิจการล้มเหลวหรือไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการอำนวยการของบริษัทก็จะสั่งปลดได้
ในเมื่อแนวคิดซีอีโอเป็นลักษณะของการจ้างหัวหน้างานหรือจ้างคนที่มีความสามารถมาเป็นหัวหน้าในการปฏิบัติงาน พร้อมกับมอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ การปฏิบัติงานของซีอีโอจึงไม่อาจหลีกหนีจากลักษณะของ "การรวมอำนาจ" ได้ เข้าทำนอง "ถ้าไม่รวมอำนาจหรือสั่งลูกน้องไม่ได้ก็ไม่ใช่ซีอีโอ" เมื่อซีอีโอปฏิบัติงานสำเร็จตามเป้าหมายก็ได้ค่าตอบแทนสูง แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็อาจถูกไล่ออก ประกอบกับซีอีโอไม่ใช่ "เจ้าของหรือประธานคณะกรรมการอำนวยการหรือบอร์ดของบริษัท" แต่บุคคลดังกล่าวนี้มีอำนาจจ้างและเลิกจ้างซีอีโอ ดังนั้น จึงอาจเรียกซีอีโอได้อีกอย่างหนึ่งว่า "หัวหน้าลูกจ้าง" หรือ "หัวหน้าพนักงาน" สำหรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นซีอีโอได้ เพราะเป็น "หัวหน้าเจ้าพนักงาน" ที่รัฐบาลมีฐานะเป็นนายจ้าง
แนวคิดซีอีโออาจถือว่าเป็น แนวทาง หรือ วิธีการ หรือ "เทคนิค" ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการก็ได้ โดยใช้อยู่ในหน่วยงานของภาคเอกชนของต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป รวมทั้งในภาคเอกชนของไทยการนำแนวคิดซีอีโอมาปรับใช้ในประเทศไทยและความเป็นมา
สืบเนื่องมาจากความเชื่อและข้อเท็จจริงที่ว่า การบริหารงานในระดับจังหวัดของไทยล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพ ขาดเอกภาพในการบังคับบัญชา ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการในระดับจังหวัดไม่มีอำนาจในการบริหาร งาน คน และเงิน มากเท่าที่ควร ดังนั้น รัฐบาลจึงได้นำการบริหารจัดการตามแนวคิดซีอีโอมาปรับใช้ โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และเรียกว่า "ผู้ว่าฯ ซีอีโอ"ก่อนหน้านั้นในปี 2544-2545 เป็นเวลา 1 ปี รัฐบาลดังกล่าวได้จัดทำโครงการทดลองนำแนวคิดซีอีโอไปปฏิบัติในพื้นที่ 5 จังหวัด และในจังหวัดเปรียบเทียบอีก 5 จังหวัด ต่อมาในปี 2546 รัฐบาลได้ประกาศเจตนาแน่วแน่ที่จะนำแนวคิดซีอีโอมาปรับใช้กับการบริหารงานภาครัฐในระดับจังหวัดทั้ง 75 จังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป
กล่าวได้ว่า แนวคิดทำนองเดียวกับผู้ว่าฯ ซีอีโอ นี้ ได้เคยปรากฏให้เห็นบ้างในสมัยรัฐบาลของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ในยุคนั้นเป็นเพียงแนวคิดที่ต้องการเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น มิได้นำแนวคิดซีอีโอของภาคเอกชนมาใช้ และมิได้จัดทำโครงการทดลอง 1 ปี แนวคิดเพิ่มอำนาจในสมัยดังกล่าวต้องล้มเลิกไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ย้อนไปในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มี "แนวคิดการเทศาภิบาล" หรือ "แนวคิดสมุหเทศาภิบาล" ที่พอเทียบเคียงได้กับแนวคิดซีอีโอเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจหรือให้ดาบอาญาสิทธิ์ให้แก่ข้าราชการระดับสูงหรือสมุหเทศาภิบาล ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าผู้ปกครองบังคับบัญชาทุกมณฑล รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบและมีอำนาจเหนือเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนที่สังกัดในมณฑลเทศาภิบาลนั้น ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ไปปฏิบัติราชการบางเรื่องต่างพระเนตรพระกรรณ
การเทศาภิบาล เป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการอันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ไว้วางใจรัฐบาลของพระองค์ รับแบ่งภาระรัฐบาลกลางซึ่งประจำอยู่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินการส่วนภูมิภาคอันเป็นที่ใกล้ชิดต่ออาณาประชากร เพื่อให้ได้มีความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วกัน โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรด้วย ได้แบ่งส่วนการปกครองแว่นแคว้นออกโดยลำดับเป็นมณฑล จังหวัดหรือเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และแบ่งหน้าที่ราชการเป็นสัดส่วน จัดเป็นแผนกพนักงานทำนองการของกระทรวงในราชธานี อันเป็นวิธีนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระงับทุกข์ บำรุงสุข ด้วยความเที่ยงธรรมแก่อาณาประชาชน
ข้อสังเกตที่เป็นด้านลบของผู้ว่าฯ ซีอีโอ
เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ ซึ่งหมายถึง การเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งประโยชน์ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการเสนอข้อมูลเพื่อให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงข้อเสียของแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ จะได้นำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงให้แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอสมบูรณ์มากขึ้น การนำเสนอต่อไปนี้มุ่งเฉพาะด้านลบของผู้ว่าฯ ซีอีโอซึ่งมีหลายประการประกอบกัน1) แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ขัดหรือแย้งกระแสโลก ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศ
แม้จะมีกระแสต่อต้านในลักษณะที่ว่า "การกระจายอำนาจที่มากเกินไป จะเป็นผลร้ายมากกว่าการรวมอำนาจ" ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจต่อต้านกระแสโลกปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกระแสโลกที่สนับสนุนหลักการสำคัญ เช่น ระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม ความหลากหลาย ระบบเปิด ความโปร่งใส การควบคุมตรวจสอบ ตลอดจนการให้ความสำคัญต่อประชาชนและชุมชน เป็นต้น สำหรับประเทศไทยหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับกระแสโลกดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารของไทยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับท้องถิ่น หรือระดับภูมิภาค โดยการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศในทุกระดับดังกล่าวมีความสัมพันธ์กัน สอดคล้องกัน ส่งผลกระทบถึงกัน และไม่อาจแยกออกจากกันได้ง่ายหากพิจารณาศึกษาแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอจะพบว่า มีแนวโน้มที่ไม่สอดคล้องกับกระแสโลก รัฐธรรมนูญไทย และการปฏิรูปการเมือง กล่าวคือ
1.1)
แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอเป็นการรวมอำนาจในการบริหารงาน คน และเงิน ของส่วนราชการในระดับจังหวัดไว้ที่คน ๆ เดียว เอกลักษณ์ของซีอีโอที่สำคัญคือ การรวมอำนาจไว้ที่ผู้ว่าฯ ซีอีโอ หรือ "ถ้าสั่งไม่ได้ก็ไม่ใช่ซีอีโอ" ดังนั้น ภายใต้แนวคิดของผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไม่อาจกล่าวถึง "การมีส่วนร่วม" ได้อย่างเต็มที่หรือเต็มภาคภูมิ เพราะถ้าเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมเมื่อใด ก็ไม่เข้าลักษณะของซีอีโอ การมีส่วนร่วมจึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อให้ดูดีหรือเพื่อสร้างความชอบธรรมและการยอมรับเท่านั้น การมีส่วนร่วมหากมีขึ้นจะเป็นลักษณะคล้ายเป็นไม้ประดับ เช่น การที่หัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าฯ ซีอีโอมีแนวโน้มที่จะเป็นลักษณะ "ว่าอะไรว่าตามกัน" หรือ "เชื่อผู้นำ จังหวัดเจริญ" หรือ "ใช่ครับพี่ดีครับท่าน" หากมีการแสดงความคิดเห็น ก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือพูดเพื่อสนับสนุนความคิดและการกระทำของผู้ว่าฯ ซีอีโอ ผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่จะหุบปากเงียบ และยึดหลัก "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" หรือ "พูดไปก็เท่านั้นเอย อยู่เฉย ๆ ดีกว่า" เพราะหากแสดงความคิดเห็นอาจถูกเขม่น หรือโยกย้ายได้เมื่อใดก็ตามที่มอบอำนาจและดุลพินิจในการวินิจฉัยสั่งการให้แก่ผู้ว่าฯ ซีอีโอเพียงคนเดียวก็จะไปสอดคล้องกับแนวคิดเผด็จการ ถึงแม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอจะไม่มีลักษณะภาวะผู้นำแบบเผด็จการก็ตาม และเมื่อใดอำนาจไปอยู่ในมือคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ก็จะยิ่งทำให้คน ๆ นั้น ประพฤติทุจริตได้ง่าย (absolute power, corrupt absolutely) อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าแนวคิดเผด็จการจะมีข้อเสียเสมอไป เผด็จการอาจเหมาะสมในบางยุค บางสมัย บางโอกาส และเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่ถ้าใช้แนวคิดเผด็จการไปนาน ๆ โอกาสที่จะเหลิงอำนาจ หรือประพฤติมิชอบยิ่งเกิดได้ง่าย อย่างไรก็ดี แนวคิดเผด็จการจะประสบผลสำเร็จดำรงอยู่ได้และได้รับการยกย่องสรรเสริญ ผู้ที่ใช้อำนาจเผด็จการต้องมีคุณสมบัติพิเศษมีคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตอย่างแน่วแน่และมั่นคง หรือยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทาง
ภายใต้การบริหารงานที่นำแนวคิดเผด็จการหรือแนวคิดรวมอำนาจไปใช้ในทางปฏิบัติโดยรวมอำนาจอย่างกว้างขวางไว้ที่คน ๆ เดียว เป็นที่รู้กันและคนไทยได้รับบทเรียนเสมอมาว่า การควบคุมตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานไม่อาจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ตรวจสอบเกรงกลัวอิทธิพล อำนาจ บารมีและผลกระทบในแง่ลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การควบคุมตรวจสอบภายในหน่วยงานโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าฯ ซีอีโอไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเทียบเคียงได้กับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทห้างร้านหลายแห่งในอดีตยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ต้องล้มเลิกกิจการไป หน่วยงานดังกล่าวได้นำแนวคิดซีอีโอที่รวมอำนาจในการบริหารไปใช้ปฏิบัติ และแต่ละหน่วยงานมีฝ่ายควบคุมตรวจสอบภายใน แต่ก็ไม่อาจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะลูกน้องไม่กล้าควบคุมตรวจสอบเจ้านายใหญ่หรือหัวหน้าลูกจ้าง หรือถ้าดำเนินการควบคุมตรวจสอบก็ทำเพียงเป็นพิธีเพื่อตบตาเท่านั้น
สำหรับแนวคิดประชาธิปไตยแม้มีข้อเสียหรือข้อบกพร่องก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้วน่าจะดีกว่าแนวคิดเผด็จการ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า
ประชาธิปไตยแม้มิใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เลวน้อยที่สุด เช่นนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 แนวคิดนี้ยิ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเป็นที่น่าสังเกตว่า คำหรือถ้อยคำบางคำก็ไม่อาจนำมาใช้กับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอได้อย่างแท้จริง เช่น "การกระจายอำนาจ" ดังกล่าวแล้วว่า แนวคิดซีอีโอเป็นแนวคิดรวมอำนาจ ดังนั้น จึงอยู่กันคนละขั้วหรือตรงกันข้ามกับแนวคิดการกระจายอำนาจ อีกทั้งการกระจายอำนาจจะเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อข้าราชการไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำให้อำนาจแก่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นหรือประชาชนในท้องถิ่น แต่ถ้าข้าราชการดังกล่าวให้อำนาจแก่ข้าราชการด้วยกัน เช่น ข้าราชการในส่วนกลางมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่อาจเรียกว่ากระจายอำนาจ แต่เรียกว่า "แบ่งอำนาจหรือมอบอำนาจ" นอกจากนี้แล้ว คำว่า "การบูรณการ" และ "การพัฒนา" ทั้ง 2 คำนี้สอดคล้องและไปด้วยกันได้กับแนวคิดประชาธิปไตยที่สนับสนุนการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม ความหลากหลาย และการบริหารในระบบเปิดมากกว่า
กล่าวโดยย่อ แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอนี้มุ่งสร้างประสิทธิภาพและเอกภาพตามกฎหมายให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอในลักษณะที่ทวนกระแสโลก ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย และยังขัดขวางการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหาร ที่สำคัญคือ การสร้างประสิทธิภาพและเอกภาพไม่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเผด็จการหรือการรวมอำนาจ อาจอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตยได้เช่นกัน โดยเฉพาะในยุคที่สังคมโลกและประเทศไทยยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1.2) แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอสนับสนุนการสนับสนุนราชการส่วนภูมิภาคให้เข้มแข็ง ประเทศทั่วโลกเป็นจำนวนมากแบ่งราชการบริหารแผ่นดินของประเทศออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ราชการบริหารส่วนกลางใช้หลักการรวมอำนาจ แต่ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นใช้หลักการกระจายอำนาจ สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคนั้น แท้ที่จริงก็คือราชการบริหารส่วนกลางที่ใช้หลักการรวมอำนาจนั่นเอง ในบางประเทศไม่มีราชการบริหารส่วนภูมิภาค หรือบางประเทศมีราชการบริหารส่วนภูมิภาคแต่ก็ไม่ให้ความสำคัญเพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนกลาง สำหรับประเทศที่แบ่งราชการบริหารแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน มีให้เห็นน้อยมาก ที่ชัดเจนมี 2 ประเทศ คือ ไทยและฝรั่งเศส แบ่งเป็น ราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกนับวันจะให้ความสำคัญกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่ใช้หลักการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้น ๆ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศทั้งหลายให้ความสำคัญกับราชการบริหารส่วนภูมิภาคน้อยมาก หรือยิ่งน้อยลง ๆ พร้อมกับสนับสนุนราชการบริหารส่วนท้องถิ่นหรือหลักการกระจายอำนาจเพิ่มมากขึ้น ๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศดังกล่าวยึดมั่นและศรัทธาว่า (1) หลักการกระจายอำนาจเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย (2) หลักการกระจายอำนาจเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย (3) ยิ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้นเท่าใด ประเทศก็ยิ่งเจริญมากขึ้นเท่านั้น และ (4) ประสิทธิภาพและเอกภาพ เกิดจากแนวคิดประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ มิใช่เกิดจากแนวคิดเผด็จการและการรวมอำนาจ เห็นตัวอย่างได้จากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ล้วนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เจริญก้าวหน้าและมั่นคง ประเทศดังกล่าวได้สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจพร้อมกันไปด้วย
สำหรับฝรั่งเศสแม้เป็นประเทศประชาธิปไตยแต่มีการกระจายอำนาจน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศดังกล่าว เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากฝรั่งเศสมีราชการบริหารส่วนภูมิภาคอย่างเด่นชัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งไทยได้นำแนวคิดผู้ว่าราชการจังหวัดของฝรั่งเศสมาปรับใช้ด้วย และแม้ฝรั่งเศสก็ยังไปไม่ถึงระดับที่นำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอมาใช้
ในส่วนของราชการบริหารส่วนภูมิภาคตำราส่วนใหญ่ของไทยถือว่าใช้หลักการแบ่งอำนาจหรือหลักการมอบอำนาจ แท้ที่จริง หลักการแบ่งอำนาจหรือหลักการมอบอำนาจก็คือหลักการรวมอำนาจนั่นเอง เนื่องจากเป็นการมอบอำนาจให้กับข้าราชการด้วยกัน ไม่ว่าข้าราชการจะปฏิบัติงานอยู่กับผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจปูนบำเหน็จรางวัลและลงโทษในส่วนกลางหรือในเมืองหลวง หรือออกไปปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ห่างจากผู้บังคับบัญชาก็ตาม ดังนั้น ในกรณีของแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอนี้จึงเป็นลักษณะของการรวมอำนาจแบ่งอำนาจหรือมอบอำนาจระหว่างข้าราชการด้วยกันเอง ประชาชนไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจนั้นด้วย แต่ได้รับผลกระทบด้านลบอย่างแน่นอนและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ดังนั้น การส่งเสริมให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ จึงเป็นลักษณะของแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับกระแสโลก หลักการประชาธิปไตย และหลักการกระจายอำนาจ
หากมองย้อนไปก่อนปี 2540 ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 ผู้ว่าราชการจังหวัดไทยมีอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงกับกล่าวกันว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวก 2 ใบ คือ ดำรงตำแหน่งเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่สังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งสังกัดราชการบริหารส่วนท้องถิ่นด้วย ในที่สุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา และประชาชนได้ร่วมมือกันปรับเปลี่ยนจนสำเร็จ โดยออกกฎหมายลดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้สวมหมวกเพียงใบเดียว หรือให้ดำรงตำแหน่งแรกเพียงตำแหน่งเดียว และให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ลักษณะเช่นนี้ ถือว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศไทยครั้งสำคัญยิ่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยได้ลดความสำคัญของราชการบริหารส่วนภูมิภาคพร้อมกับสนับสนุนการกระจายอำนาจ ลักษณะเช่นนี้ได้รับการรองรับและสนับสนุนอย่างชัดเจนโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 โดยเฉพาะในมาตรา 78 ที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ในจังหวัดที่มีความพร้อม รัฐธรรมนูญยังให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจหรือการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นหลายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 282 ถึง มาตรา 290
แต่อีก 4 ปีต่อมา (พ.ศ. 2544) นับแต่ปีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกลดอำนาจลงอย่างมากซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญดังกล่าว เหตุการณ์กลับปรากฏว่า แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ซึ่งสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมา ที่กล่าวมานี้ไม่นับรวมก่อนหน้าที่แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอจะปรากฏออกมานั้น มีกระแสข่าวออกมาในระยะสั้น ๆ ว่า จะมีการยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ ดังนั้น การหาเหตุผลที่มีน้ำหนักมาตอบสังคมว่า เหตุใดจึงสนับสนุนราชการบริหารส่วนภูมิภาคอย่างมากและไม่เคยมีมาก่อน แทนที่จะสนับสนุนการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ของผู้สนับสนุนแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอที่ต้องทำให้สังคมยอมรับให้ได้ก่อนที่จะนำมาใช้จริง
1.3) แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอเป็นอุปสรรคต่อราชการบริหารส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งราชการบริหารแผ่นดินของไทยออกเป็น 3 ส่วน โดยแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กันทั้งทางกฎหมายและในทางปฏิบัติจริง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะควบคุมดูแลหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด เนื่องจากตามแนวคิดของการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจเห็นว่าการปกครองท้องถิ่น หมายถึง (1) การปกครองของประชาชน คือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการบริหารงานอย่างแท้จริง (2) การปกครองโดยประชาชนในท้องถิ่นเอง คือ ประชาชนในท้องถิ่นเลือกตั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติกันเอง มิใช่แต่งตั้งฝ่ายบริหารมาจากบุคคลภายนอกท้องถิ่น และ (3) การปกครองเพื่อประชาชน คือ ผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นเป็นอิสระจากการกำกับดูแลของรัฐบาลในส่วนกลางหรือของผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาคได้ แต่เป็นลักษณะของการที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการบริหารงาน (autonomy) เท่าที่กฎหมายของรัฐบาลในส่วนกลางให้อำนาจไว้โดยหน่วยการปกครองท้องถิ่นทุกหน่วยยังคงรับงบประมาณ มีความสัมพันธ์และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชการบริหารส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคตามกฎหมายไม่มากก็น้อย เช่น ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาตรา 2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 77 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 71 รวมทั้งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 มาตรา 90 ก็ได้บัญญัติในทำนองเดียวกันด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ซึ่งสนับสนุนราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้เข้มแข็งจึงมีความสัมพันธ์กับหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดโดยไม่อาจมองแบบแยกส่วนหรือแยกออกจากกันได้มีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงต่อไปคือ แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเพื่อนำไปสู่การฝั่งใจ ยึดมั่น และกล่าวอ้างอยู่เสมอ ๆ ว่า หน่วยการปกครองท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่นยังไม่พร้อม ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหาร มีการซื้อสิทธิ์ซื้อเสียง และเกิดการทุจริตหรือคอร์รับชั่นในระดับรากหญ้า มีการกระจายการโกงไปสู่ท้องถิ่น รวมตลอดไปถึงการไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นฝึกหัดหรือเรียนถูกเรียนผิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมในลักษณะที่ต้องการให้ข้าราชการประจำในส่วนภูมิภาคจะได้มีโอกาสปกครองและใช้อำนาจในท้องถิ่นเองต่อไปเรื่อย ๆ ลักษณะทำนองแย่งอำนาจและผลประโยชน์กันในส่วนภูมิภาคจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้น ภายใต้แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอจึงมองไม่เห็นหนทางที่การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่นจะเจริญก้าวหน้าและฝึกหัดตนเองเพื่อให้สามารถยืนอยู่บนขาของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาพึ่งพิงข้าราชการประจำในส่วนภูมิภาค
1.4) แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไม่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 ได้ เมื่อใดก็ตามที่แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอถูกนำไปใช้จริงก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนแนวคิดการรวมอำนาจและราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากก็คือ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติเมื่อผู้ว่าฯ ซีอีโอมีอำนาจมากแล้ว ย่อมไม่ต้องการที่จะคายอำนาจ ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในเกือบทุกสังคม ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนราชการบริหารส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจที่ตรงกันข้ามอยู่คนละขั้วกับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ ผนวกกับรัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดที่สนับสนุนหรือมีแผนงานที่จะส่งเสริมรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 บทบัญญัติมาตรานี้จึงถูกละเลยถาวรแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ หากนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจังทั่วประเทศย่อมส่งผลกระทบด้านลบต่อราชการบริหารส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ เมื่อผู้ว่าฯ ซีอีโอระลึกอยู่เสมอว่าตนเองต้องแสดงผลงานให้ปรากฏมิฉะนั้นอาจถูกโยกย้ายหรือสำรองราชการได้ ดังนั้น ในการแสดงผลงานจึงจำเป็นต้องระดมสรรพกำลังภายในจังหวัดทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะมีกฎหมายห้ามผู้ว่าฯ ซีอีโอขัดขวางการปฏิบัติงานของหน่วยการปกครองท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลก็ตาม แต่ในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ หน่วยการปกครองท้องถิ่นดังกล่าวย่อมต้องถูกกระทบแน่นอน เช่น ถูกดึงทรัพยากรและกำลังคนเพื่อเข้าไปร่วมในแผนการพัฒนาจังหวัด อีกทั้งโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นหรือประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ร่วมกันคิด วางแผน และตัดสินใจไว้ อาจต้องปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการของทางจังหวัดหรือความต้องการของผู้ว่าฯ ซีอีโอ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีโอกาสที่จะแสดงผลงานของตนเองได้อย่างเต็มที่ และยังอาจเป็นการซ้ำซ้อนกันอีกด้วยเนื่องจากอยู่ในจังหวัดเดียวกันและมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนกลุ่มเดียวกัน อำนาจของข้าราชการประจำหรือผู้ว่าฯ ซีอีโอที่มีมากมหาศาลและเป็นบุคคลที่มาจากนอกท้องถิ่นจะเข้าครอบงำอำนาจของหน่วยการปกครองท้องถิ่นทุกหน่วย หน่วยการปกครองท้องถิ่นก็จะถูกเลี้ยงไม่ให้โตไม่ให้เข้มแข็งไปเรื่อย ๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นของจังหวัดนั้นเอง
ไม่เท่านั้น ยังเป็นการย้อนกลับไปสู่การมีผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อ 4 ปีก่อน และน่าเสียดายที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหาร ตลอดจนการปกครองท้องถิ่น โดยเปิดโอกาสให้เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในทุกจังหวัด ยกฐานะสุขาภิบาลทุกแห่งเป็นเทศบาล ให้นายกเทศมนตรีเมืองพัทยามาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสนับสนุนองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ การสนับสนุนเหล่านี้จะไม่มีความหมายหรือถูกลดความสำคัญลง และถึงแม้ว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับแต่ พ.ศ. 2540 หน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ จะพบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ก็ถือว่าเป็นยุคของการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง นักประชาธิปไตยควรให้โอกาสหน่วยการปกครองท้องถิ่นได้พัฒนา มิใช่นำกลับไปสู่แบบเดิม ซึ่งการปกครองแบบเดิมได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน และได้แสดงออกอย่างซ้ำซากแล้วว่าไม่ได้ผลรัฐบาลและประชาชนในยุคนั้นจึงหันมาสนับสนุนการปกครองส่วนท้องถิ่นแทนมากขึ้น
ดังนั้น ถ้านำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอมาใช้ก็เท่ากับว่าหน่วยการปกครองท้องถิ่นต้องได้รับผลกระทบด้วยไม่มากก็ น้อย และอาจมองไปได้ว่าแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะสนับสนุนราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือข้าราชการประจำให้เข้มแข็ง หรือจะสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้มแข็งทางใดทางหนึ่ง ที่สำคัญก็คือ สมาชิกรัฐสภา สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนได้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกัน และใช้เวลานานมากในการพัฒนาการเมืองการปกครองและการบริหารในระดับจังหวัดไปสู่การลดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดได้สำเร็จในปี 2540 แต่ดูจะเป็นการง่ายเกินไปหรือเปล่าที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม
2) แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอสอดคล้องกับระบบปิด การนำบุคคลมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอจำกัดอยู่เฉพาะในวงแคบมากโดยมาจากภายในกระทรวงเดียว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในปี 2546 มีผู้ว่าฯ ซีอีโอจำนวน 75 คนล้วนมาจากกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยมี 20 กระทรวง โดยกระทรวงอื่น เช่น กลาโหม สาธารณสุข ศึกษาฯ หรือเกษตรฯ บุคคลในระดับเดียวกันกับผู้ว่าฯ ซีอีโอที่มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสเข้ารับคัดเลือกหรือแต่งตั้งแม้แต่น้อย แม้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นทั้งที่เป็นข้าราชการประจำและบุคคลภายนอกเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอได้ในปีที่สองหรือในปี 2547 ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ระบุจำนวนไว้อย่างชัดเจนว่า จะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอจำนวนกี่คนหรือคิดเป็นร้อยละเท่าใดของผู้ว่าฯ ซีอีโอทั้งหมด และจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็น ผู้ว่าฯ ซีอีโอหรือไม่ ดังนั้น โอกาสที่จะได้บุคคลที่เหมาะสมจึงเป็นที่สงสัยพอสมควร อีกทั้งโครงการทดลองใน 5 จังหวัดในอดีต ก็มิได้นำบุคคลในระดับเดียวกันจากกระทรวงอื่นมาเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอแม้แต่คนเดียว 3) แนวคิดซีอีโอของภาคเอกชนไม่อาจนำมาใช้กับการบริหารราชการในระดับจังหวัดได้ง่าย แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอได้รับแนวคิดมาจากภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการมีผู้บริหารระดับสูงที่มีและใช้อำนาจสูงสุดในหน่วยงาน แต่ถ้ามองย้อนไปถึงแนวคิดหลักในการจัดตั้งหน่วยงานของภาคเอกชนก็จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาคเอกชนส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นมิได้ต้องการเพียงผลกำไร (profits) เท่านั้น แต่ต้องการหาแสวงหา ผลกำไรสูงสุด (maximum profits) จากประชาชนหรือผู้รับบริการ ขณะที่แนวคิดหลักในการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐ คือ การให้บริการสาธารณะ (public services) ต่อประชาชนและสังคม อีกทั้งในช่วงที่โลกและประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ บริษัท ห้างร้าน ธนาคาร และสถาบันการเงินจำนวนไม่น้อยที่มีการบริหารงานทำนองเดียวกับซีอีโอและมีเอกภาพในการบริหารอย่างมากแต่ก็ได้ประสบกับการขาดทุนหรือล้มเลิกกิจการไป บางแห่งได้สร้างภาระหนี้สินให้กับรัฐบาลและประชาชนอีกด้วย สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากอำนาจและอิทธิพลของซีอีโอในหน่วยงานภาคเอกชนดังกล่าวมีเอกภาพอย่างมาก ขาดความหลากหลายและการตรวจสอบถ่วงดุลโดยระบบตรวจสอบภายในหน่วยงานภาคเอกชนภายใต้การบริหารงานของซีอีโอถูกทำให้ไม่เข้มแข็งยังมีข้อแตกต่างอีกคือ ลักษณะงานของหน่วยงานเอกชนจะเป็นเฉพาะเรื่อง เฉพาะด้าน ไม่กว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนไม่มาก โดยเน้นเรื่องการผลิต การตลาด และการให้บริการ แต่ลักษณะงานของหน่วยงานภาครัฐไม่เพียงครอบคลุมเรื่องดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย เป็นต้นว่า การทะเบียนราษฎร์ การรักษาความสงบเรียบร้อย การปราบปรามผู้ก่อการร้าย การป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยทั้งหลาย กระบวนการยุติธรรม และการก่อสร้าง ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชนกว้างขวางอย่างมากและต่อเนื่อง ดังนั้น แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอจึงไม่อาจนำมาใช้กับการบริหารงานของทางราชการในระดับจังหวัดได้ง่าย และหากอำนาจไปรวมอยู่ที่ผู้ว่าฯ ซีอีโอ กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ จะยังคงรักษาความเป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาจะถูกแทรกแซงหรือไม่เพียงใด เป็นปัญหาที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจน เหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดข้อยกเว้นไว้อย่างชัดเจนเหมือนกับการยกเว้นไม่ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ซีอีโอเข้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของทหารหรือไม่เพียงใด
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดอย่างชัดเจนเพียงพอ หรือมีในระดับที่ทำให้ประชาชนและสังคมยอมรับหรือเชื่อมั่นได้ว่าประสิทธิภาพและเอกภาพของการบริหารงานในระดับจังหวัดจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเพียงพอและคุ้มค่าหากนำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอไปใช้ 4) ผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนได้นำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไปประยุกต์ใช้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อแก้ไขปัญหาของจังหวัดอยู่บ้างแล้ว กล่าวคือ นอกเหนือจากการใช้ ศาสตร์ หรือใช้วิชาความรู้ วิชาการ หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการบริหารงานแล้ว ในบางสถานการณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้ภาวะผู้นำที่มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว การเอาจริงเอาจริง ความแน่วแน่มั่นคง รวมทั้งใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริตและจิตวิญญาณที่รักชาติรักแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้เป็นการใช้ ศิลป์ หรือ ศิลปะในการบริหารงาน ของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารงานระดับจังหวัดภายใต้แนวทางหรือวิธีการที่ใช้ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มีประสิทธิภาพและมีเอกภาพในบางจังหวัดได้เช่นกัน ในอนาคตแม้ว่ารัฐบาลจะนำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอไปใช้ปฏิบัติทั่วประเทศ แต่ถ้าผู้ว่าฯ ซีอีโอบางคนมีศิลปะดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรฐานที่สังคมยอมรับ ประสิทธิภาพและเอกภาพในการบริหารงานก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า แนวคิดการแก้ปัญหาระดับจังหวัดโดยการเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อใช้ในการบริหาร งาน คน และเงิน ด้วยการออกกฎหมายมาบังคับ อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร หากผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไม่สามารถใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในที่สุดก็จะเข้าทำนองที่ว่าไทยเป็นประเทศที่ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับมามากมาย แต่เกิดความสับสนวุ่นวายหรือไม่อาจนำไปใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Thailand, land of laws, but disorder)5) ภายใต้รัฐบาลในปัจจุบันมีผลงานชิ้นโบแดงในระดับจังหวัดที่สามารถดำเนินงานสำเร็จโดยไม่ได้นำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอไปใช้ เห็นได้อย่างชัดเจนและปฏิเสธได้ยาก คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดหรือยาบ้าในทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 75 จังหวัดสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ทำให้ได้รับการยกย่องทั้งจากภายในและต่างประเทศ ความสำเร็จดังกล่าวมิได้เกิดจากการนำแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอไปใช้แม้แต่น้อย เบื้องหลังความสำเร็จนี้เกิดจากผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด จึงยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะนำแนวคิดซีอีโอไปใช้ให้เสียชื่อเสียง
เป็นที่เชื่อแน่ว่า ในอนาคตหากนายกรัฐมนตรีคนเดิมนี้พ้นจากตำแหน่งไป มีแนวโน้มว่าแนวคิดนี้ก็คงจะต้องถูกยกเลิกไปด้วย หรือถ้าไม่ถูกยกเลิกก็จะถูกปล่อยปละละเลย ความเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ความรู้ความสามารถและความเป็นมืออาชีพก็แตกต่างกัน แต่ผู้ที่ยังคงได้รับประโยชน์โดยตรงและถาวรคือ ผู้ว่าฯ ซีอีโอหรือกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุผลเหล่านี้ แทนที่จะให้มีผู้ว่าฯ ซีอีโอในทุกจังหวัด ควรที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่เดิมนี้ปฏิบัติงานโดยยึดถือวิสัยทัศน์หรือแนวทางการบริหารจัดการ 26 ประการของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา (extraordinary person) แทน ก็น่าจะได้ผลไม่แตกต่างกัน ทั้ง 26 ประการมีดังนี้
1) มีผู้รับผิดชอบหรือมีเจ้าภาพในทุกกิจกรรมหรือในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน
2) ปฏิบัติงานอย่างท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายหลักหรืองานชิ้นโบว์แดงที่ต้องทำ และพยายามทำให้สำเร็จ หรือปฏิบัติงานให้เสร็จก่อนกำหนดเวลาที่ได้ประกาศไว้
3) กำหนดกรอบเวลาในการทำงาน เช่น ระบุเวลาการปฏิบัติงานว่าจะแล้วเสร็จภายในกี่วันกี่เดือน หลีกเลี่ยงการพูดว่า จะพยายามให้เร็วที่สุด โดยไม่ระบุเวลา
4) ตั้งเป้าหมายหรือระบุจำนวนปริมาณงานที่จะทำให้สำเร็จไว้อย่างชัดเจน เช่น จะสร้างบ้านหรือสร้างโรงเรียนจำนวนเท่าใด จะสร้างกลุ่มพลังประชาชนจำนวนกี่กลุ่ม
5) มุ่งผลสำเร็จของงาน โดยเริ่มจากจิตใจที่มีจิตสำนึกในการปฏิบัติงานที่มุ่งความสำเร็จ (achievement consciousness) มิใช่มีจิตสำนึกในการปฏิบัติงานที่อยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการ (bureaucracy consciousness) สำหรับการปฏิบัติงาน ต้องเป็นลักษณะมุ่งผลผลิต (product) เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ติดยึดอยู่กับกระบวนการ (process) หรือระเบียบกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานมากเกินไป พร้อมกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงการบริหารงานด้วยปากที่อ้างประชาชนพร่ำเพรื่อโดยผลงานไม่ปรากฏชัดเจน และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำพูดดังต่อไปนี้ "การปฏิบัติงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง" แต่ไม่ได้บอกว่าทั้งหมดมีกี่ระดับ "เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลามากในการแก้ไขปัญหา" หรือบริหารงานด้วยการตั้ง "คณะกรรมการซื้อเวลา" ขึ้นมาเพื่อถ่วงเวลาหรือปล่อยให้เวลาเป็นผู้แก้ไขปัญหาแทน
6) ยึดถือประชาชนหรือผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นเป้าหมายหลัก
7) แสดงลักษณะผู้นำที่กล้าได้กล้าเสีย ไม่แทงกั๊ก หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานแบบพบกันครึ่งทาง หรือมุ่งรับแต่ความชอบอย่างออกนอกหน้า โดยไม่กล้ารับผิดเมื่อผิดพลาด กล้าให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้กระทำความดี เช่น ผู้แจ้งเบาะแส ผู้นำจับ และผู้เสียสละชีวิตเพื่อชาติ
8) กล้าคิด ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดพิธีการ ตลอดจนติดตามงานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งในช่วงเวลาวิกฤตด้วย
9) กล้าคิดและทำนอกกรอบ ซึ่งอาจยึดถือคำกล่าวที่ว่า "ประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมืองจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้แหกกฎ" (history is made by those who break the rules)
10) กล้าคาดการณ์หรือทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ทั้งยังเป็นการแสดงความมั่นใจให้ปรากฏ
11) บริหารจัดการในเชิงรุกทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วยความคิดริเริ่ม พร้อมนำเสนอสิ่งแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยค่อยๆ ปล่อยออกมาตามจังหวะเวลา
12) ประชาสัมพันธ์ผลงานอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้มืออาชีพ (professional) มิใช่ใช้ มือสมัครเล่น (amateur) 13) ตอบโต้หรือสวนผู้ต่อต้านอย่างทันทีทันควันเพื่อสกัดกั้นและกำหราบผู้ต่อต้าน ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและตนเองด้วย
14) จัดตั้งทีมตรวจสอบและติดตามผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชารวมทั้งทำวิจัยเพื่อตรวจสอบข้อมูล ความนิยม และความต้องการของประชาชน
15) เลือกผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีฝีมือและควบคุมสั่งการได้
16) วางตำแหน่งคนของตัวเองไว้ในตำแหน่งสำคัญและในทุกวงการ17) ไม่เปิดโอกาสให้มีคู่แข่งหรือให้ใครมามีชื่อเสียงเทียบเท่าหรือมาทาบบารมี
18) นำข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้อย่างจริงจัง
19) มีไมตรีจิต (courtesy) ซึ่งครอบคลุมถึงการมีมารยาท ความสุภาพ ความเอื้อเฟือ และมีอัธยาศัยดี
20) มีการบริหารจัดการที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ (professionalism) โดยนำหลักวิชาการมาประยุกต์ใช้ประกอบด้วย
21) เป็นที่ยอมรับ (respect) หรือได้รับความศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่
22) มีความยืดหยุ่น (flexible) ซึ่งต้องเป็นการยืดหยุ่นเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
23) เสียสละประโยชน์และความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม มีความเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
24) ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อย่างภาคภูมิใจ มีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี
25) ให้เกียรติและยกย่องครอบครัว
26) ติดดิน ไม่สำรวย ไม่วางฟอร์ม วางก้าม ไม่ติดยึดกับตำแหน่ง รู้จักพอและพร้อมที่จะลงจากตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ก็ตั้งความปรารถนาสำหรับอนาคตของตนเองไว้ด้วย เช่น มิได้มุ่งเป็นแค่รัฐบุรุษ (statesman) หรือเป็นผู้นำของประเทศเท่านั้น แต่ปรารถนาที่จะเป็นมหาบุรุษของโลก (the great man)สรุป
รัฐบาลได้เสนอแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอเพื่อสร้างประสิทธิภาพและเอกภาพในการบริหาร งาน คน และเงิน ในระดับจังหวัด โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอเพื่อต่อสู้กับปัญหาความยากจน ยาเสพติด การพนัน และการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ แนวคิดนี้มีทั้งข้อดีและข้อบกพร่องคละกันไป
แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอมุ่งพัฒนา "ระบบ" บริหารราชการในส่วนภูมิภาค โดยอาจเชื่อว่า "การมีระบบที่ดี จะมีส่วนช่วยป้องกันมิให้คนเลวกล้าทำความเลว แต่การมีระบบเลว จะมีส่วนทำให้คนดีไม่อยากทำความดี คนดีถูกกลืน และคนดีอาจกลายเป็นคนเลวในที่สุด" ดังเห็นตัวอย่างได้จากระบบราชการ ข้าราชการใหม่เป็นจำนวนมากเข้าสู่ระบบด้วยความคิดและการกระทำที่ "ริเริ่ม" แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบที่เลว ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็น "รักษาสถานภาพเดิม" และในที่สุดก็จะกลายเป็นสภาพ "ท้อแท้ถดถอย"
สำหรับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอนั้น ไม่อาจจัดอยู่ในประเภทระบบที่ดีได้ง่ายเพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เว้นแต่ข้อเสียจะได้รับการแก้ไข ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่เมื่อฝ่ายการเมืองยึดหลัก "นโยบายอยู่เหนือเหตุผล" และมุ่งที่จะนำไปใช้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้เขียนทำได้เพียงเสนอความเห็นด้านลบไว้เพื่อผู้เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขแนวคิดดังกล่าวให้รัดกุมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนยิ่งขึ้น ทั้งยังอาจช่วยลดแรงต่อต้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้บ้างP
P P P P