บทความ

โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง

“การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2"

(คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 รวม 84 เรื่อง)


    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

ภาพหรือตารางที่คลาดเคลื่อนไปขอรับฟรีได้โดยตรงจาก e-mail : 
wiruch@wiruch.com หรือ wirmail@yahoo.com

 

1. บทนำ

โครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีความสำคัญและความจำเป็น เนื่องจากความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมตลอดไปถึงบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งของกระบวนการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยหน่วยงานและประชาชนจะอาศัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งสูงสุดเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเองรวมทั้งการปฏิรูปการเมืองของไทย เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันคู่กรณี และทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอื่นของรัฐ แต่ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ ยินยอมให้กฎหมายลำดับรอง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ หรือพิจารณาวินิจฉัยในทิศทางที่ทำให้รัฐธรรมนูญขาดความศักดิ์สิทธิ์  หรือยินยอมให้ฝ่ายการเมืองครอบงำการพิจารณาวินิจฉัยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมมือกันร่างขึ้นย่อมล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่  อีกทั้งกระบวนการปฏิรูปการเมืองย่อมล้มเหลวตามไปด้วย  ความสำคัญและความจำเป็นของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ย่อมทำให้มีคำร้อง ปัญหา ข้อพิพาท หรือคดีมาสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2544-2545 เป็นเวลา 1 ปีเต็ม คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 (ปี 2545)" ประกอบด้วยคำวินิจฉัยปี 2541 ถึง ปี 2543 ช่วงแรก หรือตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 31/2543 รวม 101 เรื่อง (ได้จัดพิมพ์รวมไว้ในเล่มเดียว คือ เล่มที่ 1 ส่วนที่ 1) ทั้งนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอาเซีย และได้รับการสนับสนุนจากสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน  คณะผู้ศึกษาวิจัยยังได้รับทุนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทำวิจัยเรื่องเดียวกันนี้อีก

สำหรับในช่วงปี 2545-2546 เป็นเวลา 1 ปี คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 (ปี 2546)" ประกอบด้วยคำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 รวม 84 เรื่อง และเนื่องจากมีจำนวนหน้ามาก จึงได้จัดพิมพ์เป็น 4 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 ส่วนที่ 2, เล่มที่ 2 ส่วนที่ 1, เล่มที่ 2 ส่วนที่ 2, และเล่มที่ 2 ส่วนที่ 3 ในส่วนของคำวินิจฉัยในปี 2545 ซึ่งมีจำนวน 64 เรื่อง จะได้ดำเนินการและจัดพิมพ์ต่อไป

2. กรอบการวิเคราะห์และระเบียบวิธีศึกษาวิจัย

วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 นี้ เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ได้กำหนดไว้ในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 คือ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ โดยเฉพาะการเรียนการสอนด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และกฎหมายมหาชน สร้างองค์ความรู้และผสมผสานความรู้ทั้ง 3 ด้านดังกล่าวเข้าด้วยกันในลักษณะของการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบสำหรับใช้ในการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงทางวิชาการ ตลอดจนช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่น ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมคำร้องได้ตรงประเด็นและชัดเจนเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และช่วยให้ทราบแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 นี้ นอกจากดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 เพื่อให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว ยังมีส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอีก เช่น

1) การเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญบางกรณี เช่น การเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295

2) ดำเนินการเพื่อให้การศึกษาวิจัยนี้เป็นเอกสารสำหรับค้นคว้าและอ้างอิงทางวิชาการ เป็นต้นว่า จัดทำตารางสรุปที่แสดงถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนคำวินิจฉัยในแต่ละประเภท คะแนนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาแต่ละเรื่อง ระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา

โครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ แบ่งการนำเสนอแบ่งออกเป็น 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคล บทที่ 3 ผลการวิจัยเอกสาร บทที่ 4 ผลการวิจัยสนามและผลการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น บทสุดท้าย คือ บทที่ 5 เป็นสรุปและข้อเสนอแนะ

หมายเหตุ เนื้อหาสาระในบทที่ 3 และบทที่ 4 เป็นลักษณะของการนำเสนอผลการวิจัยที่มีรายละเอียดสมบูรณ์ (full report) เป็นไปในทิศทางหรือเป็นระบบเดียวกับโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 ส่วนบทที่ 5 เป็นลักษณะของการสรุปหรือนำเสนอผลการวิจัยฉบับย่อ (short report) พร้อมข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยยังได้จัดทำเอกสารสรุป หรือ บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (executive summary) แยกต่างหากอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เลือกอ่านหรือศึกษาได้อย่างสะดวกว่าจะเลือกอ่านฉบับสมบูรณ์หรือฉบับย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีกรอบแนวคิดสำคัญที่เชื่อว่า การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตควบคู่กับการวิเคราะห์ปรัชญาและแนวคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ทั้ง 2 ส่วนนี้ถือว่าเป็น “เหตุ” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดหรือพยากรณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนนั้นในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งถือว่าเป็น “ผล” อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและหน่วยงานทั้งในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ ดังได้ยกตัวอย่างไว้แล้วข้างต้น โปรดดูภาพที่ 1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 ภาพรวมกรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาวิจัย

ความเชื่อพื้นฐาน 2 ประการ


การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของ การวิเคราะห์ปรัชญาและ

(อดีต) ศาลรัฐธรรมนูญและคำ แนวคิดของตุลาการศาล (เหตุ)

วินิจฉัยส่วนบุคคลในอดีต รัฐธรรมนูญในอดีต

มีแนวโน้มช่วยบ่งบอก

หรือพยากรณ์

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ/หรือ

(ปัจจุบัน และ คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาล (ผล)

อนาคต) รัฐธรรมนูญคนนั้นในปัจจุบันและอนาคต

   เป็นประโยชน์ต่อ

ประชาชน หน่วยงาน


ในทางวิชาการ ในทางปฏิบัติ

 

 

โครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้มีระเบียบวิธีศึกษาวิจัย (research methodology) ที่ประกอบด้วย การวิจัยเอกสาร การวิจัยสนาม และการสัมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยให้ความสำคัญ สัดส่วนและเวลาในการพิจารณาศึกษาการวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง (fact) ส่วนการวิจัยสนามและการสัมมนาทางวิชาการที่เป็นข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น (opinion) แม้มีความสำคัญแต่ถือว่าเป็นข้อมูลเสริมที่นำมาช่วยสนับสนุนหรือคัดค้านข้อมูลจากการวิจัยเอกสาร เนื่องจากข้อมูลส่วนหลังนี้โต้แย้งได้ง่ายกว่า

การวิจัยเอกสารนั้น เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึง ตุลาคม 2545 รวม 8 เดือน เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บทความ ตลอดจนการวิเคราะห์วิจารณ์ของหน่วยงานหรือบุคคล เช่น นักวิชาการ นักการเมือง และสื่อมวลชน ข้อมูลบางส่วนนำมาจากอินเตอร์เน็ท (internet หรือ international network) เช่น เว็บไซท์ (website) http://203.113.93.8/mhead.htm ของส่วนงานราชกิจจานุเบกษา สำนักนายกรัฐมนตรี และ www.concourt.or.th/ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจากคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากผู้มีความรู้และมีประสบการณ์อย่างสูงเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้น จึงนำข้อมูลมาประมวล วิเคราะห์ และเขียนเป็นรายงานพร้อมภาพและตารางประกอบตามความจำเป็น

ส่วนการวิจัยสนาม เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลสนาม เริ่มเตรียมการวิจัยสนามและเก็บรวบรวมข้อมูลสนามตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2545 ถึง กุมภาพันธ์ 2546 เป็นเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลสนามดำเนินการโดยแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบเจาะจง (purposive sampling หรือ selective-purposive) จำนวน 45 คน ให้ตอบแบบสอบถามด้วยความสมัครใจ โดยมิได้ระบุไว้ในผลการศึกษาวิจัยว่าเป็นใครแม้จะขอให้ผู้ตอบทุกคนกรอกชื่อ ประวัติ และตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่ได้ถือเป็นความลับ วิธีศึกษาวิจัยเช่นนี้คล้ายคลึงกับวิธีสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญแบบเดลไฟ (Delphi) และน่าจะมีคุณค่ามากกว่าการสอบถามทั่ว ๆ ไป เนื่องจากลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ศึกษาวิจัยมีระดับความยากสูงมาก มีจำนวนข้อคำถามมากพอสมควร และลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามได้จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติที่อยู่ในระดับเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศานศาสตร์ หรือผู้สัดทัดกรณีกลุ่มละ 15 คน อันได้แก่

1) ผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ ประกอบด้วย (1) นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ และ (2) นักปฏิบัติ ได้แก่ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

2) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ประกอบด้วย (1) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ และ (2) นักปฏิบัติ ได้แก่ นักบริหารภาครัฐ

3) ผู้สัดทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหาร หมายถึง ผู้ที่ให้ความสนใจและติดตามการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้มิได้มีอาชีพเป็นนักการเมืองก็ตาม ประกอบด้วย (1) กรรมการหรือเลขาธิการขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)  คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และ (2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 

ทั้งนี้  มีข้อสันนิษฐานว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวอยู่ในฐานะที่จะมีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย การเมืองการปกครองและการบริหารประเทศ รวมทั้งรู้และเข้าใจโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การปฏิบัติราชการ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร

การเก็บรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยสนาม เริ่มแรกได้ดำเนินการโดยแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สันทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหารบางส่วนที่ได้เข้าร่วมประชุมใน “การประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 3 (2545)” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สมาคมรัฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2545 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เหตุผลที่เลือกสุ่มตัวอย่างจากที่ประชุมวิชาการแห่งนี้ เพราะเป็นแหล่งที่ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สันทัดกรณีที่มีความเป็นกลางมาร่วมประชุมติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน ทำให้สามารถแจก รับแบบสอบถามกลับคืน และทวงถามได้ กลุ่มตัวอย่างยังมีโอกาสตอบแบบสอบถามได้ตามสะดวก แล้วส่งคืนในภายหลังโดยไม่เร่งรัด

หลังจากรวบรวมแบบสอบถามที่ได้แจกให้กลุ่มตัวอย่างกรอกเองและส่งกลับคืนในการประชุมวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงและได้ส่งแบบสอบถามไปยังบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวทางไปรษณีย์และให้ส่งกลับคืน โดยจัดส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ เช่น ผู้พิพากษาในศาลฎีกา และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่มีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ และผู้สัดทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหารที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระในตำแหน่งกรรมการหรือเลขาธิการ เช่น ปปช. กกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตลอดทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนายกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2546 การรวบรวมแบบสอบถามจึงได้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้กลุ่มละ 15 ชุด โดยเป็นแบบสอบถามที่มีคุณภาพและสมบูรณ์มากที่สุด

แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยสนามมีจำนวน 24 หน้ากระดาษเอ 4 ประกอบด้วย หนังสือขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัย และนายกสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ข้อคำถามปิดและคำถามเปิดจำนวน 47 ข้อ พร้อมคำอธิบาย (โปรดดู แบบสอบถาม ในภาคผนวก) แบบสอบถามได้ผ่านการทดสอบโดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งได้รับคำแนะนำและผ่านการตรวจสอบจากผู้รู้ และก่อนที่จะแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่าง คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สอบถามผู้ตอบคร่าว ๆ ก่อนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสนใจเรื่องศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัย พร้อมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สันทัดกรณีดังกล่าวเท่านั้น

สาระสำคัญของแบบสอบถามเป็นไปในแนวทางเดียวกับการทำวิจัยเรื่องเดียวกันนี้เมื่อปี 2545 (ครั้งที่ 1) เพราะการวิจัยนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงแบบสอบถามให้รัดกุมมากขึ้น แบบสอบถามได้มุ่งให้กลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นและวิจารณ์ในประเด็นที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ขอบเขต และสมมติฐานของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเห็นต่อ (1) โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญกับทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (2) ภูมิหลังที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น อายุ การศึกษา ตลอดจนปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (3) อิทธิพลของประธานศาลรัฐธรรมนูญกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (4) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญและเป็นที่สนใจจำนวน 20 เรื่องในช่วงหลังของปี 2543 และตลอดปี 2544 และ (5) ความพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของการสัมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ครอบคลุมการนำเสนอผลการวิเคราะห์วิจารณ์โครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 ปี 2545 (ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 31/2543 จำนวน 101 เรื่อง) ของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ ซึ่งได้เสนอไว้ในการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2545 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 17.00 น. ณ โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 50 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญและผู้สันทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหาร ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอาเซีย และสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน สำหรับโครงการศึกษาวิจัยครั้งที่ 2 ปี 2546 ซึ่งประกอบด้วยคำวินิจฉัยจำนวน 84 เรื่อง และจัดพิมพ์ไว้ใน 4 เล่ม จะได้นำเสนอในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น จากนั้น จะจัดพิมพ์ไว้ในเล่มต่อไป

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นในที่นี้จึงเรียก “คำวินิจฉัยกลาง หรือคำวินิจฉัยรวมของศาลรัฐธรรมนูญ” ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” พร้อมกับเรียก “คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน” ว่า “คำวินิจฉัยส่วนบุคคล”

หัวข้อสรุปแบ่งเป็น 3 ข้อ โดยจัดแบ่งให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ขอบเขต และสมมติฐานของการศึกษาวิจัยครั้งนี้  อันได้แก่

1.1 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2543 ถึง ปี 2544 จำนวน 84 เรื่อง

1.1.1  จำนวนคำวินิจฉัยที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์  คำวินิจฉัยที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในที่นี้มีจำนวน 84 เรื่อง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แบ่งเป็น (1) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 84 เรื่อง แบ่งเป็น ปี 2543 จำนวน 33 เรื่อง และปี 2544 จำนวน 51 เรื่อง และ (2) คำวินิจฉัยส่วนบุคคล จำนวน 1,152 เรื่อง แบ่งเป็น ปี 2543 จำนวน 426 เรื่อง และปี 2544 จำนวน 726 เรื่อง

หากนับตั้งแต่ปี 2541 ถึง ปี 2544 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนรวม 185 เรื่อง (และคำวินิจฉัยส่วนบุคคล 2,454 เรื่อง) คณะผู้ศึกษาวิจัยได้พิจารณาศึกษา วิเคราะห์ และจัดพิมพ์คำวินิจฉัยจำนวน 101 เรื่อง ไว้ในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 ปี 2545 (มี 1 เล่ม) ส่วนคำวินิจฉัยที่เหลือจำนวน 84 เรื่อง ได้จัดพิมพ์ไว้ในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 ปี 2546 (มี 4 เล่ม) โปรดดูตารางที่ 1

ตารางที่ 1 จำนวนและหมายเลขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2541-2544 จำแนกตามปี และโครงการศึกษาวิจัยครั้งที่1 และครั้งที่ 2

ปี

จำนวนคำวินิจฉัยของ

ศาลรัฐธรรมนูญ (จำนวน

คำวินิจฉัยส่วนบุคคล)

รวม

หมายเลข

คำวินิจฉัยที่

รวม

โครงการ

ศึกษาวิจัย

2541

16 (208)

101 (1,302)

1-16/2541

101

ครั้งที่ 1

(ปี 2545)

มี 1 เล่ม

2542

54 (701)

1-54/2542

2543

64P P

(819)

31 (393)

1-64/2543

1-31/2543

33 (426)P

84

(1,152)P

32-64/2543

84

ครั้งที่ 2

(ปี 2546)

มี 4 เล่ม

2544

51 (726)P

1-51/2544

รวม

185 (2,454)

185 (2,454)

1/2541 - 51/2544

185

รวม 5 เล่ม

P จำนวนคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2543-2544 ที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 (ปี 2546) นี้

P P เฉพาะในปี 2543 มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรวม 64 เรื่อง ในเล่มนี้นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์จำนวน 33 เรื่อง คือ ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32-64/2543 สำหรับคำวินิจฉัยอีก 31 เรื่อง ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1-31/2543 ได้พิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ไปแล้วในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 (ปี 2545)

1.1.2 ประเภทของผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาศึกษาถึงจำนวนผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยใช้การจัดแบ่งตามตำแหน่ง พบว่า ในจำนวนคำวินิจฉัย 84 เรื่อง ศาล ตามมาตรา 264 เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุด จำนวน 45 เรื่อง (ร้อยละ 53.6) มาตรานี้กำหนดว่าเมื่อเกิดการโต้แย้งขึ้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จำนวนดังกล่าวนี้สอดคล้องหรือเท่ากับจำนวนคำร้อง 45 เรื่อง ที่ศาลเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดดังกล่าวข้างต้น ในจำนวน 45 เรื่องนี้ แบ่งเป็น ศาลยุติธรรม 39 เรื่อง ศาลล้มละลาย 5 เรื่อง และศาลภาษีอากร 1 เรื่อง

รองลงมาตามลำดับ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องจำนวน 19 เรื่อง (ร้อยละ 22.6) องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล จำนวน 5 เรื่อง (ร้อยละ 5.9) ในขณะที่ประธานรัฐสภา และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในจำนวนที่เท่ากัน คือ 4 เรื่อง (ร้อยละ 4.8) รองลงมาอีกคือ ประธานวุฒิสภายื่นคำร้องจำนวน 3 เรื่อง (ร้อยละ 3.6) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายื่นคำร้อง 2 เรื่อง (ร้อยละ 2.4) สำหรับผู้ยื่นคำร้องจำนวนน้อยที่สุด ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี โดยยื่นคำร้องในจำนวนที่เท่ากัน คือ 1 เรื่อง (ร้อยละ 1.2) สำหรับสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี และอัยการสูงสุด ไม่ได้ยื่นคำร้องแม้แต่เรื่องเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า เท่าที่ผ่านมานับแต่ปี 2541-2543 นั้น มีเพียงศาลยุติธรรมเท่านั้นที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264 ส่วนศาลอื่นใด เช่น ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลล้มละลาย และภาษีอากรกลาง ยังไม่เคยยื่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 ศาลล้มละลายได้เริ่มยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 5 เรื่อง และศาลภาษีอากรกลาง ได้ยื่นเป็นครั้งแรกจำนวน 1 เรื่องด้วย นอกจากนี้ มีหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย จำนวน 5 เรื่อง (โปรดดูตารางที่ 3.3 ในบทที่ 3)

1.1.3 มาตราที่ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย  จากจำนวนคำวินิจฉัย 84 เรื่องที่นำมาวิเคราะห์ในที่นี้ มาตราที่ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุดคือ มาตรา 264 มีจำนวน 45 เรื่อง (ร้อยละ 53.6) มาตรานี้กำหนดว่าเมื่อเกิดการโต้แย้งขึ้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จำนวนดังกล่าวนี้สอดคล้องหรือเท่ากับจำนวนคำร้อง 45 เรื่องที่ศาลเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุดดังกล่าวข้างต้น 

สำหรับมาตราที่ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยรองลงมา 2 ลำดับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งมีจำนวน 19 เรื่อง (ร้อยละ 22.6) โดยทุกเรื่องเป็นกรณีการยุบพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง และในจำนวนนี้มี 1 เรื่องที่ยุบพรรคการเมืองเพื่อไปรวมกับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง (คำวินิจฉัยที่ 28/2544 (วันที่ 6 กันยายน 2544) นายทะเบียนพรรคการเมือง กับ พรรคเสรีธรรม) จำนวนดังกล่าวนี้สอดคล้องหรือเท่ากับจำนวนคำร้อง 19 เรื่องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในจำนวนที่มากรองเป็นอันดับสองดังกล่าวข้างต้น รองลงมาอีกลำดับ คือ มาตรา 266 เป็นกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีจำนวน 10 เรื่อง (ร้อยละ 11.9) (โปรดดูตารางที่ 3.4 ในบทที่ 3)

โดยทั่วไปผู้ยื่นคำร้องส่วนใหญ่จะระบุมาตราของรัฐธรรมนูญที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้ด้วย แต่มีผู้ยื่นคำร้องจำนวนหนึ่งที่มิได้ระบุมาตราไว้อย่างชัดเจน ดังเช่น คำวินิจฉัยที่ 40-49/2544 (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544) กองทุนรวม 10 กองทุน กับ พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ คำร้องทั้ง 10 คำร้องนี้ไม่ได้ระบุมาตราของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตราใด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยกคำร้อง เนื่องจากคำร้องทั้ง 10 คำร้อง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ อาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าเป็นไปตามมาตราที่ผู้ยื่นคำร้องได้ระบุไว้หรือไม่ก็ได้

1.1.4  จำนวนประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึง ประเด็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นประเด็นที่องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำไปใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและคณะผู้ศึกษาวิจัยได้นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ ประเด็นหลักนั้นอาจมีประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นก็ได้ สำหรับคำวินิจฉัยปี 2543-2544 จำนวน 84 เรื่องนั้น มีประเด็นหลัก 1-2 ประเด็นหลัก โดยมี 1 ประเด็นหลักมากที่สุด รวม 70 เรื่อง (ร้อยละ 83.3) เช่น คำวินิจฉัยที่ 32/2543, 34-53/2543, 1/2544 และ 2/2544 ส่วนที่เหลือมี 2 ประเด็นหลัก รวม 14 เรื่อง (ร้อยละ 16.7) เช่น คำวินิจฉัยที่ 54-55/2543 9-10/2544, และ 16/2544 เป็นต้น (โปรดดูตารางที่ 3.10 ในบทที่ 3)

1.1.5 ประเภทของปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ประเภทของปัญหาจัดแบ่งตาม “อำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ที่มี 5 ประเภท ได้แก่ (1) ปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย (2) ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (3) ปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (4) ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง และ (5) ปัญหาอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น เช่น คำวินิจฉัยที่ 24/2543 (วันที่ 15 มิถุนายน 2543) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กับ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น (โปรดดูตารางที่ 3.11 ในบทที่ 3)

ผลการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ประเภทของปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ในปี 2543-2544 จำนวน 84 เรื่อง โดยจัดแบ่งตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุดทั้ง 2 ปี คือ มีจำนวน 23 และ 27 เรื่อง ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 50 เรื่อง (ร้อยละ 59.5) เช่น คำวินิจฉัยที่ 34-53/2543 และ 40-49/2543 รองลงมาตามลำดับโดยนับรวมทั้ง 2 ปี คือ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง มีจำนวน 18 เรื่อง (ร้อยละ 21.4) เช่น คำวินิจฉัยที่ 57/2543 และ 1/2544 ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 10 เรื่อง (ร้อยละ 11.9) เช่น คำวินิจฉัยที่ 32/2543 และ 13/2544 ลำดับท้ายสุดคือ ปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีจำนวน 6 เรื่อง (ร้อยละ 7.1) เช่น คำวินิจฉัยที่ 4/2544 และ 5/2544 (โปรดดูตารางที่ 3.12 ในบทที่ 3)

1.1.6 แนวโน้มคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลในที่นี้คณะผู้ศึกษาวิจัยมิได้ดำเนินการในลักษณะของการนำคำวินิจฉัยทั้งหลายมารวบรวม เรียบเรียง แล้วเขียนบรรยายหรือพรรณนา พร้อมวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยหรือวิเคราะห์การใช้ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อคำวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง แต่ได้ดำเนินการในลักษณะของการจัดกลุ่ม และแยกประเภทคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน เพื่อให้ได้จำนวนตัวเลขของแต่ละกลุ่ม  ต่อจากนั้นจึงนำตัวเลขเสนอในตารางหรือภาพเพื่อพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ต่อไป

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการการดำเนินการเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้ (1) เห็นทั้งภาพรวมและภาพย่อยตลอดจนลักษณะและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในอดีตเท่านั้น  แต่ยังทำให้ (2) เห็นพัฒนาการหรือแนวทางของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนซึ่งในที่สุดจะกลายไปเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเป็นเสียงข้างมาก หรือเป็นลักษณะของการนำข้อมูลที่ได้จากการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ไปใช้ในการพยากรณ์แนวโน้มหรือทิศทางของคำวินิจฉัยในอนาคต  ทั้งนี้ (3) จะมีส่วนช่วยให้ผลการวิจัยเอกสารโดยเฉพาะในส่วนสำคัญคือส่วนที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนชัดเจน เป็นระบบ และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีอิสระในการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนจึงมีอิสระที่จะพิจารณาวินิจฉัยและเขียนคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตนไปในลักษณะที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือใช้ถ้อยคำอื่น เป็นต้นว่า ยกคำร้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย จำหน่ายคดี หรือขัดหรือแย้ง หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ได้ ดังนั้น การจัดกลุ่ม แยกประเภทเพื่อให้ได้ตัวเลขดังกล่าว จึงเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 84 เรื่อง ซึ่งมีความแตกต่างกันพอสมควรดังกล่าวแล้ว เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงความเหมือน ความคล้ายคลึง หรือความแตกต่างกันของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในทุกคำวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน และยังสามารถนำไปวิเคราะห์ทางสถิติตามความจำเป็นได้อีกด้วย

หลังจากคณะผู้ศึกษาวิจัยได้นำคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน (จำนวน 1,152 เรื่อง) ที่มีส่วนในการพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (จำนวน 84 เรื่อง) ในปี 2543 ถึง ปี 2544 มาแปลงและจัดกลุ่มแล้ว สรุปได้ว่า

(โปรดดูตารางที่ 3.14 ถึง ตารางที่ 3.16 ในบทที่ 3)

คะแนนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่ “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” และ  “ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” (โดยไม่รวม “อื่น ๆ”) มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและยังแสดงให้เห็นแนวโน้มคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย "ปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย"  คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่เห็นว่ากฎหมายนั้น ๆ "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" (491) มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (102) หรือในอัตราส่วน 4.8 : 1 กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย แนวโน้มของคำวินิจฉัยจะมีโอกาสเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (เช่น กฎหมายหรือร่างกฎหมายที่พิจารณาวินิจฉัยนั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ) มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจำนวน 4.8 เท่า สำหรับปัญหาอื่นข้างล่างนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ตัวเลขของอัตราส่วนแตกต่างกันไป

2) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย "ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ" คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่เห็นว่าองค์กรนั้นทำถูกต้องแล้วหรือ "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" (86) มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (44) หรือในอัตราส่วน 1.9 : 1

3) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย "ปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" (73) มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (8) หรือในอัตราส่วน 9.1 : 1

4) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย "ปัญหาองค์กร หรือพรรคการเมือง" คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" (248) มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (4) หรือในอัตราส่วน 62.0 : 1

5) สำหรับประเภทปัญหาอื่น ๆ มีข้อมูลไม่เพียงพอ (โปรดดูตารางที่ 3.13 ในบทที่ 3)

1.1.7  คำวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในช่วงปี 2543-2544 มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งรวม 16 คน มีคำวินิจฉัยรวม 84 เรื่อง ในเวลาเดียวกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนดำรงตำแหน่งตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2541 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง ขณะที่บางคนพ้นจากตำแหน่งไปก่อน หรือบางคนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเข้ามาภายหลัง ทำให้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง ดังนั้น ในการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในหัวข้อนี้และหัวข้อต่อ ๆ ไป จำเป็นต้องจัดแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนก่อน โดยจัดแบ่งตามจำนวนคำวินิจฉัยออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1  มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา พลโทจุล อติเรก นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุจินดา ยงสุนทร นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอนันต์ เกตุวงศ์ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง ทั้ง 10 คนนี้เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2541 ยกเว้น นายสุจิต บุญบงการ ที่เข้าดำรงตำแหน่งในปี 2543

กลุ่มที่ 2 มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง ได้แก่ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ (มี 35 เรื่อง) นายประเสริฐ นาสกุล (มี 62 เรื่อง) นายกระมล ทองธรรมชาติ (มี 62 เรื่อง) นายผัน จันทรปาน (มี 62 เรื่อง) นายอมร รักษาสัตย์ (มี 59 เรื่อง) และนายศักดิ์ เตชาชาญ (มี 32 เรื่อง)

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คน ได้แก่ นายเชาวน์ สายเชื้อ และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยจำนวน 84 เรื่องนั้น (โปรดดูตารางที่ 3.9 และ ตารางที่ 3.14 ในบทที่ 3)

หลังจากการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พบว่า

1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คน กลุ่มที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง นั้น อาจแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่มย่อยซึ่งมีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง มี 5 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง ได้มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันจำนวน 50 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 59.5 ของคำวินิจฉัยทั้งหมด (84 เรื่อง)

กลุ่มที่สอง มี 3 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ได้แก่ พลโทจุล อติเรก นายสุจินดา ยงสุนทร และนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ได้มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันจำนวน 52 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9 ของคำวินิจฉัยทั้งหมด (84 เรื่อง)

กลุ่มที่สาม มี 2 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ได้แก่ นายสุจิต บุญบงการ และนายอนันต์ เกตุวงศ์ ได้มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันจำนวน 54 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 64.3 ของคำวินิจฉัยทั้งหมด (84 เรื่อง)

หลังจากดำเนินการด้วยวิธีที่กล่าวมานี้แล้วและจากตัวเลขข้างต้น ทำให้สรุปได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่มที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ (จำนวน 2 คน) มีคำวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันในจำนวนที่มากกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่มที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ (จำนวน 3 คน) และกลุ่มที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา (จำนวน 5 คน) เห็นได้จากจำนวนร้อยละที่แตกต่างกันตามลำดับ ดังนี้ ร้อยละ 64.3, ร้อยละ 61.9 และร้อยละ 59.9 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 84 เรื่อง

ผลการวิจัยเอกสารส่วนนี้แสดงให้เห็นแต่เพียงว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละกลุ่มมีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันในจำนวนเท่าใดเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  ผลการวิจัยเอกสารครั้งนี้ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าการที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากสาเหตุใด เช่น (1) เกิดจากการมีเหตุผลเหมือนกันหรือทำนองเดียวกัน หรือ (2) เกิดจากการมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน หรือ (3) มาจากความเชี่ยวชาญสาขาเดียวกัน เป็นต้น

2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน กลุ่มที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง แม้บางคนจะไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยครบทุกเรื่องเนื่องจากลากิจหรือลาป่วยก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คนนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย เฉพาะกลุ่มแรกเท่านั้นที่มีคำวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนอีกกลุ่ม ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ได้ กล่าวคือ

กลุ่มแรก มี 2 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ได้แก่ นายกระมล ทองธรรมชาติ และนายผัน จันทรปาน ได้มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันจำนวน 60 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 96.8 ของคำวินิจฉัยทั้งหมด (62 เรื่อง) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คนนี้ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ทำให้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยในจำนวนที่เท่ากัน คือ 62 เรื่อง และในจำนวนนี้ ได้มีคำวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันมากถึงร้อยละ 96.8 ดังกล่าว (สำหรับวิธีการได้ตัวเลขดังกล่าวนี้ เหมือนกับที่ได้แสดงไว้แล้วข้างต้น)

อีกกลุ่มหนึ่ง มี 4 คน แต่ไม่อาจนำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ได้ เพราะข้อมูลมีไม่มากเพียงพอ อันสืบเนื่องมาจากเข้าดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งในเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้จำนวนคำวินิจฉัยไม่เท่ากัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คนนี้ ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีคำวินิจฉัย 62 เรื่อง นายโกเมน ภัทรภิรมย์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีคำวินิจฉัย 35 เรื่อง นายอมร รักษาสัตย์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ มีคำวินิจฉัย 59 เรื่อง และนายศักดิ์ เตชาชาญ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีคำวินิจฉัย 32 เรื่อง (โปรดดูตารางที่ 3.14 ในบทที่ 3)

1.1.8 การแสดงจุดยืนของคำวินิจฉัยส่วนบุคคล จากการวิจัยเอกสารทำให้พบการแสดงจุดยืนของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่แตกต่างจากฝ่ายเสียงข้างมาก ดังนี้

1)  คำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่มีต่อปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย  ในจำนวนคำวินิจฉัย 84 เรื่อง คำวินิจฉัยที่เป็นปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด คือ 50 เรื่อง และในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งในปี 2543-2544 พร้อมกับดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง ซึ่งมีจำนวน 10 คน นั้น มี 2 คน ได้แก่ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และนายสุจิต บุญบงการ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ได้แสดงจุดยืนของคำวินิจฉัยส่วนบุคคล โดยมีคำวินิจฉัยต่อปัญหาการตรวจสอบกฎหมายที่แตกต่างกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ในลักษณะที่มีคำวินิจฉัยว่า "ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" เป็นจำนวนมาก กล่าวคือ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ มีคำวินิจฉัยว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ : ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” เท่ากับ 27 : 23 ส่วนนายสุจิต บุญบงการ ได้มีคำวินิจฉัย 24 : 23 ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ได้มีคำวินิจฉัยเรียงตามลำดับเช่น พลโทจุล อติเรก 50 : 0, นายมงคล สระฏัน 50 : 0, นายอนันต์ เกตุวงศ์ 50 : 0, นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ 49 : 1, นายอุระ หวังอ้อมกลาง 47 : 1, และนายสุจินดา ยงสุนทร 44 : 1, เป็นต้น (โปรดดูตารางที่ 3.14 ในบทที่ 3)

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 6 คน ที่แม้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 แต่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง และมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้ไม่อาจนำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในส่วนนี้ได้

2)  จำนวนคำวินิจฉัยว่า “อื่นๆ”  คำวินิจฉัย 84 เรื่องซึ่งแบ่งเป็นปัญหา 5 ประเภทนั้น มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนวินิจฉัยว่า “อื่น ๆ” ปรากฏให้เห็นมากพอสมควร ซึ่งหมายความว่า แทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนนั้นมีคำวินิจฉัยส่วนบุคคลต่อประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่โดยทั่วไปแล้วจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่กลับปรากฏบ่อยครั้งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนได้มีคำวินิจฉัยไปในลักษณะที่แตกต่างจาก 2 กลุ่มดังกล่าว เช่น วินิจฉัยให้ยกคำร้อง หรือวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง หรือไม่วินิจฉัยประเด็นหลัก เป็นต้น (ทั้งนี้ ไม่นับรวมเรื่องที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมิได้ร่วมพิจารณาวินิจฉัย)  ผลที่ได้จากการวิจัยเอกสารครั้งนี้แสดงให้เห็นคำวินิจฉัยในลักษณะที่แสดงจุดยืนดังกล่าวอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

2.1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง จำนวน 2 คน ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา และ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ที่ล้วนมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา มีจำนวนคำวินิจฉัยที่จัดอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ จำนวนมากที่สุด และมีจำนวนเท่ากันคือ 23 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.4 ของคำวินิจฉัยทั้งหมด (84 เรื่อง) โดยแบ่งเป็นคำวินิจฉัยที่มีต่อปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย 20 เรื่อง ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง และปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1 เรื่อง ในจำนวนที่เท่ากันอีกด้วย

2.2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง จำนวน 7 คน ได้แก่ นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอุระ หวังอ้อมกลาง พลโทจุล อติเรก นายสุจินดา ยงสุนทร นายสุจิต บุญบงการ และนายอนันต์ เกตุวงศ์ ไม่มีคำวินิจฉัยที่จัดอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ แม้แต่เรื่องเดียว เช่นนี้ทำให้กล่าวได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้พิจารณาวินิจฉัยและยึดถือประเด็นหลักในการทำคำวินิจฉัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คนแรก มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา อีก 2 คนถัดมา มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และ 2 คนสุดท้ายมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์

2.3) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง จำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด 6 คนในช่วงปี 2543-2544 ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล นายโกเมน ภัทรภิรมย์ นายศักดิ์ เตชาชาญ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายผัน จันทรปาน และนายอมร รักษาสัตย์ ไม่มีคำวินิจฉัยที่จัดอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ แม้แต่เรื่องเดียว เช่นนี้ทำให้กล่าวได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้พิจารณาวินิจฉัยและยึดถือประเด็นหลักในการทำคำวินิจฉัยอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่องก็ตาม ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คนแรก มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ อีก 2 คนถัดมา มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และคนสุดท้ายมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ (โปรดดูตารางที่ 3.14 ในบทที่ 3)

ข้อสังเกต ในเรื่องการมีคำวินิจฉัยในกลุ่มอื่น ๆ เช่น วินิจฉัยให้ยกคำร้อง หรือ ไม่วินิจฉัยประเด็นหลัก นั้น ตามหลักทั่วไป ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยในองค์คณะมาตั้งแต่เริ่มแรก ต้องทำวินิจฉัยและทำคำวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายด้วย การไม่วินิจฉัยจะเกิดขึ้นได้เมื่อ (1) เป็นกรณีที่องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัย  (2) ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาวินิจฉัยมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่ต่อมาพบว่าได้เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่อาจร่วมพิจารณาวินิจฉัยต่อไปอีกทำให้ไม่มีสิทธิที่จะวินิจฉัยในขั้นสุดท้าย หรือ (3) ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่ในวันลงมติไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากลาป่วยหรือลากิจ เช่น ไปราชการต่างประเทศ หรือแม้เข้าร่วมแต่ไม่ลงมติ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่วินิจฉัยประเด็นหลักซึ่งเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นหลักอยู่ 2 ประเด็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่วินิจฉัยประเด็นหลักที่ 1 หรือประเด็นหลักที่ 2 ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือบางคนอาจไม่วินิจฉัยประเด็นหลักทั้ง 2 ประเด็น ยิ่งไปกว่านั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนอาจกำหนดประเด็นขึ้นเอง และวินิจฉัยประเด็นอื่นที่กำหนดไว้นั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีอิสระในการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจึงมีอิสระที่จะพิจารณาวินิจฉัยและเขียนคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตนไปในลักษณะที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือใช้ถ้อยคำอื่น เป็นต้นว่า ยกคำร้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย จำหน่ายคดี หรือขัดหรือแย้ง หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ได้

1.1.9 คำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับฝ่ายเสียงข้างมาก เป็นการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ว่า คำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนและแต่ละเรื่องได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ในฝ่ายเสียงข้างมาก หรือฝ่ายเสียงข้างน้อยและอื่น ๆ เช่น ยกคำร้อง ข้อมูลจากการวิจัยเอกสารในส่วนนี้ อย่างน้อยจะมีส่วนช่วยทำให้เห็นแนวทางหรือทิศทางคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนว่าอยู่กับฝ่ายเสียงข้างมากหรือฝ่ายเสียงข้างน้อยมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่า

กลุ่มที่ 1  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง

- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก "มากที่สุด" 3 ลำดับ ได้แก่ นายมงคล สระฏัน มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา มีจำนวน 83 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.8 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 84 เรื่อง รองลงมา ได้แก่ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน 81 เรื่อง (ร้อยละ 96.4) และนายอนันต์ เกตุวงศ์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ จำนวน 79 เรื่อง (ร้อยละ 94.0)

- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก "น้อยที่สุด" 3 ลำดับ คือ นายจุมพล ณ สงขลา มาจากตุลาการในศาลฎีกา มีจำนวน 51 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 60.7 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 84 เรื่อง รองลงมา ได้แก่ นายสุจิต บุญบงการ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ จำนวน 56 เรื่อง (ร้อยละ 66.7) และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์ มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา มีจำนวน 55 เรื่อง (ร้อยละ 65.5)

กลุ่มที่ 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง

- นายกระมล ทองธรรมชาติ และนายผัน จันทรปาน ที่ต่างมาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและเข้าดำรงตำแหน่งพร้อมกัน ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมากในจำนวนที่เท่ากัน คือ 61 เรื่อง จากจำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.4 ของจำนวนคำวินิจฉัย 62 เรื่องที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คน ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544

- นายประเสริฐ นาสกุล มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ได้ออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 34 เรื่อง จากจำนวน 62 เรื่อง (ร้อยละ 54.0) นายอมร รักษาสัตย์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ มีจำนวน 42 เรื่อง จากจำนวน 59 เรื่อง (ร้อยละ 71.2) นายโกเมน ภัทรภิรมย์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 12 เรื่อง จากจำนวน 35 เรื่อง (ร้อยละ 34.3) และนายศักดิ์ เตชาชาญ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีจำนวน 25 เรื่อง จากจำนวน 32 เรื่อง (ร้อยละ 78.1) (โปรดดูตารางที่ 3.17 ในบทที่ 3)

1.1.10 การเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย ผลจากการวิจัยเอกสารได้บ่งบอกให้เห็นตัวเลขการเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องหรือเรื่องที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนได้อย่างชัดเจน ดังนี้

1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือเข้าร่วมเป็นองค์คณะครบทุกเรื่องในช่วงปี 2543-2544 มี 5 คน (นับรวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่องด้วย) ได้แก่ (1) พลโทจุล อติเรก  มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ (2) นายมงคล สระฏัน มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา (3) นายอนันต์ เกตุวงศ์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ (4) นายประเสริฐ นาสกุล มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และ (5) นายโกเมน ภัทรภิรมย์ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ โดย 3 คนแรก มีคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง ส่วน นายประเสริฐ นาสุกล มีคำวินิจฉัย 62 เรื่อง และนายโกเมน ภัทรภิรมย์ มีคำวินิจฉัย 35 เรื่อง เนื่องจาก 2 คนนี้พ้นจากตำแหน่งก่อน

ในเรื่องการเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยของประธานศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตว่า ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ  โอกาสขาดประชุมหรือไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจะมีน้อยมาก  เพราะประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดวันเวลาการประชุม วาระการประชุม รวมทั้งนำเรื่องหรือคำร้องเข้าสู่ที่ประชุม และทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยทุกครั้ง  เห็นตัวอย่างได้จากนายประเสริฐ นาสกุล มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนที่สอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยทุกเรื่อง และถ้านับเฉพาะในช่วงปี 2543-2544 ที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในที่นี้ นายประเสริฐ นาสกุล ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยครบทุกเรื่องรวม 62 เรื่อง โดยนับตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 (วันที่ 7 กันยายน 2543) จนถึงคำวินิจฉัยที่ 29/2544 (วันที่ 6 กันยายน 2544) ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ย้อนกลับไปนับแต่ปี 2541 จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายประเสริฐ นาสกุล ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยเพียง 1 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 5/2541 (วันที่ 4 สิงหาคม 2541) โดยขอถอนตัวเนื่องจากตนเองได้เคยมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยนั้น อีกทั้งในขณะนั้นก็ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำนองเดียวกัน ในอดีต นายเชาวน์ สายเชื้อ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนที่หนึ่ง ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยทุกเรื่อง (ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 53/2542 รวม 69 เรื่อง โปรดดูรายละเอียดในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1)

ในทางปฏิบัติของการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ในวันอังคารหรือวันพฤหัสบดี ถ้าเกิดกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญมาช้าหรือติดภารกิจกะทันหัน หรือติดราชการ ก็จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งทำหน้าที่ "ประธานในที่ประชุม" เฉพาะครั้งนั้น หรือในกรณีที่ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญว่างลง และยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งซึ่งโดยปรกติจะเป็นผู้ที่มีอาวุโสหรือมีอายุมากที่สุด "ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้มีตำแหน่ง "รองประธานศาลรัฐธรรมนูญ" หรือ "ประธานศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราว"

2) นายสุจินดา ยงสุนทร มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ 13 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 84 เรื่อง รองลงมา คือ นายจุมพล ณ สงขลา ซึ่งมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย 10 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 11.9 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 84 เรื่อง สำหรับนายศักดิ์ เตชาชาญ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนายโกเมน ภัทรภิรมย์ ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยการลาออก ทำให้มีคำวินิจฉัยเฉพาะในปี 2544 จำนวน 32 เรื่องเท่านั้น และในจำนวน 32 เรื่องนี้ นายศักดิ์ เตชาชาญ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย 7 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของจำนวนคำวินิจฉัยทั้งหมด 32 เรื่อง ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขร้อยละที่สูงที่สุด

3) ในจำนวนคำวินิจฉัยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะรวม 48 เรื่อง แบ่งเป็น ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมากที่สุดจำนวน 28 เรื่อง รองลงมาตามลำดับ ได้แก่ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง 12 เรื่อง ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 เรื่อง และปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1 เรื่อง

4) คำวินิจฉัยที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะมากที่สุด ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 34/2544 (วันที่ 16 ตุลาคม 2544) นายทะเบียนพรรคการเมือง กับ พรรคประชาชน มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 4 คน รองลงคือ ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 3/2544 (วันที่ 18 มกราคม 2544) นายฮายาชิ กับ เรือนจำกลางชลบุรี และคำวินิจฉัยที่ 37-39/2544 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544) นางเพ็ญพร งามไพโรจน์พิบูลย์ และผู้ร้องรายอื่น กับ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 3 คน (โปรดดู ตารางที่ 3.18 ถึงตารางที่ 3.20 ในบทที่ 3)

5) เหตุผลของการไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในแต่ละเรื่อง คณะผู้ศึกษาวิจัยไม่อาจนำเสนอได้อย่างสมบูรณ์  แต่โดยทั่วไป ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ขาดประชุมหรือไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใด จะแจ้งต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมเหตุผล แต่ข้อมูลดังกล่าวที่เป็นทางการไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ และไม่ได้ลงประกาศในเว็บไซด์ (website) ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม วิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้ข้อมูลหรือเหตุผลเกี่ยวกับการไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ การสัมภาษณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน 

1.1.11 คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ มติเป็นเอกฉันท์ และมติไม่เป็นเอกฉันท์ "มติเป็นเอกฉันท์" ที่ใช้ในที่นี้ หมายถึง คะแนนเสียงหรือคำวินิจฉัยท้ายสุดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกันทุกคน กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะมีมุมมองหรือความเห็นต่อประเด็นหลักแต่ละประเด็นที่แตกต่างกันก็ตาม แต่สุดท้ายเมื่อผลของคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียวกันทุกคน เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะของ "มติเป็นเอกฉันท์" มีตัวอย่างให้เห็นได้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ คำวินิจฉัยที่ 1/2541 (วันที่ 23 พฤษภาคม 2541) ส.ส. 90 คน กับ พระราชกำหนดจำนวน 4 ฉบับ ได้ใช้ถ้อยคำว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ "วินิจฉัยโดยมติเป็นเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าการตราพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัตินั้นเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 218 แล้ว” ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยประเด็นหลัก 2 ประเด็น มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน ไม่วินิจฉัยประเด็นหลักที่ 1 แต่ได้วินิจฉัยประเด็นหลักที่ 2 ในเวลาเดียวกัน มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 3 คน ไม่วินิจฉัยประเด็นหลักที่ 2 แต่ได้วินิจฉัยประเด็นหลักที่ 1 อย่างไรก็ตาม เมื่อคำวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ 13 : 0 จึงถือว่าเป็นลักษณะของ "มติเป็นเอกฉันท์" ยังมีตัวอย่างคำวินิจฉัยในลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในปี 2544 มีจำนวน 37 เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ลักษณะของ "มติเป็นเอกฉันท์" คือ 15 : 0 ปรากฏอย่างชัดเจนในคำวินิจฉัยที่ 21/2544, 22/2555, 23/2544 และ 25/2544

เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่าคะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเท่ากัน ถ้าเมื่อใดคะแนนเสียงออกมาเท่ากันย่อมเกิดปัญหาเพราะรัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติใดกล่าวถึงเรื่องคะแนนเสียงเท่ากันไว้ด้วย ดังนั้น หลังจากการประชุมและอภิปรายคำร้องหรือเรื่องผ่านไปแล้ว ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสนใจเรื่องที่มีแนวโน้มว่าคะแนนเสียงจะออกมาเท่ากันเป็นพิเศษ และร่วมมือกันหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น วิธีการหนึ่งที่กระทำได้คือ เมื่อใดก็ตามที่จะลงคะแนนเสียง จะต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ร่วมอยู่ในองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเลขคี่เสมอ  แต่ถ้ามีจำนวนเลขคู่เมื่อใดและเรื่องที่จะลงมตินั้นมีแนวโน้มว่าจะมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็อาจเลื่อนการประชุมออกไป

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 14 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน พร้อมกันนั้น มาตรา 267 ได้กำหนดไว้ด้วยว่า องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 9 คน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ (เช่น กรณีตามมาตรา 219 วรรคสี่ ได้บัญญัติว่า ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด) เมื่อเป็นเช่นนี้ คำวินิจฉัยจำนวน 84 เรื่องที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในที่นี้ จึงมีจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือเข้าร่วมเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบทั้ง 15 คนในทุกเรื่อง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 9 คน ทั้งนี้คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจออกมาในลักษณะที่ "มติเป็นเอกฉันท์" หรือ "มติไม่เป็นเอกฉันท์" ก็ได้

มีเหตุผลหลายประการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2543-2544 ครบทั้ง 15 คนในทุกคำวินิจฉัย เป็นต้นว่า ลาป่วย ลากิจ เช่น ลาไปราชการต่างประเทศ หรือขอถอนตัวเพราะมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย และช่วงเวลาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออกหรืออายุครบ 70 ปี บริบูรณ์ รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่

ผลการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏว่า เมื่อนับรวมทั้ง 2 ปี คือ ปี 2543-2544 จำนวน 84 เรื่อง จำนวนมติเป็นเอกฉันท์มีน้อยกว่ามติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยแบ่งเป็น มติเป็นเอกฉันท์ 38 เรื่อง (ร้อยละ 45.2) และมติไม่เป็นเอกฉันท์ 46 เรื่อง (ร้อยละ 54.8) ซึ่งใกล้เคียงกันพอสมควร และในจำนวนคำวินิจฉัย 84 เรื่องนั้น เป็นปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมากที่สุด จำนวน 50 เรื่อง แบ่งเป็น มติเป็นเอกฉันท์ 20 เรื่อง และมติไม่เป็นเอกฉันท์ 30 เรื่อง (โปรดดูตารางที่ 3.21 และตารางที่ 3.22 ในบทที่ 3)

1.1.12 ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาแต่ละเรื่อง ในจำนวนคำวินิจฉัย 84 เรื่องในปี 2543-2544

1) ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาจนแล้วเสร็จมากที่สุด คือ 9-10 เดือน มีจำนวน 18 เรื่อง (ร้อยละ 21.4) รองลงมาคือ 12 เดือนขึ้นไป มีจำนวน 17 เรื่อง (ร้อยละ 20.2) และ 2-3 เดือน มีจำนวน 10 เรื่อง (ร้อยละ 11.9) เป็นต้น

2) คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด มี 1 คำวินิจฉัย ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 12/2544 (วันที่ 29 มีนาคม 2544) นายสนิท วรปัญญา และคณะ กับ พระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ ใช้เวลา 10 วัน คำวินิจฉันที่ใช้เวลาน้อยรองลงมาคือ คำวินิจฉัยที่ 63/2543 (วันที่ 15 ธันวาคม 2543) ปปช. กับ อำนาจในการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ใช้เวลา 11 วัน ต่อจากนั้น คือ คำวินิฉัยที่ 54-55/2543 (วันที่ 31 ตุลาคม 2543) นายพนัส ทัศนียานนท์ และคณะ และ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ และคณะ กับ ร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ ใช้เวลา 12 วัน

3)  คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด มี 1 คำวินิจฉัย คือ คำวินิจฉัยที่ 3/2544 (วันที่ 18 มกราคม 2544) นายฮายาชิ กับ เรือนจำกลางชลบุรี ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือน 19 วัน (โปรดดูตารางที่ 3.23 ถึง ตารางที่ 3.25 ในบทที่ 3)

1.1.13  ระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา

สืบเนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันคู่กรณี และทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอื่นของรัฐ พร้อมกันนั้น มาตรา 267 วรรคสาม กำหนดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และแม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันนับแต่วันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษาเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความเป็นทางการและเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคู่กรณีหรือทุกฝ่ายดังกล่าวจะนำไปใช้หรืออ้างอิงในทางกฎหมายต่อไป

เหตุผลที่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาถ้าหรือเร็วแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคน ส่งคำวินิจฉัยส่วนบุคคลให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญช้า ทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาช้าตามไปด้วย ขณะที่คำวินิจฉัยบางเรื่องที่สำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชนก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วมาก ดังนั้น ยิ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในแต่ละเรื่องแล้วเสร็จสมบูรณ์เร็วเท่าใด การประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อก็จะเร็วขึ้นเป็นเงาตามตัว  และประโยชน์ก็จะตกแก่ประชาชนรวดเร็วขึ้นด้วย การนำระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษามาแสดงไว้ในที่นี้น่าจะมีส่วนช่วยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็วขึ้นและยังเป็นการนำข้อมูลมาบันทึกไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการเปรียบเทียบระยะเวลาดังกล่าวสำหรับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตต่อไป

เมื่อพิจารณาศึกษาระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษาในปี 2543-2544 จำนวน 84 เรื่อง ปรากฏให้เห็นว่า

1) คำวินิจฉัยมากที่สุด จำนวน 49 เรื่อง (ร้อยละ 58.3) ใช้เวลา 9-12 เดือน รองลงมามีจำนวน 34 เรื่อง (ร้อยละ 40.5) ใช้เวลา 6-9 เดือน และที่เหลืออีก 1 เรื่อง (ร้อยละ 1.2) ใช้เวลา 1 เดือน 4 วัน

2) คำวินิจฉัยที่ใช้เวลาน้อยที่สุด คือ คำวินิจฉัยที่ 20/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้เวลา 1 เดือน 4 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

3) คำวินิจฉัยที่ใช้เวลามากที่สุด คือ คำวินิจฉัยที่ 32/2543 (วันที่ 7 กันยายน 2543) นายอดิศร เพียงเกษ และคณะ กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ใช้เวลา 11 เดือน 15 วัน คำวินิจฉัยที่ใช้เวลามากรองลงมาเป็นคำวินิจฉัยในปี 2544 คือ คำวินิจฉัยที่ 16/2544 (วันที่ 2 พฤษภาคม 2544) นายธนิต ธนทิตย์ และพวก กับ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฯ ใช้เวลา 10 เดือน 26 วัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2543 ใช้เวลามากกว่าปี 2544 เห็นได้จากมีคำวินิจฉัย 31 เรื่อง ใช้เวลา 9-12 เดือน และที่เหลืออีก 2 เรื่อง ใช้เวลา 6-9 เดือน แต่ต่อมาในปี 2544 ใช้เวลาน้อยลง โดยมีคำวินิจฉัยส่วนใหญ่จำนวน 32 เรื่อง ใช้เวลา 6-9 เดือน คำวินิจฉัยอีก 18 เรื่อง ใช้เวลา 9-12 เดือน และคำวินิจฉัย 1 เรื่อง ใช้เวลา 1 เดือน 4 วัน (โปรดดูตารางที่ 3.26 ถึง ตารางที่ 3.28 ในบทที่ 3)

1.1.14 คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2543 จำนวน 33 เรื่อง มีจำนวนคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (30 เรื่อง) มากกว่าจำนวนคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน (3 เรื่อง) แต่ในปี 2544 มีคำวินิจฉัยทั้งหมด 51 เรื่อง มีคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (12 เรื่อง) น้อยกว่าคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน (39 เรื่อง)

ผลรวมของจำนวนคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานของปี 2543-2544 คือ 42 เรื่อง (ร้อยละ 50.0) ซึ่งเท่ากับผลรวมของคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน สำหรับเหตุผลที่จำนวนคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานเท่ากับคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในปี 2543 เป็นช่วงแรกหรือเพียงเวลาประมาณ 3 ปีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดตั้งขึ้นและเริ่มพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ทำให้คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานมีจำนวนมาก  แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานจะมีจำนวนน้อยกว่าคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ประกอบกับผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อได้ทราบถึงการวางบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ก็ได้ยึดถือปฏิบัติ โดยเสนอคำร้องเฉพาะเรื่องที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐาน (โปรดดูตารางที่ 3.29 ในบทที่ 3)

1.1.15 การเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์เปรียบเทียบในส่วนนี้ มีหลายประการ เช่น สอดคล้องกับขอบเขตของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษและทันต่อเหตุการณ์ คำวินิจฉัยที่นำมาเปรียบเทียบล้วนเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน และ/หรือ ยกเลิกบรรทัดฐานที่อาจส่งผลในแง่ลบต่อประชาชนโดยส่วนรวมและประเทศชาติ หรือขัดต่อความรู้สึกและความเข้าใจของประชาชนซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่น เลื่อมใส และศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศ นอกจากนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการนำคำวินิจฉัยในลักษณะเดียวกันมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันตามความเหมาะสม

นับแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึง สิ้นปี พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือจงใจยื่นบัญชีฯ ที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 รวมทั้งสิ้น 10 เรื่อง แบ่งเป็น กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ 6 เรื่อง และ กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง 4 เรื่อง ดังต่อไปนี้

1) คำวินิจฉัยที่ 10/2543 (วันที่ 9 มีนาคม 2543) ปปช. กับ นายอนันต์ ศวัสตนานนท์ 

2) คำวินิจฉัยที่ 11/2543 (วันที่ 9 มีนาคม 2543) ปปช. กับนายชัชชัย สุเมธโชติเมธา

3) คำวินิจฉัยที่ 12/2543 (วันที่ 17 มีนาคม 2543) ปปช. กับ นายสุขุม เชิดชื่น (ผู้ถูกร้องรายนี้ยื่นบัญชีฯ แต่ไม่ยื่นเอกสารประกอบ)

4) คำวินิจฉัยที่ 27/2543 (วันที่ 3 กรกฎาคม 2543) ปปช. กับ นายโกศล ศรีสังข์

5) คำวินิจฉัยที่ 28/2543 (วันที่ 6 กรกฎาคม 2543) ปปช. กับ นายมะฮูเซ็น มะสุยี

6) คำวินิจฉัยที่ 5/2544 (วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544) ปปช. กับ นายสุเมธ อุพลเถียร

ทั้ง 6 เรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ยื่นบัญชีฯฝ่าฝืนมาตรา 291 คือ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ปปช. มีคำร้องให้ลงโทษ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอาศัยตามมาตรา 295 ลงโทษ

ยังมีอีก 3 เรื่อง เป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด ได้แก่

7) คำวินิจฉัยที่ 23/2543 (วันที่ 30 พฤษภาคม 2543) ปปช. กับ นายจิรายุ จรัสเสถียร

8) คำวินิจฉัยที่ 31/2543 (วันที่ 10 สิงหาคม 2543) ปปช. กับ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ และ

9) คำวินิจฉัยที่ 19/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ นายประยุทธ มหากิจศิริ

ทั้ง 3 เรื่องนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ยื่นบัญชีฯ ได้ยื่นครั้งที่ 1 เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ปปช. จึงเริ่มตรวจสอบตามมาตรา 293 และพบว่าเป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 295 ลงโทษ แม้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งแล้ว ความผูกพันจากบทบัญญัติมาตรา 291 และมาตรา 292 ย่อมต้องถูกลงโทษตามมาตรา 295 ตามรัฐธรรมนูญ

อีก 1 เรื่อง แม้เป็นกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิด เช่นเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแตกต่างกัน จึงแยกไว้ต่างหาก ได้แก่

10) คำวินิจฉัยที่ 20/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบคำวินิจฉัย 10 เรื่องดังกล่าวนี้ ปรากฏให้เห็นว่า

1) นับแต่เริ่มแรกเมื่อปี 2541 ถึง สิ้นสุดปี 2544 มีคำวินิจฉัยกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือจงใจยื่นบัญชีฯ ที่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 รวมทั้งสิ้น 10 เรื่อง และทุกเรื่องเป็นคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2543-2544 ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2541-2542 ยังไม่มีคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาของ 10 เรื่องนั้น มีจำนวนรวม 17 คน (ไม่รวมนายเชาวน์ สายเชื้อ เพราะพ้นจากตำแหน่งในปี 2542)

2) ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 17 คนนี้ แบ่งเป็น (1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นองค์คณะหรือเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยครบทั้ง 10 เรื่อง จำนวน 9 คน ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล พลโทจุล อติเรก นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอนันต์ เกตุวงศ์ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง และ (2) เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 10 เรื่อง จำนวน 8 คน ได้แก่ นายกระมล ทองธรรมชาติ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ นายจุมพล ณ สงขลา นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายสุจินดา ยงสุนทร และนายอมร รักษาสัตย์

3) เหตุผลที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย เพราะ (1) ลากิจ ลาป่วย หรือขอถอนตัวเพราะมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย เป็นต้น (2) พ้นจากตำแหน่ง เพราะลาออก หรือ (3) ยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

3.1) ลากิจ ลาป่วย หรือขอถอนตัวเพราะมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย ได้แก่

- นายจุมพล ณ สงขลา ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 19/2544 ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 9 เรื่อง

- นายสุจินดา ยงสุนทร ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 27/2543 ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 9 เรื่อง

- นายโกเมน ภัทรภิรมย์ ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 28, 31/2543

3.2) พ้นจากตำแหน่ง ได้แก่

- นายโกเมน ภัทรภิรมย์ พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 5,19,20/2544 รวม 3 เรื่อง และเมื่อนำ 2 เรื่องข้างต้นที่ไม่ได้เข้าร่วมเพราะลากิจหรือลาป่วยมารวมด้วยแล้ว ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 5 เรื่อง

- นายชัยอนันต์ สมุทวณิช พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 27,28,31/2543 และคำวินิจฉัยที่ 5,19,20/2544 รวม 6 เรื่อง ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 4 เรื่อง

3.3) ยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

- นายกระมล ทองธรรมชาติ นายผัน จันทรปาน และนายอมร รักษาสัตย์ ทั้ง 3 คนนี้ ยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยรวม 7 เรื่อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 10, 11, 12, 23, 27, 28, 31/2543 ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคนละ 3 เรื่อง

- นายศักดิ์ เตชาชาญ ยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยรวม 9 เรื่อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 10, 11, 12, 23, 27, 28, 31/2543 และคำวินิจฉัยที่ 5, 19/2544 ดังนั้น ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 1 เรื่อง

4) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า "จงใจ" ครบทั้ง 10 เรื่อง  (10 : 0) มีจำนวน 5 คน ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล นายมงคล สระฏัน นายสุจิต บุญบงการ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง (อัตราส่วน 10 : 0 หมายถึง วินิจฉัยว่า จงใจ 10 เรื่อง : ไม่จงใจ/ยกคำร้อง ไม่มี)

5) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า "จงใจ" ไม่ครบทั้ง 10 เรื่อง มีจำนวน 12 คน แบ่งเป็น

5.1) 9 เรื่อง มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ (9 : 1) และนายอนันต์ เกตุวงศ์ (9 : 1)

5.2) 8 เรื่อง มีจำนวน 4 คน ได้แก่ พลโทจุล อติเรก (8 : 2), นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ (8 : 2), นายจุมพล ณ สงขลา (8 : 1), นายสุจินดา ยงสุนทร (8 : 1)

5.3) 2-4 เรื่อง มีจำนวน 6 คน เช่น นายชัยอนันต์ สมุทวณิช (4 : 0), นายอมร รักษาสัตย์ (3 : 0), นายกระมล ทองธรรมชาติ (2 : 1), และนายโกเมน ภัทรภิรมย์ (2 : 3)

6) คำวินิจฉัยที่คะแนนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใกล้เคียงกันมี 1 เรื่อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 20/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดโดยเสียงข้างมากว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 โดยให้ยกคำร้อง จำนวน 8 คน และมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 จำนวน 7 คน (คะแนนเสียง 8 : 7)

7) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 20/2544 นี้ ฝ่ายเสียงข้างมากจำนวน 8 คน มาจาก

- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 3 คน ได้แก่ พลโทจุล อติเรก นายศักดิ์ เตชาชาญ และนายสุจินดา ยงสุนทร

- ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 คน ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา และนายปรีชา เฉลิมวณิชย์

- ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ได้แก่ นายกระมล ทอง ธรรมชาติ และนายผัน จันทรปาน

- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน ได้แก่ นายอนันต์ เกตุวงศ์

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างน้อย

- ผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ได้แก่ นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง

- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล และนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ

- ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 2 คน ได้แก่ นายสุจิต บุญบงการ และนายอมร รักษาสัตย์ (โปรดดูตารางที่ 3.31 ในบทที่ 3)

1.2 การวิเคราะห์ภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเอกสาร และการวิจัยสนามมาวิเคราะห์เรียงตามลำดับ

1.2.1 ผลการวิจัยเอกสารในเรื่องภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มสรุปจากความเป็นมาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนได้ว่า ในจำนวนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 84 เรื่อง ซึ่งรวมทั้งคำวินิจฉัยส่วนบุคคลจำนวน 1,152 เรื่อง ตั้งแต่ปี 2543 ถึง ปี 2544 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง 51/2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีส่วนในการพิจารณาวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในที่นี้มีจำนวน 16 คน เฉพาะ 13 คนแรกเท่านั้นที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2541 โดยมีนายเชาวน์ สายเชื้อ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก ต่อมานายเชาวน์ สายเชื้อ ได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 นายประเสริฐ นาสกุล ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนที่สอง จากนั้น นายสุจิต บุญบงการได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนนายเชาวน์ สายเชื้อ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 ต่อมานายชัยอนันต์ สมุทวณิช และนายโกเมน ภัทรภิรมย์ ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 และวันที่ 1 มีนาคม 2544 ตามลำดับ อีกทั้งนายประเสริฐ นาสกุล ได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544

ดังนั้น มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ได้แก่ นายเชาว์ สายเชื้อ และนาย ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 หรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัย 84 เรื่องที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ในที่นี้

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2541 จำนวน 9 คน ได้แก่ นายจุมพล ณ สงขลา พลโทจุล อติเรก นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายมงคล สระฏัน นาย สุจินดา ยงสุนทร นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอนันต์ เกตุวงศ์ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ และนายอุระ หวังอ้อมกลาง ทั้ง 9 คนจึงดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง

ส่วนนายสุจิต บุญบงการ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2543 จึงดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 และดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 84 เรื่อง

สำหรับนายโกเมน ภัทรภิรมย์ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก และนายประเสริฐ นาสกุล ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ นั้น แม้ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงปี 2543-2544 แต่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง

ในส่วนของนายกระมล ทองธรรมชาติ (มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด) นายผัน จันทรปาน (มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด) นายอมร รักษาสัตย์ (เข้ามาแทนนายชัยอนันต์ สมุทวณิช) และนายศักดิ์ เตชาชาญ (เข้ามาแทนนายโกเมน ภัทรภิรมย์) ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในภายหลัง จึงดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 84 เรื่อง (โปรดดูตารางที่ 3.5 ในบทที่ 3)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเริ่มแรกทุกคนที่เข้าสู่ตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2541 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีครึ่ง นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 259 และ มาตรา 322) โดยจะต้องพ้นจากตำแหน่งทุกคนเมื่อครบวาระในวันที่ 10 ตุลาคม 2545 แต่ก็มีสิทธิได้รับคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งอีก ทั้งนี้ จะต้องมีอายุไม่ครบ 70 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 260)  อย่างไรก็ตาม อาจเกิดข้อถกเถียงหรือโต้แย้งกันได้ในประเด็นเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งในวาระแรกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา อาจอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปีได้หรือไม่ เพราะได้รับเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแม้จะได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของวุฒิสภา (มาตรา 255 วรรคหนึ่ง (1)) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระดำรงตำแหน่งเป็นรายบุคคลหรือจะถือว่าเป็นคณะที่เข้า-ออกจากตำแหน่งเป็นวาระพร้อมกันเหมือนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา143) นอกจากนี้ ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใดพ้นจากตำแหน่งไปก่อนครบวาระ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่จะอยู่ในตำแหน่งเท่าผู้ที่ตนเข้ามาแทนหรือจะถือว่าเข้าดำรงตำแหน่งใหม่ ทั้งนี้ วิธีการหนึ่งที่จะยุติข้อโต้แย้งดังกล่าวได้คือ ส่งเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย แต่ก็อาจเกิดปัญหาต่อไปอีกว่า เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย  ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวิธีการพิจารณาวินิจฉัยอย่างไร หรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เหล่านี้เป็นต้น

ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า เฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกที่ดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกจำนวน 3 คน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ อันได้แก่ พลโท จุล อติเรก และนายสุจินดา ยงสุนทร รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ อันได้แก่ นายอนันต์ เกตุวงศ์ ที่เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 ทั้ง 3 คนนี้ ได้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นการดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่ง (4 ปีครึ่ง) ของวาระที่กำหนดไว้ (9 ปี) นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง (มาตรา 259 และ มาตรา 322 วรรคหนึ่ง) โดยจะต้องพ้นจากตำแหน่งทั้ง 3 คนเมื่อครบวาระวันที่ 10 ตุลาคม 2545 แต่ก็มีสิทธิได้รับคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งอีก เพราะอยู่ไม่ครบวาระ 9 ปี ทั้งนี้ จะต้องมีอายุไม่ครบ 70 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 260) อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 259 วรรคสอง)

ข้อเท็จจริงยังปรากฏต่อไปว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 5 คน ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป และมีโอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระ 9 ปี สำหรับเหตุผลที่รองรับการอยู่ในตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ เพราะทั้ง 5 คนได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา (ในปี 2541 มีประมาณ 80 คน ต่อมาในปี 2545 มีประมาณ 85 คน) ซึ่งมิใช่มาจากการสรรหาและการเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ตามมาตรา 257) และมิใช่มาจากการเลือกของวุฒิสภาเหมือนกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 5 คนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 13 คน ที่เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่เริ่มแรกในปี 2541 มาจากการเสนอแต่งตั้งของวุฒิสภาชุดที่มาจากการแต่งตั้ง และเมื่อครบเวลา 4 ปีครึ่ง ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันทั้งหมดทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แต่เป็นความเข้าใจหรือการตีความรัฐธรรมนูญของแต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา ที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสรรหาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ทักท้วงอย่างจริงจังและชัดเจน ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากศาลฎีกาก็ตีความว่า ตนมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่ได้มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภาทั้งที่อาจตีความได้ว่าศาลฎีกาเป็นฝ่ายเสนอชื่อ วุฒิสภาให้ความยินยอม และประธานวุฒิสภารับสนองพระบรมราชโองการฯ อันหมายถึงว่า วุฒิสภารับผิดชอบ ประกอบกับยังไม่มีการเสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย และมีผู้สนใจเรื่องนี้ไม่มากเท่าที่ควร

ดังนั้น เมื่อวุฒิสภาได้เปิดโอกาสให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 3 คน ซึ่งต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ แทน พลโท จุล อติเรก และนายสุจินดา ยงสุนทร รวมทั้งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ แทน นายอนันต์ เกตุวงศ์ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง 4 ปีครึ่งดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการยอมรับให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 5 คนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 4 ปีครึ่ง

สำหรับภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนเป็นชาย และสมรสแล้ว ส่วนภูมิหลังเกี่ยวกับที่มา ซึ่งหมายถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาใด การได้รับการเลือกหรือเสนอชื่อต่อวุฒิสภาโดยคณะบุคคลใด (จากนั้นวุฒิสภาจึงนำขึ้นถวายคำแนะนำ) และการเข้าดำรงตำแหน่งแทนผู้ใด รวมทั้งวันเดือนปีเกิด การศึกษา และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และวิชาการ

(โปรดดูตารางที่ 3.5 ถึง ตารางที่ 3.7 ในบทที่ 3)

1.2.2   ผลการวิจัยสนามโดยใช้แบบสอบถามถามกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 45 คนดังกล่าว ในเรื่องภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า

1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าภูมิหลังต่อไปนี้มีส่วนสำคัญต่อทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

1.1) อายุ

1.2) การต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจน

1.3) ปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ 3 ประเภท อันได้แก่ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชานิยม

2) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยว่าภูมิหลังต่อไปนี้มีส่วนสำคัญต่อทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

2.1) การนับถือศาสนา

2.2) สถานภาพการสมรส

2.3) การสำเร็จการศึกษาจากภายนอกประเทศ

3) เฉพาะความเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อภูมิหลังเรื่องของเพศ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยว่าเพศของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญต่อทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีจำนวนเท่ากับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย

4) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า

4.1) การมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา หรือมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางอนุรักษ์นิยม

4.2) การมาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเสรีนิยม

4.3) การมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์มีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางประชานิยม

4.4) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีภูมิหลังเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทเสรีนิยม จึงจะช่วยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมมากที่สุด

5) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีภูมิหลังเกี่ยวกับ

5.1) การศึกษาจากในและนอกประเทศจึงจะทำให้คำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในขณะนี้

5.2) การศึกษาจากในและนอกประเทศจึงจะทำให้คำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

5.3) ประสบการณ์ในการทำงานเป็นนักวิชาการ (นักนิติศาสตร์ หรือ นักรัฐศาสตร์) จึงจะทำให้คำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในขณะนี้  รองลงมาเห็นว่าเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ 

6) แม้กลุ่มตัวอย่างจะไม่ระบุปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเภทอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม หรือประชานิยมไว้ครบทุกคนและกลุ่มตัวอย่างที่แสดงความคิดเห็นมีจำนวนน้อยก็ตาม แต่ผลการวิจัยสนามได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือร้อยละ 24.4 ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเห็นว่านายอมร รักษาสัตย์ มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทเสรีนิยม  ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่มีเพียงร้อยละ 8.9 เห็นว่านายประเสริฐ นาสกุล มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทอนุรักษ์นิยม ในเวลาเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เพียงร้อยละ 6.7 เท่านั้น ยังเห็นว่านายอมร รักษาสัตย์ มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทประชานิยม อีกด้วย เมื่อตัวเลขออกมาจำนวนน้อยเช่นนี้ ส่งผลให้ข้อมูลในส่วนนี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

สำหรับเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างไม่ระบุปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นประเภทอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม หรือประชานิยมไว้ครบทุกคนและกลุ่มตัวอย่างที่แสดงความเห็นในเรื่องนี้มีจำนวนน้อยนั้น มีหลายประการ เช่น ในทางปฏิบัติเป็นการยากพอสมควรที่กลุ่มตัวอย่างจะทราบและเข้าใจปรัชญาและแนวคิดดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ครบทั้ง 14 คน และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเท่านั้นที่ได้แสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความมีชื่อเสียงหรือหรือการแสดงจุดยืนที่สั่งสมมาจากอดีต นอกจากนี้ ประสบการณ์ในการทำงานหรืออาชีพในอดีตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การเป็นผู้พิพากษาย่อมไม่มีโอกาสประชาสัมพันธ์ผลงานตนเองเท่ากับการเป็นนักวิชาการ อีกทั้งในคำวินิจฉัยหนึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนแสดงปรัชญาหรือแนวคิดประเภทอนุรักษ์นิยม แต่ในอีกคำวินิจฉัยหนึ่งกลับแสดงปรัชญาหรือแนวคิดเสรีนิยม ทำให้ยากต่อกลุ่มตัวอย่างที่จะชี้ชัดลงไป

1.3  สมมติฐานของการศึกษาวิจัย

ในการพิสูจน์สมมติฐานของการศึกษาวิจัยทั้ง 4 ข้อต่อจากนี้ไป ได้ใช้ข้อมูลจากผลการวิจัยสนามเป็นหลัก และยังนำข้อมูลจากผลการวิจัยเอกสารมาพิจารณาประกอบด้วยตามความจำเป็น สรุปได้ว่า ผลการศึกษาวิจัยได้สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานของการศึกษาวิจัยจำนวน 3 ข้อ และไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานของการศึกษาวิจัยจำนวน 1 ข้อ ดังนี้

1.3.1 ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐานข้อที่ 1 “โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกัน ย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมาก” หมายความว่า โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ กลุ่มละ 5 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน และมาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน มีส่วนสำคัญทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความเห็นของนักกฎหมาย

การพิสูจน์สมมติฐานข้อนี้ได้ยึดถือข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสนามโดยใช้แบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองการปกครองและการบริหารจำนวน 45 คนดังกล่าวแล้วตอบ นอกจากนี้ ผลการวิจัยเอกสารก็มิอาจปฏิเสธหรือหักล้างการยืนยันสมมติฐานข้อนี้ได้ เพราะผลการวิจัยเอกสารแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเพียงว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และกลุ่มที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น  แต่ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าการที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากการมีที่มาจากการศึกษาหรือการทำงาน มาจากแหล่งเดียวกัน  หรือมาจากความเชี่ยวชาญสาขาเดียวกัน หรือเกิดจากสาเหตุใด

1.3.2 ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐานข้อที่ 2 “ภูมิหลังที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” อันได้แก่ ภูมิหลังที่เกี่ยวกับอายุ การต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจน ประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดทั้งปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจำแนกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชานิยม สำหรับภูมิหลัง อันได้แก่ การนับถือศาสนา สถานภาพการสมรส และการสำเร็จการศึกษาจากภายนอกประเทศ ไม่มีส่วนสำคัญต่อทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เฉพาะความเห็นเรื่องของเพศ ปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยว่าเพศของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญต่อทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวนเท่ากับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เห็นด้วย

1.3.3 ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐานข้อที่ 4 “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองของประเทศ”  โดยกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าผลของคำวินิจฉัยมีส่วนช่วย (1) พัฒนาประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมืองในระดับมาก (2) พิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในระดับปานกลาง (3) ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับมาก ซึ่งเท่ากับจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เห็นว่ามีส่วนช่วยในระดับปานกลาง (4) ปกป้องคุ้มครองเสถียรภาพของรัฐบาลและนักการเมืองในระดับมาก และ (5) สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองของประเทศในระดับปานกลาง เมื่อนำตัวเลขร้อยละของความเห็นของกลุ่มตัวอย่างในระดับมากและปานกลางของแต่ละคำถามมารวมกัน ในทุกคำถามจะได้ผลรวมมากกว่าครึ่ง โดยไม่มีข้อใดต่ำกว่าร้อยละ 64.4 ขณะที่บางคำถามสูงถึงร้อยละ 88.9 เช่นนี้แสดงถึงการสนับสนุนและยืนยันสมมติฐานข้อที่ 4

พร้อมกันนี้ เพื่อนำผลไปใช้ในการพิสูจน์สมมติฐานของการศึกษาวิจัยข้อที่ 4 นี้ ในแบบสอบถามได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่าง 45 คน แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 20 เรื่องด้วย คำวินิจฉัยทั้ง 20 เรื่องนี้มีความสำคัญ เป็นที่สนใจของประชาชน และมีสาระสำคัญกระจายครอบคลุมปัญหาหรือกรณีต่าง ๆ 10 กรณี อันได้แก่ (1) กรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ตามมาตรา 295 (2) กรณียุบพรรคการเมือง (3) กรณีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค (4) กรณีสิทธิในทรัพย์สิน (5) กรณีการถอดถอน หรือการพ้นจากสมาชิกภาพของนักการเมือง (6) กรณีอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ (7) กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา (8) กรณีกระบวนการออกกฎหมาย (9) กรณีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และ(10) กรณีอื่น ที่ไม่จัดอยู่ใน 9 กรณีนี้

ทั้ง 10 กรณีนี้ แต่ละกรณีประกอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 20 เรื่อง ในแต่ละเรื่องได้สรุปสาระสำคัญเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม อันได้แก่ (1) ประเด็นหลัก และ (2) คำวินิจฉัย ซึ่งรวมทั้งคะแนนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนคำวินิจฉัยของเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยด้วย (โปรดดูแบบสอบถาม ในภาคผนวก)

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 20 เรื่องที่กล่าวมานี้ ได้แก่ (1) คำวินิจฉัยที่ 19/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ นายประยุทธ มหากิจศิริ (2) คำวินิจฉัยที่ 20/2544(วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร (3) คำวินิจฉัยที่ 28/2544 (วันที่ 6 กันยายน 2544) นายทะเบียนพรรคการเมือง กับ พรรคเสรีธรรม (4) คำวินิจฉัยที่ 51/2544 (วันที่ 27 ธันวาคม 2544) นายทะเบียนพรรคการเมือง กับ พรรคพัฒนาสังคม (5) คำวินิจฉัยที่ 3/2544 (วันที่ 18 มกราคม 2544) นายฮายาชิ กับ เรือนจำกลางชลบุรี (6) คำวินิจฉัยที่ 11/2544 (วันที่ 20 มีนาคม 2544) นายนคร ดวงแก้ว และ นายสุบรรณ์ สาระพันธ์ กับ พระราชบัญญัติยาเสพติดฯ (7) คำวินิจฉัยที่ 14/2544 (วันที่ 26 เมษายน 2544) บริษัท นครราชสีมาทำไม้จำกัด กับ พระราชบัญญัติล้มละลายฯ (8) คำวินิจฉัยที่ 50/2544 (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544) บริษัท ไทยวิวัฒน์เคหะ จำกัด กับ กรมสรรพากร (9) คำวินิจฉัยที่ 57/2543 (วันที่ 28 พฤศจิกายน 2543) นายเนวิน ชิดชอบ กับ พรรคเอกภาพ (10) คำวินิจฉัยที่ 4/2544 (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544) นายวิชิต พูลลาภ และคณะ กับ รัฐมนตรี 10 คน (11) คำวินิจฉัยที่ 32/2543 (วันที่ 7 กันยายน 2543) นายอดิศร เพียงเกษ และคณะ กับ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (12) คำวินิจฉัยที่ 63/2543 (วันที่ 15 ธันวาคม 2543) ปปช. กับ อำนาจในการวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติฯ (13) คำวินิจฉัยที่ 13/2544 (วันที่ 29 มีนาคม 2544) กกต. กับ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา (14) คำวินิจฉัยที่ 13/2544 (วันที่ 29 มีนาคม 2544) กกต. กับ การสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ (15) คำวินิจฉัยที่ 54-55/2543 (วันที่ 31 ตุลาคม 2543) นายพนัส ทัศนียานนท์ และคณะ และนายคำนวณ ชโลปถัมภ์ และคณะ กับร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ (16) คำวินิจฉัยที่ 56/2543 (วันที่ 31 ตุลาคม 2543) นายมารุต บุนนาค และคณะ กับ ร่างพระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ (17) คำวินิจฉัยที่ 12/2544 (วันที่ 29 มีนาคม 2544) นายสนิท วรปัญญา และคณะ กับ พระราชบัญญัติฯ (18) คำวินิจฉัยที่ 33/2544 (วันที่ 11 ตุลาคม 2544) นายสัก กอแสงเรือง และคณะ กับ พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ(19) คำวินิจฉัยที่ 58-62/2543 (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543) อบต. อบจ. และเทศบาล กับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และ (20) คำวินิจฉัยที่ 40-49/2544 (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2544) กองทุนรวม 10 กองทุน กับ พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ

สรุปความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อคำวินิจฉัยข้างต้นนี้ได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พอใจหรือเห็นด้วยว่าคำวินิจฉัยที่สำคัญ 19 เรื่อง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การพัฒนาประชาธิปไตย หรือการปฏิรูปการเมืองของประเทศ ยกเว้นคำวินิจฉัยเดียวเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย คือคำวินิจฉัยที่ 20/2544 (วันที่ 3 สิงหาคม 2544) ปปช. กับ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 48.9) ไม่เห็นด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามจำนวนมากที่สุด คือร้อยละ 45.2 พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายอมร รักษาสัตย์ มากที่สุด รองลงมา คือ ร้อยละ 37.8 พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายประเสริฐ นาสกุล และร้อยละ 24.4 พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุจิต บุญบงการ

หมายเหตุ ในการวิจัยสนามที่ให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม มีข้อสังเกตสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำวิจัยในอนาคต กล่าวคือ ถึงแม้ว่าในแบบสอบถามได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างใส่เครื่องหมาย X ในกรณีที่กลุ่มตัวอย่างไม่แน่ใจ ไม่รู้จักดีพอ ไม่มีข้อมูล หรือไม่ขอตอบ ไว้ด้วยก็ตาม แต่เมื่อกลุ่มตัวอย่างแสดงความคิดเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า “ไม่ชอบหรือไม่พอใจ” การปฏิบัติงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใด รวมทั้ง “ไม่ชอบหรือไม่พอใจ” คำวินิจฉัยเรื่องใด คำตอบที่ได้รับจะไม่สมบูรณ์ หรือไม่ได้รับคำตอบ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยของคนไทยเป็นจำนวนมากมีความเกรงใจ  ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในด้านลบต่อผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หรือการขาดความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากพอสมควรที่จะได้คำตอบที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวนี้อย่างสมบูรณ์

1.3.4 ผลการศึกษาวิจัยไม่สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานข้อที่ 3 ที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ในการพิสูจน์สมมติฐานข้อนี้ได้นำข้อมูลจากการวิจัยสนามและการวิจัยเอกสารมาเทียบเคียงกันด้วย พบว่า ผลการวิจัยสนามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 45 คน ได้แสดงให้เห็นว่า "กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 62.2 ไม่เห็นด้วยว่าบทบาทของประธานศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ในขณะที่ผลการวิจัยเอกสารแสดงให้เห็นว่า "ถึงแม้ว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมากเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่นอนและชัดเจนว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลเหนือกลุ่มเสียงข้างมากหรือเหนือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดหรือมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดหรือมีคำวินิจฉัยที่สอดคล้องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น" ดังนั้น ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานข้อที่ 3 นี้ได้

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อน่าสังเกตที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ว่า (1) ตามหลักการ ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาของบุคลากรของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือให้คุณให้โทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน อย่างไรก็ดี ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงมาก ต้องออกงานพิธี และมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยเงินเดือนหรือผลประโยชน์ที่ได้รับก็แตกต่างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อย (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือมาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เท่าที่ผ่านมาได้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน คือ นายเชาวน์ สายเชื้อ และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน ได้แก่ นายประเสริฐ นาสกุล และนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อีกทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คนดังกล่าว หากพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์จากภูมิหลังแล้ว พบว่า ล้วนเข้าสู่ตำแหน่งโดยยึดหลักอาวุโส หรือมีอาวุโสสูงสุดคือมีอายุมากที่สุด ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนเป็นผู้เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับเหตุผลที่การเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่ผ่านมาได้นำหลักอาวุโสมาใช้เพราะถ้าเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอายุสูงที่สุดเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด ในเวลาเดียวกัน ถ้ามองเฉพาะในด้านลบว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ได้รับเลือกกระทำการไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด ก็จะกระทำการได้ไม่นาน เพราะจะต้องพ้นจากตำแหน่งเร็ว นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นได้มีโอกาสเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญได้อีกด้วย แต่ถ้าเลือกคนที่มีอาวุโสน้อยหรือมีอายุน้อยเข้าไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งยาวนาน และถ้าผู้ที่ได้รับเลือกกระทำการที่ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด ก็ไม่มีโอกาสเปลี่ยนตัวได้ง่าย จำต้องทนอยู่กับสภาพนั้นไปอีกยาวนาน ทั้งยังเป็นการปิดโอกาสตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติมากอีกด้วย อนึ่ง ในเรื่องหลักความรู้ความสามารถที่จะนำมาใช้ในการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น บุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงในระดับชาติ ดังเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่ชี้วัดได้ยาก และเป็นที่โต้แย้งถกเถียงกันมาก อีกทั้งเป็นไปได้มากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนไม่ยอมรับความรู้ความสามารถของกันและกัน เพราะแต่ละคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงและสั่งสมมานานอยู่แล้วจึงได้เข้ามาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีสูงมาก หลักการอื่นใดรวมทั้งหลักความรู้ความสามารถจึงมีข้อโต้แย้งได้มากกว่าหลักอาวุโสดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

3. ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ได้เคยเสนอแนะไว้แล้วในโครงการศึกษาวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ในเล่มที่ 1 (ในปี 2545 ตั้งแต่คำวินิจฉัยปี 2541-2543 รวม 101 เรื่อง) เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยออกมาในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้จำเป็นต้องยืนยันข้อเสนอแนะเดิม อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะอื่นเพิ่มเติมไว้ด้วย ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นเพื่อให้สามารถนำข้อเสนอแนะไปใช้เสริมหรือชี้นำสำหรับแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ (1) ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมือง (2) ปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจนและไม่เหมาะสม รวมทั้ง (3) ปัญหาที่เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลบางเรื่องในอดีตที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการเมือง และการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ อีกด้วย

เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาดังกล่าว หัวข้อการเสนอแนะจึงจัดแบ่งเป็น 3 ส่วนเช่นเดียวกัน คือ (1) แนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ (2) แนวทางการพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ (3) แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแนะแต่ละส่วนล้วนมีความสำคัญ จึงควรดำเนินการพร้อมกันไปตามความเหมาะสม

3.1 แนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นข้อเสนอแนะที่มุ่งพัฒนาที่ระบบหรือโครงสร้างใหญ่ที่รวมโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ไว้ด้วยกัน เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงและชัดเจนว่าจะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองหรือไม่เพียงใด ข้อเสนอแนะในแต่ละเรื่องมีดังนี้

3.1.1  แนวทางการพัฒนาโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น 15 คน โดยมีลักษณะหลากหลาย  พร้อมกับมีกระบวนการการสรรหาและการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ โดยมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน 5 คน จากผู้พิพากษาในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คน จากสาขานิติศาสตร์ จำนวน 5 คน และจากสาขารัฐศาสตร์ จำนวน 3 คน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในลักษณะหลากหลายนั้น สัดส่วนของผู้สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย ซึ่งแบ่งเป็น ผู้พิพากษาในศาลฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขานิติศาสตร์มีรวมกัน 10 คน หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของจำนวนศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด และถ้านับผู้พิพากษาในศาลปกครองสูงสุดอีก 2 คนด้วยแล้ว ก็เป็นไปได้อย่างมากที่จะเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายขึ้นอีก จำนวนดังกล่าวนี้ถือว่าสูงมาก ที่เป็นเช่นนี้ อาจเนื่องมาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นศาล หรือเป็นศาลยุติธรรม (court of justice) ของประเทศ มากกว่าทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นศาลการเมือง (court of politics) หรือเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนักการเมืองดำรงตำแหน่งอยู่ด้วย ดังที่เคยมีมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โครงสร้างเช่นนี้น่าจะเป็นหลักการที่เหมาะสม

แต่ในความหลากหลายผนวกกับที่มาและสัดส่วนที่แตกต่างกันมากดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาในการพิจารณาวินิจฉัยพอสมควร เช่น ในบางเรื่องได้มีการยึดถือหลักนิติศาสตร์หรือคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายเอกชนมากจนเกินไปโดยให้ความสำคัญกับกฎหมายมหาชน หลักรัฐศาสตร์ สิทธิเสรีภาพ ตลอดจนผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมไม่มากเท่าที่ควร ประกอบกับในสภาพความเป็นจริงและในสภาพปัจจุบัน ชีวิตหรือสังคมของมนุษย์ และความยุติธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้ขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวและในประเทศไทยก็มิได้ยึดถือหลักการปกครองโดยผู้พิพากษาที่ยึดตัวบทกฎหมายเท่านั้น

   เมื่อเป็นเช่นนี้  ที่มาและสัดส่วนของโครงสร้างหรือองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง  เพราะส่งผลต่อการคะแนนเสียงของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้สันทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหารส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ การให้คงโครงสร้างเดิมไว้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้น ข้อเสนอแนะสำหรับพัฒนาโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ควรปรับเปลี่ยนจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากขึ้น โดยมีหลักเกณฑ์หรือกรอบที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่

1) ไม่เพิ่มจำนวนศาลรัฐธรรมนูญ คือ ให้มีจำนวน 15 คนเช่นเดิม เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของแผ่นดินและยังสอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศ 

2)  เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์   เพราะ

2.1) สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีเรื่องเกี่ยวกับรัฐศาสตร์เป็นจำนวนมาก เช่น มาตราเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างกว้างขวาง

2.2) การใช้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ จึงสอดคล้องกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์

2.3) ทำให้ได้มุมมองรัฐธรรมนูญในลักษณะที่กว้างขวางในสายตาของนักรัฐศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์ โดยเหตุผลสำคัญเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่า นักรัฐศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทประชานิยมหรือประเภทเสรีนิยมในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ประกอบกับกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีภูมิหลังเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทเสรีนิยมจะช่วยให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมมากที่สุด  ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทอนุรักษ์นิยม

3) ไม่เพิ่มจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 98 กำหนดให้มีจำนวนเพียง 23 คน

ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญตามกรอบที่กล่าวมานี้ อาจเป็นโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งจากตารางที่ 2 ทั้งนี้ ควรประชาสัมพันธ์แสดงเหตุผล หรืออาจทำประชาพิจารณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว

ตารางที่ 2 ข้อเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 โครงสร้าง โดยศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 15 คนเช่นเดิม

ข้อเสนอแนะให้

ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

ของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้พิพากษา

ใน

ศาลฎีกา

ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์

ผู้ทรงคุณวุฒิสาขา

รัฐศาสตร์

ตุลาการใน

ศาลปกครอง

สูงสุด

1)

ศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 15 คน เช่นเดิม โดยประกอบด้วย

3

5

5

2

2)

4

5

5

1

3)

4

4

5

2

3.1.2 แนวทางการพัฒนาอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปในทำนองเดียวกับที่ได้เสนอแนะไว้แล้วในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 ซึ่งสรุปได้ว่า

1) ควรจัดการอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนขึ้น

2) ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงภายใต้เงื่อนไข เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นองค์กรที่ใช้เป็นที่พึ่งเพื่อหาข้อยุติ ที่สำคัญคือ จะช่วยให้ศาลรัฐธรรมนูญใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นและเป็นศาลของประชาชน อย่างแท้จริง มิใช่ศาลที่เน้นให้บริการเฉพาะองค์กรระดับสูง นักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงเท่านั้น แต่การให้ประชาชนยื่นคำร้องได้โดยตรงนั้น ควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เรื่องที่ยื่นต้องเป็นปัญหาสำคัญ และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่อสังคมหรือประชาชนโดยรวม เช่นปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนปัญหาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  หรือปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (challenge constitutionality) อันมิใช่ปัญหาส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง

3) ควรมีแนวโน้มการตีความขอบเขตอำนาจของตนในทิศทางกว้างโดยครอบคลุมสังคมไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและสภาพแวดล้อม

3.2 แนวทางการพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ข้อเสนอแนะในส่วนนี้บางข้อจึงเป็นไปในทำนองเดียวกับที่ได้เสนอแนะไว้แล้วในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 เพื่อยืนยัน แต่ก็มีส่วนที่เพิ่มเติมด้วย สรุปได้ว่า แนวทางพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญควรดำเนินการโดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชัดเจน เช่น ถ้อยคำที่ว่า

1) "บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" มาตรา 266 หมายถึง กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเท่านั้น หรือหมายถึง กฎ ข้อบังคับอื่นด้วย

2) "องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ" ตามมาตรา 266 หมายถึง องค์กรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หรือองค์กรอื่นด้วย เช่น เทศบาล

3) "ต้องคำพิพากษาให้จำคุก" ตามมาตรา 264 (4) ควรหมายถึง รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกคำพิพากษาให้จำคุกในทันทีเท่านั้น หรือต้องคำนึงว่าบุคคลดังกล่าวต้องถูกจำคุกจริง หรือคดีถึงที่สุดด้วย

4) "ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" มาตรา 198 ต่างกับ การขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร

5) อำนาจหน้าที่ในการยุบพรรคการเมือง หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจหน้าที่เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงเท่านั้น หรือควรมีอำนาจสั่งยุบพรรคตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.  2541 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอื่นด้วย

6) การส่งคำโต้แย้ง ความเห็น หรือเอกสารของคู่ความตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 264 หมายถึง ให้อำนาจศาลยุติธรรมและศาลอื่นที่จะพิจารณาว่าควรส่งหรือไม่ส่งคำโต้แย้ง ความเห็น หรือเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถ่วงเวลาด้วยการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย หรือศาลยุติธรรมและศาลอื่นไม่ควรมีอำนาจดังกล่าว มีหน้าที่ต้องส่งทุกเรื่อง

7) สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 121 ต้องได้รับการเลือกตั้งถูกต้องครบทั้ง 200 คนก่อนเท่านั้น จึงจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือไม่ถึง 200 ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้

8) "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ตามมาตรา 268 ผลผูกพันดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะองค์กรเท่านั้น หรือครอบคลุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนด้วย เพราะถ้าครอบคลุมด้วยก็จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้แล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก

การที่คณะผู้ศึกษาวิจัยเสนอแนวทางพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือถ้อยคำดังกล่าวให้ชัดเจนนั้น เพราะถึงแม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดและได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับถ้อยคำกล่าวข้างต้นไว้แล้วเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ในอนาคตอาจมีการกลับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเดิมพ้นจากตำแหน่งหรือมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่มใหม่เข้าสู่ตำแหน่ง หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญน่าจะทำให้ถ้อยคำดังกล่าวชัดเจนขึ้น และใช้ได้ตลอดไปเฉพาะในบางเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

3.3 แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรดำเนินการพร้อมกันไปทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ และการพัฒนาโดยประชาชน แต่ละส่วนดังกล่าวนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

3.3.1 การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์  ที่สำคัญคือ

1) กระบวนการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของแต่ละองค์กร เช่น คณะกรรมการสรรหาตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด  ตลอดทั้งวุฒิสภา  ควรมีหลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกภายในที่ชัดเจนบริสุทธิ์ ยุติธรรม เปิดเผย ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ และเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้นี้ เพื่อให้ได้บุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างจริง เป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย และปลอดจากอิทธิพลทางการ เมืองอย่างแท้จริง

2) การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่  หรือมิได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยคำร้องบางเรื่อง ซึ่งอาจเป็นเพราะติดราชการต่างประเทศ หรือป่วย หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ด้วยเหตุผลจำเป็นทั้งหลายนั้น แม้จำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงมีองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  คือไม่น้อยกว่า 9 คน ก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปิดเผยและโปร่งใส  จึงจำเป็นต้องมีการบันทึกและรวบรวมข้อมูลไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อแสดงถึงเหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มิได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยไว้ทุกเรื่อง พร้อมเผยแพร่ด้วย

3) อาจเป็นการยากในทางปฏิบัติพอสมควรที่จะเสนอแนะให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนเขียนคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตนเองให้แล้วเสร็จก่อนลงมติเพื่อให้ได้มาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากไม่กระทำเช่นนี้ สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เป็นต้นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนหรือในบางเรื่อง (1) นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตนเอง (2) รอดูว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายเสียงข้างมากจะเป็นไปในทิศทางใด แล้วตนเองก็จะออกเสียงไปตามฝ่ายเสียงข้างมากนั้น (3) แก้ไขคำวินิจฉัยส่วนตนของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ (4) หลีกเลี่ยงการวินิจฉัยประเด็นหลักที่สำคัญของผู้ยื่นคำร้องด้วยการวินิจฉัยให้ยกคำร้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่แน่ใจหรือเป็นเรื่องที่วินิจฉัยยากลำบาก ทั้งนี้ โดยไม่แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องในประเด็นหลักสำคัญนั้นไว้ด้วย

4) คำวินิจฉัยที่ 9-10/2544 (วันที่ 8 มีนาคม 2544) บริษัทกฤษดามหานครฯ กับ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฯ เป็นคำวินิจฉัยแรกที่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุคะแนนเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ร่วมเป็นองค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัยไว้ด้วย แต่ก็มิได้ดำเนินการในทุกคำวินิจฉัย เช่น คำวินิจฉัยที่เป็นคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง หรือคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เขียนขึ้นโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนอาจไม่ต้องการให้ระบุคะแนนเสียงดังกล่าวไว้ด้วย ประกอบกับการไม่มีแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน จึงทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและประโยชน์ในทางวิชาการ การระบุคะแนนเสียงดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ระบุชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนว่าได้ออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก ฝ่ายเสียงข้างน้อย หรืออื่นใด ไว้ด้วย ก็น่าจะสนับสนุนให้มีขึ้น ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้ยากพอสมควรเพราะอาจถูกโต้แย้งว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนพ้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นลักษณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขาดแนวคิดในการรับผิดชอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันก็ตาม

5) ในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของนายประเสริญ นาสกุล และสุจินดา ยงสุนทร ได้ระบุวันที่ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ด้วยทุกครั้ง ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นไม่ได้ระบุไว้ด้วย เช่นนี้ ทำให้คณะผู้ศึกษาวิจัยสามารถนำวันเวลาดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณระยะเวลาพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละเรื่องได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ต่อไปในอนาคต เป็นที่น่าวิตกว่า หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งแล้ว จะหาวันที่ผู้ร้องแต่ละคนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ลำบากขึ้น แม้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกือบทุกคำวินิจฉัยก็ไม่ระบุไว้ด้วย โดยทั่วไปวันที่ดังกล่าวอาจดูได้จากรายงานการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ หรือจากสำนวนคำร้องที่ผู้ยื่นคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดังกล่าวไม่สะดวกเท่าที่ควร และต้องใช้เวลามาก ดังนั้น ข้อมูลส่วนนี้น่าจะระบุไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

6) การไม่วินิจฉัยประเด็นหลัก หรือการยกคำร้อง ในบางกรณีมีส่วนสำคัญทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นสำคัญที่ผู้ร้องยื่นเข้ามา อันมีส่วนสำคัญทำให้คะแนนเสียงไปเพิ่มกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสียงข้างมากหรือฝ่ายเสียงข้างน้อย นอกจากนี้ ในบางกรณียังทำให้ผู้ร้องหรือสังคมไม่อาจได้รับคำตอบได้อย่างสมบูรณ์ว่าประเด็นที่ยื่นคำร้องมานั้นผลจะเป็นอย่างไร ความเป็นธรรมในสังคมจึงไม่เกิดขึ้นและปัญหาของสังคมไม่ได้รับการแก้ไขหรือวางบรรทัดฐานเท่าที่ควร และตราบจนทุกวันนี้ ก็ยังคงไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น

6.1) คำวินิจฉัยที่ 4/2542 (วันที่ 1 เมษายน 2542) นายเกรียงศักดิ์ แซ่เล่า กับ ประกาศกำหนดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของธนาคารฯ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าประกาศของธนาคารพาณิชย์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้องเนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย

6.2) คำวินิจฉัยที่ 2/2541 (วันที่ 25 มิถุนายน 2541) กระทรวงมหาดไทย กับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีประเด็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีสิทธิเข้าตรวจค้นหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

6.3) คำวินิจฉัยที่ 58-62/2543 (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543) อบต. อบจ. และเทศบาล กับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ว่า พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่รับวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้อง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวไม่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

6.4) คำวินิจฉัยที่ 3/2544 (วันที่ 18 มกราคม 2544) นายฮายาชิ กับ เรือนจำกลางชลบุรี ศาลจังหวัดชลบุรีส่งคำร้องของนายฮายาชิ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 30 และมาตรา 33 และต้องด้วย มาตรา 6 ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดชลบุรี จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดชลบุรีว่า จำเลยซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางชลบุรี ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยถูกตีโซ่ตรวนที่ข้อเท้าตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 2 ปี 4 เดือน การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตราดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้จำหน่ายคำร้อง เพราะผู้ร้องถูกส่งตัวกลับไปญี่ปุ่นแล้ว เช่นนี้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในแง่ผลของคำวินิจฉัยต่อตัวผู้ร้อง แต่ไม่ได้วินิจฉัยในแง่ของหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลไว้ด้วย

ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาจทำให้มองไปได้ว่า การยกคำร้องเรื่องใดเป็นการแขวนเรื่องนั้นไว้ หรือไม่วินิจฉัยเรื่องใด เป็นหนทางหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการวินิจฉัย เพราะหากวินิจฉัยออกมา อาจไปกระทบผลประโยชน์ของบุคคลหรือหน่วยงานบางกลุ่ม อย่างไรก็ดี มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่แม้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากให้ยกคำร้อง แต่ก็ได้แสดงเหตุผลไว้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นสำคัญนั้นไว้ด้วย เช่นนี้ ก็พอที่จะทำให้สังคมได้รับคำตอบหรือความเห็นได้บ้างถึงแม้จะยังไม่เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือเป็นมติฝ่ายเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนั้น การแสดงความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลในประเด็นสำคัญดังกล่าวซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ร้องหรือสังคม  จึงควรได้รับการสนับสนุนให้มีปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนด้วย

3.3.2 การพัฒนาโดยประชาชน   ประชาชนหรือบุคคลภายนอกศาลรัฐธรรมนูญควรเข้ามามีส่วนในการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย

1) ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคล หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง

2) ประชาชนซึ่งรวมทั้งนักวิชาการควรให้ความสนใจกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ในทางวิชาการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ที่ผ่านมาประชาชนให้ความสนใจเนื้อหาสาระภายในคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยส่วนบุคคลน้อยมาก แต่ให้ความสนใจผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่าออกมาอย่างไร ในส่วนของนักวิชาการส่วนใหญ่ก็จะนำคำวินิจฉัยมาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงการใช้ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเท่านั้น โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น พัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ อันเป็นส่วนสำคัญของการออกคำวินิจฉัยมากเท่าที่ควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า องค์กรที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน อีกทั้งนักวิชาการบางส่วนเคยชินกับระบบศาลยุติธรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้พิพากษาได้มากดังเช่นตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ ผลงานจึงออกมาในลักษณะของการรวบรวมและเรียบเรียงคำพิพากษาของศาลฎีกา ส่วนการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเจาะลึกไปถึงภูมิหลังโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยจึงอยู่ในขอบเขตจำกัด เหล่านี้ จึงมีส่วนทำให้ประชาชนและนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทางวิชาการเกิดขึ้นน้อยมาก

P P P P P