วิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย

วิรัช วิรัชนิภาวรณ

1. ความนำ

การพิจารณาวินิจฉัย คดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสืบต่อกันมาช้านาน เนื่องจากในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหา ข้อพิพาทหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญ เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ มีข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  หรือมีปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่คลุมเคลือไม่ชัดเจนจนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกัน เป็นต้น  ประเทศทั้งหลายจึงจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่เรียกชื่ออื่น เช่น ศาลสูงสุดของประเทศ (the US Supreme Court) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหา  ข้อพิพาท  หรือคดีที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรวมทั้งตีความรัฐธรรมนูญ  

การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญให้บริสุทธิ์ยุติธรรม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประเทศชาติ และเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยส่วนรวมได้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและมีวิธีการตีความรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากความสุขุมรอบคอบและจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน  ดังนั้น  วิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก กล่าวคือ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เป็นพื้นฐานหรือแนวทางเพื่อให้เกิดความมั่นใจแล้ว ยังช่วยสร้างความสมบูรณ์และมาตรฐานให้กับรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกด้วยแม้ว่าการค้นหาวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญมิใช่เรื่องง่าย และสร้างความลำบากใจให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมิใช่น้อยก็ตาม ดังที่ Robert H. Jackson ซึ่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของประเทศด้วยในระหว่างปี   ค.ศ. 1941 – ค.ศ. 1954 ได้เคยกล่าวไว้ว่า เท่าที่ผ่านมาและสืบเนื่องกันมานาน ไม่มีสิ่งใดสร้างความยุ่งยากใจต่อตุลาการศาลสูงสุดของประเทศที่สุขุมรอบคอบมากไปกว่าการค้นหาความรู้ทางกฎหมายปรัชญาและการปฏิบัติเพื่อนำมาใช้เป็นวิธีการหรือมาตรฐานสำหรับพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความบรรดาข้อพิพาทหรือปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ประการแรก เกิดจากความสำคัญและจำเป็นของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวผ่านมานี้ บวกกับเหตุผลประการที่สองคือ  ช่วงเวลานี้เป็นช่วงแรกของการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศของไทย  ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยได้รับคำร้องเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหา  ข้อพิพาท  หรือคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชนและหน่วยงานภายในประเทศอย่างมาก ตัวอย่างเช่น คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคำร้องของประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน แต่สมาชิกวุฒิสภาใหม่ที่มีจำนวน 122 คน สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ เป็นต้น เหตุผลประการต่อมาก็คือ บุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงานที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในบางกรณี เช่น กรณีเนวิน เกิดความสงสัยว่าในการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญใช้วิธีการหรือแนวทางใด บทความนี้อาจช่วยให้เกิดความกระจ่างได้บ้าง สำหรับเหตุผลประการสุดท้ายคือ ผู้เขียนได้มีโอกาสเขียนหนังสือเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญไทยและต่างประเทศ : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล” ผู้เขียนจึงนำบางส่วนของหนังสือดังกล่าวมาเขียนเป็นบทความนี้ โดยเฉพาะวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ

บทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ผู้อ่านได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของต่างประเทศมาเทียบเคียงกับของไทย  โดยคาดหวังว่าอาจจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยถ้านำไปเป็นพื้นฐานสำหรับวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยอย่างเป็นระบบภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย  ส่วนเหตุผลที่นำวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาเสนอไว้เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจ ไทยได้นำแนวคิดด้านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย การเมือง การปกครอง และการบริหารจากสหรัฐอเมริกามาปรับประยุกต์ใช้มากพอสมควร  ผนวกกับตำราและหนังสือมีมากเพียงพอที่จะค้นคว้าและอ้างอิงได้โดยตรง แม้จะมีผู้อ้างว่าสหรัฐอเมริกามีขนบธรรมเนียมประเพณี มีระบบกฎหมาย ระบบศาลและวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างจากไทยก็ตาม แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่าทั้ง 2 ประเทศมีส่วนที่เป็นความเหมือนเพียงพอที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือ การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญยึดหลักความบริสุทธิ์ยุติธรรม  สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประเทศชาติ และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

พร้อมกันนี้ ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า การเรียกชื่อ โครงสร้าง ตลอดจนอำนาจหน้าที่ขององค์กรฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศอาจเหมือนหรือแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ไทยเรียกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) ขณะที่อังกฤษ เรียกว่า ศาลสูงสุด หรือ ศาลสภาขุนนาง (House of Lords) สำหรับสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ศาลสูงสุดของประเทศ (the US Supreme Court หรือ the Federal Supreme Court) ส่วนเยอรมนีซึ่งแบ่งการปกครองและระบบศาลเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และระดับมลรัฐ ทำนองเดียวกับสหรัฐอเมริกา เรียกว่า ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ (Federal Constitutional Court) ในขณะที่ฝรั่งเศส เรียกว่า สภาตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) ทั้งนี้โครงสร้างขององค์กรดังกล่าวก็แตกต่างกัน เป็นต้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีเพียงศาลเดียวและระดับเดียว ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญระดับรัฐบาลกลางหรือระดับประเทศของสหรัฐอเมริกามี 3 ชั้นศาล ศาลรัฐธรรมนูญไทยและเยอรมนีเป็นองค์กรอิสระ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม ขณะที่องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ศาลสภาขุนนางของอังกฤษ และศาลสูงสุดของประเทศของสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของประเทศด้วย นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยทั่ว ๆ ไป แต่มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญบางมาตราเฉพาะที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้เท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับเอกอัครราชฑูตของต่างประเทศ รัฐมนตรีของต่างประเทศ กงสุล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศ ทั้งนี้ ต้องไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของนานาชาติ เป็นต้น ในการเขียนบทความครั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนและให้เข้าใจง่ายในเรื่องเดียวกัน จึงขอใช้คำว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”  แล้วแต่กรณี  แทนองค์กรและบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและไทยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้ในบทสรุป

2. วิธีการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและวิธีการตีความรัฐธรรมนูญ

โดยทั่วไป การแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตุลาการไม่เพียงผ่านทางการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเท่านั้น แต่ยังผ่านทางการตีความกฎหมายอีกด้วย สำหรับสหรัฐอเมริกาการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ (the US Constitution) เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรมในระดับรัฐบาลกลาง (the US courts หรือ the federal courts) ซึ่งแบ่งเป็นศาลชั้นต้นของประเทศ (Federal District Courts หรือ the US District Courts) ศาลอุทธรณ์ของประเทศ (Federal Appellate Courts หรือ the US Courts of Appeals) และศาลสูงสุดของประเทศ (the US Supreme Court) ศาลยุติธรรมทั้ง 3 ระดับดังกล่าวนี้ทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญของประเทศ พร้อมกันไป แต่ละระดับมีอำนาจหน้าที่เฉพาะในระดับของตน  โดยศาลสูงสุดของประเทศซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของประเทศด้วยนั้นมีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ (has the final authority to interpret the Constitution) คำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของประเทศไม่เพียงผูกพันและส่งผลต่อการใช้อำนาจของบุคคลและองค์กรของรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ รวมทั้งส่งผลต่อแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมืองของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจในการปกครองประเทศ และการกำหนดนโยบายของประเทศอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของประเทศไม่จำเป็นต้องยึดถือคำวินิจฉัยในอดีตเป็นแนวทางเสมอไป เมื่อใดที่มีการกลับคำวินิจฉัยก็เท่ากับว่าเป็นการกำหนดนโยบายของประเทศขึ้นใหม่

ในปี ค.ศ. 1991 William C. Louthan ได้เขียนทฤษฎีการตัดสินใจของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาซึ่งครอบคลุมถึงวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศว่ามีหลายทฤษฎี แต่ที่สำคัญมี 4 ทฤษฎี ได้แก่

1) ทฤษฎีการพรรณนา (legalistic-descriptive)

2)  ทฤษฎีการบัญญัติหรือปรับเปลี่ยน (legalistic-prescriptive)

3) ทฤษฎีการทำนาย (behavioral-predictive)

4) ทฤษฎีการอธิบายพฤติกรรม (behavioral-expositive)

การพิจารณาศึกษาในส่วนนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าทฤษฎีใดดีกว่า แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างน้อย 3 ประการ ประการแรก แสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของแต่ละทฤษฎี ประการที่สอง ช่วยให้เกิดความเข้าใจลักษณะงานด้านการให้ความยุติธรรม โดยแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศของศาลสูงสุดของประเทศสอดคล้องหรือมีแนวโน้มว่าได้รับแนวคิดมาจากทฤษฎีใด และประการที่สาม ช่วยให้เข้าใจอำนาจหน้าที่และการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศมากขึ้น

1)  ทฤษฎีการพรรณนา (legalistic-descriptive) นักวิชาการที่สนับสนุนทฤษฎีนี้เชื่อที่ว่า แบบอย่าง (style) การตัดสินใจของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศแตกต่างจากแบบอย่างการตัดสินใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในฝ่ายบริหาร เหตุผลส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากฝ่ายการเมืองซึ่งหมายถึงฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอยู่ในแวดวงการเมือง  ขณะที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศอยู่เหนือการเมือง (above politics) นอกจากนี้ คำวินิจฉัยและผลการตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของประเทศยังแตกต่างจากบรรดานโยบายที่ออกจากฝ่ายการเมือง รวมตลอดไปถึงพฤติกรรมของการตัดสินใจในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศก็แตกต่างจากองค์กรทั้งหลายที่ให้ความยุติธรรมของฝ่ายการเมืองอีกด้วย

สาระสำคัญของทฤษฎีนี้เป็นการพรรณนาเพื่อให้เห็นถึงแบบ หรือ วิธีการต่าง ๆ (modes)  ที่นำไปใช้ในการให้เหตุผลและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศหรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา อธิบายเพิ่มได้ว่า ในบรรดาคดีที่มาสู่ศาลสูงสุดของประเทศ มีเป็นจำนวนมากที่ต้องการให้ตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ (construe the U.S. Constitution) รวมทั้งตีความหรือแปลความกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือข้อบังคับทางการบริหาร (interpret a legislative statute or an administrative regulation) ทฤษฎีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า การให้เหตุผลและการตีความรัฐธรรมนูญของประเทศที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศนำไปใช้มี 4 วิธีการ แต่เท่าที่ผ่านมามีน้อยมากที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศนำวิธีการใดเพียงวิธีการเดียวไปใช้ ส่วนใหญ่ได้ประยุกต์หลายวิธีการเข้าด้วยกัน ส่วนการให้เหตุผลและการตีความกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือข้อบังคับทางการบริหารมี 2 วิธีการ

เฉพาะ 4 วิธีการที่ศาลสูงสุดของประเทศนำไปใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

วิธีการที่หนึ่ง  การให้เหตุผลและการตีความรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานของเจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ (intent of the framers) วิธีการนี้อยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์โดยจำเป็นต้องเชื่อมโยงและยึดถือข้อมูลข่าวสารในอดีตอย่างมากดังปรากฏอยู่ในความเห็นของ Owens J. Roberts ซึ่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1930 – ค.ศ. 1945 ในคดี U.S. v. Butler 297 U.S.1 (1936) ที่ว่า “เมื่อกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาขัดแย้งหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญของประเทศ ฝ่ายตุลาการของรัฐบาลของประเทศมีเพียงหน้าที่เดียว คือ นำมาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศมาเทียบกับกฎหมายดังกล่าวและวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่”

วิธีการที่สอง  การให้เหตุผลและการตีความรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานของความหมายของถ้อยคำ (meaning of the words) หรือภาษา (language) ของรัฐธรรมนูญของประเทศ วิธีการนี้มีส่วนที่คล้ายกับวิธีการแรกซึ่งให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงไปถึงอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ความหมายของรัฐธรรมนูญของประเทศมีที่มาจากความหมายของถ้อยคำหรือภาษาที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อคณะผู้ร่างได้ร่วมกันเขียนขึ้นในอดีต วิธีการนี้แตกต่างจากวิธีการแรกในส่วนที่การกำหนดความหมายของถ้อยคำจำเป็นต้องใช้ความชำนาญทางพจนานุกรม (lexicographic skills) อย่างมาก

วิธีการที่สาม  การให้เหตุผลและการตีความรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ด้วยตรรกวิทยา (logical analysis) เป็นการอ้างเหตุผลโดยอาศัยการเทียบเคียงจากข้อเท็จจริงหรือหลักฐาน 2 ส่วน (syllogism) ซึ่งโดยปรกติแบ่งเป็นหลักใหญ่ (major premise) และหลักย่อย (minor premise) ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมุ่งหมาย (purpose) ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างวิธีการนี้เห็นได้จากความเห็นของ จอห์น มาร์แชล (John Marshall) เคยเป็นประธานตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ  และดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1801 – ค.ศ. 1835 ในคดี Marbury v. Madison (1803) มาร์แชล มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญของประเทศเป็นกฎหมายสูงสุด  กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญของประเทศย่อมใช้ไม่ได้ (หลักใหญ่) และเมื่อมาร์แชลได้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา คือ the Judiciary Act of 1789 ส่วนที่ 13 (Section 13) มีถ้อยคำบางส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศแล้ว (หลักย่อย) ดังนั้น จึงย่อมทำให้ส่วนที่ 13 นั้นใช้ไม่ได้ตามไปด้วย

วิธีการที่สี่  การให้เหตุผลและการตีความรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นอย่างชัดเจนที่จะต้องปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเวลาและสถานการณ์ (adapting the Constitution to changing times and circumstances) วิธีการนี้ยอมรับกันว่าไม่ว่าคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจะมีสติปัญญาและมองการณ์ไกลเพียงใด ก็ไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของสังคมซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอได้อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น  ในบางกรณีตุลาการศาลสูงสุดของประเทศจึงต้องปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของประเทศให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างของวิธีการนี้เห็นได้จากคดี McCulloch v. Maryland (1819) ซึ่งศาลสูงสุดของประเทศมีคำวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า อำนาจที่มอบให้แก่สภาผู้แทนราษฎรโดยรัฐธรรมนูญของประเทศจะต้องตีความหรือแปลความหมายอย่างกว้าง และ จอห์น มาร์แชล ซึ่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศคนหนึ่งมีความเห็นว่า “รัฐธรรมนูญที่จะใช้ได้ยาวนานต่อไปจำต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์” แต่เป็นการเสี่ยงพอสมควรถ้านำวิธีการนี้ไปใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำวิธีการนี้ไปใช้น้อยมาก และในบางกรณีได้นำไปใช้ควบคู่กับวิธีการอื่น

สำหรับ 2 วิธีการที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศนำไปใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือข้อบังคับทางการบริหาร ได้แก่ วิธีการที่การให้เหตุผลและการตีความอยู่บนพื้นฐานของความหมายที่ปรากฏอย่างชัดเจน  (plain-meaning) เป็นลายลักษณ์อักษร  และวิธีการที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมาของการออกกฎหมาย (legislative history)  ซึ่งตุลาการศาลสูงสุดของประเทศจะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาออกมานั้น รัฐสภาต้องการให้มีความหมายอย่างไร โดยอาจดูจากรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการรัฐสภา การอภิปรายในสภา หรือคำปรารภ เป็นอาทิ แต่เนื่องจาก 2 วิธีการดังกล่าวมิได้นำมาใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ  จึงไม่นำมาพิจารณาศึกษาในที่นี้ด้วย

2)  ทฤษฎีการบัญญัติหรือปรับเปลี่ยน  (legalistic-prescriptive)  ทฤษฎีนี้เชื่อว่าการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของศาลสูงสุดของประเทศตามทฤษฎีแรกไม่อาจครอบคลุมหรือนำไปใช้ได้อย่างแท้จริงในทุกคดี   ในบางคดีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเอกสารตามกฎหมาย (adapt legal texts) เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศ กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ข้อบังคับทางการบริหาร และความเห็นของศาลสูงสุดของประเทศในอดีต เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเวลาและสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความสุขุมรอบคอบและสามารถครอบคลุมคดีทั้งหลายได้ ทั้งนี้อาจนำไปใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ทฤษฎีนี้จึงเปิดโอกาสให้มีการบัญญัติ (make) ควบคู่ไปกับการตัดสินชี้ขาด (find) รัฐธรรมนูญของประเทศ โดยการบัญญัติดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ปรับเปลี่ยนการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศจากทิศทางที่แคบหรือเข้มงวดเคร่งครัดไปเป็นทิศทางที่กว้าง ขยายความ หรือผ่อนปรนมากขึ้น

3)  ทฤษฎีการทำนายพฤติกรรม (behavioral-predictive) เป็นทฤษฎีที่ให้ความสนใจกับการทำนายพฤติกรรมในการตัดสินใจซึ่งครอบคลุมถึงการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศว่าได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยใด  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทฤษฎีนี้เชื่อว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลดังกล่าว เช่น ในปี ค.ศ. 1961 Glendon Schubert เป็นผู้ริเริ่มศึกษาพฤติกรรมของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ  โดยกล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่สามารถสังเกตได้ 3 ประการซึ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาหรือทำนายพฤติกรรมในการตัดสินใจของตุลาการดังกล่าว อันได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวของร่างกายและการแสดงออกทางใบหน้าของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศในขณะอภิปรายหรือให้เหตุผล 2) การแสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร และ 3) การลงคะแนนเสียงในการพิจารณาวินิจฉัยคดีหรือการกำหนดแนวทางในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ต่อมาได้มีการศึกษาหรือทำนายพฤติกรรมอย่างเป็นระบบเพิ่มขึ้นโดยมองในลักษณะของตัวแปรอิสระ (เหตุ) และตัวแปรตาม (ผล) ตัวอย่างตัวแปรอิสระ เช่น ปัจจัยในเรื่องลักษณะภูมิหลัง ระดับการศึกษา  ตลอดจนประสบการณ์ทางการเมืองของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดหรือสามารถทำนายตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมในการตัดสินใจ  การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศได้ ในทำนองเดียวกัน John Schmidhauser ศึกษาพบว่าตุลาการศาลสูงสุดของประเทศที่มีประสบการณ์มาก (เป็นตัวแปรอิสระ หรือ เหตุ) มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในลักษณะที่ไม่ยึดถือคำวินิจฉัยในอดีตของศาลสูงสุดของประเทศมากกว่าตุลาการที่มีประสบการณ์น้อย  (เป็นตัวแปรตาม หรือ ผล) และตุลาการศาลสูงสุดของประเทศที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมในลักษณะที่ไม่ยึดถือคำวินิจฉัยในอดีตของศาลสูงสุดของประเทศ สรุปในส่วนนี้ได้ว่า ปัจจัยทั้งหลายที่เป็นประสบการณ์ชีวิตในอดีตของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ตัวแปรอิสระ หรือ เหตุ) มีส่วนสำคัญในการทำนายหรือกำหนดพฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและการตีรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ตัวแปรตาม หรือ ผล)

ยังมีการทำนายพฤติกรรมตามทฤษฎีนี้อีก โดยเฉพาะ Harold J. Spaeth ศึกษาพฤติกรรมในการออกเสียง (voting behavior) ของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศจำนวน 15 คน ในระหว่างปี ค.ศ. 1958 – ค.ศ. 1971 พบว่า ค่านิยมที่แตกต่างกันของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ เช่น ค่านิยมที่มีลักษณะเป็นเสรีนิยม (liberal) ปานกลาง (moderate) หรือ อนุรักษ์นิยม (conservative) (เหตุ) มีส่วนในการทำนายหรือกำหนดลักษณะพฤติกรรม เช่น ระดับพฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญตามหลักเสรีภาพ (freedom) ตามหลักความเสมอภาค (equality) และตามลัทธินิวดีล (New Dealism)  ของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศได้ (ผล) ตัวอย่างเช่น Douglas และ Whittaker มีค่านิยมที่แตกต่างกัน คือ เสรีนิยม และ อนุรักษ์นิยม ตามลำดับ ย่อมทำให้พฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของ Douglas และ Whittaker มีลักษณะแตกต่างตามไปด้วย คือ สนับสนุนเสรีภาพและความเสมอภาคในระดับที่แตกต่างกัน โปรดดูตารางที่ 1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 1 ค่านิยมของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (เหตุ) ส่งผลต่อการทำนายหรือการกำหนดลักษณะพฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ผล) ตามทฤษฎีการทำนายพฤติกรรม

ตุลาการศาล

สูงสุดของประเทศ

(US Supreme Court Justices)

ค่านิยม (Value)ของตุลาการศาล

สูงสุดของประเทศ

(เหตุ)

พฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความ

รัฐธรรมนูญของประเทศ (ผล)

ตาม

หลักเสรีภาพ

(Freedom)

ตาม

หลักเสมอภาค

(Equality)

ตาม

ลัทธินิวดีล

(New Dealism)


Douglas

Liberal

+

+

+


Warren

Liberal

+

+

+


Goldberg

Liberal

+

+

+


Fortas

Liberal

+

+

+


Brennan

Liberal

+

+

+


Marshall

Liberal

+

+

+


Black

Populist

+

-

+


White

Moderate

0

0

0


Stewart

Moderate

0

0

0


Clark

New Dealer

-

-

+


Whittaker

Conservative

-

-

-


Frankfurter

Conservative

-

-

-


Harlan

Conservative

-

-

-


Blackmun

Conservative

-

-

-


Burger

Conservative

-

-

-

+ หมายถึง สนับสนุน

- หมายถึง ไม่สนับสนุน

0 หมายถึง เป็นกลาง (neutral)

ที่มาและปรับปรุงมาจาก : Harold J. Spaeth, An Introduction to Supreme Court Decision Making (San Francisco, California: Chandler, 1972), p. 68.

4) ทฤษฎีการอธิบายพฤติกรรม (behavioral-expositive) ทฤษฎีนี้กล่าวถึงตัวแปรอิสระและตัวแปรตามทำนองเดียวกับทฤษฎีการทำนายพฤติกรรมที่กล่าวผ่านมาข้างต้น แต่ทฤษฎีนี้เน้นอธิบายพฤติกรรมในรายละเอียด มีหลายปัจจัย และมีหลายขั้นตอนมากกว่า โดยอธิบายพฤติกรรมในการตัดสินใจ การพิจารณาวินิจฉัยคดีและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศว่าได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยใด (Determinants of U.S. Supreme Court Decision Making) ตัวอย่างปัจจัย เช่น ลักษณะภูมิหลัง อธิบายได้ว่า ลักษณะภูมิหลังส่วนบุคคลของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศซึ่งแบ่งเป็นภูมิหลังด้านประชากร ด้านสังคมวิทยา ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง (เหตุ) ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ผล) ภูมิหลังดังกล่าวทำให้เกิดหรือได้หล่อหลอมกล่อมเกลาตุลาการศาลสูงสุดของประเทศทั้งในด้านจิตใจและด้านวัตถุหรือการแสดงออกมารวม 3 ส่วน ได้แก่ ค่านิยม (values) การรับรู้ (role perceptions) และการแสดงออกด้วยการทำกิจกรรมต่อส่วนรวม (bloc activities) ทั้งหมดนี้นำไปสู่วิธีการคิดที่มีเหตุผลและมีอิทธิพลต่อการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด  (โปรดดูภาพที่  1 ประกอบ) ในอีกมุมมองหนึ่ง กล่าวโดยย่อ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของศาลสูงสุดของประเทศมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านวัตถุหรือสภาพแวดล้อม  (ภายนอก) และปัจจัยด้านจิตใจ (ภายใน) ตัวอย่างปัจจัยด้านวัตถุหรือสภาพแวดล้อม เช่น ถิ่นที่อยู่ในเมือง-ชนบท (urban-rural) การอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง (peer group) รายได้ (income) ความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง (party affiliation) และการเป็นครอบครัวนักการเมือง (family politics) สำหรับตัวอย่างปัจจัยด้านจิตใจ เช่น ทัศนคติทางการเมือง (political attitudes) และความนึกคิดทางการเมือง (ideology) โปรดดูสรุปสาระสำคัญของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ตามแนวคิดของ William C. Louthan ในตารางที่ 2

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาวินิจฉัยคดีและการตีความรัฐธรรมนูญของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ตามทฤษฎีการอธิบายพฤติกรรม

ลักษณะภูมิหลังส่วนบุคคล

1. ภูมิหลังด้านประชากร

- ครอบครัว

- การย้ายถิ่นที่อยู่

- เพศ

- อายุ

- เชื้อชาติ

- ถิ่นที่อยู่ในเมือง-ชนบท

2. ภูมิหลังด้านสังคมวิทยา ได้มาจากข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ในอดีต

- ฐานะทางชนชั้น

- ระดับการศึกษา

- ประสบการณ์ในการ ค่านิยม


ทำงาน วิธีการ การ

- การนับถือศาสนา การรับรู้ คิดที่มี พิจารณาวินิจฉัย


- การอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง เหตุผล
มี และตีความ

3. ภูมิหลังด้านเศรษฐกิจ หล่อหลอม การแสดงออก นำไปสู่ อิทธิพลต่อ รัฐธรรมนูญ

- รายได้ กล่อมเกลา

4. ภูมิหลังด้านการเมือง หรือทำให้เกิด

- ความสัมพันธ์กับ

พรรคการเมือง

- การเป็นครอบครัว

นักการเมือง

- ทัศนคติทางการเมือง

- ความนึกคิดทางการเมือง

- การร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม

(เหตุ) (ผล)

ที่มา : William C. Louthan, The United States Supreme Court: Lawmaking in the Third Branch of Government (Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice Hall, Inc., 1991), p. 154.

ตารางที่ 2  สรุปสาระสำคัญของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ตามแนวคิดของ William C. Louthan

สรุปสาระสำคัญของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยคดีและตีความรัฐธรรมนูญของ

สหรัฐอเมริกา ตามแนวคิดของ William C. Louthan

ทฤษฎี

หรือ

วิธีการ

1) ทฤษฎีการ

พรรรณนา

2)  ทฤษฎีการ

บัญญัติหรือ

ปรับเปลี่ยน

3) ทฤษฎีการ

ทำนาย

4) ทฤษฎีการ

อธิบาย

พฤติกรรม

สาระสำคัญ

เป็นการพรรณนาเพื่อให้เห็นถึงแบบ หรือ วิธีการต่าง ๆ ที่นำไปใช้ในการให้เหตุผลและตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งมีอยู่ 4 วิธีการ คือ

วิธีการที่หนึ่ง   เน้น เจตนารมณ์หรือจุดมุ่งหมายของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

วิธีการที่สอง  เน้นความหมายของถ้อยคำ หรือภาษา

วิธีการที่สาม  เน้นการวิเคราะห์ด้วย

ตรรกวิทยา

วิธีการที่สี่    เน้นความจำเป็นอย่างชัดเจนที่จะต้องปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเวลาและสถานการณ์

เปิดโอกาสให้มีการบัญญัติ หรือปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทิศทางที่กว้าง ขยายความ หรือผ่อนปรนมากขึ้น เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ปัจจัยทั้งหลายที่เป็นประสบการณ์ชีวิตในอดีตของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ตัวแปรอิสระ หรือ เหตุ) มีส่วนสำคัญในการทำนายหรือกำหนดพฤติกรรมในการพิจารณาวินิจฉัยและการตีรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ

(ตัวแปรตาม หรือ ผล)

ลักษณะภูมิหลังส่วนบุคคลของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศซึ่งแบ่งเป็นภูมิหลังด้านประชากร ด้านสังคมวิทยา ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง (เหตุ) ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ (ผล)

นอกจากที่นำเสนอมาข้างต้นแล้ว ในปี ค.ศ. 1990 Louis Fisher ได้เสนอวิธีการตีความรัฐธรรมนูญของประเทศ (Methods of Constitutional Interpretation) ไว้ดังนี้

1)  การตีความตามตัวอักษร (literalist approach)

2) การตีความตามกฎหมายธรรมชาติ (natural law approach)

3) การตีความตามประวัติศาสตร์ (historical approach) และ

4) การตีความโดยเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (eclectic approach)

ดังจะได้นำเสนอตามลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมายังไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

1)  การตีความตามตัวอักษร  วิธีการนี้มุ่งไปที่ตัวรัฐธรรมนูญโดยสนับสนุนการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด (strict constructionism หรืออาจเรียกว่า interpretivism) เน้นการพิจารณาวินิจฉัยและตีความตามตัวอักษร  ซึ่งหมายถึงการตีความตามบทบัญญัติที่เขียนไว้หรือแสดงนัยไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญเท่านั้น (are stated or clearly implicit in the Constitution) วิธีการนี้ยังให้ความสำคัญกับความหมายเริ่มแรกของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (the original meaning of constitutional provisions) พร้อมกับปฏิเสธการตีความตามความตั้งใจหรือตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ (the framers’ intent) เพราะไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ง่าย และไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจนเท่ากับตัวอักษร ตัวอย่างการตีความตามตัวอักษร เช่น Hugo L. Black เป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1937 – ค.ศ. 1971 ได้แสดงความเห็นไว้ในปี ค.ศ. 1968 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 1 (Amendment 1) ในปี ค.ศ. 1791 ได้บัญญัติข้อความที่แก้ไขเพิ่มเติมไว้ว่า “รัฐสภาไม่อาจออกกฎหมาย…..มาตัดสิทธิเสรีภาพในการพูดหรือการพิมพ์ได้…” ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนตามที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว โดยไม่มีข้อยกเว้นใด Black กล่าวหาเพื่อนร่วมอาชีพที่ตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ถือได้ว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยตนเอง ทำให้ผิดไปจากบทบัญญัติที่เขียนไว้เดิม โดยเฉพาะการตีความในส่วนที่ว่า “รัฐสภาไม่อาจออกกฎหมายใดที่ตัดสิทธิเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การรวมกลุ่ม และการร้องเรียน  เว้นแต่รัฐสภาและศาลสูงสุดของประเทศมีข้อสรุปร่วมกันให้ออกกฎหมายนั้นได้  อีกทั้งต้องเป็นการออกกฎหมายที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของการปกครองประเทศมากกว่า” นอกจากนั้น ในปี ค.ศ. 1971 ในคดี Boddie v. Connecticut (1971) Black ไม่ต้องการให้ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานที่คลุมเคลือ ไม่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงได้ ดังเช่นการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความว่าถ้อยคำที่ว่า อะไรคือความสมเหตุสมผล ความยุติธรรม หลักการพื้นฐาน หรือความเหมาะสม แต่ Black สนับสนุนให้ยึดถือบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน  มิใช่ยึดถือสิ่งที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศทั้งหลายคิดหรือคาดว่ารัฐธรรมนูญจะหมายความว่าอย่างไร ผู้ยึดถือวิธีการตีความตามตัวอักษรอย่างมาก (extreme literalists) ถึงกับเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่เป็นข้อความไม่ชัดเจนแทนที่การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญโดยตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการตีความตามตัวอักษร คือ Roger B. Taney ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1836 – ค.ศ. 1864 รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลสูงสุดของประเทศอีกด้วย ในคดี Dred Scott v. Sandford (1857) ได้ตีความรัฐธรรมนูญว่า ความหมายของคำว่า citizens ในรัฐธรรมนูญของประเทศ มาตรา 3 ในปีที่ตีความคือปี ค.ศ. 1857 มีความหมายเหมือนกับปี ค.ศ. 1787 คือ ไม่เพียงเป็นคำเดียวกัน แต่มีความหมายเหมือนกันด้วย แม้ต่อมาจะมีผู้ไม่เห็นด้วย คือ Oliver W. Holmes ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1902 – ค.ศ. 1932 ได้ให้เหตุผลแย้งไว้ในคดี Towne v. Eisner (1918) ว่า คำ (a word) หรือการให้ความหมายของคำไม่อาจมองเห็นและเข้าใจได้อย่างชัดเจนดังเช่นการมองทะลุผ่านแก้วคริสตัล (a crystal) รวมทั้งมิใช่สิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้  แต่คำเกี่ยวข้องกับความคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนความหมายได้หลากหลายตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่นำคำนั้นมาใช้

2)  การตีความตามกฎหมายธรรมชาติ  เพื่อให้ได้วิธีการสำหรับพิจารณาวินิจฉัยคดีและตีความรัฐธรรมนูญนอกเหนือไปจากการมุ่งไปที่ตัวรัฐธรรมนูญตามวิธีที่หนึ่งดังกล่าวแล้ว ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศบางคนมองไปยังส่วนอื่นด้วย โดยกฎหมายธรรมชาตินับเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ กล่าวได้ว่า กฎหมายธรรมชาติ รวมตลอดทั้งความยุติธรรมตามธรรมชาติ (natural justice) และสิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) ของมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับกันว่าเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ และติดตรึงอยู่ในตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  มิอาจแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากตัวมนุษย์ได้ไม่ว่าในกรณีใดหรือเหตุการณ์ใด ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงก็ยังพบว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามีวิวัฒนาการมาจากหลักการสำคัญ คือ หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ โดยนับแต่เริ่มแรกเป็นต้นมาตุลาการของรัฐบาลกลางยอมรับในหลักความยุติธรรมดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะชัดเจน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างเป็นสากล และไม่ควรที่จะถูกละเลย ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงได้มีการนำกฎหมายธรรมชาติมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญด้วย

มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเมื่อ James Iredell ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1790 – ค.ศ. 1799 ได้เขียนความเห็นไว้ในคดี Calder v. Bull (1798) ชักจูงให้ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานของสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมากกว่าการยึดถือเพียงหลักกฎหมายธรรมชาติเท่านั้น กล่าวคือ ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศจะต้องไม่วินิจฉัยว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลเพียงเพราะขัดกับความยุติธรรมตามธรรมชาติ  ทั้งนี้เพราะแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติและความยุติธรรมตามธรรมชาติขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถและความบริสุทธิ์ของมนุษย์แตกต่างกัน ทำให้ไม่อาจนำกฎหมายธรรมชาติมาใช้กับทุกคน

ต่อมาตุลาการศาลสูงสุดของประเทศที่สนับสนุนการตีความตามกฎหมายธรรมชาติได้แก้ต่างไว้ในคดี Furman v. Georgia (1972) และคดี Gregg v. Grorgia (1976) มีสาระสำคัญว่า ได้มีการนำกฎหมายธรรมชาติมาใช้ในการตีความเมื่อเกี่ยวข้องกับวลีหรือข้อความที่คลุมเคลือไม่ชัดเจน เช่น กระบวนการยุติธรรม การปกป้องคุ้มครองอย่างเสมอภาค การจับกุมและตรวจค้นอย่างขาดเหตุผล ตลอดจนการลงโทษที่โหดร้ายและผิดปกติ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ตุลาการศาลสุดสุดของประเทศที่ต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตได้ให้เหตุผลในทิศทางที่นำกฎหมายธรรมชาติและความยุติธรรมตามธรรมชาติมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความว่า การประหารชีวิตเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศ ทั้งยังขัดต่อศีลธรรมของสังคมที่เจริญแล้วอีกด้วย นอกจากนี้ ในคดี Rosenblatt v. Baer (1966) ยังแสดงให้เห็นว่า กฎหมายว่าด้วยการทำให้เสียชื่อเสียงได้ยกร่างขึ้น มิใช่เนื่องมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศ ครั้งที่ 1 แต่เนื่องจากสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานที่เห็นถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่โดยธรรมชาติในมนุษย์ทุกคน รวมทั้งแนวคิดที่เป็นรากฐานของความโอบอ้อมอารีและเสรีภาพ

Felix Frankfurter เป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1939 –ค.ศ. 1962 ได้แสดงความเห็นที่สนับสนุนการพิจารณาวินิจฉัยและตีความตามกฎหมายธรรมชาติ โดยคัดค้านผู้กล่าวว่า การตีความข้อความที่คลุมเคลือไม่ชัดเจน เช่น กระบวนการยุติธรรม โดยนำกฎหมายธรรมชาติมาใช้นั้น มีลักษณะเป็นการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ แต่ต่อมา Hugo L. Black ได้วิจารณ์ Freankfurter อย่างรุนแรงไว้ในคดี Griswold v. Connecticut (1965) ซึ่งยกเลิกกฎหมายของมลรัฐว่าด้วยการประกาศห้ามยาคุมกำเนิด ว่า Freankfurter ใช้มาตรฐานในการตีความรัฐธรรมนูญโดยอาศัยพื้นฐานของกฎหมายธรรมชาติ มิใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญ  วิธีการเช่นนี้เป็นการได้เปิดโอกาสให้ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญโดยใช้ปรัชญาส่วนตัวของแต่ละคน

3)  การตีความตามประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชัดเจนยิ่งขึ้น ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศได้นำการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ ความสำคัญของประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นได้จาก Willard Hurst นักประวัติศาสตร์ทางกฎหมายมองประวัติศาสตร์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นหลักฐานทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีคุณค่าสำหรับการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเท่านั้น Sandra D. O’Connor ผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 เป็นต้นมา ได้ให้ความเห็นไว้ในคดี Wallace v. Jaffree (1985) ว่า เมื่อเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน จะต้องใช้ทั้งประวัติศาสตร์และเหตุผลในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความ  อีกทั้งในคดี Pensacola Telegraph Co. v. Western Union Telegraph (1877) ได้มีคำวินิจฉัยว่า ความหมายของคำว่า การพาณิชย์ระหว่างมลรัฐ (interstate commerce) ไม่อาจจำกัดเฉพาะวิธีการทำการค้าทั้งหลายที่มีอยู่ในเวลาที่รัฐธรรมนูญของประเทศประกาศใช้เท่านั้น  ต้องพิจารณาประวัติความเป็นมาของคำดังกล่าวควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยครอบคลุมถึงการติดต่อค้าขายในอดีตแต่ละช่วงเวลาด้วย นับจากรถม้าโดยสารถึงเรือยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ และจากทางรถไฟถึงโทรเลข ในปี ค.ศ. 1920 Oliver W. Holmes ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1902 – ค.ศ. 1932 ได้เขียนไว้ในคดี Missouri v. Holland (1920) ว่า คดีที่ยื่นต่อศาลจะต้องพิจารณาวินิจฉัยจากประสบการณ์ทั้งหมดของตุลาการ มิใช่เฉพาะสิ่งที่เคยกล่าวไว้เมื่อหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

ความคิดเห็นหลักของนักสังคมศาสตร์นับว่ามีอิทธิพลต่อการให้ความยุติธรรม นั่นก็คือ ไม่เพียงข้อมูลทางกฎหมายเท่านั้น แต่บ่อยครั้งที่ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศได้นำข้อสังเกตทางกฎหมายที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญด้วย ตัวอย่างเช่น ปรัชญาหรือทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของดาร์วิน (Darwinism) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต่อเนื่องคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศที่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี (laissez-faire state) ได้นำทฤษฎีนี้มาใช้ และตุลาการศาลสูงสุดของประเทศก็ได้นำทฤษฎีนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะการตีความเกี่ยวกับเสรีภาพในการทำสัญญา (liberty of contract)

เป็นที่น่าสังเกตว่า การตีความตามประวัติศาสตร์มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ในบางครั้งการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ เป็นการมองย้อนไปในอดีตเฉพาะเพื่อค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศเท่านั้น ผนวกกับคดี Alfred H. Kelly (1965) ได้แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องซับซ้อน อาจทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ไม่น่าเชื่อถือ และทำให้เกิดความสงสัยได้ เป็นต้นว่า จะเลือกดูเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนใดและในช่วงเวลาใดของผู้ร่างคนนั้น การแปลเจตนารมณ์เป็นการพิจารณาจากจดหมาย บันทึกส่วนตัว หรือบันทึกประจำวันของผู้ร่างเท่านั้นหรือ การแปลเจตนารมณ์จากการประชุมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในอดีตจะนำมาเฉพาะการประชุมใหญ่ในบางมลรัฐเท่านั้นหรือ รวมทั้งจะนำประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสหราชอาณาจักร การเป็นอาณานิคม และประวัติศาสตร์ในยุคเริ่มแรกของประเทศมาพิจารณามากน้อยเพียงใด เหล่านี้ส่งผลให้ความพยายามของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศในการนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์บางส่วนว่าเป็นเพียงความพยายามของสำนักงานกฎหมายเพื่อนำเสนอความเห็นอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น

4) การตีความโดยเลือกสิ่งที่ดีที่สุด หมายถึง การไม่ยึดถือและไม่นำคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของประเทศในอดีตมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ แต่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดในแต่เวลาหรือสภาพการณ์มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความ สำหรับรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ตีความตามวิธีนี้ได้    ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถนำไปใช้ได้ในยุคสมัยต่อ ๆ ไป (future generations) และต้องเขียนด้วยภาษาที่ยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญมิได้ระบุเวลาไว้ว่าบทบัญญัติใดใช้เฉพาะในเวลาใดแล้ว ก็หมายความว่าสามารถนำรัฐธรรมนูญไปปรับใช้หรือตีความเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดได้ทุกเวลา กล่าวโดยย่อ เป็นลักษณะของการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญตามสภาพการณ์

Benjamin N. Cardozo ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 1932 – ค.ศ. 1938 ได้อธิบายสนับสนุนว่า การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศเป็นลักษณะของการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งมาจากการผสมผสานกันของวิธีการด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ ประเพณีนิยม เหตุผล และสังคมวิทยา ขณะเดียวกัน การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศยังต้องเผชิญกับแรงกดดันต่าง ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเวลา ด้านการเมือง การตรวจสอบข้อมูล การทบทวนคำวินิจฉัยในอดีตทั้งหลาย ตลอดจนการวิจัยเบื้องต้น

โดยทั่วไปตุลาการศาลสูงสุดของประเทศพยายามที่จะให้เกียรติคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของประเทศในอดีตด้วยการยึดถือหรือนำมาเป็นแนวทางในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยในอดีตจะมีหลากหลายและมีความเห็นที่โต้เถียงได้ก็ตาม ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศที่ไม่สนับสนุนให้นำคำวินิจฉัยในอดีตมาใช้มีความคิดเห็นว่า ในบางครั้งบรรพบุรุษหรือตุลาการศาลสูงสุดของประเทศอาจสร้างความยุติธรรมลวงตา (judicial gloss) ขึ้น แต่เมื่อตุลาการศาลสูงสุดของประเทศได้สาบานที่จะสนับสนุนและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญของประเทศไว้แล้ว จึงไม่ควรยึดถือความยุติธรรมลวงตาดังกล่าว ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบถ้าตนเองไม่อาจแก้ไขคำวินิจฉัยในอดีตที่ผิดพลาด และหากมีการกลับคำวินิจฉัยในอดีต แม้จะได้รับชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ตุลาการศาลสูงสุดของประเทศลำบากใจเริ่มแรก คือ ความเต็มใจที่จะยอมรับความผิดพลาดในการวินิจฉัยของตนเอง สำหรับ Robert H. Jackson เป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1941 – ค.ศ. 1954 ในคดี Massachusetts v. United States (1948) ปฏิเสธที่จะผูกมัดตนเองไว้กับคำวินิจฉัยในอดีต แม้ว่าคำวินิจฉัยในอดีตนั้นจะเป็นของตนเองก็ตาม พร้อมกับให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุผลใดที่วันนี้ตนเองจะต้องรู้สึกว่าได้กระทำความผิด อันเนื่องจากเมื่อวานนี้ตนเองได้กระทำความผิดอย่างไม่ตั้งใจ กล่าวได้ว่า  การลบล้างหรือกลับคำวินิจฉัยในอดีตทั้งหมดอย่างสมบูรณ์มีให้เห็นน้อยมาก บ่อยครั้งเป็นลักษณะของการปฏิเสธคำวินิจฉัยในอดีตบางส่วน หรือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างไปจากคดีที่วินิจฉัยในอดีต   การลบล้างอย่างเงียบหรือการใช้เทคนิคในการลบล้างคำวินิจฉัยในอดีตดังกล่าวได้ทำให้ Black ในคดี Hood & Sons v. Du Mond (1949) แสดงความเห็นเปรียบเทียบไว้ว่า มีลักษณะเหมือนการฝังศพอย่างชาญฉลาดซึ่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยไม่มีการประกอบพิธี และไม่มีคำกล่าวสรรเสริญของทายาท แม้จะทำให้เกิดความขัดแย้งทางกฎหมายและความไม่แน่นอนต่อผู้เกี่ยวข้อง ผู้ตีความ ผู้บังคับใช้ และผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย

ในส่วนของฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งต้องการให้นำคำวินิจฉัยในอดีตมาใช้เป็นแนวทาง มีตัวอย่างเช่น Owen J. Roberts เป็นตุลาการศาลสูงสุดของประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1930 – ค.ศ. 1945 ในคดี Smith v. Allwright (1944) ได้แสดงความเห็นว่าการไม่นำคำวินิจฉัยในอดีตมาใช้ มีแนวโน้มจะทำให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลสูงสุดของประเทศเหมือนกับตั๋วรถไฟที่ใช้ได้เฉพาะวันเดียวและขบวนเดียวเท่านั้น โปรดดูสรุปสาระสำคัญในตารางที่ 3

 

 

 

 

 

ตารางที่ 3  สรุปสาระสำคัญของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ตามแนวคิดของ Louis Fisher

สรุปสาระสำคัญของวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ

ของสหรัฐอเมริกา ตามแนวคิดของ Louis Fisher

วิธีการ

1)  การตีความ

ตามตัว

อักษร

2) การตีความ

ตามกฎหมาย

ธรรมชาติ

3) การตีความ

ตามประวัติ

ศาสตร์

4) การตีความ

โดยเลือก

สิ่งที่ดีที่สุด

สาระสำคัญ

มุ่งไปที่ตัวรัฐธรรมนูญโดยสนับสนุนการตีความรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด เน้นการตีความตามตัวอักษร ซึ่งหมายถึงการตีความตามบทบัญญัติที่เขียนไว้หรือแสดงนัยไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

นำกฎหมายธรรมชาติ ความยุติธรรมตามธรรมชาติ และสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นพื้นฐานที่ได้รับการยอมรับกันว่าเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ และติดตรึงอยู่ในตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย มาใช้ในการตีความ

นำการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์มาใช้ในการตีความ

ไม่ยึดถือและไม่นำคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของประเทศ

ในอดีตมาใช้ตีความ แต่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ช่วงเวลาหรือสภาพการณ์มาใช้ในการตีความ

สำหรับวิธีการหรือแนวทางการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญไทย มีตัวอย่างปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยส่วนบุคคล (คำวินิจฉัย ที่ 36/2542 วันที่ 15 มิถุนายน 2542) เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (4) หรือกรณีเนวิน ในกรณีนี้ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยจำนวน 13 คน แต่มีจำนวน 9 คน ที่เขียนคำวินิจฉัยส่วนบุคคลเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ ดังสรุปสาระสำคัญไว้ในตารางที่ 4

 

 

 

ตารางที่ 4 สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัย ที่ 36/2542 กรณีเนวิน เฉพาะคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน ที่เขียนคำวินิจฉัยเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

ชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือการตีความรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย

1. นายชัยอนันต์

สมุทวณิช

1) “ความขัดแย้งหรือความคลุมเครือไม่ชัดเจนที่เกิดจากบทบัญญัติ ต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ“ ซึ่ง “สะท้อนจากตัวรัฐธรรมนูญเอง คือจากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ และจากเจตนารมณ์ของผู้ร่างและผู้มีส่วนพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น โดยมีบันทึกรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกทางหนึ่งก็ได้” 

2) “ศาลรัฐธรรมนูญจักต้องพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพของรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่สถานภาพของบุคคลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะนั่นเป็นกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม กระบวนการพิจารณาของศาลไม่เกี่ยวข้องกับสถานภาพของรัฐมนตรี ส่วนกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องโดยตรงต่อสถานภาพของรัฐมนตรีของนายเนวิน จึงต้องวินิจฉัยตามลายลักษณ์อักษรของตัวบทของรัฐธรรมนูญเท่านั้น”

3) “การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีมีเฉพาะเงื่อนไขคือการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ไม่เกี่ยวกับเงื่อนเวลาของการมีคำพิพากษานั้น กล่าวคือ ไม่ว่าจะต้องคำพิพากษาเมื่อใด หากผู้ต้องคำพิพากษานั้นมีสถานภาพของการเป็นรัฐมนตรีก็ต้องสิ้นสถานภาพนั้นไป  จะนำเงื่อนไขของกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการต้องโทษ (รวมทั้งการจำคุกจริง) มาประยุกต์ใช้ไม่ได้”

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด

2. นายอนันต์

เกตุวงศ์

1) “รัฐธรรมนูญมิได้ระบุเงื่อนไขในมาตรา 216(4) เป็นอย่างอื่น เช่น การรอการลงโทษไว้ หรือเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษไว้แต่ประการใด การตีความตามตัวอักษรต้องยุติลงตามมาตราดังกล่าวเท่านั้น การจะยกเอาการรอการลงโทษมาพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่อย่างชัดเจนแล้วนั้น ไม่มีเหตุผลที่จะกระทำได้

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด

ตารางที่ 4 (ต่อ)

ชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย

3. นายโกเมน

ภัทรภิรมย์

“คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” เป็นคำในกฎหมายอาญาที่นำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 216(4) การจำคุกเป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่ง จึงต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายทางอาญาประกอบด้วย”

ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

4. นายมงคล

สระฎัน

1)  “การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องยึดถือแนวการตีความกฎหมายมหาชนเป็นหลักคือยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยิ่งกว่าถ้อยคำตัวอักษร การค้นหาเจตนารมณ์ดังกล่าว ต้องพิจารณาถึงความเข้าใจหรือเจตนาของผู้ร่างในขณะทำการร่างรัฐธรรมนูญว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีเจตนารมณ์อย่างใด หากผู้ร่างได้ใช้ถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน  เจตนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนสามารถนำมาใช้เทียบเคียงได้ ตลอดจนความเห็นของนักกฎหมายในอดีตก็สามารถนำมาเทียบเคียงสู่การตีความของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เช่นกัน”

2)  การต้องคำพิพากษาให้จำคุกรวมถึงรอการลงโทษด้วย  เนื่องจาก “หนังสือคำอธิบายรัฐธรรมนูญของนายหยุด แสงอุทัย นักกฎหมาย…และผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดการร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2492 กล่าวว่า รัฐมนตรีต้องคำพิพากษาโทษจำคุก แม้ศาลรอการลงอาญา ก็ขาดจากตำแหน่งรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีความเห็นว่า รัฐมนตรีต้องคำพิพากษาโทษจำคุกต้องพ้นตำแหน่งโดยไม่มีข้อยกเว้นแม้ศาลรอการลงอาญา เรื่องดังกล่าวนี้สามารถนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช   2540 มาตรา 216(4) ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้ถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 216(4) ว่า รัฐมนตรีต้องคำพิพากษาโทษจำคุก   แม้ศาลรอการลงโทษให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง”

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด

 

ตารางที่ 4 (ต่อ)

ชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย

5. นายประเสริฐ

นาสกุล

1)  “รัฐธรรมนูญมีคำปรารภว่า จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญที่กระจ่างแจ้ง หมายความว่า ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติเพียงว่า “ต้องคำพิพากษา” ต้องไม่ขยายความเป็น “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด” และ “ลงโทษจำคุก” ต้องไม่ขยายความเป็น “ยกเว้นการรอการลงโทษ หรือถูกลงโทษจำคุกจริง” ด้วย”

2) “มีรายงานการกระชุมคณะกรรมาธิการ และรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญยืนยันคำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”  นั้น เพียงแต่มีคำพิพากษาของศาลให้จำคุก แม้ว่าคำพิพากษานั้นจะไม่ถึงที่สุด และศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก็ตาม ความเป็นรัฐมนตรีก็สิ้นสุดลง”

3)  “จะนำหรืออ้างบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะอาญา ประมวลกฎหมายอาญาหรือคำพิพากษาศาลฎีกามาขยายหรือตัดทอนความสำคัญในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยผู้ใช้กฎหมายอ้างว่า รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติขาดหรือเกินไป จะกระทำมิได้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ”

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด

6. พลโท จุล

อติเรก

1)  “รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “คำพิพากษา” และคำว่า “จำคุก” ไว้ จึงจำต้องพิจารณาตามกฎหมายอื่นก็คือคำพิพากษาของศาลในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น ศาลยุติธรรม…และเป็นคำพิพากษาทางอาญา”

ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

7. นายอิสสระ

นิติทัณฑ์ประภาศ

“ไม่มีถ้อยคำใด ๆ ในมาตรา 216(4) ที่แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาที่กล่าวถึงในบทบัญญัตินี้หมายถึงคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องตีความว่า  คำพิพากษาที่กล่าวถึงในบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 33 วรรคสองว่า  ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

ตารางที่ 4 (ต่อ)

ชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย

8. นายปรีชา

เฉลิมวณิชย์

1) ผู้วินิจฉัยใช้หลักเกณฑ์ 4 ประการประกอบกัน คือ (1) อาศัยตัวบทมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2) อาศัยคำพิพากษาของศาลยุติธรรม (3) อาศัยทฤษฎีการตีความกฎหมายอาญาทางตำรา และ (4) อาศัยเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือหลักฐานในการร่าง

2)  “สสร. ก็มิได้มีมติชัดเจนว่าความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้ศาลจะรอการลงโทษไว้ก็ตาม เพียงแต่มีผู้อธิบายว่ารวมถึงด้วยเท่านั้น จะถือเอาเองว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดมีเจตนารมณ์ให้เป็นเช่นนั้นมิได้”

3)  “การตีความ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ให้มีความหมายครอบคลุมถึงกรณีการรอการลงโทษจำคุกด้วยนั้น ย่อมทำให้เสียหลักการทางนิติศาสตร์ และจะทำให้หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือความเป็นนิติรัฐสูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ไป จะเกิดการอ้างเหตุผลในเชิงรัฐศาสตร์แก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายแทนหลักนิติศาสตร์ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่ง  ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะอ้างล้างแค้นกันในทางการเมือง โดยคำนึงถึงแต่ความพอใจ หรือถูกใจของสื่อมวลชนหรือกระแสในสังคมเป็นหลัก”

ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 4 (ต่อ)

ชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

สรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัย

9. นายสุจินดา

ยงสุนทร

1)  บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ “แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องการบัญญัติหลักเกณฑ์และมาตรฐานไว้อย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษสำหรับเฉพาะบุคคลในกลุ่มที่จำกัด” ซึ่งรวมทั้งประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “หลักเกณฑ์และมาตรฐานเหล่านี้เป็นเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ  ไม่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับหลักกฎหมายอาญาใด ๆ ทั้งสิ้น”

2) “การตีความคำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”…ว่าหมายถึงการจำคุกจริงนั้น มีผลเท่ากับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะกระทำได้”

3)  “คำวินิจฉัยนี้อาศัยการตีความตามตัวบทหรือลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญซึ่งแสดงความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดแจ้งพอสมควรแล้ว และเป็นการตีความที่สอดคล้องกับความเข้าใจและเจตนารมณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากคำอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและในชั้นกรรมาธิการต่าง ๆ เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก””

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุด

 

3. บทสรุป

หลังจากการพิจารณาศึกษาวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของศาลสูงสุดของประเทศซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญไทยแล้ว ทำให้สรุปโดยเรียกรวมศาลดังกล่าวของทั้ง 2 ประเทศว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ดังนี้

3.1  การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง รวมทั้งต่อบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ความสำคัญต่อศาลรัฐธรรมนูญปรากฏให้เห็นในลักษณะที่ช่วยรักษาความเป็นเอกภาพของสถาบัน เกียรติยศชื่อเสียง และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนความสำคัญต่อบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นในลักษณะที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลทุกระดับ ส่งผลต่อแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ พร้อมทั้งมีส่วนสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจในการปกครองประเทศ และการกำหนดนโยบายของประเทศ การพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นเรื่องง่าย  แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในรายละเอียดมาแล้วก็ตาม เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ฝังติดอยู่ในจิตใจของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องนำวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญมาประยุกต์ใช้มากกว่าการเดาความคิดของคณะผู้ร่าง วิธีการดังกล่าวเป็นศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งในบางครั้งเกี่ยวข้องกับความเข้าใจความหมายในถ้อยคำของรัฐธรรมนูญอย่างมากทั้งในด้านสร้างสรรค์และด้านการเมือง ประกอบกับรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำคำวินิจฉัยและเผยแพร่ต่อสาธารณะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการเขียนคำวินิจฉัยที่สามารถอธิบายพร้อมให้เหตุผลที่สร้างความชัดเจนในเรื่องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ปัญหาซับซ้อนทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและแง่กฎหมาย ตลอดจนคำวินิจฉัยที่เป็นข้อยุติ

3.2  ไม่มีวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญวิธีการใดวิธีการหนึ่งเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องจากของทุกฝ่าย โดยไม่ถูกโต้แย้ง แต่ละวิธีการมีจุดเด่นจุดด้อยด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนหรือแต่ละฝ่าย การพิจารณาวินิจฉัยและการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะเป็นการผสมผสานหลายวิธีการเข้าด้วยกัน  และอาจกล่าวได้ว่าวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญนั้น   ก้าวไปไกลมากกว่าแนวคิดที่เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  เปรียบเทียบได้กับตัวอย่างที่ว่า ถ้าใครคนใดคนหนึ่งนำดินสอสีหลายสีหลายแท่งไปทำเครื่องหมายลงบนข้อความหรือในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง โดยใช้ดินสอแต่ละสีทำเครื่องหมายลงบนแต่ละวิธีการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะพบว่า มีมากมายหลายสี เช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นำหลายวิธีการมาใช้ ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีแนวคิดปฏิรูปหรือเป็นผู้เชื่อถือยึดมั่นในเจตนารมณ์เริ่มแรกของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังจะต้องเผชิญกับแรงกดดันต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เป็นต้นว่า ข้อจำกัดด้านเวลา ด้านการเมือง การตรวจสอบข้อมูล การทบทวนคำวินิจฉัยในอดีตทั้งหลาย และการวิจัยเบื้องต้น ศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประชาชนก็ต่อเมื่อผลของการผสมผสานหลายวิธีการนั้นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวม พร้อมทั้งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการเมืองของประเทศในกรณีของไทย สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น ในบรรดาองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย ศาลสูงสุดของประเทศน่าที่จะเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่อ่อนแอที่สุด แต่ตรงกันข้าม กลับได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประชาชนโดยเฉพาะคำวินิจฉัยหรือการตีความรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและเจตนารมณ์ประเทศชาติ

3.3  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะผูกพันบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง  แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยคำวินิจฉัยล่าสุด  สำหรับประเทศไทย ในอนาคตจะเกิดการกลับคำวินิจฉัยในอดีต   โดยปฏิเสธคำวินิจฉัยในอดีตบางส่วนและเป็นการกลับคำวินิจฉัยอย่างเงียบ ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อคำวินิจฉัยเดิมมากเกินไป ลักษณะที่จะเกิดในอนาคตเช่นนี้เป็นวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะกว้างหรือขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมากขึ้น

3.4  แหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญทั้งหลายได้มาจากภายในและภายนอกรัฐธรรมนูญ (sources within the constitution, sources outside the constitution) ขัอมูลจากภายในรัฐธรรมนูญ เช่น ดูจากคำปรารภ การจัดหมวด เครื่องหมายวรรคตอน และบทเฉพาะกาล ส่วนข้อมูลจากภายนอก เช่น ดูจากความเป็นมา แนวคิดหรือทฤษฎีที่นำมาใช้ รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการ และรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เป็นต้น

3.5  วิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจยึดถือแต่เพียงความยุติธรรมเท่านั้น จะต้องปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนด้วย

3.6  ได้มีการตรวจสอบ ติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ และวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยประชาชนและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางพอสมควรภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย  เช่นนี้เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ราชการของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจหรือดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ

3.7  ถ้าวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีหรือตีความรัฐธรรมนูญไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแง่ลบได้ เป็นต้นว่า

3.7.1  ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานหน่วยหนึ่งของรัฐบาล หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนเป็นคนของรัฐบาล หรือคำวินิจฉัยหรือการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญบางครั้งมีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย

3.7.2 ทั้งที่ไม่มีอำนาจ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจในการบัญญัติหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการตีความรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่บัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ (judges make law in the process of interpreting it) อันเป็นลักษณะทำนองเดียวกับหลักการของศาลยุติธรรมที่ว่า ตุลาการเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย (judges make law)

3.7.3  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนมีความปรารถนาที่จะเบี่ยงเบนกฎหมายไปตามอารมณ์หรือตามความอำเภอใจของตน (desire to bend the law to their individual whims) อันเป็นวิธีการพิจารณาวินิจฉัยหรือตีความรัฐธรรมนูญโดยใช้ปรัชญาส่วนตัวของแต่ละคน มิใช่ยึดถือรัฐธรรมนูญ

3.7.4  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนมีความเฉียบคมและชำนาญในการทำให้ผู้อ่านคล้อยตามด้วยการนำประเด็นบางประเด็นที่ดูดีและเป็นประโยชน์ต่อตนมาเขียนอธิบายเป็นคำวินิจฉัย แสดงความเห็น หรือให้เหตุผลทางกฎหมายอย่างคลุมเครือ (to depict even dimly the subtleties of the judicial process)

 

G

G G G G G

G G G G G G G G G

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

คำวินิจฉัยที่ 36/2542 วันที่ 15 มิถุนายน 2542. ราชกิจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 67 ก วันที่ 29 กรกฎาคม 2542.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 114 ตอนที่ 55 ก วันที่ 11 ตุลาคม 2540.

George T. Felkenes. Constitutional Law for Criminal Justice. Second Edition, Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice Hall, 1988.

John Schmidhauser. Constitutional Law in the Political Process. Chicago: Rand McNally, 1963.

Louis Fisher. American Constitutional Law. New York: McGraw-Hill Inc., 1990.

Walter F. Murphy and Joseph Tannenhaus. The Study of Public Law. New York: Random House, 1972.

William C. Louthan. The United States Supreme Court: Lawmaking in the Third Branch of Government. (Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice Hall, Inc., 1991.