แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
(พ.ศ. 2540) และรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

ภาพที่คลาดเคลื่อนไป ขอรับได้ฟรีจาก e-mail :
wiruch@wiruch.com หรือ wirmail@yahoo.com

 

การศึกษาแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ของไทยมีหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่ามีจุดมุ่งหมายหรือยึดถือแนวทางใด เท่าที่ผ่านมาและคุ้นเคยกัน คือ การนำผลงานของนักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์หลายคนที่เขียนไว้ในหนังสือ บทความ หรือเอกสารทางวิชาการต่าง  มาศึกษาแต่ในบทความ เรื่อง “แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) และรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ” เป็นการศึกษาอีกแนวทางหนึ่ง โดยนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันยกร่างและผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มาศึกษา เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายทั้งหลายของประเทศที่เปรียบเสมือนเป็นกฎหมายลูกไม่ว่าจะตราออกมาก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ต้องมีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินหรือปฏิบัติราชการเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชน

สำหรับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่นำมาศึกษาในบทความนี้ มุ่งเฉพาะแนวคิดที่เกี่ยวกับภายในและภายนอกองค์กรตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้นโดยนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญอื่นอีก รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ กล่าวคือ ศึกษาว่า ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีบทบัญญัติใดบ้างที่เป็น (1) แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เกี่ยวกับภายในองค์กร โดยเฉพาะในเรื่อง โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการบริหารจัดการที่ประกอบด้วยการบริหารงาน การบริหารคน และการบริหารเงินของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมกันนั้น ยังศึกษา (2) แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เกี่ยวกับภายนอกองค์กร ในเรื่อง ประชาชนและชุมชน รวมทั้งภาคเอกชนและองค์การเอกชน การศึกษาทำในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) เป็นหลักในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับฉบับอื่น

ดังนั้น บทความนี้จึงน่าจะเป็นผลงานใหม่ ที่ทันสมัย และแตกต่างจากผลงานทางวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ในอดีต โดยคาดว่าหวังจะเกิดประโยชน์ทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติต่อบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ประโยชน์ในทางวิชาการ เช่น ช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ไทยที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ และช่วยเพิ่มคุณค่าของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพมากขึ้น ส่วนประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่น บุคคลและหน่วยงานอาจนำข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ ในส่วนของประชาชนเมื่อศึกษาแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์จะเกิดความรู้ความเข้าใจ เรื่องโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และกระบวนการบริหารจัดการภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ดังสรุปภาพกรอบแนวคิดในการศึกษา ไว้ในภาพที่ 1

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาที่แสดงถึง ความสัมพันธ์ของเหตุหรือสาเหตุ ผล และผลกระทบของแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์

1. เหตุ หรือ สาเหตุ 2. ผล 3. ผลกระทบ

(causes) (effects) (impacts)

คณะกรรม แนวคิดทาง รปศ. เช่น หน่วยงาน เป็นประโยชน์

การยกร่าง โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ของรัฐและ ทั้งในทาง

รัฐธรรมนูญ และกระบวนการบริหารงาน เจ้าหน้าที่ ทฤษฎีและ

ตามความ คน เงิน ที่ปรากฏอยู่ใน ของรัฐนำ ทางปฏิบัติ

ต้องการของ รัฐธรรมนูญ ไปใช้เป็น ต่อหน่วยงาน

ประชาชน แนวทาง บุคลากรทั้ง

และรัฐสภา ในการ ภาครัฐและ

ให้ความ ปฏิบัติ ภาคเอกชน

เห็นชอบ ราชการ และประชาชน


ส อ ด ค ล้ อ ง

ระเบียบวิธีศึกษา (methodology) ที่ใช้ในที่นี้ เป็นการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลจากเอกสารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำมาจัดกลุ่ม ประมวล พิจารณาศึกษา วิเคราะห์ แล้วเขียนวิเคราะห์แบบพรรณนา (descriptive analysis) พร้อมกับนำเสนอด้วยภาพและตาราง ตามความเหมาะสม

สำหรับความหมายของแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ นั้น หมายถึง ความคิดที่เกี่ยวกับวิชา กิจกรรม หรือการบริหารจัดการของรัฐ หน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ในทุกระดับ ทั้งในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ความคิดดังกล่าวต้องมีแนวทางปฏิบัติด้วย

ในบทความนี้ แบ่งการนำเสนอ เป็น 2 ส่วน ได้แก่ การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ และปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยให้ความสำคัญกับส่วนที่หนึ่งมากเป็นพิเศษ

ส่วนที่ 1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ใน
รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ

นับแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ไทยมีรัฐธรรมนูญประเภทที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของไทยมาจากการร่างของคณะบุคคลหรือตัวแทนของประชาชน และนับจนถึงปี พ.ศ. 2547 เป็นเวลา 72 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวม 16 ฉบับ แต่ในบทความนี้นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบจำนวน 7ฉบับที่สำคัญ เป็นประชาธิปไตย และมีอายุการใช้งานนาน ลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีดังนี้

หนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. 2475) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 มี 68 มาตรา (คำว่า สยาม ใช้มาจนกระทั่งเปลี่ยนนามประเทศ เป็น ไทย ในปี พ.ศ. 2482) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญของไทย คือ 13 ปี 5 เดือน

สอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 มี 123 มาตรา และมีอายุการใช้งาน 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

สาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2511) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 8 มี 183 มาตรา และมีอายุการใช้งาน 3 ปี 4 เดือน 27 วัน

สี่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2517) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 10 มี 238 มาตรา มีแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้ง และมีอายุการใช้งาน 2 ปี มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอสมควรเห็นได้จากการเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังจากวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516

ห้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2521) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 มี 206 มาตรา มีแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง และมีอายุการใช้งาน 12 ปี 2 เดือน 1 วัน

หก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2534) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 มี 223 มาตรา และมีอายุการใช้งาน 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมมากครั้งที่สุด คือ 6 ครั้ง 

เจ็ด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 มี 336 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นมา และมีอายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับยกย่องว่าเป็นประชาธิปไตยและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างอย่างมาก โดยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยผู้ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง ผนวกกับการเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความยาวมากที่สุด และใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิรูปการเมืองและการบริหารประเทศ

การวิเคราะห์เปรียบแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ได้ยึดถือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) เป็นหลัก โดยจัดแบ่งการนำเสนอตามกรอบหรือแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เกี่ยวกับภายในและภายนอกองค์กรของรัฐออกเป็น 7 หัวข้อ ได้แก่ (1) โครงสร้าง (2) อำนาจหน้าที่ (3) การบริหารงาน (4) การบริหารคน (5) การบริหารเงิน (6) ประชาชนและชุมชน (7) ภาคเอกชนและองค์การเอกชน โปรดดูภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ภาพรวมแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ที่เกี่ยวกับภายในและภายนอกองค์กรของรัฐรวม 7 เรื่อง

ภายในองค์กรของรัฐ

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง

ราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ที่เกี่ยวกับภายในองค์กร เรื่อง

      1. โครงสร้าง 2. อำนาจหน้าที่ และกระบวนการบริหารจัดการ ซึ่ง

ประกอบด้วย 3. การบริหารงาน 4. การบริหารคน 5. การบริหารเงิน

 

ภายนอกองค์กรของรัฐ

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ที่เกี่ยวกับภายนอกองค์กร เรื่อง 6. ประชาชนและชุมชน 7. ภาคเอกชนและองค์การเอกชน

 

1. โครงสร้าง

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบในที่นี้ทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่แสดงถึง “แกนร่วม” หรือ “แนวคิดร่วม” เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐพร้อมกับกำหนดโครงสร้างของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนำไปเป็นแนวทางใช้ในการปฏิบัติราชการ อำนวยความสะดวก หรือให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องโครงสร้าง ซึ่งในที่นี้หมายถึง องค์ประกอบของหน่วยงานของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือคณะกรรมการของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้

เมื่อนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 7 ฉบับมาพิจารณาศึกษาพบว่า ทุกฉบับมีบทบัญญัติที่แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับโครงสร้างที่สำคัญหลายมาตรา กล่าวคือ

1.1 โครงสร้างของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของรัฐสภาโดยรัฐธรรมนูญจำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 และ 2475/2495 ได้บัญญัติให้มีสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร

2) รัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ฉบับเดียวบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ระบบการเมืองมีความสุจริตและชอบธรรมเพิ่มขึ้น พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถเข้าสู่ระบบการเมือง ทั้งนี้ ได้กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนทั้งหมด 500 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ คือ แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น หรือ ปาร์ตี้ลีสต์ (party list) จำนวน 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละ 1 คน จำนวน 400 คน

ส่วนรัฐธรรมนูญอีก 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2475/2495, 2511, 2517 และ 2534 ล้วนบัญญัติให้โครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบเดียวเท่านั้น  ในขณะที่รัฐธรรมนูญอีก 1 ฉบับ คือ ฉบับปี 2521 มีวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นแบบรวมเขต โดยถือเอาจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้การออกเสียงเลือกตั้งเป็นคณะตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งเข้ามาสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเรียกกันว่า “พวงใหญ่”

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของวุฒิสภา ไว้ว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ขณะที่รัฐธรรมนูญอีก 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 ล้วนบัญญัติให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการแต่งตั้ง สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 และ 2475/2495 ไม่ได้นำมานับรวมไว้ด้วยเพราะไม่มีวุฒิสภา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่เป็นแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องโครงสร้างของวุฒิสภานี้ มีส่วนช่วยให้การบริหารงานของรัฐสภามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงแทนที่จะมาจากการแต่งตั้งเหมือนที่ได้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ก่อนหน้านี้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทำให้มีอำนาจหน้าที่น้อย เช่น มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ ควบคุมรัฐบาลด้วยการตั้งกระทู้ การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคือ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถอดถอนอย่างกว้างขวาง อันเป็นลักษณะของสภาตรวจสอบ โดยวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการเลือกองค์กรตรวจสอบของรัฐทุกองค์กร เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง พร้อมกันนั้น วุฒิสภายังเป็นผู้ถอดถอนบุคคลทุกตำแหน่ง นอกจากที่กล่าวมาแล้ว วุฒิสภายังมีอำนาจหน้าที่อื่นอีก เช่น เข้าชื่อร้องขอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

4) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 4 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 แม้ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่มีรายละเอียด และยังไม่เคยมีการจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้น

5) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้กำหนดโครงสร้างของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีจำนวนไม่เกิน 3 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านั้น มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เรียกผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแตกต่างไป และยังไม่เคยจัดตั้งหรือแต่งตั้งขึ้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 บัญญัติให้มี “ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา” ขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 บัญญัติให้มี “ผู้ตรวจการรัฐสภา” มีจำนวนไม่เกิน 5 คน

6) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 10 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

1.2 โครงสร้างของคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะรัฐมนตรี ไว้ แต่เฉพาะฉบับปี 2540 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และคณะรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน

1.3 โครงสร้างของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่     ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง  

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น เกิดขึ้น ไว้ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของศาล
รัฐธรรมนูญ
 ไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 14 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญจำนวน 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521 และ 2534 ได้บัญญัติถึงโครงสร้างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไว้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฏีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 9 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคล ไว้ว่าคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาลชั้นศาลละ 4 คน รวมเป็น 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

5) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ไว้ว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 แม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง แต่ไม่มีรายละเอียด

1.4 โครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 8คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

1.5 โครงสร้างของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้ว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน และกรรมการอื่นอีก 9 คน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2. อำนาจหน้าที่

รัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้ง 7 ฉบับ ล้วนมีบทบัญญัติที่แสดงถึงแกนร่วมหรือแนวคิดร่วมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้นำไปเป็นแนวทางใช้ในการปฏิบัติราชการ อำนวยความสะดวก หรือให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องอำนาจหน้าที่ ซึ่งในที่นี้หมายถึง อำนาจอย่างเป็นทางการของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้หรือมอบหมายให้ 

เมื่อนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับมาพิจารณาศึกษา พบว่า มีบทบัญญัติที่แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หลายมาตรา กล่าวคือ

2.1 อำนาจหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดให้การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ข้อความที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายถึงมนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีศักดิ์ศรีและมีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ฉะนั้น ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใด หรือหน่วยงานของรัฐทุกฝ่ายจะปฏิบัติต่อมนุษย์เยี่ยงสัตว์หรือเยี่ยงทาสมิได้ เช่น จะนำมนุษย์ไปทดลองหรือใช้งานเหมือนสัตว์มิได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือรับรองสิทธิมนุษยชน ในเวลาเดียวกัน ยังคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลทุกประการตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย

2.2 อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการประชาชน พร้อมกับบัญญัติไว้ด้วยว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2.3 อำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับมีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา ไว้ว่า ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและดำเนินกิจการของรัฐสภา และรองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไว้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นรวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่ระบุรายละเอียด โดยบัญญัติไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติเพื่อกำกับดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้บริสุทธิ์และยุติธรรม

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไว้อีกหลายประการ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็น ตลอดจนสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่ระบุรายละเอียด

4) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยกเว้น ฉบับปี 2475 และ 2475/2495 ที่แตกต่างออกไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับหลังนี้ มีสภาเดียว

5) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ไว้อีกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยกเว้น ฉบับปี 2475 และ 2475/2495 ที่แตกต่างออกไปเนื่องจากรัฐรรมนูญทั้ง 2 ฉบับหลังนี้ มีสภาเดียว

6) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า มีสิทธิตั้งกระทู้สดได้ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งไม่เพียงเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย กระทู้สดนั้น เป็นลักษณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดผู้หนึ่งเห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินเรื่องใดเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือเป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ของชาติหรือประชาชน หรือเป็นเรื่องเร่งด่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อนเริ่มประชุมในวันนั้นว่าจะถามนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องระบุคำถาม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในวาระการประชุมวันนั้น

7) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้อีกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และยังมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้มีบางส่วนคล้ายคลึงกันและบางส่วนแตกต่างกัน ส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล สำหรับส่วนที่แตกต่างกัน เช่น เมื่อได้มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เป็นต้น

8) รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517 และ 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา ไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนี้ มีบทบัญญัติที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันมาก

9) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไว้อีกว่า สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเลือกและตั้งคณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยกเว้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 และ 2475/2495 ที่แตกต่างออกไป เนื่องจากรัฐรรมนูญทั้ง 2 ฉบับหลังนี้ มีสภาเดียว

      10) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไว้อีกว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจตราข้อบังคับการประชุม เช่น ข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภาและเรื่องหรือกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละชุด เป็นต้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 และ2475/2495 ที่แตกต่างออกไป เพราะรัฐรรมนูญ 2 ฉบับหลังนี้ มีสภาเดียว

2.4 อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่แสดงถึงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน และจัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ไว้อีกว่า ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามบทบัญญัตินี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องของตนต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เท่านั้นที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไว้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2.5 อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ไว้ว่า คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เหมือนกันทุกฉบับ

2.6 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ไว้ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น เกิดขึ้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ในอดีตรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ไว้หลายประการ เช่น

2.1) มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในอดีตรัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521 และ 2534 ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

2.2) มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในอดีตรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

2.3) มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องหรือความเห็นที่ศาลเช่น ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในอดีตรัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521 และ 2534 ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว

2.4) มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำตลอดจนขอให้ศาล พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้ เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2.5) มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งองค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภาเสนอมาเพื่อพิจารณาวินิจฉัย บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ไว้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 และ 2534 แม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง แต่ไม่มีรายละเอียด เพียงบัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ และตลอดเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นประกาศใช้ ก็ยังไม่เคยมีการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวออกมา

  4) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลทหาร ไว้ว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวเหมือนกันทั้ง 4 ฉบับ

2.7 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วุฒิสภา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา รวมทั้งไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ว่า วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งได้ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไว้ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3. การบริหารงาน

รัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้ง 7 ฉบับ ล้วนมีบทบัญญัติที่เป็นแนวคิดร่วมที่แสดงถึงกระบวนการบริหารจัดการ อันได้แก่ การบริหารงาน คน และเงิน เพื่อให้รัฐหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนำไปเป็นแนวทางใช้ในการปฏิบัติราชการ อำนวยความสะดวก หรือให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องการบริหารงาน คน และเงิน ดังจะได้นำเสนอเรียงตามลำดับ เริ่มจากการบริหารงาน ซึ่งในที่นี้หมายถึง การบริหารงานทั่วไปของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิบัติราชการ การอำนวยความสะดวก และการให้บริการประชาชนตามที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่กำหนด “กรอบหรือแนวทางหลัก” เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ นำไปเป็น “แนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน” เห็นได้จากบทบัญญัติในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา นำไปใช้ในการออกกฎหมาย และสำหรับฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการ นอกจากนี้แล้ว ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ และในการแถลงนโยบายนั้น คณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ อีกทั้งยังต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละ 1 ครั้งด้วย ทั้งนี้ เพื่อรัฐสภาจะได้นำรายงานนั้นไปประเมินผลการบริหารราชการของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับมาพิจารณาศึกษา พบว่า ทุกฉบับมีบทบัญญัติที่แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารงานที่สำคัญหลายมาตรา เป็นต้นว่า

3.1 การบริหารงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย อำนวยความสะดวก ให้บริการแก่ประชาชน และวางตนเป็นกลางทางการเมือง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3.2 การบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ 

มีแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารงานซึ่งในที่นี้แบ่งเป็น 3กลุ่ม ได้แก่ การบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ บทบัญญัติที่จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มนี้ มีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 แต่ถ้ามีบทบัญญัติใดเหมือนหรือคล้ายคลึงกันมากกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 หรือเป็นบทบัญญัติที่เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ก็จะระบุไว้ด้วย

1) การบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ปรากฏอยู่ใน

1.1) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ไว้ว่ารัฐต้องจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ

1.2) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ไว้ว่ารัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มี
ประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
 ทั้งนี้ มีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 เท่านั้น ที่มีบทบัญญัติเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

1.3) รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ไว้ว่า รัฐต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

1.4) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ไว้ว่า รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่

1.5) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านการเมืองและการบริหาร ไว้ว่า รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่

2) การบริหารงานทั่วไปด้านสังคม ปรากฏอยู่ใน

2.1) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านสังคม ไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริม บำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

2.2) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านสังคม ไว้ว่า รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน สงเคราะห์คนชรา ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

2.3) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านสังคม ไว้ว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเป็นต้น

2.4) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านสังคม ไว้ว่า รัฐจะต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับนี้มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกัน

3) การบริหารงานทั่วไปด้านเศรษฐกิจ ปรากฏอยู่ใน

3.1) รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านเศรษฐกิจ ไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

3.2) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านเศรษฐกิจ ไว้ว่า รัฐต้องจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม จัดหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด เป็นต้น รัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกัน

3.3) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านเศรษฐกิจ ไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ รัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกัน ยกเว้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ที่มีบทบัญญัติบางส่วนแตกต่างไปจาก
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

3.4) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปด้านเศรษฐกิจ ไว้ว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นต้น

4. การบริหารคน

รัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบในที่นี้ ล้วนมีบทบัญญัติที่เป็นแนวคิดร่วมที่แสดงถึงการบริหารคน เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนำไปเป็นแนวทางใช้ในการปฏิบัติราชการ อำนวยความสะดวก หรือให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องการบริหารคน ซึ่งหมายถึง แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบริหารเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติราชการอยู่ในหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองที่ล้วนปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยครอบคลุมเฉพาะเรื่องคุณสมบัติ ที่มา การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง
เงินเดือนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคล
 

เหตุผลสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ความสำคัญกับการบริหารคนเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ล้วนมีอำนาจหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้การบริหารคนไม่เพียงมีลักษณะเป็นระบบเปิดหรือระบบคุณธรรมที่ควบคุมและตรวจสอบได้เท่านั้น ยังได้กำหนดคุณสมบัติพิเศษซึ่งบางส่วนแตกต่างจากคุณสมบัติของข้าราชการประจำทั่วไป เช่น คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง รวมตลอดทั้งกำหนดจริยธรรม และให้มีหน่วยงานทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของตนเองไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ได้จัดแบ่งเป็น 6 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

4.1 การบริหารคนตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารคน โดยเฉพาะเรื่อง จริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ว่า รัฐต้องจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและ
จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐบทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4.2 การบริหารคนของรัฐสภา

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคนของรัฐสภา เฉพาะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญเช่น 

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ไว้ว่า ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นเพียงบัญชีเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ เช่น สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิก
วุฒิสภา บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ บทบัญญัตินี้ถูกโต้แย้งมากและอาจนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต การโต้แย้งเกิดขึ้นในแง่ที่การกำหนดระดับการศึกษาไว้เช่นนี้ได้ไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร
 ประกอบกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของไทยมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ บทบัญญัติในส่วนนี้มีแนวโน้มว่าอาจนำไปสู่การเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต

3) รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ เช่น ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการไม่รับสัมปทานจากรัฐและไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ เป็นต้น รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

4) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุของสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่ามีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

5) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง โดยรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

6) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า สิ้นสุดลงเมื่อถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตาย หรือลาออก เป็นต้น รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติที่คล้ายกันบางส่วน

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคนของวุฒิสภา ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญเช่น 

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เช่น สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ และเป็นบทบัญญัติที่ขยายความสำคัญของการศึกษาโดยได้กำหนดมาตรฐานทางด้านการศึกษาขั้นต่ำของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุของวุฒิสภา ไว้ว่า มีกำหนดคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งซึ่งไม่เคยมีมาก่อนและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี ในขณะที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบนั้น สมาชิกวุฒิสภาล้วนมาจากการแต่งตั้ง โดยฉบับปี 2511, 2517 และ 2521 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา ไว้ว่า เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา ไว้ว่า สิ้นสุดลงเมื่อถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ตาย หรือลาออก เป็นต้น โดยรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคน ในเรื่องจริยธรรม ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังตัวอย่าง

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับมีบทบัญญัติเกี่ยวกับจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา ไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
โดยรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475 และ 2475/2595 มีบทบัญญัติที่แตกต่างมากจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา

2) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิญาณตนของสมาชิกรัฐสภา ไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกรัฐสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกโดยรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475 และ 2475/2595 มีบทบัญญัติที่แตกต่างมากจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา

3) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราประมวล
จริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา
ไว้ว่า รัฐสภามีอำนาจตราประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2475/2595, 2511, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติที่แตกต่างมากจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 มีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 การให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาในการตราประมวลจริยธรรมนั้น เป็นการให้อำนาจบุคคลดังกล่าวจัดทำประมวล
จริยธรรมแล้วนำมาใช้กับตนเองและกรรมาธิการ ทั้งนี้ เพื่อช่วยพัฒนาจิตใจหรือจิตสำนึกของสมาชิกรัฐสภา ช่วยป้องกันการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ รวมตลอดทั้งช่วยเพิ่ม
ประสิทธิภาพในการบริหารงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

4.3 การบริหารคนของคณะรัฐมนตรี

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคนของคณะรัฐมนตรีไว้ เช่น 

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายก
รัฐมนตรีและรัฐมนตรี
ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน โดยนายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2517 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511 และ 2521 มีบทบัญญัติที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุม
รัฐสภาเป็นครั้งแรก
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ไว้อีกว่า ในกรณีที่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุม
รัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้วไม่ปรากฎว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใน 15
 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไว้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกันมิได้ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

5) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรี ไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

6) รัฐธรรมนู ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี
ไว้ เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ อันเป็นการขยายความสำคัญของการศึกษาโดยได้ยกมาตรฐานทางด้านการศึกษาของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐมนตรีในยุคปัจจุบันมีโอกาสติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ต้องมีพื้นฐานความรู้เพื่อช่วยให้เข้าใจเทคโนโลยีได้ อีกทั้งยังต้องกำกับดูแลข้าราชการประจำที่มีความรู้และการศึกษาสูงเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ยกระดับอายุของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีเพื่อต้องการให้รัฐมนตรีมีประสบการณ์ในชีวิตและได้รับการยอมรับจากข้าราชการประจำและประชาชนเพิ่มมากขึ้นอนึ่ง การกำหนดระดับการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีเช่นนี้สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

7) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี ไว้ว่า รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมืองมิได้ รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

8) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของ
รัฐมนตรี
 ไว้อีกว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

9) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีทั้งคณะ ไว้ว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีลาออก รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

10) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ไว้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อตาย หรือลาออก เป็นต้น
รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

4.4 การบริหารคนของศาล

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคนของศาลซึ่งหมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ไว้ ที่สำคัญเช่น

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระของศาล ไว้ว่า ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

2) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของศาล ไว้ว่า ผู้พิพากษาและตุลาการจะเป็น
ข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

3) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิณาณของศาล ไว้ว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

4) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าตอบแทนของศาล
ไว้ว่า เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและ
ตุลาการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

5) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

6) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของตุลาการในศาลปกครอง ไว้ว่า การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาล
ปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล เป็นต้น
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 และ 2534 แม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับตุลาการในศาลปกครอง แต่ไม่มีรายละเอียด เพียงแต่บัญญัติว่า ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล และตลอดเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นประกาศใช้ ก็ยังไม่เคยบัญญัติกฎหมายออกมา

7) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลทหาร ไว้ว่า การแต่งตั้งและการให้ตุลาการศาลทหารพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับนี้ มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกัน

4.5 การบริหารคนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในที่นี้นำเสนอเป็นตัวอย่างเพียง 5 องค์กร

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการการเลือกตั้ง ไว้ว่า กรรมการการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ หรือสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้ง ไว้ว่า กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 แม้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรรมการการเลือกตั้ง แต่ไม่มีรายละเอียด เพียงแต่บัญญัติว่า คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และการให้กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และตลอดเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ประกาศใช้ ก็ยังไม่เคยบัญญัติกฎหมายนั้นออกมา

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของกรรมการการเลือกตั้ง ไว้ว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อตาย หรือลาออก เป็นต้น บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินวิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

ก่อนหน้านั้น มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517 และ 2534 เรียก “ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” แตกต่างออกไป โดยเรียกว่า “ผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภา” และ “ผู้ตรวจการรัฐสภา” ตามลำดับ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 ได้มีบทบัญญัติเรื่องการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจเงินแผ่นดินของรัฐสภาไว้ด้วย แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 แม้มีบทบัญญัติไว้ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในเรื่องการแต่งตั้งและวาระการตำแหน่งไว้ด้วย เพียงบัญญัติไว้ว่า คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง การถอดถอน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และตลอดเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ประกาศใช้ ก็ยังไม่เคยบัญญัติกฎหมายนั้นออกมา รวมทั้งยังไม่เคยแต่งตั้งบุคคลใดเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว

5) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์  ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

6) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามคำแนะนำของ
วุฒิสภา
 โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

7) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไว้ว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

8) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลังและด้านอื่นและพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดินการบัญชี
การตรวจสอบภายใน
 การเงินการคลัง หรือด้านอื่นพร้อมกับกำหนดให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

4.6 การบริหารคนของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น

 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้แสดงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารคนไว้ ตัวอย่างเช่น  

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคล ไว้ว่า การแต่งตั้งและการให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นก่อน ส่วนคณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่น นั้น ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการ ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีจำนวนเท่ากัน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารงานของตนเอง อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานและลูกจ้างดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาในรูปของคณะกรรมการ

5. การบริหารเงิน

รัฐธรรมนูญที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบในที่นี้ล้วนมีบทบัญญัติที่เป็นแนวคิดร่วมที่แสดงถึงการบริหารเงิน เพื่อให้รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนำไปเป็นแนวทางใช้ในการปฏิบัติราชการ อำนวยความสะดวก หรือให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดทาง
รัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องการบริหารเงิน ซึ่งหมายถึงการบริหารที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง หรืองบประมาณ ของรัฐ ของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ
 ในที่นี้แบ่งเป็น 4 หัวข้อ

5.1 การบริหารเงินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณให้ของรัฐให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของ
รัฐสภา
 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาล
ปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

5.2 การบริหารเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

1) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475/2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

2) รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร โดยมีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517 และ 2521 ที่มีบทบัญญัติบางส่วนคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 มีบทบัญญัติเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

5.3 การบริหารเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติ
เกี่ยวกับความเป็นอิสระในการเงินและการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายมีความเป็นอิสระในการเงินและการคลัง มีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 และ 2534 ที่มีบทบัญญัติบางส่วนคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 มีบทบัญญัติเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

5.4 การบริหารเงินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไว้ว่า การตรวจเงิน
แผ่นดิน ให้กระทำโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

6. ประชาชนและชุมชน

คำว่า ประชาชนและชุมชน ในที่นี้หมายถึง ข้อความหรือถ้อยคำในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่แสดงนัยถึงประชาชน และ/หรือชุมชน ด้วย เป็นต้นว่า ปวงชนชาวไทย ราษฎร ครอบครัว หรือแม้กระทั่งท้องถิ่น

ในการบริหารภาครัฐของหน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับประชาชนและชุมชนเสมอ เห็นตัวอย่างได้จากเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการบริหารภาครัฐคือ การให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่
ประชาชน รวมตลอดทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐด้วย

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบในที่นี้ ล้วนมีแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับประชาชนบัญญัติไว้หลายมาตรา ในที่นี้นำมาศึกษาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

6.1 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและความคุ้มครองที่
ประชาชนจะได้รับจากรัฐธรรมนูญ

1) รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและปวงชนชาวไทย ไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2540 และ 2517 ที่บัญญัติไว้ดังกล่าว ซึ่งหมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตนเองและยังมอบให้ตัวแทนใช้ด้วย ส่วนรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2475/2495, 2511, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนแตกต่างไป โดยบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

2) รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มครองที่ประชาชนจะได้รับจากรัฐธรรมนูญ ไว้ว่า ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกันรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2475, 2511, 2517, 2521 และ 2534 ล้วนมีบทบัญญัติเหมือนหรือคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

6.2 สิทธิของชุมชนและประชาชน

1) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ใน
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่สนับสนุนให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หรืออาจเรียกว่า ให้ประชาชนมีสิทธิของชุมชนเพิ่มมากขึ้น

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ไว้ว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทาง
ชีวภาพ
 และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบถึงบุคคลและชุมชน รวมทั้งกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ซึ่งสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ ให้ความเห็น และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเด่นชัด อันจะส่งผลให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้กำหนดสิทธิของประชาชนหรือบุคคลในการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเปิดโอกาสให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐก็มีส่วนช่วยส่งเสริมให้การใช้อำนาจของรัฐเป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วย

6.3 สิทธิของชุมชน การมีส่วนร่วมและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาและความเข้มแข็งของชุมชน

1) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของชุมชน การมีส่วนร่วม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล รวมทั้งมีส่วนร่วมในการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและกำจัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งได้บัญญัติให้รัฐรับรองหรือสนับสนุนสิทธิของชุมชน โดยเฉพาะในส่วนที่ว่า รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นให้ได้ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย มิใช่มุ่งแต่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือเน้นกำไรสูงสุดแต่เพียงด้านเดียว เพราะฉะนั้น จึงอาจเปรียบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญสีเขียว เนื่องจากสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิของชุมชน และให้ความสำคัญกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

2) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพัฒนาและความเข้มแข็งของชุมชน ไว้ว่า รัฐต้องคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517, 2521 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

6.4 การปกครอง สิทธิถอดถอน และการเข้าชื่อออกกฎหมายของ
ประชาชนในท้องถิ่น

1) รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่น ไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยมาตรา 1 บัญญัติให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 และ 2534 มีบทบัญญัติบางส่วนที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 มีบทบัญญัติที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปกครองตนเองของประชาชนในท้องถิ่นนี้ ได้กำหนดให้รัฐต้องให้ความอิสระในการปกครองท้องถิ่นตราบเท่าที่การปกครองท้องถิ่นนั้นต้องไม่กระทบต่อความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวและแบ่งแยกมิได้ของไทย ตัวอย่าง เช่น ในบางจังหวัดที่มีความพร้อม อาจจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เปลี่ยนพื้นที่จังหวัดทั้งหมดจากเดิมที่สังกัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้มาสังกัดราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทำนองเดียวกับกรุงเทพมหานคร แต่อย่างไรก็ตาม การปกครองท้องถิ่นของจังหวัดที่มีความพร้อมนั้นต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่จะนำจังหวัดนั้นไปสู่การประกาศตัวเป็นอิสระ แยกดินแดน หรือไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลไทย

2) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิถอดถอนของราษฎร ไว้ว่า ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียงเห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่น โดยมีอำนาจควบคุมและถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

3) รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเข้าชื่อเพื่อออกกฎหมายในท้องถิ่น ไว้ว่า ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

7. ภาคเอกชนและองค์การเอกชน

ดังได้กล่าวไว้แต่แรกแล้วว่า คำว่า “องค์กร” ใช้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคำว่า
“องค์การ” ใช้กับหน่วยงานเอกชน เช่น
องค์การเอกชน
(private organization) คำเหล่านี้ล้วนนำมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังใช้คำว่า “เอกชน” (private sector) ซึ่งในที่นี้นำมาใช้ โดยเขียนว่า “ภาคเอกชน”

การบริหารภาครัฐและภาคเอกชน ย่อมต้องมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันเสมอ ไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ยิ่งไปกว่านั้น ในการบริหารภาครัฐหรือใน
แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์จะพยายามสนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือองค์การเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบล้วนมีแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับภาคเอกชนและองค์การเอกชนบัญญัติไว้หลายมาตรา ในที่นี้นำมาพิจารณาศึกษาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

7.1 เสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นของพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชน ไว้ว่า พนักงานหรือ
ลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ
 บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่ เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่สื่อมวลชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบธุรกิจทางด้านสื่อมวลชนให้มีความเป็นอิสระและปลอดจากการถูกควบคุมทั้งจากเจ้าของกิจการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

7.2 การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอบรม

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาอบรม ไว้ว่า การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน รวมทั้งการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

7.3 เสรีภาพในการรวมกันเป็นองค์การเอกชน

รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกันเป็นองค์การเอกชน ไว้ว่า บุคคลย่อมมี
เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
 รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 ล้วนมีบทบัญญัติบางส่วนที่คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

7.4 เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองนั้น มิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย จึงถือว่าเป็นภาคเอกชนหรือองค์การเอกชน โดยรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 ล้วนมีบทบัญญัติที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งได้กำหนดเรื่องต่าง ๆ ไว้ การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง

7.5 ผู้แทนจากองค์การเอกชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้แทนจากองค์การเอกชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไว้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีก 10 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้แทนจากองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนด้วย บทบัญญัตินี้เป็นสาระสำคัญที่เพิ่มขึ้นใหม่

ส่วนที่ 2 ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ใน
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เมื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พบว่า มี 7 ประการ และในสภาพความเป็นจริงแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาจเกิดจากปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยก็ได้ ทั้ง 7 ประการ มีดังนี้

1.  บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีต

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและกฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อ
รัฐธรรมนูญไม่ได้ ประกอบกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เป็นจำนวนมากปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากการศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบไว้แล้วข้างต้น ในเรื่องโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารคนของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เรื่องดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้รับแนวคิดมาจากรัฐธรรมนูญในอดีต เช่น รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2511, 2517, 2521 และ 2534 โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 อาจใช้แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีตดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานหรือเป็นแนวทาง พร้อมกับปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมและสมบูรณ์มากขึ้น

2.  นโยบายของรัฐบาล ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

โดยทั่วไป นโยบายของรัฐบาลเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจำเป็นต้องยกร่างขึ้นตามหรือสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เช่น ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เรื่องอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยกำหนดไว้ว่า "บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน…"

ในทางกลับกัน นโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิด
รัฐประศาสนศาสตร์ไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและร่วมกันกำหนดนโยบายของ
รัฐบาลขึ้นตัวอย่างเช่น ผลจากการบริหารงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนหนึ่ง อาจพบว่า เกิดความบกพร่องในการบริหารราชการที่เกี่ยวกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เรื่องโครงสร้างหรืออำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หรือการบริหารคนในเรื่องกระบวนการสรรหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อบกพร่องทำนองนี้ คณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้มีการแก้ไขแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญโดยกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ไปบรรจุไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยผ่านทางนโยบายของ
รัฐบาลได้นั้น ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ง่ายจำเป็นต้องคำนึงถึงภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้วย

ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีนั้น หมายถึง ลักษณะหรือประสิทธิภาพในการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งครอบคลุมอุดมการณ์ ทัศนคติ วิสัยทัศน์หรือการมองการณ์ไกลของนายกรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมด้วย ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีจึงมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารระดับชาติรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีไว้มากทั้งในด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติ กล่าวคือ ด้านบริหารมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 201) ส่วนอำนาจด้านนิติบัญญัติ เช่น เสนอร่างพระราชบัญญัติโดยร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า สำหรับร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรีได้ด้วย โดย “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ” ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ให้ความสนใจ และสนับสนุนการนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ให้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจขอความร่วมมือจากรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือใช้สื่อทางโทรทัศน์หรือวิทยุประชาสัมพันธ์ความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว
รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ยังให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม
รัฐธรรมนูญได้ด้วย โดย 
“การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ (1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี…..” และในคณะรัฐมนตรีนั้น มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า

นโยบายของรัฐบาลอาจแบ่งเป็นนโยบายทั่วไปและเร่งด่วน นโยบายของรัฐบาลยังแบ่งเป็นหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย การเมือง และการบริหารจัดการ อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลแต่ละรัฐบาล แต่ละยุคสมัย ย่อมแตกต่างกันได้ อีกทั้งการที่แต่ละรัฐบาลยึดถือแนวคิดหลักที่แตกต่างกัน เช่น อนุรักษ์นิยม (conservative) เสรีนิยม (liberal) และประชานิยม (populist) ย่อมมีส่วนทำให้แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแตกต่างตามไปด้วย 

3. สมาชิกรัฐสภา และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 นอกจากมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีบทบัญญัติให้สมาชิกรัฐสภามีอำนาจดังกล่าวนี้ด้วย โดยญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา พร้อมกันนั้น ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ล้วนเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจทำรายงานเสนอความเห็นต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย

ดังนั้น ในการยื่นญัตติหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น สมาชิกรัฐสภาและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงมีโอกาสหรือมีแนวโน้มที่จะนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่อง โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ กระบวนการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วยการบริหารงาน คน และเงิน รวมตลอดทั้งแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์เกี่ยวกับประชาชนและชุมชน ภาคเอกชนและองค์การเอกชน ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้

4.  สถานการณ์บ้านเมือง 

เป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสถานการณ์บ้านเมืองด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ ทั้งนี้ต้องเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือในกรณีที่มีภาวะวิกฤตหรือเมื่อประเทศมีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น มีบทบัญญัติที่สนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องการบริหารคนและการบริหารเงินของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนให้มีรายได้ มีงานทำ ตลอดทั้งมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

5. การเรียกร้องของประชาชน

ทุกวันนี้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างมาก เช่น รวมตัวกันเพื่อเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ การเรียกร้องของประชาชนเพื่อนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอาจดำเนินงานผ่านทางสมาชิกรัฐสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หรือพรรคการเมือง

6.  อิทธิพลของกระแสโลก 

การติดต่อกับต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เช่น การติดต่อค้าขายและการรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ด้านสังคม เช่น การไปศึกษาต่อต่างประเทศและการรับ วัฒนธรรมการแต่งกาย ส่วนด้านการเมือง เช่น การรับระบบการเมืองการปกครองและการบริหาร จัดการเหล่านี้ ทำให้อิทธิพลของกระแสโลกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น อิทธิพลของกระแสโลกที่สอดคล้องกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อิทธิพลของกระแสโลกที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เช่น (1) การบริหารจัดการตามแนวทางประชาธิปไตย (2) การบริหารจัดการที่สนับสนุนการกระจายอำนาจ (3) การบริหารจัดการตามแนวทางประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) (4) การบริหารจัดการที่สนับสนุนการเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรง (direct election) (5) การบริหารจัดการที่คำนึงถึงหลักธรรมรัฐหรือหลักธรรมาภิบาล หลักหรือวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (good governance) (6) การบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ(information technology) (7) การบริหารจัดการโดยมืออาชีพ (professional) (8) การบริหารจัดการที่มุ่งประสิทธิภาพ (efficiency) หรือมุ่งความผลสำเร็จของงาน (achievement) หรือ มุ่งผลงาน (product) มากกว่าขั้นตอนหรือกระบวนการ (process) (9) การบริหารจัดการที่คำนึงถึงสิทธิและความรับผิดชอบต่อชุมชน (community rights and responsibility) และ (10) การบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสที่ถูกตรวจสอบได้ (transparency)

7. การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาค และโลก

ประเทศทั้งหลายที่มีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้จำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การแข่งขันมีได้หลายลักษณะ เป็นต้นว่า การแข่งขันด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่ทันสมัย การศึกษา สาธารณสุข กีฬา ความเป็นประชาธิปไตย และการบริหารจัดการ แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่จะนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในอนาคตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย โดยเฉพาะแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องการบริหารคน และการบริหารเงิน ที่สอดคล้องหรือสามารถรองรับการแข่งขันดังกล่าวได้โปรดดูภาพที่ 3 ประกอบ

ภาพที่ 3 ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 7 ประการ

 

ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนด

แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ใน

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราช

อาณาจักรไทย 7 ประการ


แนวคิดทางรัฐประศาสน-

1. บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในอดีต ศาสตร์ในบทบัญญัติ

2. นโยบายของรัฐบาล ภาวะผู้นำของ ของรัฐธรรมนูญ

นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

3  สมาชิกรัฐสภา และองค์กรอิสระ

ตามรัฐธรรมนูญ

4. การเรียกร้องของประชาชน

5. สถานการณ์บ้านเมือง

6. อิทธิพลของกระแสโลก 

7. การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ประเทศในภูมิภาค และโลก

 

สรุป

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายลูกทั้งหลาย จะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญนอกจากมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ระบบการปกครองประเทศ บรรดากรอบแนวทาง นโยบาย หรือกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่กำหนดขึ้นเพื่อดำเนินการปกครองหรือบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ขององค์กรหลักของรัฐ การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังมีบทบัญญัติที่แสดงถึงแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์ที่เกี่ยวกับภายในและภายนอกองค์กรของรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่แสดงถึงแนวคิดดังกล่าว ได้ปรากฏอยู่ในเห็นได้จากบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ เป็นต้นว่า แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ของรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญรวม 7 ฉบับ ทั้งหมดนี้ ได้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยใช้กรอบแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ 7 เรื่อง อันได้แก่ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การบริหารงาน การบริหารคน การบริหารเงิน ประชาชนและชุมชน รวมทั้งภาคเอกชนและองค์การเอกชน นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมี 7 ประการ โดยแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อาจเกิดจากปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยก็ได้

การศึกษาครั้งนี้ มุ่งแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏว่า มีแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่สำคัญอยู่ในรัฐธรรมนูญไทย โดยไม่ก้าวล่วงไปถึงขั้นเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในรัฐธรรมนูญ และยังไม่ครอบคลุมไปถึงการศึกษาวิเคราะห์ว่า แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างไร เต็มรูปแบบหรือไม่ ใช้ในหน่วยงานใด เกิดปัญหาอุปสรรคอย่างไร หรือมีปัจจัยใดบ้างที่จะช่วยให้การนำแนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์มาปรับใช้ให้ประสบผลสำเร็จ เป็นต้น การศึกษาครั้งนี้ เป็นผลงานพื้นฐานที่จะนำไปสู่การศึกษาวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวในอนาคตต่อไป

 

บรรณานุกรม

กระมล ทองธรรมชาติ. วิวัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2524.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. วิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2542.

หยุด แสงอุทัย. คำบรรยายหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 8, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, 2526.

อมร รักษาสัตย์. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมบทวิจารณ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

ราชกิจจานุเบกษา ที่ประกาศหรือพิมพ์รัฐธรรมนูญ 16 ฉบับ

 

P P P P P