กระบวนการยุติธรรมกับการบริหารราชการไทย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

ภาพที่คลาดเคลื่อนไป ขอรับฟรีได้โดยตรงจาก อีเมล์ :
wiruch@wiruch.com หรือ wirmail@yahoo.com

1. ความนำ

เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ทำให้มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม และในสังคมย่อมมีคนบางส่วนกระทำความผิดหรืองดเว้นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อช่วยจัดระเบียบและควบคุมคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และการที่กฎหมายจะใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับหน่วยงานของรัฐหรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำคัญ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือบริหาร
ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์

บทความนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมและการบริหารราชการไทย แต่ก่อนที่จะนำเสนอตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ กับการบริหารราชการ ตามลำดับ ควรทำความเข้าใจเรื่องสำคัญ 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง เป็นการทำความเข้าใจความหมายและขอบเขตของคำต่าง ๆ ดังนี้

1) กระบวนการ มีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ (1) มีขั้นตอน (2) มีระบบหรือมีความสอดคล้องกันภายใน (3) มีการดำเนินงานหรือมีกิจกรรม และ (4) ถูกกฎหมาย

2) ยุติธรรม หมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล
ตัวอย่างเช่น ศาลทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม หรือสินค้ามีราคายุติธรรม เป็นต้น

3) กระบวนการยุติธรรม โดยทั่วไป หมายถึง กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ทนายความ และคุมประพฤติ แต่ในที่นี้หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินงานหรือการบริหารราชการอย่างเป็นระบบของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์
ทั้งนี้ การบริหารราชการดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับการให้ความยุติธรรมและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ตลอดจนสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 75 วรรคหนึ่ง)
ที่บัญญัติไว้ว่า "มาตรา 75 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่
ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มี
ประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน….."

กระบวนการยุติธรรมที่นำมาศึกษาในที่นี้ มุ่งศึกษาหรือให้ความสำคัญเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่านั้น อีกทั้งการศึกษายังไม่ครอบคลุมไปถึงทนายความและประชาชน เนื่องจากมิใช่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนศาลนั้น ศึกษาเฉพาะศาล
ยุติธรรม เพราะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญา

4) ตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ ล้วนเป็นคำที่คุ้นเคยกันมานานและเข้าใจง่าย ในที่นี้ถือว่าคำเหล่านี้หมายถึง หน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวคือ ในกรณีที่หมายถึง "หน่วยงานของรัฐ" นั้น คำว่า ตำรวจ มาจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, อัยการ มาจาก สำนักงานอัยการสูงสุด, ศาล มาจาก ศาลยุติธรรม, คุมประพฤติ มาจาก กรมคุมประพฤติ, และราชทัณฑ์ มาจากกรมราชทัณฑ์ สำหรับในกรณีที่หมายถึง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" นั้น หมายถึง เจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา พนักงานคุมประพฤติ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในหน่วยงานของรัฐดังกล่าว ตามลำดับ

ประการที่สอง ในการบริหารราชการตามกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ อันได้แก่ ตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ ดังกล่าวนี้ ถือได้ว่าแต่ละส่วนเป็นส่วนหนึ่งของ "กระบวนการบริหารงานยุติธรรม" ที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

1) ปัจจัยนำเข้า (input) หมายถึง ปัจจัย สิ่ง สาเหตุ หรือเหตุ (cause) ที่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งทำให้ต้องนำไปสู่ขั้นตอนที่ 2 และขั้นตอนที่ 3 ต่อไปตามลำดับ ตัวอย่างปัจจัยนำเข้า เช่น การประกอบอาชญากรรม หรือการกระทำความผิดโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยพนักงานสอบสวนอาจไปประสบเหตุ หรือมีผู้เสียหายร้องทุกข์ หรือมีผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวโทษ เป็นต้น

2) กระบวนการ (process) หรือ กระบวนการดำเนินงาน หมายถึง กระบวนการบริหารงานราชการของตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้

3) ปัจจัยนำออก (output) หมายถึง ปัจจัย สิ่ง หรือผล (effect) ที่ปราฏออกมาหลังจากผ่านขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 มาแล้ว เช่น การคุ้มครองป้องกันสังคม การลดอาชญากรรม การรักษาความยุติธรรม การให้บริการและการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและสังคม
ตลอดจนการรักษาและธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

ปัจจัยนำออกนี้จะย้อนกลับไปในลักษณะที่ "สอดคล้อง" กับกระบวนการดำเนินงานและปัจจัยนำเข้า โปรดดูภาพที่ 1

 

 

 

 

ภาพที่ 1  กระบวนการบริหารงานยุติธรรมของตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ ที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่



1. ปัจจัยนำเข้า 2. กระบวนการ 3. ปัจจัยนำออก

(ปัจจัยเหตุ) ดำเนินงาน (ปัจจัยผล)

ส อ ด ค ล้ อ ง


การ 2.1 ตำรวจ (มี 8 ขั้นตอน) - การ

ประกอบ (1) การร้องทุกข์ในคดีอาญา (2) ตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงาน คุ้มครอง

อาชญากรรม สอบสวน (3) คดีที่เลิกกันได้ในชั้นตำรวจ (4) อำนาจการ ป้องกัน

ของบุคคล ควบคุมผู้ต้องหา (5) การขอผัดฟ้อง ฝากขัง (6) การสรุป  สังคม

กลุ่มบุคคล สำนวน (7) กรณีควรสั่งฟ้อง (8) กรณีควรสั่งไม่ฟ้อง  - การลด  อาชญากรรม

- การรักษา

2.2 อัยการ (มี 2 ขั้นตอน) ความ

(1) การสั่งคดี (2) การดำเนินคดีอาญาในศาล ยุติธรรม

- การให้

2.3 ศาล (มี 7 ขั้นตอน) บริการ

(1) การไต่สวนมูลฟ้อง (2) การพิจารณาคดีอาญา (3) การ และการ

พิพากษาคดี (4) การขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก (5) การ อำนวย

อุทธรณ์ฎีกา (6) การอภัยโทษ (7) การรื้อฟื้นคดีอาญา ความ

ยุติธรรม

ให้แก่

2.4 คุมประพฤติและราชทัณฑ์ ประชาชน

การบังคับคดีโดยกรมคุมประพฤติ (มี 5 ขั้นตอน) คือ (1) และสังคม

การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น (2) การสอบปากคำ (3) การ - การรักษา

รายงานตัว (4) การออกไปสอดส่อง (5) การรายงานผล และธำรง

การบังคับคดีโดยกรมราชทัณฑ์ (มี 7 ขั้นตอน) คือ (1) ความ

การรับตัว (2) การให้สวัสดิการ (3) การรักษาระเบียบ ศักดิ์สิทธิ์

วินัย (4) การให้การศึกษา (5) การให้ทำงาน (6) การ ของ

ฝึกอบรมจิตใจ (7) การปล่อยตัว กฎหมาย

ในการศึกษาตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์ กับการบริหารราชการ ทุกเรื่องล้วนแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 หัวข้อ คือ ความหมาย อำนาจหน้าที่ และกระบวนการดำเนินงาน พร้อมกับมีสรุปท้ายสุดด้วย

2. ตำรวจกับการบริหารราชการ

2.1 ความหมาย ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็น "ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง" มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับของนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่รักษา ความสงบเรียบร้อยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตรวจสอบและสอดส่องดูแลทุกข์สุขของประชาชน
ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รักษากฎหมาย รวมทั้งดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ

ตำรวจเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งและเป็นส่วนแรกในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้ต้องหา ค้นหาหลักฐาน สอบสวน และสรุปสำนวนว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ แล้วจึงส่งเรื่องไปยังอัยการ

2.2 อำนาจหน้าที่ ตำรวจ มีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไป มีดังนี้

2.2.1 รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอกประเทศเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

2.2.2 รักษากฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางอาญา

2.2.3 บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน

2.2.4 ดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ

2.3 กระบวนการดำเนินงานของตำรวจ กระบวนการดำเนินงานของตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจสรุปสาระสำคัญและจัดแบ่งเฉพาะที่สำคัญได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง การร้องทุกข์ในคดีอาญา เมื่อเกิดอาชญากรรมหรือคดีอาญาขึ้น
(1) ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดที่เกิดขึ้น (2) เจ้าพนักงานผู้ประสบเหตุ หรือ (3) ผู้เห็นเหตุการณ์ ฝ่ายหนึ่ง อาจนำเรื่องไปแจ้ง กล่าวโทษ หรือร้องทุกข์ต่อตำรวจ โดยผู้ต้องหา ซึ่งหมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดคดีอาญานั้น ๆ อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง

ขั้นตอนที่สอง ตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน โดยรับแจ้งเหตุแล้วทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นสำนวนคดี และเพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินการได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจตำรวจ (พนักงานสอบสวน) ไว้ดังนี้

1) อำนาจในการสอบสวนและสืบสวนคดีอาญา เพื่อให้ทราบตัวผู้กระทำความผิดและหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิด

2) ตรวจค้นตัวบุคคลและสถานที่ เพื่อหาพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา

3) จับกุมผู้ต้องหา เพื่อนำมาดำเนินคดี

4) ออกหมายเรียกพยานและผู้ต้องหา มาเพื่อทำการสอบสวนไว้เป็นพยาน
หลักฐานในคดี

5) ยึดวัตถุพยาน เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดี

6) ควบคุมตัวผู้ต้องหา เพื่อทำการสอบสวน

7) ให้ประกันตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน

ขั้นตอนที่สาม คดีอาญาที่เลิกกันได้ในชั้นตำรวจในฐานะเป็นพนักงานสอบสวน ดังนี้

1) คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดีฉ้อโกงทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์

2) คดีที่ตำรวจมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามกำหนดแล้ว เช่น คดีความผิดพระราชบัญญัติจราจร เป็นต้น

ขั้นตอนที่สี่ อำนาจการควบคุมผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจตำรวจทำการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการ
สอบสวนได้ แยกเป็น 2 กรณี คือ

1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชั่วโมง

2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 วัน

ขั้นตอนที่ห้า การขอผัดฟ้อง และฝากขังผู้ต้องหา หลังจากครบอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว หากการสอบสวนยังไม่เสร็จ ตำรวจต้องนำผู้ต้องหาไปขอผัดฟ้อง ฝากขัง ต่อศาลแขวงหรือศาลอาญา ดังนี้

1) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง ผัดฟ้อง (ในกรณีผู้ต้องหามีประกันตัว) หรือผัดฟ้องฝากขังในกรณีผู้ต้องหาไม่มีประกันตัวได้ไม่เกิน 5 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 6 วัน

2) คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญา

3) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน

4) คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ฝากขังได้หลายครั้งติด ๆ กัน ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน

เมื่อศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขัง (คดีศาลแขวง) หรือฝากขัง (คดีอาญา) แล้ว จะมอบตัวผู้ต้องหาให้อยู่ในอำนาจการควบคุมของศาลซึ่งศาลจะได้มอบให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปควบคุมไว้ในเรือนจำต่อไป

กรณีผู้ต้องหาได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ตำรวจไม่ต้องขออำนาจศาลฝากขังแต่อย่างใด

ขั้นตอนที่หก การสรุปสำนวนของตำรวจ เมื่อตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ก็จะสรุปสำนวนการสอบสวน มีความเห็นทางคดีได้ 3 ทาง ดังนี้

1) เห็นควรงดการสอบสวน (กรณีไม่มีตัวผู้ต้องหา)

2) เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา

3) เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา

ขั้นตอนที่เจ็ด กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการประกันตัวชั้นการควบคุมของอัยการ ผู้ต้องหามีสิทธิจะยื่นคำร้องขอประกันตัวต่ออัยการได้

ขั้นตอนที่แปด กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนตัวผู้ต้องหาหากอยู่ในความควบคุมของตำรวจให้ปล่อยตัวไป หากอยู่ในความควบคุมของศาล ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาล

สรุป ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับแรก อำนาจ
หน้าที่ในการดำเนินงานหรือบริหารงานราชการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่สำคัญ มี 8 ขั้นตอน ซึ่งมากเพียงพอที่จะให้ความยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้

2. อัยการกับการบริหารราชการ

2.1 ความหมาย อัยการ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็น "ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง" มีฐานะเป็นกรมและอยู่ในบังคับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บางครั้งเรียกอัยการว่า ทนายแผ่นดิน อาจกล่าวได้ว่ามีหน้าที่หลัก คือ ตัดสินว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหรือไม่ หลังจากที่ได้รับสรุปสำนวนจากตำรวจแล้ว อัยการถือว่าเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

2.2 อำนาจหน้าที่ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 (มาตรา 46 (9)) บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่ง และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย อำนาจหน้าที่ของอัยการ ที่สำคัญมี 4 ประการ ดังนี้

2.2.1 การอำนวยความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น

1) ฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ตลอดจนฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา และแก้ฟ้องอุทธรณ์ แก้ฟ้องฎีกาด้วย

2) สั่งให้งดหรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ในคดีที่ไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด

3) ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง และพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง และแจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบแต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ให้สั่งฟ้อง และแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา

4) ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องและพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วยก็ให้สั่งไม่ฟ้องและปล่อยตัวผู้ต้องหาไป และแจ้งคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทราบ

5) สั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป

2.2.2 การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ตัวอย่างเช่น

1) ในคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวงกับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ (พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 11 (2)) เป็นต้นว่า

1.1) ว่าต่างหรือแก้ต่างแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างทนายความ ส่วนราชการเจ้าของคดีเป็นผู้ส่งเรื่องมาขอให้ว่าต่างแก้ต่างให้ ถ้าคดีมีทางผ่อนผันหรือตกลงประการใด ก็จะแจ้งให้ส่วนราชการเจ้าของคดีพิจารณาข้อผ่อนผันหรือข้อตกลงนั้น แล้วจะดำเนินการให้ต่อไป

1.2) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมทั้งรายงานการตรวจสอบไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินงานคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 38)

2) เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐโดยให้คำปรึกษาหรือความเห็นทางกฎหมายหรือตรวจร่างสัญญาต่าง ๆ ก่อนลงนาม เช่น

2.1) ตรวจร่างสัญญาที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (เว้นแต่การให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและการให้ประทานบัตรตามกฎหมายว่าด้วยแร่) โดยเฉพาะในโครงการที่มีการลงทุนหรือมีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป (พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 3, 5, 20)

2.2) ตรวจร่างสัญญาที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจส่งมา (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 กันยายน 2535 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0205/ว 138 ลงวันที่ 9 กันยายน 2535)

2.3) ตรวจร่างเอกสารประกวดราคาและร่างสัญญาที่หัวหน้าส่วนราชการส่งมา (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 6,44,132)

2.2.3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น

1) ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายปล่อยผู้ต้องหา เมื่อเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 72 (2) )

2) ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกจำคุกผิดจากคำพิพากษาของศาล (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 240 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90)

3) เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแต่งตั้ง เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 39)

2.2.4 อำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น

1) อัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองใดเลิกการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) (มาตรา 63)

2) อัยการสูงสุดมีอำนาจฟ้องคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายก
รัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำต่อตำแหน่ง
หน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น โดยฟ้องคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของ
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9, 10 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 66, 70)

2.3 กระบวนการดำเนินงานของอัยการ กระบวนการดำเนินงานของอัยการในการดำเนินคดีอาญาเพื่ออำนวยความยุติธรรม เป็นไปตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 (มาตรา 11 (1)) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นหลัก ที่สำคัญมี 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง การสั่งคดี เมื่อตำรวจหรือพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนมายังอัยการหรือพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้อง หรืออย่างอื่น (เช่น งดการสอบสวน) พนักงานอัยการต้องพิจารณาสำนวนสอบสวนดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาคดีและผลของการดำเนินคดีในศาลทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย และออกคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคดี เช่น สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้อง ทั้งนี้ การสั่งคดีของอัยการต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตัวอย่างเช่น กรณีไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด อัยการอาจพิจารณาว่า ควรงดการสอบสวนหรือไม่ หรือกรณีปรากฏผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมตัวอยู่ หรือปล่อยตัวชั่วคราว หรือเชื่อว่าคงจะได้ตัวมาเมื่ออกหมายเรียก เช่นนี้อัยการอาจพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งฟ้องก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น

ขั้นตอนที่สอง การดำเนินคดีอาญาในศาล มีดังนี้

1) การยื่นฟ้อง เมื่ออัยการเห็นว่า การสอบสวนชอบแล้ว และมีหลักฐานพอฟ้อง อัยการก็จะร่างฟ้อง และยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล

2) การสืบพยาน ตามกฎหมายการนำพยานไปศาลเป็นหน้าที่ของโจทก์ พยานที่อัยการนำเข้าสืบสวนมักจะปรากฏอยู่ในสำนวน อัยการจะสืบพยานไปตามลำดับของความสำคัญของพยานตามบัญชีพยานที่ยื่นต่อศาล จนกว่าจะหมดพยานหรือจนกว่าศาลจะสั่งให้ยุติการสืบพยาน

3) การยื่นอุทธรณ์และฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ไม่ว่าจะลงโทษหรือยกฟ้องปล่อยจำเลย ถ้าอัยการเห็นว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้อง อัยการก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในอายุความอุทธรณ์ และถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินและมีคำพิพากษาแล้ว อัยการก็อาจยื่นฎีกาได้อีกภายในอายุความฎีกา

4) การถอนฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์อาจยื่นขอถอนฟ้องได้ อัยการเป็นโจทก์คนหนึ่งที่ฟ้องคดีอาญา ย่อมมีอำนาจที่จะถอนฟ้องได้ การถอนฟ้องมี 3 กรณีดังนี้

4.1) ถอนฟ้องด้วยเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เช่น จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำความผิดที่ถูกฟ้อง อัยการควรถอนฟ้องเพื่อความเป็นธรรม

4.2) ถอนฟ้องด้วยเหตุผลตามกฎหมาย เช่น การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุยกเว้นโทษ หรือคดีขาดอายุความ

4.3) ถอนฟ้องด้วยเหตุผลนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชน เช่น การดำเนินคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็นผลร้ายกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อัยการก็อาจถอนฟ้องได้

สรุป อัยการมีอำนาจหน้าที่ 4 ประการ และกระบวนการดำเนินงานของอัยการที่สำคัญมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ การสั่งคดี และการดำเนินคดีอาญาในศาล กล่าวคือ เมื่อตำรวจซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเรื่องส่งมาถึงอัยการ อัยการจะพิจารณาและมีความเห็นคดีไว้ คือ งดการสอบสวน สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง

3. ศาลกับการบริหารราชการ

เป็นการศึกษาเฉพาะศาลยุติธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังมีศาลอื่นอีกที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง แต่ไม่ได้นำมารวมศึกษาไว้ในที่นี้ด้วย การเสนอเรื่องต่อศาลดังกล่าวนี้เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ถ้ายื่นเรื่องต่อศาล
รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือถ้ายื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ก็จะต้องเป็นเรื่องทางปกครอง เป็นต้น

3.1 ความหมาย ศาล หมายถึง ผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจในการตัดสินคดีความต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในที่นี้หมายถึงศาลยุติธรรม หรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาและเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลยุติธรรมยังเป็นองค์กรตาม
รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยแบ่งเป็น 3 ชั้นศาล ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

3.2 อำนาจหน้าที่ อำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) (มาตรา 271) บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่
รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

3.3 กระบวนการดำเนินงานของศาล ในที่นี้หมายถึงการดำเนินงานของศาลในคดีอาญา โดยศึกษาเฉพาะการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งมีอยู่ 7 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่หนึ่ง การไต่สวนมูลฟ้อง หมายถึง กระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยคดีที่นำมาฟ้องต่อศาลว่ามีมูลหรือไม่มีมูล เป็นการกลั่นกรองคดีที่จะให้ศาลพิจารณาพิพากษา คดีอาจแยกออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง และกรณีผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง

1) กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ตามกฎหมายศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งใต่สวนมูลฟ้องก็ได้ ในทางปฏิบัติ ศาลจะไม่สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเพราะถือว่าได้มีการกลั่นกรองโดยอัยการมาก่อนแล้ว เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ผู้ถูกฟ้องตกอยู่ในฐานะเป็นจำเลยทันที

2) กรณีผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์นี้ ให้ศาล
ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันแล้ว ศาลจะไม่สั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก็ได้

ในการไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย จำเลยจะไปศาลหรือไม่ก็ได้ ห้ามศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนการประทับฟ้องมิให้ถือว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะเช่นนั้น

ถ้าศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล ศาลจะพิพากษายกฟ้องซึ่งโจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ศาลจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา และผู้ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยตั้งแต่เวลานั้น ไม่ว่าจะได้ตัวจำเลยมาหรือไม่ กรณีไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลจะออกหมายเรียก หรือหมายจับ แล้วแต่จะเห็นสมควร

ขั้นตอนที่สอง การพิจารณาคดีอาญา เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจะดำเนินการพิจารณาคดีและสืบพยานต่อไป โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ การคุ้มครองจำเลยในการต่อสู้คดี และองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี

1) การคุ้มครองจำเลยในการต่อสู้คดี จำเลยได้รับการคุ้มครองในการ
ต่อสู้คดี 3 ประการ คือ

1.1) การสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์

1.2) การพิจารณาและสืบพยานต้องทำอย่างเปิดเผยในศาล

1.3) การพิจารณาและสืบพยานต้องทำต่อหน้าจำเลย แต่มีข้อยกเว้น 3 ข้อ คือ กรณีที่คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี กรณีจำเลยขัดขวางการพิจารณาคดีและสืบพยาน กรณีเดินเผชิญสืบนอกศาล

2) องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ในการพิจารณาคดีและการสืบพยานรวมทั้งการพิพากษาคดี ศาลต้องนั่งครบองค์คณะ เช่น องค์คณะ 2 คน ก็ต้องนั่งครบทั้ง 2 คน

ขั้นตอนที่สามการขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก ในคดีที่จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามฟ้องและเป็นคดีไม่ร้ายแรงซึ่งศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี จำเลยอาจยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีได้ โดยควรแนบหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม สภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีด้วย เช่น บันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายเพื่อบรรเทาผลร้าย สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตรซึ่งแสดงว่ามีบุตรต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น แต่ทั้งนี้ศาลอาจลงโทษจำคุกและปรับแต่รอการลงโทษจำคุกไว้โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติด้วยการให้จำเลยไปรายงานตัวหรือทำกิจกรรมบริการสังคมหรือ
สาธารณประโยชน์ด้วยหรือไม่เพียงใดก็ได้ และจำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นโดยเคร่งครัดหากมิฉะนั้นแล้วศาลอาจนำโทษจำคุกที่รอไว้นั้นมาลงแก่จำเลยได้ การขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุกนี้ เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ ซึ่งจะได้ศึกษาต่อไป

ขั้นตอนที่สี่ การพิพากษาคดีอาญา เมื่อสืบพยานจนได้ข้อยุติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณาหรือภายในเวลา 3 วัน นับแต่วันเสร็จคดี เว้นแต่มีเหตุอันควร เช่น ศาลติดเรียบเรียงคำพิพากษาเรื่องอื่นหลายเรื่อง หรือต้องส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจตามระเบียบเสียก่อน เช่นนี้ ศาลอาจเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดเหตุผลไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้พิพากษา ซึ่งนั่งพิจารณาคดี ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่ง อาจดำเนินการเป็น 2 กรณี

1) กรณีพิพากษายกฟ้อง ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์และปล่อยตัวจำเลยไปได้ ต้องเข้ากับหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อดังนี้

1.1) จำเลยไม่ได้กระทำความผิด

1.2) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

1.3) มีเหตุตามกฎหมาย จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ

1.4) คดีขาดอายุความ

2) กรณีพิพากษาลงโทษจำเลย เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจนปราศจากข้อสงสัย และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษจำเลยตามความผิด

ขั้นตอนที่ห้า การอุทธรณ์ฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความไม่พอใจคำพิพากษานั้น คู่ความอาจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนดอายุความอุทธรณ์คือ 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ยกเว้นแต่ว่าคดีนั้นต้องห้ามอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เช่น ยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คู่ความไม่พอใจหรือติดใจในคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ก็อาจยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาก่อนพ้นกำหนดอายุความฎีกา คือ 30 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ยกเว้นแต่ว่าคดีนั้นห้ามฎีกา ตัวอย่างการห้ามอุทธรณ์ฎีกาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น

1) คดีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ต้องห้าม
มิให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ศาลลงโทษจำคุกกักขัง รอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ หรือปรับเกินกว่า 1,000 บาท จำเลยจึงจะอุทธรณ์ได้

2) คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ยืนตามศาลชั้นต้น หรือแก้ไขเล็กน้อยห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ คู่ความอีกฝ่ายมีสิทธิแก้อุทธรณ์ฎีกาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนา

คำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นที่สิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับศาล และจะต้องมีการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ๆ เว้นแต่จะมีการอภัยโทษ สำหรับศาลที่รับเรื่องคำฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา และอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ได้แก่ ศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น

ขั้นตอนที่หก การอภัยโทษ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การพระราชทานอภัยโทษเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย จำเลยหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ใน 2 กรณี

1) กรณีโทษประหารชีวิต เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตและคดีถึงที่สุดแล้ว รัฐยังลงโทษประหารชีวิตจำเลยไม่ได้ ต้องให้โอกาสจำเลยทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว ไม่ได้โปรดเกล้าฯ แต่ประการใด หรือยกคำขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยคนนั้น หรือถ้าพระราชทานอภัยโทษด้วยการลดโทษเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้กรมราชทัณฑ์รับไปดำเนินการตามนั้น การยื่นของพระราชทานอภัยโทษเดิมต้องยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ทุกวันนี้กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายมาอยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม จึงน่าจะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้

2) กรณีโทษอื่น ๆ เช่น โทษจำคุกหรือปรับ โดยต้องยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม การขอพระราชทานอภัยโทษในกรณีนี้ถ้าถูกยกหนหนึ่งแล้ว ก็อาจยื่นขอใหม่ได้อีกเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่ถูกยกครั้งก่อน

ขั้นตอนที่เจ็ด การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) (มาตรา 247) ได้บัญญัตไว้ว่า บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดบุคคลนั้น ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ อาจร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ และหากปรากฎตามคำพิพากษาของศาลที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่า บุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดบุคคลนั้นหรือทายาทย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร ตลอดจนบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เป็นการให้สิทธิบุคคลขอให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ อันเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะได้รับความยุติธรรมจากรัฐอย่างเต็มที่

สรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งศาลต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ กระบวนการดำเนินงานของศาลที่สำคัญมี 7 ขั้นตอน ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารงานราชการที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม

4. คุมประพฤติกับการบริหารราชการ

4.1 ความหมาย การคุมประพฤติ (probation) เป็นมาตรการหนึ่งของกรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน โดยยึดหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาแนวใหม่ ซึ่งเน้นการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ยังเป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากวิธีการลงโทษมาเป็นวิธีการแก้ไขบำบัด พร้อมกับเปลี่ยนแนวคิดจากการลงโทษจำคุกเป็นวิธีการเลี่ยงการจำคุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรมและการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

การคุมประพฤติจึงเป็นการบริหารงานที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดย
ครอบคลุมทั้งในขั้นตอนก่อนและหลังการพิพากษาคดีของศาล มีพนักงานคุมประพฤติ เป็นผู้ดำเนินการ ขั้นตอนก่อนคำพิพากษาของศาลนั้น เรียกว่า การสืบเสาะและพินิจ (presentence investigation) ส่วนขั้นตอนหลังคำพิพากษาคดีของศาล เรียกว่า การควบคุมและสอดส่อง (supervision) ซึ่งพนักงานคุมประพฤติจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือผู้กระทำความผิดนั้น ๆ พร้อมกับนำทรัพยากรในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเรียกว่า กิจกรรมชุมชน (community affairs) ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีและกลับคืนสู่ชุมชนอย่างมีคุณค่าตลอดไป

พนักงานคุมประพฤติ พระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือโดยผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติซึ่งสรุปได้ 3 ประการ ไว้ด้วย คือ

หนึ่ง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสืบเสาะและพินิจจำเลย

สอง อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสอดส่องหรือคุมความประพฤติจำเลย และ

สาม อำนาจหน้าที่อื่นเกี่ยวกับการคุมความประพฤติตามที่ศาลเห็นสมควรเช่น ศาลอาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจจำเลยเพิ่มเติม ทำรายงานคุมความประพฤติเสนอต่อศาลเพิ่มเติมได้ หรือให้ตามตัวผู้ถูกคุมความประพฤติไปศาล เป็นต้น

การสืบเสาะและพินิจ นั้น หมายถึง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติและภูมิหลังทางสังคมของจำเลยตลอดจนพฤติการณ์ในคดีก่อนการพิจารณาพิพากษาคดี โดยพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาล แล้วนำข้อเท็จจริงที่ได้มาประมวล วิเคราะห์ และทำ
รายงานเสนอต่อศาลพร้อมทำความเห็นและข้อเสนอแนะว่า วิธีการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยรายนั้น เพื่อศาลจะได้ใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาซึ่งจะเป็นการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป

ในส่วนของ การควบคุมและสอดส่อง นั้น เป็นกระบวนการภายหลังจากศาลใช้ดุลพินิจในการพิพากษาผู้กระทำผิดแล้วว่า บุคคลนั้นยังไม่สมควรได้รับโทษจำคุก จึงให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษไว้ก่อน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ และให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ควบคุมดูแลแนะนำช่วยเหลือหรือตักเตือนในเรื่องความประพฤติ การศึกษา การประกอบอาชีพ หรือเรื่องอื่น ๆ ด้วยวิธีการแก้ไขฟื้นฟูเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสม เช่น การให้
คำปรึกษาแนะนำตามหลักจิตวิทยา การบำบัดรักษาทางการแพทย์ การให้การศึกษา การฝึกอาชีพ
การอบรมศีลธรรม ตลอดจนการให้การสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ

สำหรับ กิจกรรมชุมชน นั้น หมายถึง ขั้นตอนและกระบวนการทางเทคนิคที่พนักงานคุมประพฤตินำมาใช้ดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยเฉพาะกับผู้ถูกคุมความประพฤติในช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการคุมความประพฤติโดยใช้เทคนิคทางจิตวิทยา การศึกษา จริยศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ กฎหมาย และวิธีการอื่น ๆ เข้ามาดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมและจิตใจ ตลอดจนการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคลเป็นระยะ ๆ โดยใช้ทรัพยากรชุมชน อันได้แก่ สถาบันต่าง ๆ และองค์การสาธารณกุศล ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ เข้าใจ ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือ เพื่อเชื่อมโยงผู้ถูกคุมความประพฤติให้กลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างแนบเนียนยิ่งขึ้น

เหตุผลที่กรมคุมประพฤติได้นำการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการดำเนินการ
แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดนั้น เพราะการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไม่สามารถกระทำได้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว และหากคำนึงถึงสังคมโดยส่วนรวมแล้ว อาชญากรรมเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม ดังนั้น จึงควรเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนในสังคมที่ควรจะช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมด้วย ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ จึงได้พยายามให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันอาชญากรรมซึ่งทำให้เกิดผลดีโดยทั่วไป สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ (1) การพัฒนาฟื้นฟูผู้กระทำผิด (2) การบริการสังคม (3) การสงเคราะห์ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ และ (4) โครงการอาสาสมัคร
คุมประพฤติ

4.2 อำนาจหน้าที่ กรมคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่ 7 ประการ ดังนี้

4.2.1 ดำเนินการสืบเสาะและพินิจ ควบคุมและสอดส่อง แก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์ผู้กระทำผิดในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นพิจารณาคดีของศาล และภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษา ตามที่กฎหมายกำหนด

4.2.2 ดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับรักษาตามกฎหมาย ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

4.2.3 ส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์ผู้กระทำผิดในชุมชน

4.2.4 พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชน

4.2.5 จัดทำและประสานแผนงานของกรมให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวง รวมทั้งเร่งรัดติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด

4.2.6 เสริมสร้าง สนับสนุน และประสานงานให้ชุมชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเครือข่ายในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด

4.2.7 ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม
หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

4.3 กระบวนการดำเนินงานของกรมคุมประพฤติ กรมคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่สำคัญ 7 ประการดังกล่าว และยังมีกระบวนการดำเนินงานคุมประพฤติที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ข้างต้น ด้วย เฉพาะที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ คือ การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือการบังคับคดี ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานคุมประพฤติ ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

ก่อนที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ควรทำความเข้าใจว่า ตามกฎหมาย ศาลอาจมี
คำสั่งหรือคำพิพากษาให้คุมความประพฤติจำเลยโดยจะมีการสืบเสาะและพินิจจำเลยมาก่อนหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ 4 ข้อ คือ (1) ความผิดที่จำเลยถูกฟ้อง เป็นความผิดที่มีโทษจำคุก (2) ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยจริงไม่เกิน 3 ปี (3) จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ และ (4) จำเลยต้องการให้ศาลใช้วิธีการคุมความประพฤติ และจะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ด้วยวิธีการคุมความประพฤติ

เมื่อศาลได้เลือกใช้มาตรการคุมความประพฤติแทนการจำคุกระยะสั้น และเพื่อให้เหมาะสมกับจำเลย ศาลจะพิจารณาใช้เงื่อนไขคุมความประพฤติข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อในจำนวน 5 ข้อ ต่อไปนี้

1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือให้กระทำกิจกรรมบริหารสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร

2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ

3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคม หรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดในทำนองเดียวกันอีก

4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด

5) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไขฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก

ภายหลังจากศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือการบังคับคดี ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานคุมประพฤติ มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น พนักงานคุมประพฤติ ถ้าได้มีการ
สืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนแล้ว จะนำสำนวนการสืบเสาะและพินิจมาประกอบสำนวนคุมความประพฤติ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยจากสำนวนนั้น และจากแหล่งอื่น ๆ เพื่อเตรียมไว้สอบถามหรือวางแผนการคุมความประพฤติจำเลยต่อไป

ขั้นตอนที่สอง การสอบปากคำผู้ถูกคุมความประพฤติ เมื่อผู้ถูกคุมความประพฤติไปพบพนักงานคุมประพฤติตามนัดครั้งแรก พนักงานคุมประพฤติจะต้องอธิบายให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าใจคำพิพากษาของศาล หน้าที่ของผู้ถูกถูกคุมความประพฤติและหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติ ตลอดจนผลดีของการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ ในโอกาสเดียวกัน พนักงานคุมประพฤติจะต้องให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเขียนแผนที่บ้านของผู้ถูกคุมความประพฤติไว้ และให้เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ถูกคุมความประพฤติไว้ด้วย สำหรับคดียาเสพติดจะต้องเก็บปัสสาวะของผู้ถูกคุมความประพฤติไว้เพื่อตรวจหาสารเสพติดด้วย นอกจากนี้ พนักงานคุมประพฤติจะต้องถ่ายสำเนาเอกสารต่าง ๆ ที่ผู้ถูกคุมความประพฤตินำมา เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ตลอดจนถ่ายรูปผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าสำนวนไว้

ขั้นตอนที่สาม การรับรายงานตัว พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่สอดส่อง สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ และตักเตือนผู้ถูกคุมความประพฤติในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ ตลอดจนสอดส่องผู้ถูกคุมความประพฤติในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด การรับรายงานตัวจึงเป็นเรื่องของการควบคุมและสอดส่องความประพฤติอย่างหนึ่ง อันเป็นเรื่องสำคัญของการคุมความประพฤติ

ขั้นตอนที่สี่ การออกไปสอดส่อง พนักงานคุมประพฤติยังต้องออกไปสอดส่องผู้ถูกคุมความประพฤติในชุมชนด้วยอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวและการประพฤติปฏิบัติของผู้ถูกคุมความประพฤติด้วยตนเอง จากการพบปะสอบถามบิดามารดา คู่สมรส เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ทุกวันนี้มีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยดำเนินงานสอดส่องผู้ถูกคุมความประพฤติแทนพนักงานคุมประพฤติ ทำให้พนักงานคุมประพฤติมีเวลาเอาใจใส่ผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีปัญหาได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติมีพฤติกรรมที่มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสังคม หรือกระทำความผิดขึ้นใหม่ จะต้องตักเตือนและรายงานให้ศาลทราบถึงพฤติกรรมดังกล่าวด้วย ในการออกไปสอดส่องดังกล่าว ถ้าจำเป็นที่พนักงานคุมประพฤติจะต้องเข้าไปในสถานที่ที่ผู้ถูกคุมความประพฤติอาศัยหรือทำงานในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น พนักงานคุมประพฤติจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน

ขั้นตอนที่ห้า การรายงานผลการคุมความประพฤติ ระหว่างการคุมความ
ประพฤติ พนักงานคุมประพฤติจะต้องรายงานให้ศาลทราบ การทำรายงานอาจแบ่งออกได้ตามลักษณะที่พระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ คือ (1) รายงานประจำงวดและรายงานเพื่อปิดคดี (2) รายงานเมื่อมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป (3) รายงานเมื่อมีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และ (4) รายงานเมื่อมีการกระทำความผิดขึ้นใหม่

ในกรณีการคุมความประพฤติดำเนินไปด้วยดี และรายงานครั้งสุดท้ายเมื่อครบระยะเวลาคุมความประพฤติเพื่อปิดคดี ในการรายงานผลการคุมความประพฤติตามลักษณะที่ (1)
ดังกล่าว พนักงานคุมประพฤติจะต้องใช้แบบฟอร์มตามที่กฎหมายกำหนด และเสนอผ่านผู้บังคับบัญชาไปให้ศาลทราบ เพื่อศาลจะได้ดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร เมื่อศาลได้รับรายงานนั้น ศาลอาจจะสั่งรายงานนั้นรวมไว้ในสำนวน แต่ถ้าเป็นรายงานตามลักษณะที่ (2) ถึง ลักษณะที่ (4) ศาลอาจสั่งคุมความประพฤติต่อไป หรือเพิกถอนการคุมความประพฤติ พร้อมกับส่งตัวผู้ถูกคุมความประพฤติไปจำคุกที่เรือนจำตามโทษที่รอไว้ก็ได้

สรุป กรมคุมประพฤติสังกัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติมีอำนาจหน้าที่หลายประการนอกเหนือจากการคุมประพฤติ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมตลอดถึงการมีส่วนสำคัญในกระบวนการชะลอการฟ้องตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย แต่ในที่นี้เน้นศึกษาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุมประพฤติซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งในขั้นตอนก่อนที่ศาลจะพิพากษาคดี เห็นได้จากการสืบและเสาะพินิจจำเลยโดยพนักงานคุมประพฤติ และขั้นตอนหลังจากศาลพิพากษาคดีแล้ว เห็นได้จากการควบคุมและสอดส่องโดยพนักงานคุมประพฤติเช่นกันนอกจากนั้น หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว กระบวนการดำเนินงานเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือการบังคับคดีโดยกรมคุมประพฤติ มี 5 ขั้นตอน

5. ราชทัณฑ์กับการบริหารราชการ

5.1 ความหมาย การราชทัณฑ์ (correction) เป็นกิจกรรมของกรมราชทัณฑ์ กระทรวง
ยุติธรรม สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติราชการของกรมราชทัณฑ์ คือ เจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เจ้าพนักงานอำนวยการกลาง และเจ้าพนักงานประจำเรือนจำ

เจ้าพนักงานอำนวยการกลาง นั้น ประกอบด้วย อธิบดี ผู้ช่วยอธิบดี หัวหน้ากองในกรมราชทัณฑ์ สารวัตรเรือนจำ หัวหน้าแผนกในกรมราชทัณฑ์ และข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ ส่วนเจ้าพนักงานประจำเรือนจำ ประกอบด้วย 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำ สารวัตรเรือนจำ พัศดี และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หรือผู้คุม

5.2 อำนาจหน้าที่ กรมคุมราชทัณฑ์มีอำนาจหน้าที่ 5 ประการ ดังนี้

5.2.1 ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามกฎหมายโดยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการราชทัณฑ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

5.2.2 กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายของกระทรวง หลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา ตลอดถึงข้อกำหนด มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะในเรื่องที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ

5.2.3 ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง

5.2.4 จัดทำและประสานแผนของกรมให้เป็นไปตามนโยบายและแผนปฏิบัติงานตามแผนงานของหน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์

5.2.5 ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

5.3 กระบวนการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์มีกระบวนการดำเนินงานคุมประพฤติที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ข้างต้น เฉพาะที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการราชทัณฑ์ คือ การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือการบังคับคดีซึ่งดำเนินการโดยเจ้าพนักงานเรือนจำ อธิบายได้ดังนี้

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรงดังเช่น ตำรวจ อัยการ และศาล แต่กรมราชทัณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมในฐานะที่ต้องบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา สำหรับการบังคับคดีตามคำพิพากษาในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย เจ้าพนักงานเรือนจำจะดำเนินการกับจำเลยตามคำพิพากษาของศาลโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ควบคุมตัวไว้ไม่ให้หนี และลงโทษ หรือแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องโทษให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี

สำหรับขั้นตอนการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยกรมราชทัณฑ์ มี 7 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง การรับตัวจำเลยผู้ต้องโทษ

ขั้นตอนที่สอง การให้สวัสดิการแก่ผู้ต้องโทษ

ขั้นตอนที่สาม การรักษาระเบียบวินัย

ขั้นตอนที่สี่ การให้การศึกษาวิชาสามัญและการฝึกวิชาชีพ

ขั้นตอนที่ห้า การให้ทำงานโดยใช้แรงงานผู้ต้องโทษ

ขั้นตอนที่หก การฝึกอบรมจิตใจ

ขั้นตอนที่เจ็ด การปล่อยตัว

ทั้ง 7 ขั้นตอนนี้ อาจรวมเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ คือ (1) การรับตัวจำเลยผู้ต้องโทษ (3.2.1) (2) การปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษ (3.2.2-3.2.6) และ (3) การปล่อยตัวจากเรือนจำ (3.2.7)

ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย เจ้าพนักงานราชทัณฑ์หรือผู้คุมมีหน้าที่รับตัวจำเลยผู้ต้องโทษไปควบคุมไว้ในเรือนจำหรือทัณฑสถานต่าง ๆ โดยคำพิพากษาของศาลอาจเป็นโทษหนักไปหาโทษเบา ตามประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 18) คือ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ และ (5) ริบทรัพย์สิน

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุก หรือกักขังจำเลย เท่านั้นที่เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่จะลงโทษจำเลย โดย

1) กรณีพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย กฎหมายบัญญัติให้ฉีดยา (พิษ) เสียให้ตาย กรมราชทัณฑ์จะประหารชีวิตจำเลยโดยวิธีอื่น เช่น ยิงให้ตายไม่ได้

2) กรณีพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าจำคุกน้อยไปจนถึงตลอดชีวิต เป็นอำนาจหน้าที่ของเรือนจำและทัณฑสถานต่าง ๆ เช่น เรือนจำกลาง เรือนจำจังหวัด ทัณฑสถานวัยหนุ่ม และทัณฑสถานหญิง เป็นต้น โดยมีหน่วยงานอื่น เช่น สำนักทัณฑวิทยา สำนักพัฒนาพฤตินิสัย และสำนักทัณฑปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ ให้ความช่วยเหลือในการควบคุมตัว และในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องโทษ

3) กรณีพิพากษาลงโทษให้กักขัง กฎหมายกำหนดให้กักขังในสถานที่กักขังของกรมราชทัณฑ์ เช่น สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี และสถานกักขังจังหวัดตราด จะกักขังในสถานที่อื่นไม่ได้

4) กรณีพิพากษาลงโทษปรับและริบทรัพย์สินนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ ยกเว้นกรณีกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากผู้ต้องโทษปรับไม่สามารถชำระค่าปรับ และศาลไม่อนุญาตให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ผู้ต้องโทษปรับในกรณีเช่นนี้ก็ต้องถูกกักขังในสถานกักขังของกรมราชทัณฑ์ในอัตราค่าปรับ 200 บาทต่อการกักขัง 1 วัน

สำหรับการกักกัน นักโทษที่ทำผิดติดนิสัยจะถูกส่งตัวไปควบคุมในสถานกักกันกลาง หลังจากพ้นโทษจำคุกมาแล้ว ตามระยะเวลาที่กำหนดในคำพิพากษา

สรุป กรมราชทัณฑ์สังกัดกระทรวงยุติธรรม อำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่สำคัญมี 5 ประการ ส่วนกระบวนการดำเนินงานเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลหรือการบังคับคดีโดยกรมราชทัณฑ์ มี 7 ขั้นตอน

ท้ายสุดนี้ พอที่จะสรุปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ได้ว่า ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน และ/หรือ บุคลากรของหน่วยงานที่สำคัญ อันได้แก่ ตำรวจ เป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายชั้นต้น เพื่อป้องกันปราบปราม แสวงหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ เช่น การค้น การจับกุม การยึดหรืออายัด โดยตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ส่วนอัยการ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งใด ๆ ทางกฎหมายอันมีผลในทางคดีโดยพิจารณากลั่นกรองบรรดาพยานหลักฐานที่ตำรวจรวบรวมและเสนอความเห็นมาให้ แล้ววินิจฉัยว่าควรฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดในศาลและลงโทษตามกฎหมายหรือไม่ จากนั้น อัยการจะออกคำสั่งที่มีผลในทางกฎหมาย เช่น มีการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต่อไป ในส่วนของศาล เป็นผู้พิจารณาและพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือมิได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง ขณะที่คุมประพฤติ หรือเจ้าพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนก่อนและหลังจากที่ศาลพิพากษาคดีแล้ว ขั้นตอนท้ายสุด คือ ราชทัณฑ์หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เป็นผู้ดำเนินการหลังจากศาลพิพากษาคดีแล้ว เช่น การรับตัวจำเลยผู้ต้องโทษ และการปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษ ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการไทย โดยแต่ละส่วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารงาน
ยุติธรรม โปรดดูตารางที่ 1

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 1 กระบวนการดำเนินงานที่สำคัญของหน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำแนกตาม ตำรวจ อัยการ ศาล คุมประพฤติ และราชทัณฑ์

 

สังกัด

กระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ

1. ตำรวจ

(8 ขั้นตอน)

สำนักงานตำรวจ

แห่งชาติ

1.1 การร้องทุกข์ในคดีอาญา

1.2 ตำรวจทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน 

1.3 คดีอาญาที่เลิกกันได้ในชั้นตำรวจ

1.4 อำนาจการควบคุมผู้ต้องหา

1.5 การขอผัดฟ้อง ฝากขังผู้ต้องหา

1.6 การสรุปสำนวน

1.7 กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งฟ้อง

1.8 กรณีตำรวจมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง

2. อัยการ

(2 ขั้นตอน)

สำนักงาน

อัยการสูงสุด

2.1 การสั่งคดี 

2.2 การดำเนินคดีอาญาในศาล

3. ศาล

(7 ขั้นตอน)

ศาล

ยุติธรรม

3.1 การไต่สวนมูลฟ้อง

3.2 การพิจารณาคดีอาญา

3.3 การขอให้ศาลรอการลงโทษจำคุก

3.4 การพิพากษาคดีอาญา

3.5 การอุทธรณ์ฎีกา 

3.6 การอภัยโทษ

3.7 การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

4. คุม

ประพฤติ 

(5 ขั้นตอน)

กระทรวง

ยุติธรรม

4.1 การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น

4.2 การสอบปากคำผู้ถูกคุมความประพฤติ

4.3 การรับรายงานตัว 

4.4 การออกไปสอดส่อง

4.5 การรายงานผลการคุมความประพฤติ 

5. ราช

ทัณฑ์

(7 ขั้นตอน)

5.1 การรับตัวจำเลยผู้ต้องโทษ

5.2 การให้สวัสดิการแก่ผู้ต้องโทษ

5.3 การรักษาระเบียบวินัย

5.4 การให้การศึกษาวิชาสามัญและการฝึกวิชาชีพ

5.5 การให้ทำงานโดยใช้แรงงานผู้ต้องโทษ

5.6 การฝึกอบรมจิตใจ

5.7 การปล่อยตัว

บรรณานุกรม

โกเมน ภัทรภิรมย์, "หน่วยที่ 13 การควบคุมการใช้อำนาจบริหาร" ใน มหาวิทยาลัยสุโขทัย
ธรรมาธิราช สาขาวิชาวิทยาการจัดการ. เอกสารการสอนชุดวิชา หลักกฎหมาย
เกี่ยวกับการบริหารราชการไทย.
 นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547.

โภคิน พลกุล. ปัญหาและข้อคิดบางเรื่องจากรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพมหานคร : สมาคม สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2529.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการไทย : ปัญหา แนวทางแก้ไข และ แนวโน้มของกฎหมายในอนาคต. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2547.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) และรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2547.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ และคณะ. โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โฟร์เพซ, 2545.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. วิเคราะห์เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับรัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2542.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. ศาลปกครองไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบรูปแบบ โครงสร้าง อำนาจ
หน้าที่ และการบริหารงานบุคคล กับศาลปกครองอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2542.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. ศาลรัฐธรรมนูญไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล กับ ศาลรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส
เยอรมนี และญี่ปุ่น.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2544.

สุพจน์ สุโรจน์, "หน่วยที่ 12 กฎหมายว่าด้วยการบริหารงานยุติธรรมของรัฐ" มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช สาขาวิชาวิทยาการจัดการ. เอกสารการสอนชุดวิชาหลักกฎหมายเกี่ยวกับ
การบริหารราชการไทย.
นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547.

หยุด แสงอุทัย. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2511) เรียงมาตรา. 
พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์, 2511.

P P P P P