สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : แนวคิด โครงสร้าง
อำนาจหน้าที่ การดำเนินงาน ปัญหา และแนวทางการพัฒนา

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

ภาพที่คลาดเคลื่อนไป ขอรับฟรีได้โดยตรงจาก อีเมล์ :
wiruch@wiruch.com หรือ wirmail@yahoo.com

 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่โดยบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ไม่มีฐานะเป็นองค์กรอิสระและไม่เป็นองค์กรตาม
รัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรแห่งภูมิปัญญา และเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือประโยชน์พื้นฐานที่สังคมและประชาชนพึงได้รับจากรัฐตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานที่มีบางส่วนแตกต่างจากหน่วยงานของรัฐทั่วไป ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เท่าที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เสนอเรื่องและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในความสนใจของประชาชนเพิ่มมากขึ้น การนำสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาพิจารณาศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องแนวคิด โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การดำเนินงาน ปัญหา และแนวทางการพัฒนา จึงน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งในทางวิชาการและทางปฏิบัติต่อบุคคลและหน่วยงาน

1. แนวคิดหลัก

มุ่งศึกษาเรื่อง (1) แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2) แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ (4) รูปแบบองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม ตามลำดับ

1.1 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมายถึง แนวนโยบาย แนวทางหลัก หรือแนวทางพื้นฐาน หรือประโยชน์พื้นฐานที่สังคมและประชาชนพึงได้รับจากรัฐซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ให้ความสำคัญกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยมีบทบัญญัติอยู่ในหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา 71 ถึง มาตรา 89) พร้อมกับบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องยึดถือบทบัญญัติในหมวด 5 นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการตรากฎหมายและการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 88 วรรคหนึ่ง) และในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้
ชัดเจนว่าจะดำเนินการใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการรวมทั้งปัญหาอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละ 1 ครั้ง (มาตรา 88 วรรคสอง)

เฉพาะฝ่ายบริหารที่เข้ามาเป็นรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 201) เมื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินจะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐดังกล่าวให้เกิดผล ไม่อาจจะเปลี่ยนแนวนโยบาย
พื้นฐานแห่งรัฐไปตามความต้องการของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หากรัฐบาลใดไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดบทลงโทษไว้ด้วย อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจ
ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 182)

แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ (1) ความ มั่นคง (2) การบริหารและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน (3) การเมืองและการปกครองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย (4) ศาสนา สังคม การศึกษาและสาธารณสุข และ (5) เศรษฐกิจ

1.2 แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอย่างน้อย 3 แนวคิดประกอบกัน ได้แก่

1.2.1 แนวคิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2540) เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ว่า ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 89)

1.2.2 แนวคิดที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน กระแสโลกที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย การให้ความสำคัญกับประชาชนและอำนาจของ
ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข้ามาเผยแพร่อยู่ในประเทศไทย ได้มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) และกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีบทบัญญัติที่ว่า ให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ (มาตรา 76) เป็นต้น พร้อมกันนั้น พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็ได้รับแนวคิดที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย ที่สำคัญเช่น

1) การมี “โครงสร้าง” ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจาก (1) กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และ (2) กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายบริหารหรือคณะ
รัฐมนตรี แต่ล้วนมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คำนึงถึงการกระจายบุคคลตามภาค อาชีพ เพศ ขนาดของกิจการ สำหรับสมาชิกในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒินั้น ต้องเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชนว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภูมิปัญญาอย่างแท้จริง เหล่านี้ เป็นลักษณะของโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างทั่วถึง

2) การมี “กระบวนการดำเนินงาน” ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เห็นได้จากการเปิดโอกาสให้ประชาชนอย่างน้อย 5 ภาค ได้แก่ (1) ภาครัฐ (1) ภาคเอกชนหรือธุรกิจ (3) ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (4) ภาคประชาชนหรือภาคชุมชนพื้นฐานรากหญ้า และ (5) ภาคนักวิชาการ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับดำเนินงานในลักษณะร่วมคิด (thinking) ร่วมวางแผน (planning) ร่วมตัดสินใจ (decision making) และร่วมลงมือกระทำจริง (acting) ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริงของประชาชน จากนั้น จึงประมวล ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำไปปรับนโยบายและแผนต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้มีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารประเทศ

1.2.3 แนวคิดที่ความต้องการให้มีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐระดับชาติที่คอยให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยเน้นการมีส่วนร่วมและการระดมความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดกว้าง อันเป็นลักษณะของความพยายามจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเติมเต็มในส่วนที่ขาดเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ รัฐได้ให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณเพื่อการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในอดีตก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นมีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของไทยหลายฉบับ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, 2517, และ 2534 แต่การดำเนินการของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้น ไม่บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และไม่อาจสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากยังไม่มีองค์กรระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมใดที่ระดมความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการติดตามและเสนอแนะความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่าหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานของฝ่ายบริหารได้นำแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นไปดำเนินการหรือไม่เพียงใด แม้กระทั่งการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอดีต ก็ไม่มีการติดตามในลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจังและยังเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานในลักษณะที่ยึดติดอยู่กับระบบราชการและบริหารงานโดยข้าราชการประจำหรืออดีต
ข้าราชการประจำ (ในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เป็นหลัก สืบต่อกันมานาน

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการติดตามและเสนอแนะการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้มีบทบัญญัติให้รัฐจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นประโยชน์ต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ต่อมาในปี 2543 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไป

เหตุผลข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งแสดงเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติไว้ ดังนี้

“หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ด้วย ทั้งนี้ องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

มีข้อสังเกตว่า นอกจาก 3 แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติข้างต้นนี้แล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่ง คือ แนวคิดที่ต้องการหาตำแหน่งหรือองค์กรมารองรับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) แนวคิดนี้อาจมีส่วนในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจำนวนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเท่ากับจำนวนของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ 99 คน ไม่เพียงเท่านั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการ
สรรหาหรือมีที่มาอย่างหลากหลายทำนองเดียวกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.3 ความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะพบว่า รัฐธรรมนูญได้แสดงถึงความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ หมวด 5 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งในหมวดเดียวกันนี้ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม” (มาตรา 89 วรรคหนึ่ง) เช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจะต้องบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตัวอย่างเช่น ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการใดเพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 5 และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาดังกล่าวอีกด้วย

1.4 รูปแบบองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศไทยรูปแบบองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญมี 2 รูปแบบ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังจะได้ศึกษาตามลำดับ

1.4.1 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบหนึ่ง ในที่นี้ศึกษาเรื่อง ความเป็นมา โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงาน ตามลำดับ

1) ความเป็นมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียกย่อว่า “สภาพัฒน์” หรือ “สภาพัฒนาฯ” เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2493 ในระยะแรกใช้ชื่อว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีหน้าที่เสนอความเห็นและแนะนำตลอดจนชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมา คณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกได้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มอำนาจหน้าที่ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติให้มากขึ้น และให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในปี 2502 จึงได้ปรับโครงสร้างและการปฏิบัติงาน รวมทั้งเปลี่ยนชื่อของหน่วยงานเป็น “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” จนถึงปี 2515 เมื่อมีการนำกระบวนการวางแผนพัฒนาสังคมเข้ามาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการหนึ่งที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็น “ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” (มาตรา 7)

2) โครงสร้าง ประกอบด้วย 2 ระดับ คือ ระดับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และระดับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.1) โครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ สศช. ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน กรรมการอื่นที่มีความรู้ความจัดเจนหรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกิน 9 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการประจำหรือบุคคลภายนอกก็ได้ และยังมีกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการอีกจำนวน 5 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 5) สำหรับกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี หากพ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้ (มาตรา 7) และยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก เป็นบุคคลล้มละลาย หรือคณะรัฐมนตรีให้ออก เป็นต้น (มาตรา 8)

2.2) โครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือฝ่ายประจำ ที่สำคัญประกอบด้วย คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้าราชการประจำ ทั้งนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 15)

3) อำนาจหน้าที่  แบ่งเป็น 2 ระดับ เช่นกัน

3.1) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(1) เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี

(2) พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับข้อเสนออื่น ๆ ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

(3) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

(4) จัดให้มีการประสานงานระหว่างสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการจัดทำแผนงาน และโครงการพัฒนา และในด้านการปฏิบัติตามแผนงาน (มาตรา 6) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

3.2) อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 12) มีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่และภารกิจหลักที่สำคัญ คือ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาประเทศในแต่ละช่วงระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้แล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่และภารกิจอื่นที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ดังนี้

(1.1) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการเสนอแนะนโยบายมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาประเทศ

(1.2) วิเคราะห์ ประเมินแผนงานและโครงการพัฒนาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(1.3) ติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งแผนงานโครงการพัฒนาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

(1.4) การประสานการพัฒนาเพื่อให้เกิดมีการแปลงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเสริมสร้างให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

(2) การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยทำหน้าที่กำกับ ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบและกฏหมายในการพัฒนาบทบาทของภาคเอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุนกิจการของรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการลงทุนหรือมีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

(3) การปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบว่าด้วยงบลงทุนของ
รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

(3.1) พิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจในประเด็นการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจตลอดจนความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการลงทุนของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

(3.2) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้
รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งถือปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความคล่องตัวในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เป็นสำคัญ

(4) การปฏิบัติงานตามหน้าที่เฉพาะกิจที่ได้รับมอบหมายหรือสั่งการจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีโดยตรงโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพิเศษชุดต่าง ๆ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เช่น คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

4) การดำเนินงาน ซึ่งครอบคลุมทั้ง 2 ระดับ กล่าวคือ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สำนักงาน
คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดโครงสร้างและจัดองค์กรในการดำเนินงานออกเป็น 7 กลุ่มงาน ได้แก่

(1) กลุ่มงานวิชาการระดับสำนักงาน

(2) กลุ่มงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจส่วนรวม

(3) กลุ่มงานพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเมือง และพื้นที่เฉพาะ

(4) กลุ่มงานพัฒนาด้านการผลิต เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(5) กลุ่มงานพัฒนาคนและสังคม

(6) กลุ่มงานพัฒนาการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

(7) กลุ่มงานบริหารและอำนวยการ

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งในด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนการวิเคราะห์และพิจารณาแผนงาน / โครงการนั้น มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

(1) การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและปรึกษาหารือกับกระทรวง กรมรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์การพัฒนาเอกชนอย่างใกล้ชิด

(2) การวิเคราะห์และพิจารณาแผนงาน / โครงการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเพียงผู้จัดทำข้อคิดเห็นและข้อพิจารณาต่าง ๆ

(3) ผลการปฏิบัติงานทั้งด้านการจัดทำแผนพัฒนาและสังคมแห่งชาติและการวิเคราะห์แผนงาน / โครงการจะต้องเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในขั้นสุดท้าย ผลการพิจารณาเป็นประการใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะรัฐมนตรี

กล่าวได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักระดับชาติในการวางแผน และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน โดยยึดประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีประสิทธิภาพสูง โดยเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง มีข้าราชการประจำเป็นหลักในการบริหารงานทั่วไปและมีการบริหารงานบุคคลทำนองเดียวกับหน่วยงานของรัฐอื่น อีกทั้งเป็นองค์กรที่มุ่งสู่การมีความเข้มแข็งทางวิชาการ และเป็นผู้นำในการวางแผนซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง สามารถประสานเชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคีการพัฒนาในทุกระดับเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยบนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ พร้อมกันนั้น ยังมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปฏิบัติงานและมีการทำงานเป็นทีม มีจริยธรรมในวิชาชีพพร้อมรับผิดชอบต่อสาธารณะและบุคลากรได้รับการส่งเสริมให้สามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น ครอบคลุมการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางแผน การพัฒนาระบบข้อมูลของประเทศ การประเมินผลและการรายงานผล การวิเคราะห์โครงการต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินการวิเคราะห์โครงการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และการดำเนินการตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 รวมตลอดทั้งตามที่พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ การวิเคราะห์โครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะพิจารณาครอบคลุมถึงเรื่องความ
เหมาะสมของโครงการ ขีดความสามารถของหน่วยงานในระยะยาว ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับต่าง ๆ พร้อมทั้งการเสนอแนวคิด และข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การกำหนดประเด็นเชิงนโยบายของรัฐบาล

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังเป็นผู้วางแผนรวมสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ โดยพิจารณาจากเป้าหมายของรัฐ ทรัพยากร และความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม ต่อจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมจะพิจารณาและเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจใช้ดุลพินิจหรืออนุมัติ และประกาศใช้เป็นทางการหลังจากได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว

1.4.2 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 89) และต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 เพื่อรองรับบทบัญญัติมาตราดังกล่าว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดแรกได้เริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544 และในปี 2547 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547

รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มีองค์กรของรัฐทำหน้าที่ให้ปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม อันไม่ใช่องค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจหรือให้ความเห็นชอบ แต่เป็นองค์กรที่มีตัวแทนจากกลุ่มอาชีพที่หลากหลายและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง การให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 2 ระดับ คือ ระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และระดับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เฉพาะระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีจำนวน 99 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับการเลือกใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำนวน 99 คนนี้ มาจากกลุ่มบุคคลที่เป็น
ตัวแทนของกลุ่มในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม ทั้งหมดนี้ต้องมาจากการสรรหาของ “คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งมีจำนวน 21 คน

สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ความสำเร็จขององค์กรรูปแบบนี้ ขึ้นกับการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อ
คณะรัฐมนตรี หากการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีความชัดเจนสามารถถ่ายทอดและสะท้อนปัญหาของประชาชนจากหลากหลายอาชีพสู่คณะรัฐมนตรีได้อย่างแท้จริงแล้ว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่เพียงจะได้รับการยอมรับจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังจะได้รับการยอมรับจากประชาชนและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้อีกด้วย การยอมรับของคณะรัฐมนตรีนั้น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากการที่คณะรัฐมนตรีนำ
คำปรึกษาและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปปรับใช้อย่างชัดเจน สำหรับรายละเอียดของโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงาน จะได้กล่าวต่อไป

สรุป องค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 2 รูปแบบนี้ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและสังคม และล้วนอยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี รูปแบบแรกนั้น มีโครงสร้างที่ประกอบข้าราชการประจำเป็นหลักในการปฏิบัติงาน และมีการดำเนินงานทำนองเดียวกับของหน่วยงานของรัฐทั่วไป ขณะที่รูปแบบหลัง เป็นองค์กรที่ปรึกษาที่เกิดขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก มี
โครงสร้างที่สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาจากการสรรหาจากบุคคลหลายกลุ่มและมีการดำเนินงานที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยรัฐได้ให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณเพื่อการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท้ายสุดได้เปรียบเทียบโครงสร้างและกฎหมายที่รองรับของทั้ง 2 รูปแบบ ไว้ในตารางที่ 1

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบโครงสร้างและกฎหมายที่รองรับของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ

และสังคมแห่งชาติ

1. โครงสร้าง

1. เป็นองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบหนึ่ง

1. เป็นองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบหนึ่ง

2. ประกอบด้วย 2 ระดับ

2.1 ระดับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ

2.2 ระดับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. ประกอบด้วย 2 ระดับ

2.1 ระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ

2.2 ระดับสำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการหนึ่งที่สังกัดสำนักนายก
รัฐมนตรี และเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

3. สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายก
รัฐมนตรี

4. คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีจำนวน 15 คน ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน กรรมการอื่นที่มีความรู้ความจัดเจนหรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกิน 9 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการประจำหรือบุคคลภายนอกก็ได้ และยังมีกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นหัวหน้าส่วน
ราชการอีกจำนวน 5 คน

4. สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีจำนวน 99 คน มาจากกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม ทั้งหมดนี้ต้องมาจากการสรรหาของ “คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งมีจำนวน 21 คน เน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

 

 

5. กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี หากพ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก เป็นบุคคลล้มละลาย หรือคณะรัฐมนตรีให้ออก เป็นต้น

5. สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับแต่วันประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา และอาจได้รับการเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้

2. กฎหมาย

ที่รองรับ

พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(พ.ศ. 2540) พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  พ.ศ. 2543 และ พระราชบัญญัติสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547

2. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การพิจารณาศึกษาส่วนนี้ครอบคลุมเรื่อง โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ การดำเนินงาน ปัญหาและแนวทางการพัฒนาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามลำดับ

2.1 โครงสร้าง โครงสร้างของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นไปตาม
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายลูก แบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน ดังนี้

2.1.1 โครงสร้าง ที่มา และฐานะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติโครงสร้างของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติไว้ว่า องค์ประกอบ และที่มาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 89 วรรคสาม)

สำหรับกฎหมายที่บัญญัตินั้น ได้ประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2543 คือ
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 พ.ศ. 2543 ที่กำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของ (1) กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และ (2) กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญตามจำนวนที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 5) กลุ่มดังกล่าวแบ่งเป็น (1) กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน และ (2) กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน แบ่งย่อยเป็น กลุ่มในภาคสังคม 19 คน กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร 16 คนและ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 2 ระดับ คือ ระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยสมาชิก 99 คนดังกล่าว และระดับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบด้วย คณะผู้บริหารซึ่งมีเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้าราชการประจำ เป็นต้น

พระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติถึงที่มาหรือการได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 99 คนดังกล่าวไว้ด้วย โดยบัญญัติให้ดำเนินการที่สรุปได้ว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 21 คน ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาสมาชิก กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาสมาชิก วิธีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิก และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ เป็นต้น (มาตรา 6)

ในส่วนของฐานะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี (มาตรา 27/2 แห่งพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547)

2.1.2 คุณสมบัติของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย

(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(3) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(4) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง (มาตรา 7)

สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีนับแต่วันประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา และอาจได้รับการเลือกใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ โดยสมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 8)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบอาชีพอื่น จึงไม่ถือว่าการปฏิบัติงานของสมาชิกเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา โดยพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (มาตรา 24)

สรุป โครงสร้างของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นไปตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และกลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ
 สำหรับคุณสมบัติของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น มีสัญชาติไทย และไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 21 คน ทำหน้าที่พิจารณาสรรหาสมาชิก

กฎหมายยังกำหนดให้สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของ
นายกรัฐมนตรี

2.2 อำนาจหน้าที่ อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543

2.2.1 อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญบัญญัติอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไว้ดังนี้

1) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม (มาตรา 89 วรรคหนึ่ง)

2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ (มาตรา 89 วรรคสอง)

3) อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 89 วรรคสาม)

2.2.2 อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 นอกจากอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้นแล้ว
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 พ.ศ. 2543 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้ด้วย ตามลำดับดังนี้

1) อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีดังนี้

1.1) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1.1.1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

1.1.2) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่น รวมทั้งแผนอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้ (มาตรา 10)

1.2) ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกหรือบุคคลใด เพื่อทำการศึกษาหรือดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 11)

1.3) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า การกำหนดนโยบายในเรื่องใดอาจกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม สมควรได้รับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในเรื่องนั้น ให้คณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้คำปรึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (มาตรา 12)

1.4) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจพิจารณาศึกษาเรื่องที่เห็นว่าสมควรกำหนดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อจัดทำรายงานเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีได้

ในกรณีที่เห็นสมควร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไปก็ได้ (มาตรา 13)

1.5) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะดำเนินการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนการประกาศใช้

เมื่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ให้นำความข้างต้นนี้มาใช้บังคับกับแผนอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรขอความเห็นจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย (มาตรา 14)

1.6) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีขอคำปรึกษาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนอื่นให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็น ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาโดยเร็ว ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นภายในเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วันก็ได้ และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควรได้

การดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนถึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี (มาตรา 15)

1.7) ความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต้องจัดทำเป็นรายงานแสดงความคิดเห็นของสมาชิกทุกฝ่ายที่เสนอความเห็น ทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้าน พร้อมทั้งเหตุผลและข้อดีข้อเสียหรือผลกระทบของแนวทางการดำเนินการตามความเห็นที่เสนอ และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย (มาตรา 16)

1.8) ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ในเรื่องที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะหรือให้ความเห็นเพื่อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเปิดเผยเหตุผลให้สาธารณชนทราบด้วย (มาตรา 17)

2) อำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 บัญญัติให้มีสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

2.1) สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เรื่องที่จะต้องเสนอให้สภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา

2.2) รับผิดชอบในงานธุรการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.3) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา

2.4) เป็นหน่วยงานทางวิชาการให้แก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.5) ดำเนินการต่าง ๆ ในการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย

พร้อมกันนั้น ยังได้กำหนดให้ “เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มาตรา 27)

สรุป อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บัญญัติไว้ใน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและในพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 อำนาจหน้าที่แบ่งเป็น (1) อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นว่า ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม และ (2) อำนาจหน้าที่ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้นว่า สำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์เรื่องที่จะต้องเสนอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำรายงานประจำปี และปฏิบัติการอื่นใดตามที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย

2.3 ดำเนินงาน พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 หมวด 3 การดำเนินงาน (ตั้งแต่มาตรา 18 ถึง มาตรา 27) ได้บัญญัติการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้ ในที่นี้แบ่งการศึกษาเป็น 3 ส่วน ตามลำดับ ได้แก่ (1) ผู้มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาและอำนาจหน้าที่ (2) ลักษณะการดำเนินงาน และ (3) ตัวอย่างผลการดำเนินงานและการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

2.3.1 ผู้มีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาและอำนาจหน้าที่ พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้

1) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 2 คน เมื่อมีการประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นครั้งแรกให้สมาชิกเลือกสมาชิกด้วยกันเองเป็นประธานสภา 1 คน รองประธานสภาสองคนเพื่อทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่งและรองประธานสภาคนที่สอง (มาตรา 18)

2) ประธานสภามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

2.1) ดำเนินการประชุมและมีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ตามความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุม

2.2) ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของสภา

2.3) เป็นผู้แทนสภาในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

2.4) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (มาตรา 19)

3) รองประธานสภามีอำนาจและหน้าที่ช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภา หรือปฏิบัติการตามที่ประธานสภามอบหมาย (มาตรา 20)

2.3.2 ลักษณะการดำเนินงาน พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้

1) การประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และในกรณีดังต่อไปนี้

1.1) คณะรัฐมนตรีขอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้คำปรึกษาในปัญหาที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม

1.2) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควรให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาหรือกรณีที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม

1.3) เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนหนึ่งแผนใด

1.4) เพื่อดำเนินกิจการภายในของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.5) สมาชิกเข้าชื่อกันตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปร้องขอให้เปิดประชุม (มาตรา 21)

2) การประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะขอให้ประชุมเป็นการลับหรือสมาชิกร้องขอตามข้อบังคับ

การประชุมสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสภาไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่หนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา ถ้ารองประธานสภาคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาคนที่สองเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา

การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากสมาชิกคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด (มาตรา 22)

3) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะทำงานที่สภาแต่งตั้งอาจเชิญข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือให้จัดส่งเอกสารหรือข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร

ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือแก่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะทำงานที่สภาแต่งตั้ง (มาตรา 23)

4) คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้บุคคลใดเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ เว้นแต่ในกรณีประชุมลับผู้ที่จะเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นได้ต้องได้รับอนุญาตจากประธานที่ประชุม (มาตรา 25)

5) ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมและข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 26)

2.3.3 ตัวอย่างผลการดำเนินงานและการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีผลการดำเนินงานมากมาย ดังตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2547 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดการประชุมสัมมนาระดับประเทศ ภายใต้หัวข้อการสัมมนา เรื่อง “3 ปีสภาที่ปรึกษาฯ : สะท้อนเสียงจากประชา... ให้คำปรึกษาสู่รัฐ” มีรูปแบบที่สะท้อนข้อมูล ข้อเท็จจริง การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นปัญหาสาธารณะเร่งด่วนระดับชาติ กระบวนการระดมความคิดเห็นของภาคประชาชน เริ่มต้นจากระดับจังหวัด 75 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในระดับภูมิภาค 5 ภูมิภาค ทั้งนี้ ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักของการมีส่วนร่วมและการยอมรับหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ และเพื่อเป็นแนวทางนำร่องการทำงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

การดำเนินงานที่สำคัญของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ การให้คำปรึกษาหรือความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อคณะ
รัฐมนตรี เช่น

1) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ (1 ตุลาคม 2547)

2) โครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (27 สิงหาคม 2547)

3) การพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศไทย (20 สิงหาคม 2547)

4) แนวทางการบริหารจัดการระบบระบายน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ (5 สิงหาคม 2547)

5) แนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง (30 มิถุนายน 2547)

6) แนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศ (12 เมษายน 2547)

7) เรื่องนโยบายการจัดการขยะของไทย (16 มีนาคม 2547)

8) การจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(29 มกราคม 2547)

9)

นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (10 พฤศจิกายน 2546)

        

10) การปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540

(13 พฤศจิกายน 2546)

ในที่นี้ได้นำการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) มาเป็นตัวอย่าง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 2 รูปแบบที่กำลังศึกษาอยู่นี้ คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของทั้ง 2 องค์กรนี้ด้วย ดังนี้

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544 แต่ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาของการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงมีระยะเวลาไม่มากในการพิจารณา โดยได้มีการประชุมพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2544 ซึ่งมีการแบ่งประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นจากสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ และมอบหมายคณะทำงานยกร่างความเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ที่ประชุมมีมติเป็นข้อสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะรวม 14 ประเด็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางมาตรการสำคัญ ๆ ในแต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น

สำหรับตัวอย่างการความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) มีดังนี้

สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้พิจารณาร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) โดยคำนึงถึงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกอบด้วยแล้ว มีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ดังต่อไปนี้ คือ

1) ต้องทำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นจริง การแปรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่วัตถุประสงค์เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ขาดความชัดเจน การวางยุทธศาสตร์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 นี้ยังคงยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักโดยไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ในวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ตลอดจนการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยให้คนไทยและสังคมไทยพึ่งพิงตนเองได้อย่างไร ในด้านใด และในระดับใด

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนให้ได้ร้อยละ 20 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ แต่ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 กลับมิได้มีการกำหนดขนาดของการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งยังมิได้มีการกล่าวถึงเรื่องขนาดของการพึ่งตนเองในภาคนอกการเกษตร (ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ) แต่อย่างใด ดังนั้น ในแผนปฏิบัติการควรจะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบในเรื่องสัดส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศและการกำหนดขนาดการพึ่งตนเองของภาคนอกการเกษตรด้วย รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบและค่าเสียโอกาสของการใช้พื้นที่ทั้งประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ได้เป้าหมายที่ชัดเจนเหมาะสมในเรื่องของขนาดของกิจกรรมและแผนงานโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

2) เป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจต้องสมเหตุสมผล เชื่อถือได้ และวัดผลได้ ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ประการ คือ (1) เป้าหมายดุลยภาพทางเศรษฐกิจ (2) เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต (3) เป้าหมายการบริหารจัดการที่ดี และ (4)
เป้าหมายการลดความยากจน จากเป้าหมายทั้ง 4 ประการข้างต้น มีข้อที่น่าสังเกต คือ

2.1) ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 มิได้มีการกำหนดตัวชี้วัด (indicators) ความสำเร็จของแต่ละเป้าหมายเอาไว้ให้ชัดเจน ดังนั้น การติดตามและประเมินผลความสำเร็จของแผน จึงไม่อาจกระทำได้

2.2) ความไม่สอดรับกันระหว่างวัตถุประสงค์กับเป้าหมายของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ตัวอย่างเช่น ในวัตถุประสงค์ประการแรกของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เรื่อง “การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีภูมิคุ้มกัน” ได้มีการกล่าวถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเอาไว้ แต่ในเป้าหมายกลับมิได้มีการกล่าวถึงว่าจะปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจอย่างไร และแต่ละภาคการผลิตต้องมีสัดส่วนจำนวนเท่าใด จึงจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพได้

สำหรับวัตถุประสงค์ประการที่สองของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่มุ่ง “วางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง ยั่งยืน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก” นั้น พบว่า ยังมีปัญหาความไม่ครบถ้วนของเป้าหมายในหลายประเด็นด้วยกัน ตัวอย่างเช่นในด้านการศึกษาร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ระบุเพียงเป้าหมายการเพิ่มจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนไทย และการยกระดับการศึกษาของแรงงานเท่านั้น แต่ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 กลับมิได้มีเป้าหมายเรื่องบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอในทุกพื้นที่ รวมทั้งยังมิได้มีเป้าหมายการจัดตั้งหน่วยงานกลางในการกำหนดทิศทาง นโยบาย และหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานและมาตรฐานของฝีมือแรงงาน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์

2.3) การกำหนดเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5-6 ต่อปี และลดสัดส่วนให้คนจนอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 10 ภายในสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 นั้น ไม่มีความ
ชัดเจนว่ามีข้อสมมติฐานที่เป็นเงื่อนไขอย่างไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับร้อยละ 5-6 ต่อปี อาจสูงเกินไปเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราต่ำ

2.4) ปัญหาความไม่ประสานสอดคล้องในเป้าหมาย 4 ประการ และความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายว่ามีมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ หากเป้าหมายหนึ่งสามารถบรรลุตามที่กำหนด เป้าหมายอื่น ๆ จะยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบรรลุได้ด้วยหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากมีการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 5-6 ต่อปี ตามเป้าหมาย แผนพัฒนาฉบับนี้จะสามารถลดสัดส่วนคนยากจนให้เหลือร้อนละ 10 ได้ตามเป้าหมายจริงหรือไม่ ดูเหมือนว่าไม่มีคำมั่นสัญญาใด ๆ จากร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ที่ยืนยันความเป็นไปได้ที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กัน

3) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการสร้างรากฐานของประเทศด้วย ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ถือเอาแนวทาง “การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ” เป็นความสำคัญอันดับแรกสุด สิ่งที่พึงตระหนักก็คือ การเร่งรัดฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น ควรถือเอาการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กันไปด้วย การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรากฐานทางด้านการผลิตที่มีคุณภาพและยั่งยืนของชาติด้วย มิใช่เป็นเพียงการใช้จ่ายเพื่อให้การสงเคราะห์เฉพาะหน้าเท่านั้น

4) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ขาดการวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่อประเทศไทย ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้ทำการวิเคราะห์ จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และ ข้อจำกัด (Threat) ของประเทศไทย พร้อมทั้งมีการศึกษาเชิงนโยบาย อันถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการจัดทำแผน แต่ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 นอกจากจะมิได้สืบทอดประเพณีการจัดทำแผนในลักษณะเช่นว่านี้แล้ว ยังให้น้ำหนักกับการพิจารณาเฉพาะสภาพแวดล้อมภายในประเทศเท่านั้น การขาดการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกประเทศว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร และประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านใด อย่างไร และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้นั้น ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง ช่วง 5-7 ปี ร่างแผนพัฒนาฯ นี้จึงยังขาดการให้รายละเอียดที่เพียงพอเกี่ยวกับปัจจัยระยะยาวที่จะมีผลต่อประเทศไทยในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงไม่สามารถคาดการณ์และไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากเหตุปัจจัยภายนอกประเทศได้

5) ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาด้านสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมากกกว่านโยบายทางด้านสังคมมาโดยตลอด ทิศทางการพัฒนาแบบนี้เป็นตัวเร่งให้โครงสร้างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมไทยอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทยถูกละเลยมาช้านาน และไม่เคยได้ถูกนำเข้ามาเป็นปัจจัยที่สำคัญในแผนพัฒนาของชาติ เพื่อให้การสร้างสรรค์สังคมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นตัวของตัวเอง แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว ชุมชน และภาคสังคมมากเป็นพิเศษ

รัฐบาลจะต้องสร้างระบบบริการทางด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการแก่บุคคลผู้อ่อนแอในสังคม ควรช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวให้มีความสามารถปกป้องดูแลสมาชิกของครอบครัวเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาสังคม สร้างดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้มีการติดตามประเมินผลได้ เช่น จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวนผู้ใช้หรือเสพสิ่งเสพติด การมีสถานที่พักผ่อนและการมีกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว เป็นต้น รวมทั้งมีแผนเร่งรัดให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนา ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ของตน โดยประสานกับองค์กรบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภารกิจเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สอดคล้องกับ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และมาตรา 80

ยาเสพติดเป็นอาการของโรคทางสังคมที่ร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาของรัฐโดยใช้มาตรการลงโทษอย่างรุ่นแรง กล่าวคือ การใช้โทษประหารสำหรับผู้ค้า และการใช้โทษทางอาญาสำหรับผู้เสพ น่าจะไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การเยียวยารักษาโรคทางสังคมจะต้องใช้มิติทางด้านสังคม โดยกระบวนการทางสังคมเป็นตัวนำมากกว่าการใช้กระบวนการทางกฎหมาย

6) การกระจายรายได้ต้องเป็นหัวใจของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ในระหว่างที่
รัฐบาลกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ได้เกิดภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย อันมีเหตุมาจากการวางแผนที่เน้นแต่การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจเพียงประการเดียว ดังนั้น ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงสมควรให้ผ่อนคลายหลักคิดในการวางแผนทางเศรษฐกิจแบบเดิม และหันมาให้ความสำคัญสูงสุดกับนโยบายการกระจายรายได้ เพื่อให้สมดุลกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในการแก้ไขปัญหาความยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างจริงจังแทน

ดังนั้น ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงต้องกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ลำดับความสำคัญและยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาการกระจายรายได้ ความยากจน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง

7) การสร่างภาคการเกษตรและชนบทให้เข้มแข็งต้องถือเป็นภารกิจหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังอยู่ในภาคการเกษตรและชนบท ปัญหาหลักของภาคการเกษตรและชนบทในปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องที่ดินทำกิน หนี้สินทรัพยากร
ธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำ และราคาพืชผล ดังนั้น รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้ภาคการเกษตรและชนบทของไทยมีความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก

ด้วยเหตุนี้การกำหนดทิศทาง วัตถุประสงค์ และแผนในการทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ วิถีชีวภาพและการเกษตรแบบยั่งยืนทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุด การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรจะต้องยึดถือตัวเกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง รัฐจะต้องสนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ และต้องดำเนินการให้มีการจัดตั้งสภาเกษตรกรระดับชาติที่เป็นองค์กรรวมของเกษตรกร มีความเป็นอิสระ และมีสิทธิในการวินิจฉัยปัญหา และให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยตนเองได้

นอกจากนี้ จะต้องเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่เป็นผลดีต่อการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนของเกษตรกร เช่น การออกกฎหมายยกเลิกเครื่องมือประมงทะเลที่ทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่ง โดยเฉพาะอวนรุนอวนลาก จะต้องจัดตั้งกองทุนประมงเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง รวมทั้งแก้ไขปัญหาลูกเรือประมงในด้านต่าง ๆ และเพื่อให้ประเทศไทยคงความเป็นประเทศผู้นำด้านการประมง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก รวมถึงเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำของโลกตลอดไป ควรส่งเสริมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เพียงพอในการรองรับการทำประมงนอกน่านน้ำและประมงน้ำลึกในน่านน้ำสากล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรภายในประเทศไปด้วยในตัว

เพื่อเสริมสร้างรากฐานของประเทศให้เข้มแข็ง ควรพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยการปฏิรูประบบสหกรณ์ให้เป็นอิสระจากระบบราชการ และสามารถบริหารจัดการ พัฒนาระบบการผลิต การแปรรูป การตลาด และการออมทรัพย์ด้วยวิถีสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้านการดูแลเกษตรกรรายย่อยจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายรายได้ขั้นพื้นฐานในระยะเริ่มต้นของเกษตรกรทุกอาชีพ และทุกภูมิภาค การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ การสาธารณสุขที่รวมถึงการสร้างเสริมดูแลสุขภาพที่ดีและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรด้วยกลไกที่สมบูรณ์และเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการให้การส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ และการตลาด อย่างมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานที่ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและทั่วโลกยอมรับ

8) ต้องทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นไปในทิศทางที่ให้ความเคารพสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรและสิ่ง
แวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างสมดุลได้

แนวนโยบายการอพยพชุมชนท้องถิ่นออกจากพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ และการห้าม
ชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน เป็นแนวนโยบายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 และมาตรา 79 อย่างเด่นชัด ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทั้ง 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเร่งออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนตลอดจนเร่งสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม

ยิ่งกว่านั้น ในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนจากอุบัติภัยและภัยพิบัติที่ปัจจุบันยังขาดข้อมูลและขาดความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป้นระบบ รวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

9) ต้องยกระดับให้เรื่องการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 วิสัยทัศน์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ฝันที่จะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้คู่คุณธรรม แต่แผนพัฒนาฉบับนี้กลับให้บทบาทและคุณค่าของการศึกษา ศิลปและวัฒนธรรมต่ำเกินไป ดังจะเห็นได้จากการนำเอาเรื่องของการศึกษาไปบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและการคุ้มครองทางสังคมและยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น จึงควรยกระดับเรื่องการศึกษา ศิลปและวัฒนธรรมให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ต้องการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกการมีวินัย คุณธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นการปลูกฝังและปูทางไปสู่การเกิดหลักธรรมาภิบาลในทุกวงการ

10) ต้องเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาที่สะสมจนถึงขั้นวิกฤตทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รัฐบาลจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน และปรับปรุงกฎหมาย คำสั่งคณะปฏิวัติ มติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวง ระเบียบของกรม กองต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประเด็นที่ขัดแย้งกันเองเป็นจำนวนมาก รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกระดับอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องส่งเสริมค่านิยมและวิถีปฏิบัติที่ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดได้ อันเป็นองค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นทั้งในวงการภาครัฐและภาคเอกชนอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขจัดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบหรือคอร์รัปชั่น ในการนี้จะต้องมีกฎระเบียบที่เป็นกติกากำหนดบังคับไว้ และต้องปลูกฝังลงไปในระบบการสร้างคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เยาว์วัย

11) การแข่งขันทางการค้า ต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ภายใต้เงื่อนไขการเปิดให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี รัฐบาลควรคำนึงถึงหลักการของการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมระหว่างธุรกิจที่มีขนาดของทุนไม่เท่าเทียมกัน และหลักการที่จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยรัฐจะต้องออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าขนาดเล็กซึ่งเป็นฐานรากของประเทศด้วย

เพื่อสร้างรากฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจชุมชนและท้องถิ่น โดยการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในการพัฒนารูปแบบการส่งออก และพัฒนาสินค้าพื้นเมืองให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้รัฐบาลควรส่งเสริมธุรกิจรายย่อย (micro) ขนาดย่อม (small) และขนาดกลาง (medium) ให้เชื่อมต่อกับวิสาหกิจขนาดใหญ่ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการตลาด เพื่อเสริมสร้างตลาดภายในประเทศให้เข้มแข็ง และสร้างผู้ประกอบการ ผู้บริหารมืออาชีพให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งในด้านส่งเสริมการตลาด ควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายตลาด มีสถาบันส่งเสริมการตลาดที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (มิใช่มาจากฝ่ายรัฐ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออกเพียงอย่างเดียว) และใช้เครือข่ายการตลาดระดับสากลในการสร้างเครื่องหมายการค้าให้กับสินค้าไทย

รัฐบาลควรมีกลยุทธในเชิงรุกโดยจัดตั้งองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมในการวางมาตรการป้องกันผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร และภาคอุตสาหะกรรมการผลิตทั่วไป ในการเจรจาในเวทีการค้าระดับโลกและเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในเวทีการค้าระดับโลก เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) และอื่น ๆ ให้มากขึ้น

ในการพัฒนาธุรกิจการผลิตเพื่อการพึ่งพิงตนเอง และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น ควรส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตการเกษตร เช่น แปรรูปเป็นเครื่องดื่มทุกประเภทต่าง ๆ รวมถึงการยกเลิกกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่การผูกขาดโดยภาครัฐ และหรือเอกชนและควรเน้นการส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้วย

12) ต้องปฏิรูปสื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 สื่อมวลชนจะต้องได้รับการส่งเสริมให้ทำหน้าที่แสวงหาข้อมูลอย่างอิสระและมีเสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้าน และการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเที่ยงธรรม เพื่อสนองสิทธิการรับรู้ของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างจริงจัง ทั้งนี้จะต้องมีการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งปรับปรุงให้เป็นเครื่องมือสนับสนุนบทบาทการตรวจสอบและการแสวงข้อเท็จจริงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนหลักการธรรมาภิบาลต่อไป

ขณะเดียวกัน ควรส่งเสริมองค์กรควบคุมกันเองของสื่อมวลชน และให้มีกลไกในลักษณะสถาบันทางวิชาการทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับด้านจริยธรรม และพัฒนาวิชาชีพเพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพและมีคุณธรรม

13) ปัญหาขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมต้องได้รับการจัดการโดยเร่งด่วน ควรเร่งออกกฎหมาย นโยบาย และมาตรการพิเศษในการจัดการของเสียอันตราย ขยะ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยจำแนกมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละประเภทของของเสีย เช่น ขยะอันตราย ขยะจากอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งนี้ต้องมีกฎหมายในการควบคุมไม่ให้มีการนำเข้าของเสียและมีกฎหมายที่เคร่งครัดในการควบคุมมาตรฐานและการรับผิดชอบของผู้ประกอบการ

ในด้านมาตรการกำจัดของเสียและขยะมีพิษ ให้คำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

13.1) ศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

13.2) เทคโนโลยีจะต้องเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและความเหมาะสม

13.3) ควรเน้นระบบการจัดการที่ลดจำนวนขยะ หรือจัดการขยะที่แหล่งกำเนิดของขยะมากกส่าระบบการจัดการขยะแบบรวมศูนย์ ซึ่งจะกลายเป็นภาระและเกิดความซ้ำซ้อนในการจัดการ

14) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลไกและการมีส่วนร่วมในแผนปฏิบัติการ การแปลงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลอย่างจริงจัง จะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบภาษีส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น การแก้ไขพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และการถ่ายโอนงบประมาณสู่ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้น จะต้องมีกลไกการแปลงแผนสู่การปฏิบัติที่สนับสนุนให้ภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนในสังคมและทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เข้าใจกรอบทิศทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อการวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในการจัดทำและร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาและจัดทำดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับดัชนีชี้วัดผลความสำเร็จ และเพื่อเป็นเครื่องมือให้ทุกฝ่ายใช้ในการติดตามผล และปรับปรุงพัฒนาแผนปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะได้ใช้ดัชนีดังกล่าวในการติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไปด้วยพร้อมกัน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 สู่สาธารณชนต่อไป

สรุป ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เป็นแผนที่มีปรัชญา
แนวทาง วัตถุประสงค์และยุทธศาสตร์ที่พึงปรารถนา แต่เป้าหมายที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จของการพัฒนาอาจจะสูงเกินจริง เพราะวิธีการดำเนินงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้นั้นยังไม่ชัดเจน และอาจมีข้อจำกัดทางด้านการบริหาร การใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีอย่างจำกัด และสภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก ฉะนั้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) มีความเห็นว่า ข้อเสนอแนะการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ดังกล่าวข้างต้นนั้น น่าจะทำให้แผนนี้มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น

หลังจากคณะรัฐมนตรีได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะข้างต้นนี้แล้ว คณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการดังนี้

ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2544 และวันที่ 25 กันยายน 2544 เห็นว่า ความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้มีความครบถ้วนและชัดเจนมากยิ่งขึ้น และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำความเห็นดังกล่าวของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้สมบูรณ์เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากขึ้น โดยได้มีการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 สรุปได้ดังนี้

1) ประเด็นความเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางในร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 แต่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังเห็นว่าไม่ชัดเจน ซึ่งสามารถขยายความเพิ่มเติมได้ในแผนพัฒนาฯ ที่สำคัญได้แก่ แนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศสามารถประยุกต์ใช้เป็นพ้นฐานของการพัฒนาได้ทุกระดับ ตั้งแต่การดำรงวิถีชีวิตส่วนบุคคล ครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และยังปรับใช้ได้กับทุกสาขาการพัฒนา ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาสังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจ และ
สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีระบบบริหารจัดการภายในที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับ รวมทั้งได้มีการปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จากเดิมเฉลี่ย
ร้อยละ 5-6 ต่อปี เป็นเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี และปรับเป้าหมายอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วยแล้ว

2) ประเด็นข้อเสนอแนะที่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้แก่ การวิเคราะห์เพิ่มเติมปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่มีอิทธิพลต่อการวางบทบาทการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างเหมาะสม รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มเติมสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนในยุทธศาสตร์การปรับ
โครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมือง และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งใน
ยุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3) ประเด็นข้อเสนอแนะที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บางส่วนเป็นรายละเอียดในระดับปฏิบัติ จึงสมควรบรรจุไว้ในแผนเฉพาะเรื่องหรือแผนปฏิบัติที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำแผนการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ เพื่อ
ชี้นำทิศทางการลงทุนที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9

2.4 ปัญหาและแนวทางการพัฒนา แบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน ปัญหาและแนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ รวมทั้งปัญหาและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงาน

2.4.1 ปัญหาและแนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ เมื่อพิจารณาโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติม คือ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 แล้ว ทำให้กล่าวได้ว่า “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ซึ่งเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2544 มีโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานที่แตกต่างจาก “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” อยู่หลายประการ เป็นต้นว่า มีโครงสร้างที่แตกต่างจากส่วนราชการทั่วไป โดยประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีความหลากหลายจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของ (1) กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน และ (2) กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน แบ่งย่อยเป็น กลุ่มในภาคสังคม 19 คน กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร 16 คนและ กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน ทั้งหมดนี้มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในส่วนของอำนาจหน้าที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและสังคมตามที่บัญญัติไว้ใน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และมีการดำเนินงานที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดย “เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมา พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 กำหนดให้ “สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มก่อตั้งปี 2493 ต่อมา พระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 ได้กำหนด
โครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และผู้มีความรู้ ความจัดเจน หรือมีประสบการณ์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอีกไม่เกิน 9 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้าราชการประจำหรือบุคคลภายนอกก็ได้ และยังมีกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการอีกจำนวน 5 คน มี “เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการหนึ่งที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็น “ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” สำหรับอำนาจหน้าที่หลักของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี จัดให้มีการประสานงานระหว่างสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการจัดทำแผนงาน เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความสำคัญในระดับที่น้อยกว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ในการระดมความคิดเห็น ให้คำปรึกษา และเสนอแนะความเห็นด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรี ทำให้อาจเรียกว่า เป็นสภาของภาคเอกชนหรือสภาของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปฏิบัติงานมาประมาณ 4 ปี (พ.ศ. 2544-2548) แต่มีปัญหาเกิดขึ้นบางประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงาน ดังจะได้ศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาพร้อมกันไปด้วย

ต่อจากนี้เป็นการศึกษาเฉพาะปัญหาและแนวทางการพัฒนาเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ตามลำดับ คือ ความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องฐานะของสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ของสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1) ความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องฐานะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.1) ปัญหา เกิดความเข้าใจแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ชุดแรก) มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตาม
รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเข้าใจว่าเป็นองค์กรอิสระก็จะมองไปได้ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง เช่น แต่งตั้งบุคคลที่เป็นพวกพ้องเขามาดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตรงกันข้ามถ้าเข้าใจว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมิได้เป็นองค์กรอิสระ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีแล้ว การมองว่าถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารในการแต่งตั้งโดยตรงอยู่แล้ว

1.2) แนวทางการพัฒนา ที่สำคัญมี 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ควรประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ชัดเจนว่าสภา
ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมิใช่ “องค์กรอิสระ” มิใช่ “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” และ มิใช่ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” แต่เป็น
 “องค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด” และเป็นหน่วยงานของรัฐ (state agency)
หน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยู่ในบังคับบัญชาของนายก
รัฐมนตรี โดยรัฐได้ให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณเพื่อการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย เห็นได้จากเหตุผลหลายประการ ต่อไปนี้

1) รัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 กำหนดให้

1.1) เมื่อได้คัดเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครบถ้วนทุกกลุ่มแล้วจำนวน 99 คน ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้ประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 6 (5)) ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีรัฐแม้ไม่มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้ง 99 คน แต่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา

1.2) คณะรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็น
หัวหน้า อาจมอบหมายให้บุคคลใดเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ เว้นแต่ในกรณีประชุมลับ (มาตรา 25) เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีอาจเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ในบางกรณี

1.3) ในวาระเริ่มแรก ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (บทเฉพาะกาล มาตรา 28) เช่นนี้แสดงว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกสมาชิก

1.4) ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บทเฉพาะกาล มาตรา 29) จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางกฎหมายหรือเหตุผลจากข้อเท็จจริงล้วนแสดงว่า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

1.5) ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 4)

1.6) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “องค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด…..” (มาตรา 10) จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่า เป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

2) ต่อมา รัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 (มาตรา 27/2) กำหนดให้

2.1) สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

2.2) เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

2.3) นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกระเบียบการบริหารราชการทั่วไปของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3) พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 (มาตรา 27/1) ยังได้กำหนดทางออกสำหรับแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับการบริหารงานของเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้ ดังนี้

3.1) ในการกำกับดูแลสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมี “เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานสภา นั้น ให้ประธานสภามีอำนาจกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และวางระเบียบการปฏิบัติงานของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติงานให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ให้ประธานสภามีอำนาจสั่งให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน ปฏิบัติงานหรือยับยั้งการกระทำของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในส่วนที่ขัดแย้งกับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้

3.2) ในกรณีที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานที่สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารงานเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาอาจแจ้งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจดำเนินการในขั้นสุดท้ายเพื่อแก้ไขปัญหา

4) กล่าวได้ว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ตามนัยของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 266) มีจำนวน 13 องค์กรเท่านั้น ได้แก่ (1) รัฐสภา (2) สภาผู้แทนราษฎร (3) วุฒิสภา (4) คณะรัฐมนตรี (5) ศาลรัฐธรรมนูญ (6) ศาลยุติธรรม (7) ศาล
ปกครอง (8) ศาลทหาร
 (9) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (10) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา(11) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (12) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ (13) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ทั้งนี้ คำว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการ ซึ่งไม่อาจขาดประการใดประการหนึ่งได้ กล่าวคือ ประการแรก เป็นองค์กรที่มีชื่อปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมาตรา 266 ได้ใช้ข้อความว่า “องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ” อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นไว้ใน
รัฐธรรมนูญด้วย 

ที่สำคัญยิ่งคือ ไม่ควรเรียกองค์กรดังกล่าวว่า องค์กรอิสระ (independent organ หรือ independent authority) หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ควรเรียกว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (organ under the constitution) ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดที่เป็นอิสระโดยแท้จากรัฐ  ฝ่ายบริหาร เช่น คณะรัฐมนตรี และสำนักงานงบประมาณ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น รัฐสภา และคณะกรรมาธิการของรัฐสภา หน่วยงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังคงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และ/หรือ บุคลากรเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติราชการ จึงมีอำนาจพิจารณางบประมาณขององค์กรดังกล่าว อีกทั้งวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนด้วย นอกจากนี้แล้ว ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็มิได้มีบทบัญญัติใดที่ใช้ข้อความว่า “องค์กรอิสระ” หรือ “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ยกเว้น ในบางมาตราที่นำคำว่าอิสระมาใช้ อันได้แก่

(1) ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ (มาตรา 40 วรรคสอง เป็นมาตราเดียวในรัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า “องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ”)

(2) ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทน
องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็น (มาตรา 56 วรรคสอง)

(3) ให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็น (มาตรา 57 วรรคสอง)

5) บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติไว้เพียง “การบริหารงานโดยอิสระ” ดังนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงกับการบริหารงานโดยอิสระของ (1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (2) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (4) ศาลรัฐธรรมนูญ (5) ศาลยุติธรรม (6) ศาลปกครอง (7) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ (8) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 75 วรรคสอง) พร้อมกันนั้น ได้บัญญัติให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 270) ศาลยุติธรรม (มาตรา 275) ศาลปกครอง (มาตรา 280) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 302) และองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 312) “มีหน่วยธุรการ หรือสำนักงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น” สำหรับข้อความว่า “การบริหารงานโดยอิสระ” นั้น น่าจะหมายถึง หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการบริหารจัดการที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

ประการที่สอง ในอนาคต หากต้องการให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความเป็นอิสระและคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น อาจมีการระดมความคิดและเสนอแนวคิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นต่อไปนี้

1) ให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นตรงหรืออยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แทนที่นายกรัฐมนตรีดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

2) กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมาจากคณะกรรมการสรรหา

3) ดำเนินการอื่นใด เช่น แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อยกฐานะให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวน 13 องค์กร ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และในการยกฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องคำนึงด้วยว่า จำนวนสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีจำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างอย่างมากกับจำนวนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาซึ่งมีไม่เกิน 3 คน คณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9 คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 11 คน และศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน อีกทั้งคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและรัดกุมมากกว่าเดิม โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงาน และไม่ใช้ทรัพยากรหรือค่าใช้จ่ายของรัฐมากเกินความจำเป็น

2) ความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.1) ปัญหา เกิดปัญหาความเข้าใจแตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีฐานะเป็น “องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ” หรือไม่ หรือ “เป็นองค์กรมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน” หรือไม่ หากเข้าใจว่าเป็นองค์กรตรวจสอบหรือเป็นองค์กรที่มีอำนาจควบคุมดังกล่าวแล้ว ก็จะมองไปได้ว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมิได้เป็นฝ่ายสนับสนุนการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี แต่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารและคณะรัฐมนตรี ดังเช่น องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือมีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี ดังเช่น สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มีอำนาจควบคุมดังกล่าว (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 182) เช่น การเปิดอภิปราย และการตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐสภา โดยทั้ง ปปช. สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภานั้น ล้วนเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเข้าใจว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมิได้เป็น “องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ” มิได้เป็น “องค์กรที่มีอำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน” และมิได้เป็น “สภาที่สาม” หรือ “สภาประชาชน” ที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมคณะรัฐมนตรี แต่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหารซึ่งต้องสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีแล้ว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็จะไม่มีอำนาจตรวจสอบและควบคุมดังกล่าว

สำหรับเหตุผลที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าใจว่ามีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ (1) นายกรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแม้แต่คนเดียว แต่ล้วนมาจากการสรรหาอย่างกว้างขวางโดยคณะกรรมการสรรหา (2) เข้าใจหรือตีความว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “สภาประชาชน” หรือ เป็น “องค์กรประชาชน” และ (3) เมื่อเข้าใจว่า เป็นสภาประชาชนหรือเป็นองค์กรประชาชน จึงย่อมมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกระดับ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ” (มาตรา 76)

2.2) แนวทางการพัฒนา ก่อนที่จะเสนอแนวทางการพัฒนา ควรที่จะทำความเข้าใจหรือวิเคราะห์แนวคิดการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและกฎหมายแม่บทของประเทศได้บัญญัติไว้

ดังนำเสนอไว้แล้วข้างต้น แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอย่างน้อย 3 แนวคิด ได้แก่ (1) แนวคิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ซึ่งจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก (2) แนวคิดที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน  และ (3) แนวคิดที่ความต้องการให้มีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐระดับชาติที่คอยให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อ
คณะรัฐมนตรีโดยเน้นการมีส่วนร่วมและการระดมความคิดเห็นของประชาชนอย่างเปิดกว้าง 

สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 89) พบว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ (1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม (2) พิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้ และ (3) มีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายถึง พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 (มาตรา 10) กำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น “องค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม” มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนทั้งหลายก่อนพิจารณาประกาศใช้ ดังนี้

“มาตรา 10 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีอำนาจ
หน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(1) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5 ของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(2) ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามมาตรา 14 รวมทั้งแผนอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้”

จากการวิเคราะห์แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมข้างต้นนี้ ทำให้พบว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่หลัก คือ การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม และการพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนพิจารณาประกาศใช้ ดังนั้น การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงควรเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินรวมทั้งให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีอำนาจตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ถ้าคณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจใช้ดุลพินิจและอำนาจตัดสินใจ ไม่ปฏิบัติตามคำปรึกษาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งอาจเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีมีข้อมูล ความจำเป็น ข้อจำกัด และเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็จำเป็นต้องยอมรับการใช้ดุลพินิจและการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่กำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แนวทางการพัฒนามี 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ควรประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจนและต่อเนื่องในเรื่องต่อไปนี้

1) ขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เข้าใจ เช่น ทำเป็นคู่มือแสดงอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อนำไปปฏิบัติ

2) ความหมายของคำว่า ความเป็นอิสระ โดยเฉพาะความเป็นอิสระของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม มิได้หมายถึง (1) ความเป็นอิสระในฐานะที่เป็น
องค์กรอิสระหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (2) ความเป็นอิสระในการตรวจสอบควบคุมคณะรัฐมนตรี และ (3) ความเป็นอิสระจนขาดความเชื่อมโยงกับคณะรัฐมนตรีที่รอรับคำปรึกษาและข้อเสนอแนะ แต่ความเป็นอิสระ หมายถึง ความเป็นอิสระหรือปราศจากการแทรกแซงของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารในเรื่อง (1) การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำนวน 99 คน และ (2) กระบวนการดำเนินงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม (3) ความเชื่อมโยงกับคณะรัฐมนตรี โดยไม่อยู่ในอาณัติหรืออยู่ภายใต้อิทธิพล และ (4) การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

3) การแทรกแซงของคณะรัฐมนตรี ในประเด็นที่ว่า ไม่มีความจำเป็นเพียงพอที่คณะรัฐมนตรีต้องแทรกแซงการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดบัญญัติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจเหนือหรือเท่ากับอำนาจของคณะรัฐมนตรี และ สอง ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามคำปรึกษาและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีจึงอาจดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามคำปรึกษาและข้อเสนอแนะนั้นก็ได้

ประการที่สอง หากต้องการให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น ควรระดมความคิดเห็น และเสนอแนวคิดต่อรัฐสภาเพิ่มแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้ครอบคลุมอำนาจในการตรวจสอบ ควบคุม กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาปัญหาใด ๆ ในเรื่องต่อไปนี้ โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่แล้วด้วย

1) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภามอบหมาย

2) พิจารณาเรื่องหรือกิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

3) ติดตามการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ

4) พิจารณาศึกษารูปแบบและกลไกที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการภาครัฐ

5) ติดตามการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวของชุมชน เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะของชุมชนของตน รวมทั้งการแสดงประชามติ เวทีสาธารณะ และการประชาพิจารณ์

6) พิจารณาศึกษาการสร้างเครือข่ายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน

7) ติดตามการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ และสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

สรุป ปัญหาเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องฐานะและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น ความเข้าใจว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรตาม
รัฐธรรมนูญ ดังเช่น ปปช. หรือรัฐสภา ที่มีอำนาจควบคุมหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี สำหรับแนวทางการพัฒนา คือ การประชาสัมพันธ์ เช่น เรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และหากต้องการให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความเป็นอิสระและคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต อาจระดมความคิดและเสนอแนวคิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ต่อรัฐสภา

2.4.2 ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงาน แบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และการไม่นำความเห็นและข้อเสนอแนะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง

1) การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

1.1) ปัญหา เนื่องจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ได้เริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2544 และปฏิบัติงานมาประมาณ 4 ปี ประกอบกับการมีจำนวนสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากถึง 99 คนซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้น การที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่บางส่วนคล้ายคลึงหรือซ้ำซ้อนกับองค์กรที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่เดิมมาช้านาน อีกทั้งในระยะเริ่มแรก พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย เหล่านี้ ล้วนมีส่วนสำคัญทำให้การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับการดำเนินงานหลายอย่าง เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน จุดยืนของการดำเนินงาน ทิศทางและจุดเน้นของการดำเนินงาน ตลอดจนปริมาณงาน เป็นต้น

1.2) แนวทางการพัฒนา เป็นการพิจารณาศึกษาในภาพรวม แบ่งเป็น 3 ประการโดยแต่ละประการมีความสัมพันธ์กัน

ประการที่หนึ่ง เนื่องมาจากการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง การมีส่วนร่วม
ดังกล่าวนี้เกิดจากความสมัครใจ อีกทั้งการที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีผู้นำองค์กรทั้งจากภาคเอกชน เกษตรกร และนักวิชาการภาครัฐที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แตกต่างกัน ทำให้เกิดความหลากหลายในการแสดงความคิดเห็นและการกระทำ จึงจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น และไม่อาจคาดการณ์ได้ง่ายว่าผลงานจะออกมาเมื่อใดและอย่างใด บางครั้งไม่อาจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่รัฐบาลหรือ
คณะรัฐมนตรีต้องตัดสินใจเร่งด่วน
  ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคือ ควรวางนโยบาย แผน แผนงาน และโครงการปฏิบัติงาน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและเวลาการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน

ประการที่สอง แนวทางหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้เป็นที่ยอมรับของคณะรัฐมนตรีและประชาชน คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในลักษณะที่เป็น “องค์กรแห่งภูมิปัญญา” หรือเป็น “คลังสมองของประเทศ” โดยยึดหลักวิชาการอย่างเป็นระบบและยึดหลักการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อการสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงและ
ต่อเนื่อง พร้อมกับส่งเสริมและเผยแพร่คำปรึกษาและข้อเสนอแนะที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สามารถใช้เป็นเอกสารหรือข้อมูลทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติสำหรับคณะรัฐมนตรี รัฐสภา รวมตลอดถึงภาคเอกชน และประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

ประการที่สาม นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดแรก ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการดำเนินงาน สรุปได้ว่าการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะต้อง (1) โปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และต้องทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก (2) ควรมีจุดยืนและต้องรู้บทบาทของตน การให้คำปรึกษาควรเที่ยงตรงและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีการศึกษา มีการวิจัย และมีข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย (3) ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน (4) เป็นสภาที่ดูแลด้านนโยบายมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง ไม่ใช่สภาที่จะต้องแก้ปัญหาของราษฎรทุกเรื่องที่เสนอมา จะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องที่มีเจ้าภาพอยู่แล้ว (5) ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการเกษตรเป็นอันดับแรก และ (6) การที่จะให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมากด้วยปริมาณ แต่ต้องมากด้วยคุณภาพ สำหรับรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

“….. 1. ภารกิจของสภาที่ปรึกษาฯ ครอบคลุมรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 71 - 88 โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ การดำเนินงานจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และต้องทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

2. สภาที่ปรึกษาฯ ควรมีจุดยืนและต้องรู้บทบาทของตน การให้คำปรึกษาใด ๆ ควรเที่ยงตรงและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คำว่า “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ไม่ได้หมายความว่าไม่ฝักใฝ่เฉพาะที่เป็นการเมืองเท่านั้น ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือธุรกิจหรือส่วนตัว ในที่นี้ผมขอย้ำว่าเราไม่เข้าข้าง
รัฐบาล หรือ NGOs หรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การให้
คำปรึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของประเทศชาติ โดยพยายามแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีการศึกษา มีการวิจัย มีข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายเป็นเครื่องมือในการให้ฉันทามติแก่รัฐบาล

3. ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน หน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ มิใช่เป็นเพียงการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่จะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน ต้องช่วยเหลือประชาชนโดยการรับฟังไม่ใช่การอาสาไปแก้ปัญหา รับฟังปัญหาความต้องการ และแนวทางการแก้ไขโดยใช้วิจารณญาณกลั่นกรองให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนจะสะท้อนปัญหา ความต้องการ และแนวทางการแก้ปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี อย่างที่ผมเคยพูดว่า สิ่งที่เรารับรู้มาจากภาคประชาชนนั้นถือเป็นข้อมูลสุทธิ เราจะต้องมากลั่นกรอง ต้องมาใช้วิจารณญาณก่อน

4. สภาที่ปรึกษาฯ ไม่ใช่สภาร้องทุกข์ ต้องเป็นสภาที่ดูแลด้านนโยบายมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง ไม่ใช่สภาที่จะต้องแก้ปัญหาของราษฎรทุกเรื่องที่เสนอมา ขีดจำกัดของสภาที่ปรึกษาฯ คือ สภานี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของประชาชนได้ในระยะสั้น เราไม่มีอำนาจบริหาร หรืออำนาจนิติบัญญัติ เรามีแต่อำนาจในการเสนอความเห็น เพราะปัญหาระยะสั้นส่วนใหญ่ก็มีเจ้าภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล หรือสภา
ผู้แทนราษฎรนอกจากจะเป็นเรื่องที่ความสำคัญจริง ๆ และกระทบกระเทือนต่อแนวนโยบาย หรือกระบวนทัศน์ของรัฐบาลเท่านั้น เราจะมองระยะกลางและระยะยาวมากกว่า และจะพยายามสร้างมาตรการที่จะไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตมากกว่าที่จะตามปัญหา เป็นลักษณะของการป้องกันมากกว่า

5. สภาที่ปรึกษาฯ จะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องที่มีเจ้าภาพอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีความรู้เพียงพอ ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ และไม่มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรือบุคลากร เราไม่ได้เป็นปรมาจารย์ในทุกเรื่อง อันนี้เป็นการสอนให้เราประเมินตัวเองว่าเราไม่ใช้ผู้วิเศษ ไม่ใช่ผู้ที่จะทำอะไรได้ทุกอย่าง

6. สภาที่ปรึกษาฯ ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการเกษตรเป็นอันดับแรก อันนี้ผมเคยพูดอยู่ตลอดเวลาว่าที่อื่นเค้ามีเจ้าภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การค้า บริการทางด้านการท่องเที่ยว แต่เกษตรยังไม่มี ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เราคิดว่าในปัจจุบันสมาชิกทั้ง 99 คน เราก็มีตัวแทนจากภาคเกษตร มีคณะทำงานเกษตร นี่เป็นสิ่งที่ผมหวังว่าข้อคิดวันนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ชุดใหม่จะมีความเห็นสอดคล้องกัน

7. เรื่องการที่จะให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่
คณะรัฐมนตรีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมากด้วยปริมาณ แต่ต้องมากด้วยคุณภาพ จะต้องมีลักษณะที่ตกผลึก และต้องมีการบูรณาการทางความคิดแล้ว เพราะองค์ประกอบมาจากหลากหลายอาชีพ จะต้องมีการวางแผนร่วมกันเป็นอย่างดีในภาพรวม เพื่อให้การสังเคราะห์มีความสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง เพื่อให้คณะทำงานที่เกิดขึ้นใหม่จากการระดมความคิดเห็นในวันนี้จะปฏิบัติไปในทิศทางที่ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน มีความเป็นเอกภาพ….”

2) การไม่นำความเห็นและข้อเสนอแนะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง

2.1) ปัญหา ที่ผ่านมาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก แต่กลไกนี้ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ แต่คณะรัฐมนตรีได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังน้อยมาก ดังปรากฏข้อความผ่านทางสื่อมวลชน ต่อไปนี้

“นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยในงานประชุมสัมมนาสมาชิกทั่วประเทศ (วันที่ 5 กันยายน 2547) ซึ่งเป็นสรุปประเมินการทำงานเพื่อข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า 70 ปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทย 61 ล้านคน มีเพียง 20 ล้านคนเท่านั้น ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย แต่อีก 40 ล้านคนไม่ได้เข้าร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงต้องมีสภาที่ปรึกษา เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและเป็น "จิ้งจก" คอยทักรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สภาที่ปรึกษาต้องระวังในการทำงาน คือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่จะคำนึงถึงแนวทางใหญ่มากกว่า โดยจะเน้นไปที่ความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการมีส่วนร่วม ปัญหาคอรัปชั่น…..

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเสนอเรื่องและให้คำแนะนำแก่รัฐบาลมากกว่า 60 เรื่อง ซึ่งได้รับตอบสนองเกินกว่าครึ่ง ก็รู้สึกพอใจแล้ว เพราะสภาที่ปรึกษา เกิดขึ้นมาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวทีเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอแนะ และให้คำปรึกษาแต่ละเรื่องแก่รัฐบาลที่จะได้นำไปแก้ไขปรับใช้ เพื่อให้คนในชาติสามารถอยู่ดีเป็นสุขกันมากขึ้น โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นายอานันท์ กล่าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการติดตามการทำงานของสภาที่ปรึกษา มาตลอด 3 ปี สามารถเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งกว่า 46 เรื่อง ที่ทางสภาที่ปรึกษาได้เสนอแนะมายังรัฐบาล รัฐบาลได้นำมาปรับใช้และเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งชาติอย่างมากมาย แต่บางเรื่องรัฐบาลไม่ได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับใช้ แต่คนในรัฐบาลไม่เคยตำหนิสภาที่ปรึกษาแม้แต่น้อย

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อสภาที่ปรึกษาชุดแรกทำงานครบวาระแล้ว 3 ปี และต้องมีการสรรหาคนใหม่เข้ามาเป็นสภาที่ปรึกษา ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดคณะกรรมการสรรหาแล้ว โดยได้เสนอแนะคณะกรรมการสรรหาไปจัดการให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2547 นี้ หากเสร็จไม่ทันก็อาจให้เลื่อนการสรรหาออกไป เพื่อให้เลือกตั้งใหญ่ต้นปีหน้าผ่านไปก่อน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบของสภาที่ปรึกษา ควรมีการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่ เพื่อให้องค์กรนี้สามารถทำงานได้คล่องตัวได้มากขึ้น”

2.2) แนวทางการพัฒนา คณะรัฐมนตรีควรให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรทำการประชาสัมพันธ์ความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องเพื่อให้สังคมได้รับรู้ รวมตลอดทั้งเผยแพร่ไปยังหน่วยงานภาครัฐทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนเพิ่มมากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ควรได้มีการเผยแพร่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยว่า ได้เสนอแนะไปจำนวนเท่าใด และคณะรัฐมนตรีได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์หรือไม่เพียงใด

สรุป ปัญหาและแนวทางการพัฒนากระบวนการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) การดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มีแนวทางการพัฒนาโดยวางนโยบาย แผน แผนงาน และโครงการปฏิบัติงาน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและเวลาการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นองค์กรแห่งภูมิปัญญา มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก มีจุดยืน การให้คำปรึกษาควรเที่ยงตรง เป็นธรรม และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นต้น และ (2) การไม่นำความเห็นและข้อเสนอแนะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง มีแนวทางการพัฒนา เช่น คณะรัฐมนตรีควรให้ความสนใจและเห็นถึงความสำคัญของความเห็นและข้อเสนอแนะมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติควรเผยแพร่จำนวนความเห็นและข้อเสนอแนะต่อสาธารณะอย่างชัดเจนและต่อเนื่องด้วย

เพื่อให้เห็นภาพรวมของการบริหารการพัฒนาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้สรุปแนวคิดหลักและประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไว้ในตารางที่ 2

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตารางที่ 2 สรุปแนวคิดหลักและประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สรุปแนวคิดหลักและประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1. แนวคิดหลัก

1.1 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มี 5 ด้าน ได้แก่ (1) ความมั่นคง (2) การบริหารและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน (3) การเมืองและการปกครองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย (4) ศาสนา สังคม การศึกษาและสาธารณสุข และ (5) เศรษฐกิจ

1.2 แนวคิดที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มี 3 แนวคิด ได้แก่ (1) แนวคิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2) แนวคิดที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และ (3) แนวคิดที่ความต้องการให้มีองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐระดับชาติที่คอยให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

1.3 รูปแบบองค์กรของรัฐระดับชาติด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญมี 2 รูปแบบ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2.1 ความเป็นมา เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) และต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดแรกได้เริ่มทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544 และในปี 2547 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547

2.2 โครงสร้าง มี 2 ระดับ คือ ระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และระดับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1) ระดับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีจำนวน 99 คน มาจากกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม โดยมาจากการสรรหาของ “คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งมีจำนวน 21 คน

2) ระดับสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย คณะผู้บริหารซึ่งมีเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และข้าราชการประจำ เป็นต้น

3) สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และอาจได้รับการเลือกใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้

4) สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายก
รัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

5) สำนักงานสภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายก
รัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

2.3 อำนาจหน้าที่ ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎหมายลูก

1) อำนาจหน้าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

1.1) มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม

1.2) ให้ความเห็นต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ก่อนพิจารณาประกาศใช้

1.3) อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

2) อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

2.1) เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม และให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่น ก่อนพิจารณาประกาศใช้

2.2) มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงาน

2.3) เสนอความเห็นตามที่คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณา

2.4) พิจารณาศึกษาเรื่องที่เห็นว่าสมควรเพื่อจัดทำรายงานเป็นข้อเสนอแนะต่อ
คณะรัฐมนตรี

2.5) มีอำนาจตราข้อบังคับการประชุมและข้อบังคับอื่น

2.4 การดำเนินงาน ที่สำคัญเช่น

1) จัดให้มีการประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

2) การประชุมต้องกระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะขอให้ประชุมเป็นการลับหรือสมาชิกร้องขอตามข้อบังคับ

3) อาจเชิญข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือให้จัดส่งเอกสารหรือข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาได้

    4) คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้บุคคลใดเข้าร่วมรับฟังการประชุมหรือชี้แจงแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ เว้นแต่ในกรณีประชุมลับ

2.5 ปัญหาและแนวทางการพัฒนา

1) ปัญหาและแนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ คือ (1) ความเข้าใจแตกต่างกันในเรื่องฐานะ และ (2) ในเรื่องอำนาจหน้าที่ ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมี
แนวทางการพัฒนา คือ ประชาสัมพันธ์ และในอนาคต หากต้องการให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีความเป็นอิสระและคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น อาจระดมความคิดและเสนอแนวคิดการ
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

2) ปัญหาและแนวทางการพัฒนาการดำเนินงาน คือ (1) การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และ (2) การที่คณะรัฐมนตรีไม่นำความเห็นและข้อเสนอแนะไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ ควรวางนโยบาย แผน แผนงาน และโครงการปฏิบัติงาน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบและเวลาการปฏิบัติงานแต่ละขั้นตอน ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นองค์กรแห่งภูมิปัญญา รักษาผลประโยชน์ของประชาชน มีจุดยืน ให้คำปรึกษาที่เที่ยงตรง เป็นธรรม ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รวมตลอดทั้งเผยแพร่จำนวนความเห็นและข้อเสนอแนะที่ส่งให้คณะรัฐมนตรีต่อสาธารณะอย่างชัดเจนและต่อเนื่องด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการการศึกษาเพื่อกำหนดตัวชี้วัดตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. คู่มือการกำหนด
ตัวชี้วัดตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.
กรุงเทพมหานคร : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2542.

คำกล่าวเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง บทบาทของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในอนาคตในมุมมองของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุด ปัจจุบัน. ของ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นาย อานันท์ ปันยารชุน) วันที่ 21 – 23 ตุลาคม 2547, ณ อีสเทิร์น สตาร์ คันทรีคลับ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดระยอง.

ทิวา เงินยวง. รูปแบบองค์กรที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม. รายงาน การวิจัย เสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์
นิติธรรม, 2538

พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543.

พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547.

ระเบียบคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าด้วยการ สรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2544.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. การบริหารจัดการและการบริหารการพัฒนาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

และหน่วยงานของรัฐ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2548.

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เพชรรุ่ง การพิมพ์ จำกัด, 2546.

P P P P P