หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

     เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและการบริหารของไทยที่รัฐธรรมนูญได้จัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นโดยบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า อำนาจในการควบคุมตรวจสอบกฎหมาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ควบคุมตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กร หรือหน่วยงานที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พร้อมกับทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปฏิรูปการเมือง และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย จากความสำคัญและจำเป็นดังกล่าว  ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สนใจของประชาชน  องค์กรภาครัฐ และหน่วยงานเอกชน  อีกทั้งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น คณะผู้ศึกษาวิจัยจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”  ขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ โดยเฉพาะการเรียนการสอนด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และกฎหมาย รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติ เช่น เสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นทางวิชาการต่อศาลรัฐธรรมนูญ หน่วยงานและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น วุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการคัดเลือกและแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต ใช้เสริมหรือชี้นำสำหรับการพัฒนาที่ระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการพัฒนาที่ตัวบุคคล โดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้ประชาชน

     โครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมศาลรัฐธรรมนูญทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยให้น้ำหนักอย่างมากกับการวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งในภาพรวมและภาพย่อย  พร้อมกับนำภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ อันเป็นลักษณะของการนำคำวินิจฉัยในอดีตมาเป็นแนวทางในการบ่งบอกหรือทำนายแนวโน้มของคำวินิจฉัยในอนาคต ท้ายสุด ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาไว้ด้วย

     คณะผู้ศึกษาวิจัยได้ให้สัดส่วนของการทำวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษ ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ทำวิจัยสนามและยังได้จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกด้วย การวิจัยสนามนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นการวิจัยสนามโดยใช้แบบสอบถามเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองการปกครองและการบริหารตอบ อีกส่วนหนึ่งเป็นการวิจัยสนามโดยสัมภาษณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องครบทุกคน  ในการวิจัยเอกสารมิได้เป็นลักษณะของการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนมารวบรวม เรียบเรียง แล้วเขียนบรรยายหรือพรรณนา พร้อมวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยนั้น  แต่ได้ดำเนินการจัดกลุ่มและแยกประเภทคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ตัวเลขของแต่ละกลุ่มหรือประเภท ต่อจากนั้นจึงนำตัวเลขเสนอในตารางเพื่อพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์ ผลการวิจัยจึงแสดงให้เห็นถึง (1) ตัวเลขเกี่ยวกับภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (2) จำนวนประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (3) คะแนนเสียงคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน (4) คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  (5) ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาแต่ละเรื่อง และ (6) คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน เป็นต้น ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินการเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เห็นลักษณะและผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนในอดีตเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นพัฒนาการหรือแนวทางของคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนซึ่งในที่สุดจะกลายไปเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเป็นเสียงข้างมาก และยังมีส่วนช่วยให้ผลการวิจัยเอกสารโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์คำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนชัดเจน เป็นระบบ และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกด้วย

     มีเหตุผลหรือแรงจูงใจหลายประการที่ทำให้คณะผู้ศึกษาวิจัยทำวิจัยเรื่องนี้ ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่เพิ่งมีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและรักษาความศักดิ์สิทธิ์รัฐธรรมนูญที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประการที่สอง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญของไทยยังมีจำนวนจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญในเชิงการบริหารการจัดการ เช่น เรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ มีปรากฏให้เห็นน้อยมาก ประการที่สาม คณะผู้ศึกษาวิจัยต้องการนำความรู้ทางด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ และด้านการบริหารการจัดการที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกัน เพราะสอดคล้องกับลักษณะเนื้อแท้ของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน การเมืองการปกครองและการใช้อำนาจ รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินอย่างยิ่ง ประการที่สี่ ความรู้เกี่ยวกับศาลปกครองมิใช่เรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการ แต่เป็นเรื่องใหม่พอสมควรสำหรับประชาชนทั่วไปที่บางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น การศึกษาวิจัยเรื่องนี้จึงพยายามบรรจุความรู้ที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจประชาชน และยังอาจช่วยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยมีมาตรฐานเป็นสากล ประการที่ห้า คณะผู้ศึกษาวิจัยต้องการให้เป็นผลงานศึกษาวิจัยทางวิชาการที่ค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบพร้อมกับสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อเนื่องไปอีก รวมตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนวิชารัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแต่ประเทศไทยขาดแคลนอย่างมาก ประการสุดท้าย เป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของนักวิชาการที่ในช่วงชีวิตของการเป็นนักวิชาการนอกจากทำหน้าที่หลักในด้านการเรียนการสอน และการให้บริการทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังปัญญาอย่างเต็มที่เพื่อผลิตผลงานวิจัยทางวิชาการชิ้นเอกขึ้นอย่างน้อยหนึ่งชิ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ไม่เพียงต่อส่วนรวมเท่านั้น แต่เพื่อเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจต่อตนเองในฐานะนักวิชาการด้วย

     คณะผู้ศึกษาวิจัยระลึกอยู่เสมอว่า การเขียนหนังสือหรือการศึกษาวิจัยที่อ่านและเข้าใจยากจะไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากเท่าที่ควร ดังนั้น จึงได้นำเสนอผลการวิจัยในลักษณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านและเข้าใจได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านกฎหมายและด้านการบริหารการจัดการอย่างลึกซึ้ง คณะผู้ศึกษาวิจัยหวังว่าการศึกษาวิจัยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและประชาชนไม่มากก็น้อย หากมีข้อบกพร่องประการใด ยินดีน้อมรับและจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป สำหรับสัดส่วนความรับผิดชอบในการทำงานของโครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ แบ่งเป็น ผู้อำนวยการโครงการ ร้อยละ 80 ส่วนนักวิจัยและผู้ช่วย ร้อยละ 20 สำหรับที่ปรึกษาพิเศษของโครงการได้ให้คำแนะนำปรึกษาในทุกบท

     ท้ายสุดนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยขอขอบคุณหน่วยงานและบุคคลดังต่อไปนี้ มูลนิธิอาเซียที่ได้ให้ทุนสนับสนุนทั้งหมด สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนและนายกสมาคมทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มแรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สัมภาษณ์ ผู้ตอบแบบสอบถามทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนช่วยให้การศึกษาวิจัยครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดีนับแต่การช่วยหาข้อมูล การรวบรวมเอกสาร การติดต่อประสานงาน และการจัดหน้าผลงานวิจัย

                                                                       คณะผู้ศึกษาวิจัย

                                                                        มกราคม 2545

                                                สารบัญ

คำนำ

คำนำ โดย ดร. เจมส์ อาร์. ไคล์น

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่ 1 บทนำ

     1. ความสำคัญของเรื่องที่ศึกษาวิจัย

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

     3. สมมติฐานของการศึกษาวิจัย

     4. ขอบเขตและข้อจำกัดของการศึกษาวิจัย

     5. ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

     6. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาวิจัย

     7. ระเบียบวิธีศึกษาวิจัย

     8. คำจำกัดความ

     9. ระยะเวลาและแผนการดำเนินงานศึกษาวิจัย

     10. คณะผู้ศึกษาวิจัย

     11. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาวิจัย

     12. บทสรุป

บทที่ 2 แนวคิด

บทที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญไทย

บทที่ 4 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและ

             คำวินิจฉัยส่วนบุคคล

     1. คำวินิจฉัย ปี 2541 จำนวน 16 เรื่อง

     2. คำวินิจฉัย ปี 2542 จำนวน 54 เรื่อง

     3. คำวินิจฉัย ปี 2543 จำนวน 31 เรื่อง (คำวินิจฉัยที่ 1/2543

          ถึง 31/2543)

บทที่ 5 ผลการวิจัยเอกสาร

บทที่ 6  ผลการวิจัยสนาม และผลการสัมมนาทางวิชาการเพื่อ

              รับฟังความคิดเห็น

บทที่ 7 สรุปและข้อเสนอแนะ

ภาคผนวก

ผนวก 1 แบบสอบถาม

ผนวก 2 แนวคำถามเพื่อสัมภาษณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ

              อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

บรรณานุกรม

1. ภาษาไทย

2. ภาษาอังกฤษ

ประวัติผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัย

บทคัดย่อ

     โครงการศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ (1)  พิจารณาศึกษาแนวคิดและการบริหารการจัดการในเรื่องโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญไทย (2) วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องตั้งแต่ปี 2541 ถึง ปี 2543 (3) วิเคราะห์ภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (4) เสนอแนะผลการศึกษาวิจัยที่สามารถใช้เสริมหรือชี้นำสำหรับการพัฒนาที่ระบบและพัฒนาที่ตัวบุคคลควบคู่กันไป

     ระเบียบวิธีวิจัยที่นำมาใช้เป็นลักษณะของการผสมผสานการวิจัยเอกสาร วิจัยสนาม และการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น  การวิจัยเอกสารนั้นได้รวบรวมข้อมูลซึ่งแบ่งเป็นข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจากหนังสือ เอกสาร ข้อมูลที่ได้จากเครือข่ายระหว่างประเทศ และจากคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากผู้มีความรู้และมีประสบการณ์สูงเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการวิจัยสนามได้รวบรวมข้อมูลจาก 2 ส่วน ส่วนแรก  รวบรวมจากกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญแบบเจาะจง โดยให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 45 คน กรอกแบบสอบถามเองด้วยความสมัครใจ กลุ่มตัวอย่างนี้จำกัดเฉพาะผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สัดทัดกรณีทางการเมืองการปกครองและการบริหาร ซึ่งหมายถึงผู้ที่ให้ความสนใจและติดตามการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้มิได้มีอาชีพเป็นนักการเมืองก็ตาม อีกส่วนหนึ่ง รวบรวมจากการสัมภาษณ์แนวลึกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมจำนวน 14 คน ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญและให้สัดส่วนการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์การวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษ

     ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า ระบบการเมืองการปกครองและการบริหารของไทยมีส่วนสำคัญในการกำหนดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ ในระยะเริ่มแรกที่ฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีอำนาจในการปกครองประเทศ ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ  ต่อมาเมื่อระบบการเมืองการปกครองและการบริหารของประเทศเป็นประชาธิปไตยซึ่งสนับสนุนการมีส่วนร่วมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การควบคุมตรวจสอบ ตลอดจนการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหาร ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นในปี พ.ศ. 2541 และสืบทอดมาจนทุกวันนี้

     ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของระบบศาลไทย มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบที่ปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง  โดยประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 14 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวาง  พร้อมกับมีการบริหารงานบุคคลที่เน้นเรื่องคุณสมบัติและหลักประกันของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเน้นเรื่องความเป็นอิสระ ความมั่นคงในตำแหน่ง การได้ค่าตอบแทนสูง และความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวุฒิสภามีอำนาจถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และยังมีอำนาจถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย การที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคลดังกล่าวนี้เหตุผลส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของแนวคิดจากต่างประเทศที่เป็นสากล เป็นต้นว่า แนวคิดการรวมอำนาจ การกระจายอำนาจ การเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และรัฐธรรมนูญนิยมสมัยใหม่

     คำวินิจฉัยที่นำมาพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์เริ่มตั้งแต่ปี 2541 ถึง ปี 2543 มีจำนวน 1,403 เรื่อง แบ่งเป็น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 101 เรื่อง และคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 1,302 เรื่อง เมื่อจัดประเภทของปัญหาหรือคำร้องที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพบว่า ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมายและปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง มีแนวโน้มของคำวินิจฉัยที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 7.1 : 1 และ 8.8 : 1 ตามลำดับ แต่สำหรับปัญหาอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีแนวโน้มของคำวินิจฉัยที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 1 : 2.3 และ 1 : 8.9 ตามลำดับ

     การวิเคราะห์คำวินิจฉัยส่วนบุคคลยังปรากฏอีกว่า (1) มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนที่แสดงจุดยืนในการวินิจฉัย โดยมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอย่างเด่นชัด (2) มี 3 คน ที่มีคำวินิจฉัยส่วนบุคคลแตกต่างอย่างชัดเจนไปจากคำวินิจฉัยของ 2 กลุ่มใหญ่ที่วินิจฉัยว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” หรือ ”ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” โดยมีคำวินิจฉัยว่า “อื่น ๆ” ซึ่งหมายถึงให้ยกคำร้อง หรือศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง หรือไม่วินิจฉัยประเด็นหลัก เป็นต้น (3) มี 3 คน พิจารณาวินิจฉัยและยึดถือประเด็นหลักในการทำคำวินิจฉัยอย่างเคร่งครัด (4) มี 4 คน เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด โดยไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยเพียง 1 เรื่อง และ (5) มี 1 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ 11 เรื่อง จากทั้งหมด 101 เรื่อง

     ส่วนคะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่เป็น ”มติเอกฉันท์” น้อยกว่า “มติไม่เป็นเอกฉันท์” ในอัตราส่วน 1 : 2.7 และคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานมีจำนวนใกล้เคียงกับคำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน  เนื่องจากเป็นช่วงแรกหรือประมาณ 3 ปีเท่านั้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดตั้งขึ้นและเริ่มพิจารณาวินิจฉัย สำหรับระยะเวลาส่วนใหญ่ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือคำร้องจนแล้วเสร็จ คือ “ไม่เกิน 3-4 เดือน” คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด คือ 2 วัน มีจำนวน 2 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 1/2541 และคำวินิจฉัยที่ 26/2543 ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในเวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ 12 เดือน 28 วัน มี 1 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 1/2543

     ผลการศึกษาวิจัยสนามโดยใช้แบบสอบถามในเรื่องภูมิหลังของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงให้เห็นว่า (1) อายุ (2) การสำเร็จการศึกษาจากภายนอกประเทศ (3) การต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจน ตลอดจน (4) ปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ (1) เพศ (2) การนับถือศาสนา และ (3) สถานภาพการสมรส ไม่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือมาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์มีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางอนุรักษ์นิยม ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเสรีนิยม และมาจากผู้ทรงคุณสาขารัฐศาสตร์มีส่วนทำให้คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางประชานิยม อีกทั้งปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน คือ ประเภทเสรีนิยม

     ในส่วนของภูมิหลังเกี่ยวกับการศึกษาพบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สำเร็จการศึกษาจากในและนอกประเทศจะทำให้คำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในขณะนี้รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย สำหรับประสบการณ์ในการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำให้คำวินิจฉัยเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในขณะนี้คือ การเป็นนักวิชาการซึ่งหมายถึงนักนิติศาสตร์ หรือนักรัฐศาสตร์

     ผลการวิจัยสนามโดยใช้การสัมภาษณ์แนวลึกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทุกคนรวม 14 คนในเรื่องภูมิหลัง ทำให้ได้ความเห็นว่า มีจำนวน 13 คนเห็นว่าปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แบ่งเป็น 3 ประเภท อันได้แก่ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชานิยม มีผลต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้จัดตนเองว่ามีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทเสรีนิยม 4 คน, อนุรักษ์นิยม 2 คน, ลิเบอรัล-คอนเซอร์เวตีฟ 2 คน, ลิเบอรัล-ปอปปูลิส และอุดมคตินิยม ประเภทละ 1 คน เป็นต้น ผลการสัมภาษณ์ยังทำให้ได้ข้อมูลในแนวลึกเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ  อิทธิพลของประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อคำวินิจฉัย การไม่ได้เข้าร่วมประชุม ตลอดจนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

     ผลการศึกษาวิจัยได้สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานของการศึกษาวิจัยจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ (1) โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกันย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมาก (2) ภูมิหลังที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรม นูญ (3) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองของประเทศ  แต่ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานข้อที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

     สำหรับข้อเสนอแนะ มีดังนี้

     1. แนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ  แนวทางการพัฒนาโครงสร้างที่สำคัญมี 4 แนวทาง แนวทางที่ 1 ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 15 คนเช่นเดิม โดยปรับเปลี่ยนให้มีผู้พิพากษาในศาลฎีกา 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 5 คน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน แนวทางที่ 2 ประกอบด้วย 15 คนเช่นเดิม โดยปรับเปลี่ยนให้มีผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 5 คน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน แนวทางที่ 3 ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 13 คน โดยปรับเปลี่ยนให้มีผู้พิพากษาในศาลฎีกา  ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ กลุ่มละ 4 คน และให้มีตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน และ แนวทางที่ 4 ให้ประกอบด้วย 13 คน ปรับเปลี่ยนให้มีผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 5 คน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน ทั้งนี้ ควรประชาสัมพันธ์แสดงเหตุผล หรืออาจทำประชาพิจารณ์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว สำหรับแนวทางการพัฒนาอำนาจหน้าที่  คือ ประมวลอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนขึ้นและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมกับเพิ่มอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้รับคำร้องที่ยื่นโดยประชาชนได้โดยตรงแต่ต้องเป็นคำร้องที่เป็นปัญหาสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่อสังคมหรือประชาชนส่วนรวมเท่านั้น

     2.  แนวทางการพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยการขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชัดเจน เช่น ถ้อยคำที่ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ในการยุบพรรคการเมือง เป็นต้น

     3. แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น (1)  การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะกระบวนการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรมีหลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกภายในที่ชัดเจน บริสุทธิ์ ยุติธรรม เปิดเผย ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ควรรวมหลักเกณฑ์ที่สามารถนำบุคคลที่มีคุณสมบัติซื่อตรงคงมั่น  มีปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ประเภทเสรีนิยม มีความรู้ความสามารถด้านรัฐธรรมนูญที่สั่งสมมาช้านานซึ่งพิจารณาได้จากผลงานหรือเอกสารที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เข้ามาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญด้วย มิใช่เน้นเฉพาะเรื่องความเชี่ยวชาญหรือความรู้ความสามารถแต่เพียงด้านเดียวหรือสรรหาเพื่อให้ได้ผู้ที่สุภาพอ่อนโยน(nice guy) ซึ่งสอดคล้องกับสังคมไทย มากกว่าผู้มีคุณสมบัติดังกล่าว (2) การพัฒนาโดยประชาชน  หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ควร สนับสนุน ให้กำลังใจ และยกย่องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง หรือมีความแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด ขณะเดียวกัน ก็คัดค้านและต่อต้านเมื่อพบการดำเนินการในทิศทางตรงกันข้าม นอกจากนี้ ควรให้ความสนใจกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ในทางวิชาการอย่างเป็นระบบ รวมตลอดถึงการปลูกฝังให้ประชาชนสนใจเนื้อหาสาระภายในคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะให้ความสนใจเฉพาะผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น และ (3) การพัฒนาที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) ควรพิจารณาวินิจฉัยซึ่งรวมถึงการตีความขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไปในทิศทางกว้าง  โดยครอบคลุมสังคมไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและสภาพแวดล้อม (2) ไม่นำประสบการณ์หรือความเคยชินในทางที่ไม่เป็นคุณมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัย (3) ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อมประกอบด้วยมิใช่พิจารณาวินิจฉัยคำร้องตามที่ปรากฏในสำนวนที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเฉพาะที่คู่กรณีหรือผู้ร้องร้องมาหรืออ้างอิงมาเท่านั้น (4) การพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากความยุติธรรมภายใต้สังคมเผด็จการ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น (5) ไม่เกรงกลัวหรือหลีกเลี่ยงที่จะชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแม้ว่ากฎหมายนั้นจะได้ใช้มาช้านานแล้วก็ตาม (6) มีความพร้อมในการกลับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีเหตุผลเพียงพอ (7) ควรระมัดระวังในเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรม คุณธรรม ความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และการปลอดจากการเมือง เป็นพิเศษและสม่ำเสมอ ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม (8) ควรมีมาตรการป้องกันการวิ่งเต้นโดยยึดหลักการไม่เห็นแก่ตัวและเห็นประโยชน์ของประเทศชาติมากที่สุด และ (9) ควรใกล้ชิดประชาชน มีมนุษยสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความศรัทธาว่าเป็นครูใหญ่ของประเทศและเป็นศาลของประชาชน

     4. อื่น ๆ ที่สำคัญคือ (1) ควรแก้ไข  “ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541” ในประเด็นที่เกี่ยวกับการยกคำร้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการหาทางออกที่ชัดเจนในกรณีที่คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่ากัน (2)ควรกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาวินิจฉัยแต่ละเรื่อง (3) ควรตั้งประเด็นหลักในการวินิจฉัยให้ชัดเจนและยึดถือเป็นแนวทางในการพิจารณาวินิจฉัย (4) ควรแสดงแนวคิดและเหตุผลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยอย่างชัดเจนไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรม นูญ (5) ควรหามาตรการแก้ไขและป้องกันความล่าช้าในการประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษา และ (6) ควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเพิ่มขึ้นของคำร้องที่จะมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ  และการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน