หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

          ผู้บริหารสูงสุด เรียกย่อว่า ซีอีโอ (Chief Executive Officer) อาจนำไปใช้กับหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐ เฉพาะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดทั้งที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งได้กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยอำนาจหน้าที่ที่มอบให้แก่ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยงานอาจไม่เท่ากันได้ กอปรกับในยุคปฏิรูปการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ผู้บริหารสูงสุดดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (good governance) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นำหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน หลักความคุ้มค่า หลักการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หลักการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตลอดจนหลักการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน มาใช้ในหน่วยงานของตน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบริหาร งาน คน และเงิน ในระดับจังหวัดยังขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดดังกล่าวด้วย

         การพิจารณาศึกษาผู้บริหารสูงสุดระดับจังหวัด 4 รูปแบบ อันได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด น่าจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรนำมาเขียน ความสำคัญยิ่งมีมากขึ้นเมื่อหนังสือหรือการเขียนทำนองนี้มีให้เห็นไม่มาก ผู้เขียนจึงขอมีส่วนนำเสนอข้อมูลซึ่งแบ่งเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลที่เป็นความคิดเห็นผ่านทางหนังสือเล่มนี้ โดยเน้นการวิเคราะห์เปรียบเทียบด้านการบริหารจัดการของผู้บริหารสูงสุดดังกล่าว  สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาครั้งนี้นอกจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเรื่องผู้บริหารสูงสุดระดับจังหวัดให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไปแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผู้บริหารสูงสุดหรือหน่วยงานบริหารระดับจังหวัดได้อีกด้วย

        ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนปรารถนาที่จะให้เป็นหนังสือขนาดปานกลาง ตรงประเด็น ขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้เป็นหนังสือวิชาการที่มีการเขียนและการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นระบบด้วย จึงได้กำหนดให้เนื้อหาของหนังสือครอบคลุมในเรื่อง สภาพข้อเท็จจริงและการแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์เปรียบเทียบ "ลักษณะร่วม" ของผู้บริหารสูงสุด 4 รูปแบบ จุดเด่นและจุดด้อย ตลอดจนการแต่งตั้งและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

          หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนประมาณ 1 เดือน เพราะผู้เขียนได้สะสมข้อมูลไว้มากพอสมควร บวกกับประสบการณ์ทางวิชาการของผู้เขียนที่ได้เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ รวมตลอดทั้งประสบการณ์ในการเขียนหนังสือในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบมาหลายเล่มวัตถุประสงค์ที่จูงใจให้เขียนหนังสือเล่มนี้มีประการเดียว คือ คาดหวังจะให้เป็นหนังสือทางวิชาการ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะคนไทยเป็นจำนวนมากมีวัฒนธรรมการพูด คือชอบพูด แต่ไม่มีวัฒนธรรมการเขียน คือ เขียนน้อย จึงมีส่วนทำให้หนังสือตำราทางวิชาการในบางสาขาวิชาจึงมีไม่มากเท่าที่ควร

         หนังสือเล่มนี้คงไม่ได้สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปทราบและเข้าใจกันพอสมควร แต่ได้นำข้อมูลมาประมวลและจัดให้เป็นระบบ พร้อมกับนำเสนอด้วยตารางและภาพ เมื่อนำไปรวมกับการช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความทันสมัยทันเหตุการณ์ และข้อเสนอแนะที่ท้าทายแต่ไม่เพ้อฝัน ก็อาจเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ได้เล็กน้อย แต่ทั้งหมดนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้หน้าที่ของนักวิชาการอิสระที่ไม่จำเป็นฝักใฝ่ฝ่ายใด ส่วนข้อเสนอแนะจะไปเข้าทางฝ่ายใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         ผู้เขียนหวังว่า หนังสือเล่มนี้คงจะบังเกิดประโยชน์ต่อผู้สนใจพอสมควร และหากมีข้อบกพร่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ทุกประการ และยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไขต่อไป

                                                                    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                                    มกราคม 2546

 

สารบัญ

คำนำ

สารบัญ

บทที่ 1 บทนำ

     1. ความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา

     3. ขอบเขตของการศึกษา

     4. ข้อจำกัดของการศึกษา

     5. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา

     6. คำจำกัดความ

     7. ระเบียบวิธีศึกษา

     8. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา

บทที่ 2 สภาพข้อเท็จจริง

     1. ผู้ว่าราชการจังหวัด

          1.1 ความหมาย

          1.2 แนวคิดสำคัญ

          1.3 ความเป็นมา

          1.4 ที่มา

          1.5 โครงสร้าง

          1.6 อำนาจหน้าที่

2. ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ

          2.1 ความหมาย

          2.2 แนวคิดสำคัญ

          2.3 ความเป็นมา

          2.4 ที่มา

          2.5 โครงสร้าง

          2.6 อำนาจหน้าที่

3. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

          3.1 ความหมาย

         3.2 แนวคิดสำคัญ

         3.3 ความเป็นมา

         3.4 ที่มา

         3.5 โครงสร้าง

         3.6 อำนาจหน้าที

4. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

         4.1 ความหมาย

         4.2 แนวคิดสำคัญ

         4.3 ความเป็นมา

         4.4 ที่มา

         4.5 โครงสร้าง

         4.6 อำนาจหน้าที่

บทที่ 3 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ

     1. ภาพรวมการเมืองการปกครองและการบริหารของไทย

          1.1 สภาพการเมืองการปกครองระดับชาติ

          1.2 สิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุม

                 ตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ

          1.3 การบริหารราชการแผ่นดิน

          1.4 สาระสำคัญพื้นฐาน

2. การวิเคราะห์เปรียบเทียบความหมาย แนวคิดสำคัญ

     ความเป็นมา ที่มา โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่

          2.1 ความหมาย

          2.2 แนวคิดสำคัญ

          2.3 ความเป็นมา

          2.4 ที่มา

          2.5 โครงสร้าง

          2.6 อำนาจหน้าที่

3. จุดเด่นและจุดด้อย

          3.1 ผู้ว่าราชการจังหวัด

          3.2 ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ

          3.3 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

          3.4 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

4. การแต่งตั้งและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

          4.1 ความหมาย

          4.2 แนวคิดการแต่งตั้งและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

          4.3 ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการเลือกตั้ง

                 ผู้ว่าราชการจังหวัด

บทที่ 4 สรุปและข้อเสนอแนะ

     1. สรุป

     2. ข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

 

คำนำ ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2547

 

          ผ่านไปประมาณ 1 ปี หนังสือเรื่องนี้ได้เผยแพร่หมด มีผู้สนใจติดต่อมายังสำนักพิมพ์และผู้เขียน ทำให้ต้องจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นครั่งที่ 2 ในปี 2547 นี้ แนวคิดและเนื้อหาสาระส่วนใหญ่คงเดิม แต่มีส่วนแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นทั้งข้อเท็จจริง (fact) และความคิดเห็น (opinion) ดังนี้

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ ที่สำคัญคือ เดิมในระหว่างปี 2544-2545 มีผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ เรียกย่อว่า ผู้ว่าฯ ซีอีโอ จำนวน 5 คน ในจังหวัดทดลอง 5 จังหวัด ต่อมา ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 เรื่อง การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศใช้การบริหารแบบบูรณาการ โดยเห็นชอบให้
ผู้ว่าราชการจังหวัดและเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศทั้งหมดเป็นผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive Officer-CEO) และใช้การบริหารแบบบูรณาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป ดังนั้น เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ว่าฯ ซีอีโอ จึงทำให้มีจำนวน 75 คน ใน 75 จังหวัด โดยผู้ว่าฯ ซีอีโอ จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุด เป็นเจ้าภาพดูแลรับผิดชอบ ดำเนินการ ประสาน หรือติดตามการดำเนินงานต่าง ๆ โดยมีการประชุมหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินการและการป้องกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง และหากดำเนินการเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนและเกินขีดความสามารถหรือกรอบอำนาจที่จังหวัดได้ ก็ให้รีบแจ้งหน่วยงานส่วนกลางทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

          นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2546 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการระบบการมอบอำนาจ พ.ศ. 2546 รวมทั้งแนวทางปฏิบัติเรื่องการมอบอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัด

          2. ความเห็นเกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอ แบ่งเป็น ปัญหาอุปสรรค และความเห็นของผู้เขียน ตัวอย่างปัญหาอุปสรรค เช่น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547 คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและประเมินผลการปฏิรูประบบราชการ วุฒิสภา ได้แถลงผลการประเมินติดตามการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ และผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการหรือผู้ว่าฯ ซีอีโอ ว่า ได้มีการทำวิจัยเพื่อประเมินผลการทำงานของระบบผู้ว่าฯ ซีอีโอ และการบริหารงานแบบบูรณาการ ระหว่าง วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึง วันที่ 21 มกราคม 2547 ของกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว ผลวิจัยสรุปว่า “รัฐบาลคาดหวังกับระบบผู้ว่าฯ ซีอีโอ มากเกินไป และปัญหาที่พบคือ ส่วนราชการยังไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ ซีอีโออย่างแท้จริง หน่วยงานในจังหวัดยังมองผู้ว่าฯ ซีอีโอในลักษณะทำงานไม่ได้ และถือว่าผู้ว่าฯ ซีอีโอไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง แต่เป็นคนจากหน่วยงานอื่น ดังนั้น ทำให้การทำงานประสานงานภายในจังหวัดไม่เกิดประโยชน์ เรียกได้ว่าระบบผู้ว่าฯ ซีอีโอ ล้มเหลว เห็นได้จากปัญหาไข้หวัดนก และการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้ว่าฯ ซีอีโอไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย สุดท้ายรัฐบาลต้องลงไปดำเนินการเอง” ผลวิจัยดังกล่าว “ยังได้ระบุจุดอ่อน จุดแข็งของระบบบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ และผู้ว่าฯ ซีอีโอ เปรียบเทียบกัน และมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับระบบให้ดียิ่งขึ้น โดยข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ ควรร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการขึ้นมารองรับการทำงานของผู้ว่าฯ ซีอีโอโดยตรง เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ ไม่สามารถทำให้หน่วยงานอื่นประสานงานกับผู้ว่าฯ ซีอีโอได้ อีกทั้งจะสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ ซีอีโอง่ายขึ้น และป้องกันการทุจริตคอร์รับชั่น นอกจากนี้ ให้มีการออกระเบียบดูแลเงินที่เหลือจ่ายจากหน่วยงานอื่นในจังหวัด ให้ผู้ว่าฯ ซีอีโอสามารถเข้ามาดำเนินการงบประมาณส่วนนี้ได้” ไม่เพียงเท่านั้น นับแต่มีผู้ว่าฯ ซีอีโอมาได้ประมาณ 1 ปี ผลงานก็ยังไม่เด่นชัดจนแสดงให้เห็นข้อแตกต่างจากเดิมได้ สำหรับความเห็นด้านลบทั้งหลายปรากฏอยู่ในบทความ ในภาคผนวก ซึ่งใส่เพิ่มเข้ามา

          ปัญหาอุปสรรคอีกประการหนึ่งของผู้ว่าฯ ซีอีโอ คือ การเป็นระบบปิด ที่ผ่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ผู้ว่าฯ ซีอีโอ เป็นข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นทั้ง ๆ ที่มี 20 กระทรวง เช่นนี้ รัฐบาลได้หาทางแก้ไขโดยมีแนวคิดที่จะนำการสรรหาด้วยระบบเปิดมาใช้ ซึ่งมิได้หมายความว่าจะเลือกสรรบุคลากรจากภาคเอกชนให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่จะเปิดกว้างสำหรับข้าราชการจากทุกส่วนราชการและผู้ประสบความสำเร็จจากภาคธุรกิจเอกชนให้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกด้วยพร้อมกัน โดยอาจทำในบางจังหวัดเป็นจังหวัดนำร่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ว่าฯ ซีอีโอที่มาจากระบบเปิดนี้จะมีจำนวนเท่าใด มีผู้ชายและผู้หญิงจำนวนเท่าใด

          ในอีกมุมมองหนึ่ง ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ เชื่อว่า การมีผู้ว่าฯ ซีอีโอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการในระดับจังหวัดได้ และบางส่วนอาจมีความเชื่อว่า ผู้ว่าฯ ซีอีโอสามารถคานอำนาจนักเลือกตั้งในจังหวัดได้ด้วย เพราะการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งโดยตรงและกระจายอำนาจที่มากเกินไป ในขณะที่ระบบการเลือกตั้งหรือกลไกการควบคุมตรวจสอบทั้งภาครัฐ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมตลอดทั้งภาคเอกชน เช่น สื่อมวลชน และองค์การเอกชน ยังปฏิบัติงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยยังไม่อาจควบคุมตรวจสอบและลงโทษผู้เข้าสู่ตำแหน่ง โดยการเลือกตั้งอย่างทุจริตหรือผู้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ได้ เช่นนี้ ย่อมเกิดผลเสียได้ง่าย นักเลือกตั้งจะครองบ้านเมือง ครองจังหวัด และจะเพิ่มจำนวนผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในคราบของนักเลือกตั้งมากขึ้น ๆ ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจะถูกเบียดบังอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า การเลือกตั้งโดยตรงและการกระจายอำนาจที่มากเกินไป อาจมีผลเสียมากกว่าการแต่งตั้งหรือการรวมอำนาจ

          ในส่วนของผู้เขียน แม้ไม่เคยเห็นด้วยกับแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่เนื่องจากผลงานดีเด่นของรัฐบาล โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาของประเทศได้รับการแก้ไขอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามยาเสพติดยาบ้าการนำหวยใต้ดินขึ้นบนดินเพื่อนำเงินไปช่วยด้านการศึกษาแทนที่จะไปอยู่ในมือของเจ้ามือหวยเถื่อน หรือผู้มีอิทธิพล ตลอดจนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค บ้านและประกันชีวิตเอื้ออาทรที่คนยากจนได้รับประโยชน์ แน่นอน ผู้เสียผลประโยชน์ทั้งหลายย่อมไม่เห็นด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาเหล่านี้ จึงทำให้การคัดค้านแนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอของผู้เขียนเบาบางลง ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ใน “ระบบ” และ “ตัวบุคคล” ที่ว่า ระบบการเมืองการปกครองและการบริหารใด ๆ ในโลกนี้ ไม่มีที่สมบูรณ์ที่สุดหรือถูกต้องที่สุดตลอดเวลาหรือใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่อาจเหมาะสมหรือนำไปใช้ได้ในบางยุคสมัยหรือบางสถานการณ์เท่านั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวบุคคล ภาวะผู้นำหรือความรู้ความสามารถของผู้นำเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะผู้นำที่ไม่ธรรมดา (extraordinary person) และในบางสถานการณ์ถ้าผู้นำมีความรู้ความสามารถเคยมีผลงานที่ชัดเจนและมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคงแล้วก็สามารถนำระบบที่แม้ดูเหมือนว่าไม่ดีไม่เหมาะสม ไปปรับประยุกต์ให้เกิดผลต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมได้ เข้าทำนองว่า ในบางสถานการณ์ตัวบุคคลมีความสำคัญมากกว่าระบบ

          กล่าวได้ว่า แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอ ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ ถ้าซีอีโอใหญ่ คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่มีมาตรการควบคุมกำกับดูแลอย่างรัดกุม ใกล้ชิด เอาจริง เอาจัง และต่อเนื่อง ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาสำคัญในระดับจังหวัดสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ ซีอีโอ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ในช่วงปี 2545-2546 เป็นเวลา 1 ปี ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศในทุกจังหวัด การดำเนินงานตามนโยบายประสบผลสำเร็จและได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งที่ยังไม่มีผู้ว่าฯ ซีอีโออย่างเป็นทางการแม้แต่คนเดียว

          แนวคิดผู้ว่าฯ ซีอีโอนี้ มีแนวโน้มที่จะคงอยู่และดำเนินการต่อไปตราบเท่าที่ยังคงมีรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากนั้นไปแล้ว ควรจะยกเลิก เพราะจะขาดผู้นำที่คอยควบคุมกำกับดูแลดังกล่าว และผู้ว่าฯ ซีอีโอทุกคนที่ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีในระดับจังหวัดและเป็นข้าราชการประจำ ก็ไม่มีลักษณะผู้นำทำนองเดียวกับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งประเทศไทยในอนาคตอาจอยู่ในอีกสถานการณ์หนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ ซีอีโอแล้ว แต่ถ้ายังคงมีอยู่ต่อไปอีกผู้ว่าฯ ซีอีโอบางส่วนก็จะแปรสภาพไปเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผู้ว่าฯ ซีอีโอจำนวนไม่น้อยไต่เต้าขึ้นมาจากระบบเดิมและมีแนวคิดเดิมซึ่งอาจเหมาะสมในสถานการณ์หนึ่งการที่รัฐบาลพยายามเปลี่ยนจิตวิญญาณภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่น่าที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิด การกระทำ และความเคยชินที่ได้รับการปลูกฝังแน่นมา 20-30 ปี หรือเกือบตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยิ่งมีการออกกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อรองรับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ ซีอีโอด้วยแล้ว โอกาสที่จะยกเลิกผู้ว่าฯ ซีอีโอยิ่งยากมากขึ้น

          3. นำบทความเรื่อง“ผู้ว่าซีอีโอด้านลบ” มาใส่เพิ่มเติมไว้ในภาคผนวกท้ายเล่ม แม้บทความนี้ได้ลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการหลายแห่ง แต่ยังคงทันสมัย มีแนวคิดและเนื้อหาสาระที่ตรงประเด็น และเป็นเรื่องเดียวกัน

          4. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ ปลายปี 2546 พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 ได้ประกาศใช้ มีสาระสำคัญ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น กำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วยจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ดังนี้

 

               “มาตรา 35 ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น”

               “มาตรา 35/1 บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ บริหารส่วนจังหวัดต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม  ดังต่อไปนี้ด้วย

                    (1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

                   (2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าหรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

                    (3) ไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น

                    เลขานุการหรือที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง”“มาตรา 35/2 ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้งและมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้งแต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้"

                    ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง”

 

          สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากเป็นการสมควรกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ประกอบกับบทบัญญัติบางมาตราตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่เหมาะสมกับการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

          5. ในส่วนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 และมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 29 สิงหาคม 2547 ผลปรากฏว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

                                                               วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                               สาชาวิชาวิทยาการจัดการ มสธ.

                                                               โทร. 02–504 -7777 ต่อ 8181-5

                                                               e-mail :       wiruch@wiruch.com

                                                                       หรือ  msaswwir@stou.ac.th

                                                               website :          www.wiruch.com

                                                               31 สิงหาคม 2547