หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

 

 

  

 

คำนำ


      สืบเนื่องจากโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ทำให้มีการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 3 นี้ โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ดำเนินงานโดยยึดถือแนวทางเดิมเป็นหลักเพราะเป็นโครงการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง และต้องการให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน อย่างไรก็ดี มีหลายส่วนที่เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งได้แก่ การนำข้อมูลและตัวเลขที่สำคัญตั้งแต่คำวินิจฉัยปี 2541-2545 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ รวมทั้งจัดทำตารางดัชนีสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2545 รวม 64 เรื่อง เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ

          เนื้อหาของโครงการศึกษาวิจัยที่นำเสนอครั้งนี้ มีรายละเอียดอย่างสมบูรณ์ จึงทำให้โครงการนี้มีความจำนวนหน้ามาก ซึ่งถือว่าเป็น ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (full report) พร้อมกันนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยได้สรุปพร้อมข้อเสนอแนะไว้ในบทที่ 4 ถือว่าเป็น ผลงานวิจัยฉบับย่อ (short report) และยังมี บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (executive summary) ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สนใจได้เลือกศึกษาตามความต้องการ หากมีข้อบกพร่องประการใด ยินดีน้อมรับและจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป

          สำหรับสัดส่วนความรับผิดชอบในการทำงานของโครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ แบ่งเป็น ผู้อำนวยการโครงการ ร้อยละ 80 นักวิจัยและผู้ช่วย ร้อยละ 20 ส่วนที่ปรึกษาพิเศษของโครงการได้ให้คำแนะนำปรึกษาในทุกบท

          ท้ายสุดนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยขอขอบคุณมูลนิธิอาเซียที่ได้ให้ทุนสนับสนุนทั้งหมด สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน และนายกสมาคมทุกท่าน รวมทั้ง มูลนิธิ ศ. ดร. อมร รักษาสัตย์ ที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มแรก

 

                                                        คณะผู้ศึกษาวิจัย

                                                        กันยายน 2547

 

       หมายเหตุ การศึกษาวิจัยครั้งที่ 3 นี้ จัดพิมพ์ไว้ใน 3 เล่ม

             เล่มหนึ่ง (คำวินิจฉัยที่ 1/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 23/2545) หน้าปกเขียนว่า เล่มที่ 3 ส่วนที่ 1
             เล่มสอง (คำวินิจฉัยที่ 24/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 56/2545) หน้าปกเขียนว่า เล่มที่ 3 ส่วนที่ 2
             เล่มสาม (คำวินิจฉัยที่ 57/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 64/2545) หน้าปกเขียนว่า เล่มที่ 3 ส่วนที่ 3

 

บทคัดย่อ

 

ชื่อ                    : โครงการศึกษาวิจัย การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาล
                           และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 3

Title                 : Research on Analysis of the Decisions of
                           the Court and Justices of the
                           Constitutional Court, The Third

คณะผู้ศึกษาวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ ผู้อำนวย
                           การโครงการ

                           นายจินดากร บุญมาก นักวิจัย

                           นางสาวบุญทิวา พรเจริญโรจน์ ผู้ช่วย

ปี                      :  2547


           โครงการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง ครั้งที่ 3 ปี 2547 นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ (1) วิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่องตั้งแต่ปี 2545 จำนวน 64 เรื่อง แบ่งเป็น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 64 เรื่อง (คำวินิจฉัยที่ 1/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 64/2545) และคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 933 เรื่อง (2)วิเคราะห์เปรียบเทียบคำวินิจฉัยที่สำคัญบางเรื่อง ตั้งแต่ปี 2541-2544 (3) วิเคราะห์ภูมิหลังของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (4) เสนอแนะผลแนวทางการพัฒนา
โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรวมทั้งการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (5) จัดทำตารางสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2545 รวม 64 เรื่อง เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและค้นหา
          ระเบียบวิธีวิจัยที่นำมาใช้เป็นลักษณะของการวิจัยเอกสาร และการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น  โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ให้ความสำคัญและให้สัดส่วนการพิจารณาศึกษาและวิเคราะห์การวิจัยเอกสารมากเป็นพิเศษ การวิจัยเอกสารได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ถึง ธันวาคม 2547 รวม 8 เดือน สำหรับการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์วิจารณ์โครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 2 ปี 2546 (ตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 32/2543 ถึง คำวินิจฉัยที่ 51/2544 จำนวน 84 เรื่อง) โดย นายแพทย์ เหวง โตจิราการ ซึ่งนำเสนอไว้ในการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2546 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 13.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่คุรุสภา ชั้น 1 อาคารคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100 คน ประกอบด้วย นักวิชาการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นักการเมือง นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเซีย และสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน
          ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2545 จำนวน 64 เรื่อง มาจัดประเภทของปัญหาหรือคำร้องที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย พบว่า ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง และเมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในอัตราส่วน 12.2 : 1 และเมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
วินิจฉัยปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” หรือในอัตราส่วน 12.7 : 1
          การวิเคราะห์คำวินิจฉัยส่วนบุคคลยังปรากฏอีกว่า (1) มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 คนที่แสดงจุดยืนในการวินิจฉัย โดยมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอย่างเด่นชัด (2) มี 1 คน ที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก "มากที่สุด" คือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 96.9 (3) มี 2 คน ที่ได้วินิจฉัยหรือออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมาก “น้อยที่สุด” คือ ร้อยละ 51.6 (4) มี 1 คน เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือเข้าร่วมเป็นองค์คณะครบทุกเรื่อง และ (5) มี 3 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ จำนวน 17 เรื่อง เนื่องจากเดินทางไปราชการต่างประเทศพร้อมกัน
          ส่วนคะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่เป็น "มติเอกฉันท์” (ร้อยละ 56.3) มากกว่า “มติไม่เป็นเอกฉันท์” (ร้อยละ 43.7) ขณะที่คำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐานมีมากกว่า (ร้อยละ 62.5) คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 37.5) สำหรับระยะเวลาส่วนใหญ่ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือคำร้องจนแล้วเสร็จ "มากที่สุด" คือ 9-10 12 เดือนขึ้นไป คำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด คือ 13 วัน มี 1 เรื่อง ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 15/2545 (วันที่ 25 เมษายน 2545) ประธานรัฐสภา กับ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในเวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายราเชนทร์ เรืองทวีป กับ ประมวลรัษฎากรฯ ใช้เวลา 2 ปี 5 เดือน 14 วัน
          ในส่วนการพิจารณาศึกษาระยะเวลาระหว่างวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับวันประกาศคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏว่า คำวินิจฉัยส่วนใหญ่ใช้เวลา 9-12 เดือน โดยคำวินิจฉัยที่ใช้เวลาน้อยที่สุด มี 4 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 19-22/2545 (วันที่ 30 พฤษภาคม 2545) นายอานุภาพ สัตยประกอบ และผู้ร้องรายอื่น กับ พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบัน การเงินฯ มาตรา 27 และมาตรา 30 ใช้เวลา 7 เดือน 8 วัน ขณะที่คำวินิจฉัยที่ใช้เวลามากที่สุด มี 2 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายราเชนทร์ เรืองทวีป กับ ประมวลรัษฎากรฯ และคำวินิจฉัยที่ 49/2545 (วันที่ 12 กันยายน 2545) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส กับ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ ทั้ง 2 เรื่องนี้ใช้เวลาเท่ากัน คือ 10 เดือน 4 วัน
          ในการวิเคราะห์ภูมิหลัง พบว่า ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2545 นั้น ทุกคนเป็นชาย และแต่งงานแล้ว อายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2546 พบว่า ไม่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใด อายุต่ำกว่า 60 ปี โดยมีอายุ 60-65 ปี จำนวน 8 คน และอายุ 66-70 ปี จำนวน 7 คน ในส่วนของการศึกษา ทุกคนสำเร็จการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรี และมี 6 คน ที่สำเร็จเนติบัณฑิต มี 3 คน สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาโท และมี 4 คน สำเร็จการศึกษาสูงสุดขั้นสูงสุดระดับปริญญาเอก สำหรับประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการ มี 2 คน เคยมี
ประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายนิติบัญญัติ มี 13 คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายบริหาร และมี 7คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการในหน่วยงานของฝ่ายตุลาการ หรือปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการแม้หน่วยงานนั้นจะอยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหารก็ตาม  นอกจากนี้ มี 5 คน เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในฝ่ายวิชาการ
          ผลการศึกษาวิจัยได้สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานของการศึกษาวิจัยจำนวน 1 ข้อ ได้แก่  
         ”โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกัน ย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมากที่เป็นนักกฎหมาย” พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และกลุ่มที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น  แต่ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่า การที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้น
เกิดจากสาเหตุใด แต่ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐานข้อที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
          ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบครั้งนี้ ได้นำคำวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก คือ ตั้งแต่ปี 2541 ถึง สิ้นปี 2545 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน หรือตั้งแต่คำวินิจฉัยที่ 1/2541 ถึง คำวินิจฉัยที่ 64/2545 โดยเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 249 เรื่อง และคำวินิจฉัยส่วนบุคคล 3,387 เรื่อง
          เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบคำวินิจฉัย กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 นับแต่ปี พ.ศ. 2541-2545 ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 19 เรื่อง พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นองค์คณะหรือเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยครบทั้ง 19 เรื่อง มี 4 คน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมเป็นองค์คณะหรือเข้าร่วมวินิจฉัยไม่ครบทั้ง 19 เรื่อง มี 15 คน โดยมี 5 คน วินิจฉัยว่า “จงใจ” ทุกครั้ง ที่เข้าร่วมวินิจฉัยสำหรับการวิเคราะห์
เปรียบเทียบข้อมูลตัวเลขที่สำคัญ ปรากฏว่า
               1) ศาลเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากที่สุด รองลงมา คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา และอัยการสูงสุด ไม่ได้ยื่นคำร้องแม้แต่เรื่องเดียว
               2) จำนวนประเด็นหลักของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มี 1 ประเด็นหลักมากที่สุด (ร้อยละ 75.5) รองลงมา มี 2 ประเด็นหลัก
               3) ประเภทของปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย มากที่สุด คือ ปัญหาการตรวจสอบกฎหมายมีมากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง
               4) แนวโน้มคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า (1) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาการตรวจสอบกฎหมาย  คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในอัตราส่วน 6.8 : 1 (2) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญน้อยกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในอัตราส่วน 0.2 : 1 และ (3) เมื่อใดก็ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาองค์กรหรือพรรคการเมือง คำวินิจฉัยมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในอัตราส่วน 18.2 : 1
               5) คำวินิจฉัยที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พบว่า ในจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ7 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 249 เรื่อง มี 5 คน เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ผลการวิจัยเอกสารส่วนนี้ แสดงให้เห็นแต่เพียงว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลุ่ม 5 คนที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกานี้ 
มีคำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันในจำนวนมากน้อยเพียงใดเท่านั้น ผลการวิจัยเอกสารครั้งนี้ไม่สามารถบอกเหตุผลได้ว่าการที่คำวินิจฉัยเป็นไปในทิศทางเดียวกันของแต่ละกลุ่มนั้นเกิดจากสาเหตุใด 
               6) การเข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัย กล่าวได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงเวลาของคำวินิจฉัยครบทั้ง 249 เรื่อง นั้น มี 2 คน ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะน้อยที่สุด คือ เพียง 4 เรื่องเท่านั้น และมี 1 คน ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะมากที่สุด คือ จำนวน 27 เรื่อง
               7) คะแนนเสียงขององค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยมติไม่เป็นเอกฉันท์ (ร้อยละ 59.4) มีมากกว่า มติเป็นเอกฉันท์ (ร้อยละ 40.6)
               8) ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาแต่ละเรื่อง ปรากฏว่า ระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จนแล้วเสร็จมากที่สุด คือ 12 เดือนขึ้นไป ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยน้อยที่สุด คือ 2 วัน มี 2 เรื่องได้แก่ คำวินิจฉัยที่ 1/2541 และคำวินิจฉัยที่ 26/2543 สำหรับคำวินิจฉัยที่ใช้เวลาน้อยรองลงมา คือ คำวินิจฉัยที่ 6/2543 ใช้เวลา 5 วัน ส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ใช้เวลาพิจารณาวินิจฉัยมากที่สุด มี 1 เรื่อง คือ คำวินิจฉัยที่ 48/2545 ใช้เวลา 2 ปี 5 เดือน 14 วัน
               9) คำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน แบ่งเป็น คำวินิจฉัยที่ไม่ได้วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 53.0) มากกว่าคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐาน (ร้อยละ 47.0)                            
             10) การพิสูจน์สมมติฐาน พบว่า 
                     10.1) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า  “โครงสร้างหรือองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาและมีจำนวนแตกต่างกันย่อมทำให้ทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกลุ่มข้างมาก” (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-3)
                     10.2) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “ภูมิหลังที่แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลต่อทิศทางของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” เช่น ภูมิหลังที่เกี่ยวกับอายุ การต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสังคมอย่างชัดเจนประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดทั้งปรัชญาและแนวคิดทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อาจจำแนกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม และประชานิยม (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-2)
                     10.3) ผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนและยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองของประเทศ” เช่น มีส่วนช่วยพัฒนาประชาธิปไตยและปฏิรูปการเมือง พิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-2) และ
                     10.4) ผลการศึกษาวิจัยไม่สนับสนุนหรือยืนยันสมมติฐาน ที่ว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และ "ถึงแม้ว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเสียงอยู่ฝ่ายเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่นอนและชัดเจนว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลเหนือกลุ่มเสียงข้างมากหรือเหนือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดหรือมีอิทธิพลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดหรือมีคำวินิจฉัยที่สอดคล้องกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น" (เป็นสมมติฐานของการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1-3)
           สำหรับข้อเสนอแนะ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ได้เคยเสนอแนะไว้แล้วในโครงการศึกษาวิจัย ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยออกมาในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แม้จำนวนคำวินิจฉัยและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ อย่างน้อยจะมีส่วนช่วยยืนยัน เพิ่มน้ำหนัก และเพิ่มความมั่นใจในผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาและในครั้งนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะอื่นเพิ่มเติมไว้ด้วย ดังนี้
           1) แนวทางการพัฒนาโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรปรับเปลี่ยนจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังคงให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 15 คนเช่นเดิม แต่เพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ เป็น 5 คน เท่ากับจำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  โดยไม่ควรมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุด สำหรับแนวทางการพัฒนาอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ  คือ (1) จัดการอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนขึ้น (2) เปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงภายใต้เงื่อนไขซึ่งต้องเป็นปัญหาสำคัญและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่อสังคมหรือประชาชนโดยรวม รวมทั้ง (3) ควรมีแนวโน้มการตีความขอบเขตอำนาจของตนในทิศทางกว้างโดยครอบคลุมสังคมไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยและสภาพแวดล้อม                
             2) แนวทางการพัฒนาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ เช่น (1) ควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง อำนาจหน้าที่นี้ควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (2) ควรดำเนินการโดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการขยายความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชัดเจน เช่น ถ้อยคำที่ว่า "บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ" มาตรา 266 และ "องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ" ตามมาตรา 266            
             3) แนวทางการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ เช่น (1) กระบวนการสรรหาและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรมีหลักเกณฑ์ภายในที่ชัดเจนบริสุทธิ์ ยุติธรรม เปิดเผย ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ และเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ (2) ในกระบวนการสรรหาและเลือกบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ควรให้ความสำคัญกับประวัติการปฏิบัติงานเพื่อสังคมและควรพิจารณาถึงโยงใยหรือชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลของผู้เข้ารับการ
สรรหาและเลือกด้วย
            ในส่วนของการพัฒนาโดยประชาชน  เช่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคคล หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง และแทนที่จะให้ความสนใจผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าออกมาอย่างไรเท่านั้น ประชาชนซึ่งรวมทั้งนักวิชาการควรให้ความสนใจกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย
         สำหรับนักวิชาการแทนที่จะนำคำวินิจฉัยมาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงกฎหมายหรือในเชิงการใช้ดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย เป็นต้นว่า การพัฒนาที่ระบบหรือหลักเกณฑ์ภายในของกระบวนการสรรหาและเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการวิ่งเต้นเข้าสู่ตำแหน่ง เพราะเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้วก็จะไปรักษาผลประโยชน์ของพรรคพวกที่ช่วยวิ่งเต้นเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณกัน นอกจากนี้ ในกระบวนการสรรหาและ
เลือก ไม่ควรให้ความสำคัญกับผู้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญทางวิชาการหรือทางทฤษฎี โดยละเลยที่จะพิจารณาถึงอุดมการณ์และจิตวิญญาณเพื่อส่วนรวมด้วย เช่น ผู้เข้ารับการสรรหาและเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีประวัติที่เคยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารจัดการ ตลอดจนการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

 

ABSTRACT

Research Title :  Research on Analysis of the Decisions of
                         the Court and Justices of the Constitutional
                         Court III

Researcher : Wiruch Wiruchnipawan et al

Year : 2004

     This study has main objectives to (1) analyze the decisions of the court and justices of the constitutional court of the year 2002 (3) analyze and compare some significant decisions (3) analyze the background of the justices of the constitutional court (4) suggest the research results with a view to sustaining or guiding the improvement of the court and (5) make summary tables of the constitutional court decisions.

     The research methodology is composed of documentary research and academic workshop. Special concentration and extra volume are given to the documentary research.

     The analysis and comparision in terms of hypotheses show:

1. the research results support and confirm the hypothesis—“the constitutional court structure that the justices of the counstitutional court are stemed from different selections and numbers will lead the direction of the constitutional court decisions to the majority group” ( hypotheses of the research study I-III)

2. the research results support and confirm the hypothesis—“the different backgrounds of the justices of the counstitutional court will effect the direction of the court decisions (hypotheses of the research study I-II)

3. the research results support and confirm the hypothesis—“the constitutional court decisions will support the democratic approach and the political reform of the country” (hypotheses of the research study I-II) and

4. the research results do not support or confirm the hypothesis—“the head of the justices of the counstitutional court has influence over the decisions of the constitutional court” (hypotheses of the research study I-III)

     Most suggestions of this study coincide with the first and the second ones. All research results are not much different although the numbers of constitutional court decisions and the justices of the constitution court are changed. The results of this study strongly confirm the previous studies. However, additional suggestions are below:

1. the improvement of the constitutional court structure is needed, especially the increase of the number of the political science experts to be 5 which is equal to that of the judges of supreme court and the law experts. Additionally, there should not have the judges of administrative court

2. the constitutional amendment of the constitutional court authority especially on the abolition of the political party should be amended, this authority should belong to the Election Committee

3. In the justices of constitutional court’s selection process, the consideration of social service records, family records, social ideology and spirit is also needed

4. the system or interior criteria of the justices of constitutional court’s selection process should be improved to prevent political interference

 

 สารบัญ


คำนำ

คำนำ โดย ดร. เจมส์ อาร์. ไคล์น

บทคัดย่อ

สารบัญ

บทที่ 1 บทนำ (อยู่ในเล่มที่ 3 ส่วนที่ 1)

       1. ความเป็นมาของเรื่องที่ศึกษาวิจัย

       2. วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

       3. สมมติฐานของการศึกษาวิจัย

       4. ขอบเขตและข้อจำกัดของการศึกษาวิจัย

       5. ระเบียบวิธีศึกษาวิจัย

       6. ระยะเวลาและแผนการดำเนินงานศึกษาวิจัย

        7. คณะผู้ศึกษาวิจัย

       8. บทสรุป

บทที่ 2 การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยส่วนบุคคล

      1. คำวินิจฉัย ปี 2545 จำนวน 23 เรื่อง (อยู่ในเล่มที่ 3 ส่วนที่ 1)

           คำวินิจฉัยที่ 1/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 23/2545 

      2. คำวินิจฉัย ปี 2545 จำนวน 33 เรื่อง (อยู่ในเล่มที่ 3 ส่วนที่ 2)

           คำวินิจฉัยที่ 24/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 56/2545

           (หัวข้อข้างล่างต่อไปนี้ทั้งหมด อยู่ในเล่มที่ 3 ส่วนที่ 3)

      3. คำวินิจฉัย ปี 2545 จำนวน 8 เรื่อง

            คำวินิจฉัยที่ 57/2545 ถึง คำวินิจฉัยที่ 64/2545)

บทที่ 3 ผลการวิจัยเอกสาร

บทที่ 4 สรุปและข้อเสนอแนะ

       1. สรุป

       2. ข้อเสนอแนะ

ภาคผนวก

       ผนวก 1 ตารางดัชนีสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2545  
                     รวมทุกคำวินิจฉัย จำนวน 64 เรื่อง

       ผนวก 2 ผลการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็น

       ผนวก 3 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์  
                    คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 3"

บรรณานุกรม

ประวัติผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัย