หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

     พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ความเจริญหรือความเสื่อมของประเทศนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน ถ้าประชาชนด้อยการศึกษา จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ" เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาของประชาชนว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพ เมื่อมีคนมีคุณภาพ การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาชนบทก็ย่อมเจริญก้าวหน้าด้วย

     การพัฒนาให้ประชาชนมีคุณภาพนั้น  สถาบันการศึกษามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาด้านการพัฒนาชุมชน ย่อมมีบทบาทมากมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในชนบทอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ และยังมีความสำคัญอย่างมากต่อความอยู่รอดของประเทศ ดังที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวไว้ว่า "ชนบทไทยคือหัวใจของประเทศชาติ" ขณะเดียวกัน รัฐบาลปัจจุบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประชาชนในชนบท และได้ตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ในชนบทซึ่งได้สั่งสมกันมานาน จึงได้มีนโยบายสนับสนุนที่แน่นอนและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง

     หัวข้อ "หลักการพัฒนาชุมชน : บทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาชนบท" นี้ เป็นคำถามหรือวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ที่ต้องการจะได้รับคำตอบอย่างชัดเจน ดังนั้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงแบ่งเป็นบทต่าง ๆ 4 บทด้วยกัน เริ่มตั้งแต่กำหนดขอบเขตของการศึกษา อธิบายความหมายและแสดงถึงความสัมพันธ์ของคำต่าง ๆ ไว้ในบทที่ 1  กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาด้านการพัฒนาชุมชนที่มีต่อการพัฒนาชนบทว่ามีบทบาทอะไรบ้างในบทที่ 2 พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขหรือข้อเสนอแนะในบทที่ 4 อันเป็นบทสุดท้าย นอกจากนี้ ในภาคผนวก ข ยังได้มีการกล่าวถึงปรัชญาของการพัฒนาชุมชน 7 ประการ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาชุมชนไว้เสริมความรู้อีกด้วย

     หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา "หลักการพัฒนาชุมชน" (414 260) สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นในคณะต่าง ๆ ทั้งสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และอาจเป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้านพัฒนาชุมชนและการพัฒนาชนบท เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และการปฏิบัติต่อไป

     ผู้เขียนขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์เกรียงศักดิ์ เขียวยิ่ง  รองศาสตราจารย์วิไลวัจน์ กฤษณะภูติ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณ บัวทวน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุเทพ เชาวลิต  อาจารย์สมนึก ปัญญาสิงห์  อาจารย์สุนิสิต สุขิตานนท์  และอาจารย์สุรนาท ขมะณรงค์  ที่ได้ช่วยให้คำแนะนำชี้แนะต่าง ๆ ทางด้านวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อการเขียน ส่วนทางด้านกำลังใจนั้น บุคคลที่มีส่วนช่วยอย่างมากและจะเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกจาก นางนิภาวรรณ เตียงหงษากุล แม่ของลูกชายผู้เขียนซึ่งให้กำลังใจ สนับสนุนด้วยดีตลอดมา

     ท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้คงจะครอบคลุมและตอบคำถามได้มากเพียงพอกับความต้องการ ผู้เขียนได้พยายามอย่างที่สุดเท่าที่เวลาและข้อมูลอำนวยเพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่อง แต่ถ้าเกิดมีขึ้นก็ถือว่าเป็นเรื่องเกินขีดความสามารถของผู้เขียน และขอน้อมรับข้อบกพร่องไว้ทุกประการ

                                                    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (เตียงหงษากุล)

                                                    มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                                                    2529