คำนำ
หนังสือหรือตำราเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา
(Development Administration)
หรือเรียกให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า
การบริหารงานพัฒนาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวนหลายเล่ม
ได้ให้ความสำคัญกับการรับเอา
(adopt)
ทฤษฎีและแนวความคิดของการบริหารงานพัฒนาของต่างประเทศมาเผยแพร่ในประเทศไทย
ในขณะที่หนังสือหรือตำราเกี่ยวกับการนำเอาทฤษฎีและแนวความคิดของการบริหารงานพัฒนาชนบทของต่างประเทศที่ได้รับมานั้นไปประยุกต์
(apply) หรือปรับใช้ (adapt)
ให้เหมาะสมกับสภาพ
เงื่อนไข
และวัฒนธรรมของสังคมไทยมีอยู่ไม่มาก
การับเอาทฤษฎีและแนวความคิดของการบริหารงานพัฒนามาจากต่างประเทศมานั้น
นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในระยะเริ่มแรก
แต่หลังจากนั้นแล้ว
การปรับใช้ทฤษฎีหรือแนวความคิดนั้นให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย
หรือการพยายามสร้างทฤษฎีและแนวความคิดในการบริหารงานพัฒนาของไทยขึ้นมาเองบ้าง
ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้
เป็นความพยายามที่จะกระทำในประการหลังนี้
ซึ่งแน่นอน
ก็คงจะมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย
ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้
นำมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
เรื่อง "ขีดความสามารถในการบริหารงานพัฒนาของสภาตำบลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"
ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ประเภทการศึกษาวิจัยประยุกต์
(applied research)
ของผู้เขียนที่ได้ทำขณะศึกษาอยู่ในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หลักสูตรการบริหารการพัฒนา
โดยผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเอาข้อมูลและสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีประโยชน์จากวิทยานิพนธ์ดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเขียนหนังสือเรื่อง
"การบริหารงานพัฒนาชนบท
การพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารงานพัฒนาของสภาตำบล
: สาเหตุ
ปัญหาและแนวทางแก้ไข"
ผู้เขียนถือว่าการบริหารงานพัฒนาชนบท
เป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งของการบริหารงานพัฒนา
ได้แบ่งออกเป็น 5 บท
บทแรกเป็นบทนำ
ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา
วัตถุประสงค์และขอบเขต
กรอบแนวความคิด
และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
บทที่ 2
เป็นระเบียบวิธีศึกษา
บทที่ 3
เป็นการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่าง
ๆ บทที่ 4
แสดงถึงขีดความสามารถในการบริหารงานพัฒนาของสภาตำบลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และบทที่ 5 เป็นบทสุดท้าย
กล่าวถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารงานพัฒนาของสภาตำบล
: สาเหตุ ปัญหา
และแนวทางแก้ไข
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ไพบูลย์
ช่างเรียน ดร.ยุวัฒน์
วุฒิเมธี ศ.ดร.บุญทัน
ดอกไธสง รศ.ดร.ถวัลย์
วรเทพพุฒิพงษ์
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.ดร.พิชิต
พิทักษ์เทพสมบัติ
ที่ได้ช่วยให้ความรู้
คำแนะนำ
และแนวทางด้านระเบียบวิธีวิจัยซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นแนวทางที่ตรงประเด็น
กะทัดรัด ครอบคลุม
ไม่ซ้ำซาก
และไม่ยืดเยื้อ
บุคคลดังกล่าวนี้ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การเขียนครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
จึงทำให้มีโอกาสนำมาเผยแพร่ผ่านทางหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้
คงจะทำให้ผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป
หรือผู้มีความรู้
สามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย
พร้อมทั้งได้รายละเอียดมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านประเมินผลได้
นอกจากนี้แล้ว
ยังหวังอีกว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้
ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้เกิดการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป
หากหนังสือเล่มนี้มีคุณค่า
ผู้เขียนขอมอบให้แก่ผู้ให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายของผู้เขียน
และหากผู้อ่านท่านใดพบเห็นข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในหนังสือเล่มนี้
ขอความกรุณาช่วยชี้แนะแก่ผู้เขียนด้วย
จักเป็นพระคุณอย่างสูง
วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
ภาควิชาสังคมศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2536
|