หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

คำนำ

     การบริหารเมืองหลวงมีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีต สืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต กล่าวคือ เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งก่อตั้งประเทศขึ้น ก็จะต้องมีเมืองหลวงและมีการบริหารเมืองหลวงเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เช่น เมื่อไทยตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี การบริหารในเขตพื้นที่กรุงสุโขทัยก็เกิดขึ้นด้วย แม้ว่าต่อมาไทยจะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ก็ตาม การบริหารเมืองหลวงก็ยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ นอกจากนี้ ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่เพียงแต่มีรัฐบาลในส่วนกลาง (central government) หรือรัฐบาลกลาง (federal government) ทำหน้าที่บริหารในระดับประเทศ และมีรัฐบาลในท้องถิ่น (local government) ทำหน้าที่บริหารในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีการบริหารเมืองหลวง (capital administration) อยู่ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ไทยนอกจากมีรัฐบาลในส่วนกลางคือ คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศ พร้อมทั้งมีหน่วยการบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นแล้ว ยังมีหน่วยงานบริหารเมืองหลวงคือ กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration) อีกด้วย หรือในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่มีรัฐบาลกลาง รัฐบาลในมลรัฐ (state government) และรัฐบาลในท้องถิ่นเท่านั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีเทศบาลนครวอชิงตัน (City of Washington) เป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่บริหารเมืองหลวง หรือ กรุงวอชิงตันดี.ซี. (Washington D.C.) พร้อมกันไปด้วย เป็นต้น

     นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว การบริหารเมืองหลวงยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นการบริหารในเขตพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพื้นที่หรือเมืองอื่น ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย เป็นการบริหารในเขตพื้นที่ที่เป็นที่ประทับของประมุขของประเทศ เป็นที่ทำงานของผู้นำรัฐบาล เป็นเมืองที่หน้าเป็นตา เป็นแบบอย่างและเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศ ตลอดจนเป็นเมืองศูนย์กลางของความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการบริหารของประเทศ การติดต่อสื่อสารทั้งจากภายในและภายนอกประเทศจะมุ่งมาสู่เมืองหลวงเป็นอันดับแรกและต้องเกี่ยวข้องกับเมืองหลวงอยู่เสมอ

     ในปัจจุบันและในอนาคต เมื่อโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การบริหารเมืองหลวงจะยิ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยการบริหารเมืองหลวงมีส่วนชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จ     หรือความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย

     เมื่อการบริหารเมืองหลวงมีความสำคัญเช่นนี้ ประกอบกับยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่สนใจการบริหารเมืองหลวงของไทยและต่างประเทศ แต่หนังสือตำรา เกี่ยวกับเรื่องนี้หาได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเชิงศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญทำให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารเมืองหลวงอยู่ในวงจำกัด ดังนั้น ผู้เขียนจึงเขียนหนังสือเรื่อง “การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นเปรียบเทียบ : อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย” นี้ขึ้น โดยมีทั้งวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รอง 

     วัตถุประสงค์หลักมีหลายประการคือ เพื่อพิจารณาศึกษารวมทั้งเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของต่างประเทศและของไทยในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ รวมตลอดไปถึงการปรารถนาให้บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูล ข้อเท็จจริง ความรู้และความคิดเห็นดังกล่าวไปประยุกต์และพัฒนาการบริหารเมืองหลวงของไทยให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมมากที่สุดด้วย

     ส่วนวัตถุประสงค์รอง มีหลายประการเช่นกันคือ

     1. เพื่อต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การศึกษา ค้นคว้า การวิจัย และให้มีส่วนช่วยบริการความรู้แก่สังคมหรือสาธารณชน โดยเฉพาะในวิชาหรือในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารเมืองหลวง การบริหารท้องถิ่น การบริหารเมืองหลวงเปรียบเทียบ และการบริหารท้องถิ่นเปรียบเทียบ

     2. เพื่อผสมผสานความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ (การบริหาร) เข้ากับความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ (การปกครอง) ให้เหมาะกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

     3. เพื่อต้องการเผยแพร่แนวคิดที่ต้องการนำคำว่า การบริหาร (administration) มาใช้แทนคำว่า การปกครอง (government) ในคำหรือศัพท์บางคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรใช้คำว่า การบริหารเมืองหลวง และการบริหารท้องถิ่น แทน คำว่า การปกครองเมืองหลวง และการปกครองท้องถิ่น แนวคิดดังกล่าวนี้อาจเป็นจริงและถูกนำไปใช้อนาคตได้ หากมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้สังคมยอมรับ

     หนังสือเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 6 บท บทแรก เป็นบทนำ ซึ่งกล่าวถึงภาพรวมของการศึกษา บทที่ 2 กล่าวถึง การบริหารเมืองหลวง บทที่ 3-4 มุ่งให้ความสนใจกับการบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของต่างประเทศและของไทย ตามลำดับ บทที่ 5 เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ส่วนบทที่ 6 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย เป็นการสรุปและเสนอแนะ

     ผู้เขียนหวังว่า หนังสือเล่มนี้คงจะบังเกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจพอสมควร และหากมีข้อบกพร่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ทุกประการ และยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไขต่อไป

                                            วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                             ตุลาคม 2539

                                             สารบัญ

คำนำ 

สารบัญ

สารบัญภาพ

สารบัญตาราง

บทที่ 1 บทนำ

     1. ความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา 

     3. ขอบเขตของการศึกษา 

     4. ข้อจำกัดของการศึกษา

     5. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา

     6. ระเบียบวิธีศึกษา

     7. คำจำกัดความที่ใช้ในการศึกษา

     8. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา

     9. บทสรุป

บทที่ 2 การบริหารเมืองหลวง

     1. ความนำ

     2. ความสำคัญของการบริหารเมืองหลวง

     3. ความหมายของการบริหารเมืองหลวง

     4. แนวคิดและหลักการสำคัญของการบริหารเมืองหลวง

     5. การกระจายอำนาจ

     6. บทสรุป

บทที่ 3 การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของต่างประเทศ

     1. ความนำ

     2. การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของอังกฤษ

     3. การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา

     4. การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของฝรั่งเศส

     5. การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของญี่ปุ่น

     6. บทสรุป

บทที่ 4 การบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของไทย 

     1. ความนำ 

     2. วิวัฒนาการของการบริหารเมืองหลวงของไทย

          2.1 การบริหารเมืองหลวงสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

                 พ.ศ. 2475

          2.2 การบริหารเมืองหลวงสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

                 พ.ศ. 2475

     3. การบริหารเมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน

          3.1 ภาพรวมการบริหารเมืองหลวงและการบริหารท้องถิ่นของ

                 ไทย

         3.2 ความสำคัญและสภาพปัญหาของกรุงเทพมหานคร

         3.3 แนวคิดและหลักการ 

         3.4 วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง

         3.5 รูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่

         3.6 ข้อดีและข้อเสีย

         3.7 เปรียบเทียบการบริหารท้องถิ่นรูปแบบกรุงเทพมหานคร

                กับรูปแบบเทศบาล

     4. บทสรุป

บทที่ 5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ

     1. ความนำ

     2. การวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารเมืองหลวงของอังกฤษ

          สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย

     3. บทสรุป

บทที่ 6 สรุปและข้อเสนอแนะ

     1. สรุป

     2. ข้อเสนอแนะ

บรรณานุกรม

     1. ภาษาไทย

     2. ภาษาอังกฤษ

ภาคผนวก

     1. รูปแบบและโครงสร้างต่าง ๆ ในการปรับปรุงกรุงเทพมหานคร

     2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเมืองหลวงและการบริหาร

          ท้องถิ่นของไทย

     3. แผนที่