หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

     ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งหรือคำเรียกบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นชื่อที่ใช้เรียกในหลายประเทศ เช่น ฟิลลิปิินส์ ตุรกี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย โดยเรียกชื่อคล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน เช่น ผู้ว่าราชการมลรัฐ (state governor) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (prefectural governor) ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดยังเป็นตำแหน่งสำคัญในระดับจังหวัดที่มีเกียรติ ได้รับการยกย่องจากประชาชน ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง ผนวกกับการบริหารราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งผลกระทบถึงการบริหารราชการระดับชาติและระดับท้องถิ่นเสมอมา ไม่เพียงแต่เท่านั้น การบริหารรูปแบบจังหวัดหรือที่เรียกชื่ออื่น เช่น มลรัฐ มณฑล แคว้น หรือหัวเมือง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารนั้นได้ปรากฏอยู่ในหลายประเทศ การพยายามนำแนวคิด ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปแบบและโครงสร้างของจังหวัด อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนข้อดีข้อเสียของการเลือกตั้งและการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาพิจารณาศึกษาในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยเป็นสากลซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ พร้อมทั้งได้รับการยอมรับจากในและต่างประเทศแล้ว ยังสามารถนำความรู้เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและสังคมไทยอีกด้วย

     สำหรับไทยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ถือกันว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนขององค์พระมหากษัตริย์ ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามหัวเมืองต่าง ๆ และแม้กระทั่งปัจจุบันตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยก็ยังมีความสำคัญอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้แล้ว ในสมัยที่การปกครองประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการสนับสนุนอย่างมากในประเทศไทยนั้น นักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนบางส่วนได้มีแนวคิดที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในบางจังหวัดที่มีความพร้อม เหล่านี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินของทุกประเทศ

     ผู้ศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดและการวิเคราะห์เปรียบเทียบดังกล่าว จึงได้ศึกษาและเขียนเป็นหนังสือเรื่อง “ผู้ว่าราชการจังหวัดไทย : วิเคราะห์เปรียบเทียบกับผู้ว่าราชการจังหวัดของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น” นี้ โดยผู้ศึกษามีวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รองของการศึกษา ดังนี้

     วัตถุประสงค์หลักมี 3 ประการ ประการที่หนึ่ง ผู้ศึกษามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าให้ประเทศไทยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่สร้างประโยชน์และความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติได้มากกว่าเดิม ประการที่สอง ต้องการทำการศึกษาทางวิชาการ ซึ่งครอบคลุมทั้งการวิจัยเอกสารและการวิจัยสนามเพื่อให้ได้แนวคิด ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรูปแบบและโครงสร้างของจังหวัด อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนการเลือกตั้งและการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยและต่างประเทศในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ อันเป็นลักษณะของการเปรียบเทียบการบริหารราชการระดับจังหวัด ประการที่สาม ผู้ศึกษาต้องการเผยแพร่ผลการศึกษานี้ต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางสำหรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้ว่าราชการจังหวัดไทยให้บังเกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติต่อประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติ หรืออย่างน้อยที่สุดเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษาหรือการทำวิจัยในอนาคต

     ในส่วนของวัตถุประสงค์รองมี 3 ประการเช่นกัน ประการแรก ผู้ศึกษาต้องการให้หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการทางวิชาการต่อสังคมหรือสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด การเลือกตั้งและการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยและต่างประเทศ รวมตลอดไปถึงการวิเคราะห์เปรียบเทียบวิชาดังกล่าวด้วย   ประการที่สอง  เพื่อผสมผสานความรู้ที่สำคัญอย่างน้อย 4 ด้านเข้าด้วยกันในลักษณะของสหวิชาการ (interdisciplinary studies) อันได้แก่ ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ (การบริหารราชการแผ่นดิน รูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่) ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ (การได้มาของอำนาจ การใช้อำนาจ การปกครอง และการใช้พระเดชในการปฏิบัติราชการ) ความรู้ทางด้านการพัฒนาชุมชน (การพึ่งตนเองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการใช้พระคุณในการปฏิบัติราชการ) รวมทั้งความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ (กฎหมายหรือกฎระเบียบ และการใช้บังคับกฎหมาย) ทั้งนี้การผสมผสานความรู้ทั้ง 4 ด้านดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ประการที่สาม ผู้ศึกษาปรารถนาให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นไปในลักษณะที่กว้างขวางทั่วโลกและเป็นสากล ซึ่งเห็นได้จากการพิจารณาศึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยและต่างประเทศในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ

     หนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 7 บท โดยบทแรก เป็นบทนำ บทที่ 2 เป็น ภาคทฤษฎีซึ่งกล่าวถึงความสำคัญ ความหมาย แนวคิดและหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ว่าราชการจังหวัด บทที่ 3 เน้นเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัดของต่างประเทศ บทที่ 4 ให้ความสนใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย ในบทที่ 5 เป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสนาม และบทที่ 6 เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยนำข้อมูลและข้อเท็จจริงจากบทที่ 1-5 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ส่วนบทที่ 7 บทสุดท้าย เป็นสรุปและเสนอแนะ พร้อมกับเสนอตัวแบบ (models) การพัฒนาผู้ว่าราชการจังหวัด

     กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมไม่มีผู้ใดที่จะเห็นด้วยกับผลการศึกษาของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แต่ผู้ศึกษาได้ใช้กระบวนการวิจัยเอกสารและวิจัยสนาม ควบคู่ไปกับการพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบเต็มตามความรู้ ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้ศึกษา และเท่าที่โอกาสอำนวย อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาหวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะบังเกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจพอมากสมควรพร้อมไปกับการบรรลุวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รองดังกล่าวข้างต้น ในเวลาเดียวกัน ถ้ามีข้อบกพร่องใด ๆ เกิดขึ้น ผู้ศึกษาขอน้อมรับไว้ทุกประการและยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไขต่อไป

                                                       วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                       กุมภาพันธ์ 2541

สารบัญ

คำนำ

สารบัญ

สารบัญภาพ 

สารบัญตาราง

บทที่ 1 บทนำ 

     1. ความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา

     2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา 

     3. ขอบเขตของการศึกษา 

     4. ข้อจำกัดของการศึกษา 

     5. ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

     6. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา 

     7. คำจำกัดความ 

     8. ระเบียบวิธีศึกษา 

     9. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา 

     10. บทสรุป 

บทที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัด 

     1. ความนำ 

     2. ความสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด 

     3. ความหมายของผู้ว่าราชการจังหวัด 

     4. แนวคิดและหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ว่าราชการจังหวัด 

          4.1 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 

               4.1.1 ราชการบริหารส่วนกลาง 

               4.1.2 ราชการบริหารส่วนภูมิภาค 

               4.1.3 ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 

          4.2 หลักการบริหารราชการ 

               4.2.1 หลักการรวมอำนาจ 

               4.2.2 หลักการแบ่งอำนาจหรือหลักการมอบอำนาจ 

               4.2.3 หลักการกระจายอำนาจ 

     5. บทสรุป 

บทที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดของต่างประเทศ

     1. ความนำ 

     2. ผู้ว่าราชการจังหวัดของสหรัฐอเมริกา 

          2.1 ภาพรวมการบริหารราชการแผ่นดิน 

          2.2 รูปแบบและโครงสร้างจังหวัด 

          2.3 ผู้ว่าราชการจังหวัด 

               2.3.1 ความเป็นมาและที่มา 

               2.3.2 อำนาจหน้าที่ 

               2.3.3 ปัญหาอุปสรรค 

          2.4 สรุป 

     3. ผู้ว่าราชการจังหวัดของฝรั่งเศส 

          3.1 ภาพรวมการบริหารราชการแผ่นดิน 

          3.2 รูปแบบและโครงสร้างจังหวัด 

          3.3 ผู้ว่าราชการจังหวัด 

               3.3.1 ความเป็นมาและที่มา 

               3.3.2 อำนาจหน้าที่ 

          3.4 สรุป 

     4. ผู้ว่าราชการจังหวัดของญี่ปุ่น 

          4.1 ภาพรวมการบริหารราชการแผ่นดิน 

          4.2 รูปแบบและโครงสร้างจังหวัด 

          4.3 ผู้ว่าราชการจังหวัด 

               4.3.1 ความเป็นมาและที่มา 

               4.3.2 อำนาจหน้าที่ 

               4.3.3 ปัญหาอุปสรรค 

          4.4 สรุป 

บทที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย 

     1. ความนำ 

     2. ภาพรวมการบริหารราชการแผ่นดิน 

     3. รูปแบบและโครงสร้างจังหวัด 

          3.1 รูปแบบ 

          3.2 โครงสร้างจังหวัด 

     4. ผู้ว่าราชการจังหวัด 

          4.1 ความเป็นมาและที่มา 

               4.1.1 ความเป็นมาของผู้ว่าราชการจังหวัด 

                    4.1.1.1 สมัยสุโขทัย 

                    4.1.1.2 สมัยอยุธยา 

                    4.1.1.3 สมัยรัตนโกสินทร์ 

               4.1.2 ที่มาของผู้ว่าราชการจังหวัด 

                    4.1.2.1 ที่มาของผู้ว่าราชการจังหวัดในอดีต 

                    4.1.2.2 ที่มาของผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน 

          4.2 อำนาจหน้าที่ 

          4.3 ปัญหาอุปสรรค 

               4.3.1 ปัญหาอุปสรรคของผู้ว่าราชการจังหวัด 

               4.3.2 แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 

                    1) แนวคิดที่ 1 

                    2) แนวคิดที่ 2 

                         2.1) ฝ่ายสนับสนุน 

                         2.2) ฝ่ายคัดค้าน 

     5. บทสรุป 

บทที่ 5 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยสนาม 

     1. ความนำ 

     2. ลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง 

     3. รูปแบบและโครงสร้างของจังหวัด 

     4. อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด 

     5. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 

     6. ผลการสัมภาษณ์แนวลึกเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ 

     7. บทสรุป 

บทที่ 6 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ 

     1. ความนำ 

     2. การวิเคราะห์เปรียบเทียบผู้ว่าราชการจังหวัดของ

         สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย 

     3. บทสรุป

บทที่ 7 สรุปและข้อเสนอแนะ 

     1. สรุป 

     2. ข้อเสนอแนะ 

บรรณานุกรม 

ภาคผนวก 

แบบสอบถาม