หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ปฏิรูปการเมืองจากกรอบประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเผด็จการปนธนาธิปไตยปนคณาธิปไตย ให้มาเป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนมากขึ้น โดยเปลี่ยนรูปแบบและอำนาจหน้าที่ของสถาบันการปกครองอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้ตลอดเวลา

     รัฐธรรมนูญใหม่ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่หลายองค์กร เช่น ให้มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญจะได้วางกฎเกณฑ์วิธีการสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรเหล่านี้ไว้รัดกุมพอสมควรแล้ว แต่ปรากฏว่าบุคคลทั้งหลายที่ถูกเสนอชื่อมาก็คือคนไทยที่ได้รับการศึกษาอบรมมาในสังคมเก่า วุฒิสภาที่ให้ความเห็นชอบการสรรหาบุคคลก็เป็นสภาเก่าที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นศาลใหม่ที่ประกอบด้วยบุคคลรุ่นเก่า ซึ่งมักเป็นตุลาการที่ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติงานในกรอบปรัชญาของกฎหมายเอกชนตลอดชีวิต ต่างกับตุลาการที่มาจากสายรัฐศาสตร์ซึ่งศึกษาและมีโลกทัศน์ในแบบประชาธิปไตยและมีทัศนะทางกฎหมายในแนวกฎหมายมหาชน ดังนั้น  จึงไม่เป็นการแปลประหลาดมากนักที่ตุลาการที่มาจากสองสาขาวิชาการและอาชีพจึงมีทัศนะไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ควรสังเกตคือทัศนะที่แต่ละคนวินิจฉัยนั้นเป็นทัศนะที่ตรงตามหลักวิชา หลักความยุติธรรม หลักรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

     ศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2541 ถึงบัดนี้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยได้พิจารณาวินิจฉัยกรณีต่าง ๆ กว่า 100 กรณี แต่ปรากฏว่ามีกรณีประมาณ 20% ที่ประชาชน นักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ไม่เห็นด้วยอย่างมากจึงถูกท้วงติงอยู่ตลอดมา ในบรรดากรณีที่ถูกทักท้วงนั้นก็มีกรณีการวินิจฉัยสถานภาพของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเนวิน ชิดชอบ) เป็นกรณีอื้อฉาวที่สุด  เพราะเป็นคดีที่เข้าใจได้ง่ายไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่การวินิจฉัยกรณีกลับทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญหรือมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง เช่น การเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปในตัวบท การทำลายหลักความรับผิดชอบและคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สูงกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่

     การมีรัฐธรรมนูญแบบใหม่ มีศาลรัฐธรรมนูญใหม่ และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ อาจทำให้มีความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่การมีศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการที่จะดำรงตำแหน่งอยู่นานปีและมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สังคมจะต้องติดตามศึกษาอย่างวิเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าตุลาการท่านใดเห็นว่าทัศนะของตนไม่สอดคล้องกับทัศนะของมหาชน ก็ต้องปรับทัศนะของตนเสียใหม่ โดยควรยอมรับว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ถ้าตุลาการท่านนั้นยังดื้อดึงและยืนยันความถูกต้องในทัศนะของตน ประชาชนก็อาจจะร่วมกันเข้าชื่อขอถอดถอนเสียได้ หรืออย่างน้อยก็อาจไม่ยอมสนับสนุนให้แต่งตั้งกลับเข้ามาอีก (เฉพาะตุลาการรุ่นแรกที่มีวาระครึ่งเดียว)

     กรณีที่นำมาพิมพ์นี้เป็นกรณีศึกษาที่ต้องการเสนอให้ประชาชนติดตามตรวจสอบการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญว่าท่านใดมีทัศนะอย่างไรมากกว่าจะให้เป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีเนวิน ชิดชอบ ซึ่งบังเอิญมาเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีแรกในรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (4)

     ต่อไปนักศึกษารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ยังต้องติดตามผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนไปอีกหลายเรื่องหรือหลายสิบเรื่องจนกว่าจะตัดสินใจได้ว่า ตุลาการท่านนั้นมีทัศนะทางกฎหมาย ทางรัฐธรรมนูญ และมีพฤติกรรมส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ส่อไปในทางทุจริตหรือส่อไปในทางอื่น ๆ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 303 หรือไม่

     แม้ ดร. เจมส์ อาร์ ไคลน์ จะได้เขียนคำปรารภในทางส่งเสริมให้มีการศึกษาวิเคราะห์กฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยวิเคราะห์คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านเพื่อประโยชน์ของประชาชนสำหรับนำไปต่อสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดของประเทศได้ แต่ในรัฐธรรมนูญไทย ประชาชนนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ประชาชนไทยก็มีสิทธิริเริ่มขอถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ (คนอเมริกันทำไม่ได้ ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรริเริ่มขอถอดถอน) ดังนั้น คนไทยจึงต้องศึกษาคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์อย่างอื่นต่างกับคนอเมริกัน

     ในการศึกษาคำวินิจฉัยในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านตั้งข้อพิจารณาประเภทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้ไว้ด้วย

          1) ตุลาการท่านใดพิจารณาวินิจฉัยด้วยการพยายามหาแง่มุมทางกฎหมายมาเพื่อช่วยผู้ถูกร้องให้พันผิดเสมือนเป็นทนายจำเลย หรือหาทางลงโทษผู้ถูกร้องเสมือนเป็นทนายโจทก์ รวมทั้งตุลาการที่ตีความตามตัวอักษรทีละคำแบบครูไวยากรณ์

          2) ตุลาการท่านใดพิจารณาวินิจฉัยกรณีตามหลักกฎหมายเอกชน คือ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา อันเป็นภารกิจหลักของตุลาการในศาลยุติธรรม

          3) ตุลาการท่านใดพยายามพิจารณาวินิจฉัยในแง่ของหลักความยุติธรรมและหลักความชอบธรรม อันเป็นลักษณะของนักนิติศาสตร์

          4) ตุลาการท่านใดพยายามพิจารณาวินิจฉัยจากหลักประชาธิปไตย หลักอธิปไตยของประชาชน หลักสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวางของประชาชน หลักการใช้อำนาจรัฐอย่างแคบ หลักอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญควบคู่กับตัวบทบัญญัติเพื่อพิทักษ์ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเพื่อการปฏิรูปการเมือง

          ทั้งนี้จะต้องยอมรับว่าตุลาการประเภท 3 และ 4 เท่านั้นที่ควรจะเป็นตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ

     สำหรับการรวบรวมและจัดลำดับเรื่องในหนังสือนี้ ผู้รวบรวมถือหลักว่าจะทำเฉพาะเอกสารที่ใช้ติดต่อกันในทางราชการระหว่างสมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนกับรัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างหนึ่ง รวมทั้งความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อันนับได้ว่าเป็นความคิดเห็นต่อสาธารณะแล้วทั้งสิ้น ผู้รวบรวมไม่ได้นำความคิดเห็นส่วนตัวมารวมไว้ด้วยแต่อย่างใด

     ส่วนการจัดลำดับเรื่องนั้น ได้จัดลำดับไปตามวันเวลาที่เอกสารเหล่านี้ได้เขียนขึ้นหรือได้ตอบกัน การรวบรวมเอกสารในแบบนี้อาจทำเสียรสชาติในการอ่าน  แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์มากเพราะเป็นเอกสารปฐมภูมิเป็นส่วนมากและสะดวกในการค้นหา ส่วนภาคผนวกได้รวมเอกสารที่เกี่ยวกับแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งหาอ่านได้ยากและคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการ 13 คน เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นข้อคิดเห็นของแต่ละท่านโดยตรง

     ผู้รวบรวมขอขอบคุณ คุณจาริณี ชูตั้งต้น ซึ่งพิมพ์ต้นฉบับด้วยความยากลำบากและผู้ที่ช่วยบริจาคค่าจัดพิมพ์หนังสือนี้คือ มูลนิธิเอเซียและบุคคลต่าง ๆ ดังรายชื่อท้ายเล่ม เพราะสมาคมฯ ตั้งใจจะเผยแพร่หนังสือนี้ออกไปอย่างกว้างขวางที่สุด สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาอาจมาขอรับได้ที่สมาคมฯ ถ้าหากจะกรุณาช่วยค่าใช้จ่ายแก่สมาคมฯ ก็อาจขอซื้อได้ตามราคาหน้าปก

     เพื่อให้หนังสือนี้มีประโยชน์ต่อการปรับตัวและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  สมาคมฯ ได้แนบแบบสอบถามความคิดเห็นของท่านผู้อ่านให้ส่งคืนมายังสมาคมฯ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไปตามหลักการปกครองประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมและแบบที่ไม่มีใครยิ่งใหญ่จนแตะต้องไม่ได้คือแบบที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ทั้งนี้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของระบบและกลไกประชาธิปไตยตลอดทั้งการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยสืบไป

                                                            อมร รักษาสัตย์

                                                            วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                            มีนาคม 2543