หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

 

คำนำ

     "วิชาชีพใด ถ้าขาดเอกลักษณ์ของตนเองแล้ว ย่อมเจริญก้าวหน้าได้ยาก"  คำกล่าวนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวของผู้เขียน และเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเขียนหนังสือเล่มนี้ที่ต้องการให้ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนได้มีส่วนในการแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวิชาชีพพัฒนาชุมชนนี้ ทั้งนี้เพราะนักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ เช่น นักกฎหมาย นักปกครอง นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ นักบริหารและนักธุรกิจ ย่อมต้องมีปรัชญาของวิชาชีพที่ตนทำอยู่เป็นแนวทางในการประกอบวิชาชีพให้มีประสิทธิภาพและมีคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น นักพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ควรจะต้องมีปรัชญาที่จะใช้เป็นแนวทางหลักในการทำงานพัฒนา เพราะวิชาพัฒนาชุมชนนั้นมีมานานแล้ว แม้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันก็ตาม ตามประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าการพัฒนาชุมชนมีกำเนิดมานานควบคู่กับการเกิดของชุมชน หรือมีกำเนิดมาตั้งแต่การที่มนุษย์มารวมกันเป็นกลุ่มในชุมชนและได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้วิชาพัฒนาชุมชนได้มีการเจริญเติบโตและขยายตัวมากขึ้น มีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิด้า สงขลานครินทร์ เชียงใหม่ ศรีนครินทรวิโรฒ ขอนแก่น ตลอดจนวิทยาลัยครูต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจกันให้กระจ่างแจ้ง เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาที่ได้ผล

     นอกจากนี้ วัตถุประสงค์รองขอการเขียนหนังสือเล่มนี้ ได้แก่

     1. ต้องการเผยแพร่ปรัชญาของการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักการพัฒนาชุมชนให้กว้างขวางและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นโดยใช้ภาษาง่าย ๆ

     2. เพื่อช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจการพัฒนาชุมชนอย่างแจ่มแจ้งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะปรัชญาของการพัฒนาชุมชนขาดการเน้นหรือเอาใจใส่อย่างจริงจังจากผู้สอนและผู้เรียนทั้ง ๆ ที่เป็นแก่นแท้และเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและการพัฒนาชนบท

     3. เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนนั้นมิใช่เป็นสิ่งที่อ้างขึ้นมาลอยๆ แต่ได้มีนักปรัชญาตะวันตกหลาย ๆ ท่านสนับสนุนด้วย

     4. ต้องการนำเอาหลักรัฐศาสตร์มาผสมผสานกับหลักการพัฒนาชุมชน

     5. เพื่อต้องการให้เป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชนและสาขาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เรียนวิชาหลักการพัฒนาชุมชน ศาสนากับการพัฒนาชุมชน และการปกครองท้องถิ่นของไทย

     แม็คคิอะเวลลี่ (Machiavelli) นักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญซึ่งนักปกครองทุกท่านรู้จักดี ได้เขียนไว้ว่า กลยุทธ์ที่ใช้ทำงานในชุมชนนั้น อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการใช้พระเดช และการใช้พระคุณ พระเดชนั้นเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์แบบใช้อำนาจหรือการบังคับ (strategy of power) ส่วนการใช้พระคุณ เรียกว่าเป็นกลยุทธ์แบบสมัครใจ หรือการให้เข้ามามีส่วนร่วม (strategy of participation) และถ้าพิจารณาต่อไปอีกก็จะเห็นว่า กลยุทธ์แบบแรกนั้นก็คือ หลักรัฐศาสตร์ ส่วนแบบหลังคือหลักการพัฒนาชุมชนนั่นเอง

     ถ้าหากมีการยอมรับเป็นเบื้องแรกกันว่า ในสภาพปัจจุบันที่เป็นจริง ทั้งพระเดชและพระคุณ หรือการใช้อำนาจกับการมีส่วนร่วม หรือหลักการทางรัฐศาสตร์กับหลักการทางพัฒนาชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำงานพัฒนาในชุมชนทุกระดับ ซึ่งถ้าหากถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้การทำงานพัฒนาเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็จะมีคุณค่าอย่างมาก

     สำหรับผู้เขียนนั้น มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า หลักรัฐศาสตร์และหลักการพัฒนาชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก แต่แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีหรือมีผู้รู้น้อยรายมากที่นำเอาหลักการทั้งสองมาผสมผสานกันและเขียนเป็นรูปเล่มออกมาอย่างชัดเจน เท่าที่ผ่านมา ได้มีผู้รู้จำนวนมากที่ได้นำเอาหลักสังคมวิทยา หลักการศึกษา และหลักการเกษตร เป็นต้น มาผสมผสานกับหลักการพัฒนาชุมชน หนังสือเล่มนี้ เป็นความพยายามที่จะนำเอาหลักรัฐศาสตร์มาสัมพันธ์กับหลักการพัฒนาชุมชน

     แนวความคิดของนักปรัชญาตะวันตกนั้นมีอยู่มากมายที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของการพัฒนาชุมชน แต่การศึกษาแนวความคิดของนักปรัชญาทุกท่านนั้นอาจทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นจนไม่สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ หนังสือเล่มนี้ได้เลือกสรรแนวความคิดของนักปรัชญาตะวันตกที่ยิ่งใหญ่บางท่าน เช่น โสคราตีส พลาโต อริสโตเติล ซิเซโร ฮอบส์ ล็อค รูสโซ และมองเตสกิเออ ซึ่งแนวความคิดของท่านเหล่านี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า เป็นความคิดที่มีอิทธิพลต่อวงการเมืองในซีกโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างมาก และประการสำคัญก็คือ แนวความคิดของท่านเหล่านี้ได้มีส่วนสนับสนุนหลักปรัชญาของการพัฒนาชุมชน

     แนวการเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนพรรณนา (description) และวิเคราะห์ (analysis) จากข้อเขียนหรือวรรณกรรมของนักปรัชญาตะวันตกแต่ละท่านโดยตรง (textual analysis) และจากบทความหรือหนังสือที่ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขารัฐศาสตร์ได้ศึกษาและเผยแพร่ไว้ก่อน ซึ่งตอนใดที่ผู้เขียนหยิบยกมาหรือนำทัศนะมาก็ได้ทำเชิงอรรถไว้ เพื่อผู้สนใจจะได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม นอกจากนี้ แนวการเขียนหนังสือเล่มนี้ยังใช้แนวทางอุดมการณ์ (ideological approach) ก็คือถือหลักปรัชญา 7 ประการของการพัฒนาชุมชนเป็นหลัก แล้วนำเอาทฤษฎี แนวความคิด และหลักการของนักปรัชญาตะวันตกที่มีอยู่แล้วมาสนับสนุน เพื่อให้หลักปรัชญา 7 ประการนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น น่าเชื่อถือมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

     ผู้มีส่วนอย่างมากในการอ่านวิจารณ์ทุกบททุตอนอย่างละเอียด ทั้งในแง่วิชาการและแง่ภาษา ตลอดจนให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา ก็คือนางนิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ (เตียงหงษากุล) ซึ่งผู้เขียนต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

                                                 วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (เตียงหงษากุล)

                                                 กันยายน 2529

                                            สารบัญ   

คำนิยม ของ นายแพทย์ ดร. กระแส ชนะวงศ์

คำนิยม ของ ดร. ยุวัฒน์ วุฒิเมธี

บทนำ

ปรัชญาประการที่หนึ่ง "คนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ มีค่า และสำคัญที่สุด"

      แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. การศรัทธาในธรรมชาติที่ดีงามของคน

          2. การเห็นคุณค่าของความสำคัญของคน

     แนวความคิดของพลาโต

     แนวความคิดของอริสโตเติล

     แนวความคิดของซิเซโร

     แนวความคิดของล็อคและรูสโซ

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่สอง " คนเป็นสัตว์โลกที่สำคัญที่สุด"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. ความสามารถในการใช้ความคิด

          2. ความสามารถในการใช้เหตุผล

     แนวความคิดของอริสโตเติล

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่สาม "การรวมกลุ่ม"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. มนุษย์กับชุมชนอะไรเกิดก่อน

          2. สาเหตุการเกิดกลุ่ม

               2.1 เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ 

               2.2 เกิดจากความต้องการของมนุษย์

               2.3 เกิดจากมนุษย์เป็นสัตว์ทางวัฒนธรรม

               2.4 เกิดจากความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน

               2.5 เกิดจากความต้องการความปลอดภัย

               2.6 เกิดจากการแสวงหาอำนาจ 

          3. ทฤษฎีการกำเนิดกลุ่ม

               3.1 ทฤษฎีธรรมชาติ

               3.2 ทฤษฎีเทวสิทธิ์

               3.3 ทฤษฎีพละกำลัง

               3.4 ทฤษฎีสัญญาประชาคม

               3.5 ทฤษฎีวิวัฒนาการ

     แนวความคิดของโสคราตีส

     แนวความคิดของพลาโต 

     แนวความคิดของอริสโตเติล

     แนวความคิดของฮอบส์ 

     แนวความคิดของล็อค  

     แนวความคิดของรูสโซ  

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่สี่ "ความยุติธรรม"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. ความยุติธรรมตามสัดส่วนของความสามารถ

          2. ความยุติธรรมตามความจำเป็น

          3. ความยุติธรรมตามสิทธิของความเป็นมนุษย์

          4. ความยุติธรรมตามกฎหมาย

     แนวความคิดของโสคราตีส 

     แนวความคิดของพลาโต 

     แนวความคิดของอริสโตเติล

     แนวความคิดของล็อค

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่ห้า "การศึกษา"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. การศึกษาในโรงเรียน

          2. การศึกษานอกโรงเรียน

     แนวความคิดของโสคราตีส 

     แนวความคิดของพลาโต 

     แนวความคิดของอริสโตเติล 

     แนวความคิดของรูสโซ 

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่หก "หลักประชาธิปไตย"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. หลักการปกครองชุมชนในทุกระดับ

          2. ความหมายของประชาธิปไตย

          3. หลักการสำคัญของประชาธิปไตย

          4. ความเป็นมาของประชาธิปไตย

          5. รูปแบบของประชาธิปไตย

          6. บุคลิกภาพของคนตามหลักประชาธิปไตย

     แนวความคิดของล็อค

     แนวความคิดของรูสโซ

     บทสรุป

ปรัชญาประการที่เจ็ด "ความสมดุลของการพัฒนา"

     แนวความคิดที่สนับสนุน

          1. ทฤษฎีแห่งความสมดุล

          2. ความจำเป็นของทฤษฎีแห่งความสมดุล

     แนวความคิดของอริสโตเติล

     แนวความคิดของโพลิบิอุส

     แนวความคิดของล็อค

     แนวความคิดของมองเตสกิเออ

     บทสรุป

สรุปท้ายบท

บรรณานุกรม

     ภาษาไทย

     ภาษาอังกฤษ