หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

 

การบริหารจัดการและ
การบริหารการพัฒนา
ของหน่วยงานของรัฐ

Management Administration and

Development Administration of the State Agencies

 

คำนำ

          หนังสือเกี่ยวกับการบริหารการพัฒนา (development administration) นับวันจะมีให้เห็นน้อยลง ขณะที่หนังสือเกี่ยวกับการบริหารจัดการ (management administration) มีเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่การบริหารการพัฒนาและการบริหารจัดการมีความหมายแตกต่างกันไม่มาก เหตุผลที่นิยมการบริหารจัดการกันอย่างกว้างขวาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลที่มีพันตำรวจโท ทักษิณชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำการจัดการของภาคเอกชนเข้ามาใช้ในการบริหารราชการอย่างจริงจังและติดต่อกัน อีกทั้งยังเข้าใจกันว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นจากสภาพของการเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนาไปแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริง การพัฒนานั้น ไม่อาจจบสิ้นหรือสิ้นสุดลงได้จะยังคงมีอยู่ตลอดไป โดยคำว่า การพัฒนา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม และการพัฒนาเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นกิจกรรมหนึ่งแล้ว ก็จะยังคงมีการพัฒนาหรือมีการดำเนินการกับกิจกรรมอื่นต่อไปอีก
          คำว่า การบริหารจัดการ ได้ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อพุธวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ในสมัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และยังปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี อีกด้วย คำนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง แพร่หลาย และต่อเนื่องในสมัย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และแม้กระทั่งในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.. 2549-2550 ก็ยังคงใช้คำนี้เช่นกัน
          ส่วนคำว่า การบริหารการพัฒนา ได้ปรากฏในสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายก
รัฐมนตรี โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institue of
Development Administration หรือ NIDA) ในปี .. 2509 และต่อมา ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารการพัฒนาในคณะรัฐประศาสนศาสตร์ในสถาบันดังกล่าว
          กล่าวได้ว่า การบริหารจัดการ การบริหารการพัฒนา หรือแม้กระทั่งการบริหารการบริการ (service administration) แต่ละคำมีความหมายคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนมีอย่างน้อย 3 ส่วน คือ หนึ่ง ล้วนเป็น แนวทางหรือวิธีการบริหารงานภาครัฐที่หน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นำมาใช้ในการบริหารเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ สอง มีกระบวนการบริหารงานที่ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ การวางแผน (planning) การดำเนินงาน (acting) และการประเมินผล (evaluating) และ สาม มีจุดหมายปลายทาง คือ การพัฒนา
ประเทศไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นรวมทั้งประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงเพิ่มขึ้น สำหรับส่วนที่แตกต่างกัน คือ แต่ละคำมีจุดเน้นต่างกัน ซึ่งหมายความว่า  การบริหารจัดการเน้นเรื่องการนำแนวคิดการจัดการของภาคเอกชน เช่น การมุ่งหวังผลกำไร การแข่งขัน ความรวดเร็ว การตลาด การลดขั้นตอนและลดพิธีการ เข้ามาใช้การบริหารราชการ ในขณะที่การบริหารการพัฒนาให้ความสำคัญเรื่องการบริหารงานให้ป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และยังหมายถึง การพัฒนาระบบบริหารราชการด้วย โดยดำเนินงานตามนโยบาย แผน แผนงาน โครงการ (policy, plan, program, project) หรือกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ ส่วนการบริหารการบริการเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกและการให้บริการแก่ประชาชนที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เหล่านี้เป็นต้น
          คำว่า หน่วยงานของรัฐ (state agencies) เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นต้นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดแบบ
บูรณาการ (จังหวัดซีอีโอ) และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์การตามรัฐธรรมนูญ (organs under the constitution) โดยถือว่า องค์กรตาม
รัฐธรรมนูญเป็นหน่วยงานของรัฐด้วย และเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2540)
          
องค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับเหตุผลหรือมุมมองของแต่ละคนที่จะยกขึ้นมาอ้าง บางครั้งอาจใช้คำว่า “องค์กรอิสระของรัฐตามรัฐธรรมนูญ” หรือ “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” แต่ในที่นี้ ใช้ “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยไม่มีคำว่า “อิสระ” อยู่ด้วย เหตุผลสำคัญที่ใช้คำนี้เพราะไม่มีหน่วยงานของรัฐใดที่เป็นอิสระโดยแท้จากรัฐ ฝ่ายบริหาร เช่น คณะรัฐมนตรี และสำนักงานงบประมาณ รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น รัฐสภา และ
คณะกรรมาธิการของรัฐสภา มีอำนาจพิจารณางบประมาณขององค์กรดังกล่าว
 วุฒิสภายังมีอำนาจถอดถอนอีกด้วย นอกจากนั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2540) ก็มิได้มีบทบัญญัติใดที่ใช้ข้อความว่า “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ”
          คำว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีองค์ประกอบ 2 ประการ ประการแรก 
เป็นองค์กรที่มีชื่อปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2540) โดยมาตรา 266 ได้ใช้ถ้อยคำว่า
“องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ” และอีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2540) ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรตาม
รัฐธรรมนูญ จึงหมายถึง รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร
 วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะ
กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
          การศึกษา เรื่อง “การบริหารจัดการและการบริหารการพัฒนาของหน่วยงานของรัฐ” ครั้งนี้ ได้นำคำว่า การบริหารจัดการ การบริหารการพัฒนา และหน่วยงานของรัฐมารวมกันและพิจารณาศึกษา ทั้งนี้ ไม่เพียงต้องการแสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของการบริหารจัดการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเท่านั้น แต่ยังต้องการตอกย้ำแนวคิดและลักษณะสำคัญของการบริหารการพัฒนาให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคง เพราะเรื่องการพัฒนานั้น เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการต่อเนื่องที่ไม่สิ้นสุด เมื่อทำกิจกรรมหนึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็จะมีกิจกรรมอื่นตามมาอีกเรื่อยไป ขณะเดียวกัน ก็เตรียมรับคำที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เช่น การบริหารการบริการ ในที่นี้ได้นำหน่วยงานของรัฐจำนวน 9 หน่วยงานมาเป็นกรณีศึกษา คือ (1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึง (2) หน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดแบบบูรณาการ  (จังหวัดซีอีโอ) และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

          การศึกษาครั้งนี้อาจมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้ ผู้ศึกษาจะรวบรวมและนำไปแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป สำหรับข้อดีถ้าเกิดมีขึ้น ผู้เขียนขอมอบให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่มีจิตใจและการกระทำที่คิดและทำนอกกรอบเพื่อส่วนรวมในทิศทางที่ดีหรือคาดว่าดีกว่าเดิม แม้จะได้รับแรงต่อต้านก็ควรมีจิตใจแน่วแน่มั่นคงไม่ท้อถอย ในเวลาเดียวกัน ผู้ศึกษาไม่ลืมที่จะมอบความดีนี้ให้แก่นางสาววรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ลูกสาว ที่มุ่งมั่นสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ และยังสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มลรัฐแมสสะชูเซ็ทซ์ สหรัฐอเมริกา ได้อีกด้วย โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ก็จะนำความรู้ความสามารถมาตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและให้บริการประชาชนต่อไป

 

                                                           วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
                                                          สาขาวิชาวิทยาการจัดการ                                                            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถนนแจ้งวัฒนะ
                                                          อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
                                                           โทรศัพท์ 02-504-8181-4
                                                           เว็บไซต์ : www.wiruch.com
                                                           e-mail address : wiruch@wiruch.com
                                                           17 กรกฎาคม 2550

 

 

สารบัญ

 คำนำ
สารบัญ
                                         
สารบัญภาพ
สารบัญตาราง

 บทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการและการบริหารการพัฒนา

          1. แนวคิด ความหมาย และความสำคัญ

                      1.1 แนวคิดและความหมายของการบริหารจัดการ

                   1.2 แนวคิดและความหมายของการบริหารการพัฒนา

                   1.3 ความสำคัญของการบริหารการพัฒนา

            2. แนวคิดเกี่ยวกับประชาชน รัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                   2.1 แนวคิดเกี่ยวกับประชาชน

                   2.2 แนวคิดเกี่ยวกับรัฐ

                   2.3 แนวคิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

บทที่ 2 การบริหารการพัฒนาของไทย : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และ

            กระบวนการดำเนินงาน

            1. การบริหารการพัฒนาของรัฐสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

                   1.1 รัฐสภา

                   1.2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง

                   1.3 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

                   1.4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

                   1.5 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

                   1.6 ศาลรัฐธรรมนูญ 

 

            2. การบริหารการพัฒนาของหน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค

                และส่วนท้องถิ่น

                   2.1 หน่วยงานในส่วนกลาง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                   2.2 หน่วยงานในส่วนภูมิภาค : จังหวัดแบบบูรณาการ (จังหวัดซีอีโอ)

                   2.3 หน่วยงานในส่วนท้องถิ่น : กรุงเทพมหานคร

 

บทที่ 3 ปัญหาและแนวทางการพัฒนาของการบริหารการพัฒนาของไทย

          1. ปัญหาและแนวทางการพัฒนาของรัฐสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

                   1.1 รัฐสภา

                   1.2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง

                   1.3 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

                   1.4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

                   1.5 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

                   1.6 ศาลรัฐธรรมนูญ 

          2. ปัญหาและแนวทางการพัฒนาของหน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง 

                 ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

                   2.1 หน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

                   2.2 หน่วยงานของรัฐในส่วนภูมิภาค : จังหวัดแบบบูรณาการ (จังหวัดซีอีโอ)

                   2.3 หน่วยงานของรัฐในส่วนท้องถิ่น : กรุงเทพมหานคร

 

บทที่ 4 แนวโน้มของการบริหารการพัฒนาของไทย

          1. ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดแนวโน้มของการบริหารการพัฒนา

                   1.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

                   1.2 นโยบายของรัฐบาล

                   1.3 ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี

                   1.4 สถานการณ์บ้านเมือง

                   1.5 การเรียกร้องของประชาชน

                   1.6 อิทธิพลของกระแสโลก  

                   1.7 การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาค และโลก

 

            2.  แนวโน้มการบริหารการพัฒนาของรัฐสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

                  หน่วยงานของรัฐในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

                   2.1 ด้านบุคลากร (Man)

                   2.2 ด้านการเงิน (Money)

                   2.3 ด้านวัสดุอุปกรณ์ (Material)

                   2.4 ด้านการบริหารงานทั่วไป (Management)

                   2.5 ด้านการให้บริการประชาชน (Market)

                   2.6 ด้านคุณธรรม (Morality)

                   2.7 ด้านเวลา (Minute)

บรรณานุกรม