หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

 

                      พิมพ์ครั้งที่ 1, 2553                           พิมพ์ครั้งที่ 2, 2556
 

 

หลักการและเทคนิค

การเขียนงานวิจัย

วิทยานิพนธ์ และรายงาน

Principles and Techniques of

Research, Thesis, and Report Writing

โดย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ตุลาคม 2552
 

คำนำ


         
 เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่นักศึกษาควรจะมีความรู้ความสามารถในการเขียนผลงานทางวิชาการ เช่น งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และรายงาน ที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนหรือสถาบันการศึกษา เนื่องจากผลงานทางวิชาการดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษา แต่เท่าที่ผ่านมา มีนักศึกษาเป็นจำนวนมากประสบกับปัญหาจากการเขียนผลงานทางวิชาการที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร กล่าวคือ นักศึกษาบางส่วนเขียนอย่างขาดทิศทาง ขาดหลักการและเทคนิคการเขียน หรือขาดวิชาความรู้ แต่เขียนโดยใชความรู้สึกนึกคิดของตนเอง บางส่วนนำแนวทางการเขียนผลงานวิชาการมาจากเอกสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการเขียนผลงานทางวิชาการไม่ชัดเจน เข้าใจยาก และไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรมาเป็นแบบอย่าง ประกอบกับนักศึกษาไม่มีโอกาสได้รับการสอนหรือฝึกหัดการเขียนผลงานทางวิชาการจากครูอาจารย์มากเพียงพอ เนื่องจากไม่มีหลักสูตรหรือวิชาว่าด้วยการเขียนผลงานทางวิชาการ เหล่านี้ย่อมมีส่วนสำคัญทำให้ผลงานทางวิชาการของนักศึกษาได้รับการยอมรับอยู่ในวงจำกัด อันจะส่งผลด้านลบต่อการศึกษา

               หนังสือ “หลักการและเทคนิคการเขียนงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และรายงาน” เล่มนี้ ผู้เขียนได้นำมาจากบทความที่เคยเผยแพร่มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 และก่อนการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งนี้ ผู้เขียนได้เพิ่มเนื้อหาสาระ แก้ไขเพิ่มเติม และพัฒนาเป็นประจำเพื่อให้ทันสมัย เข้าใจง่าย ครอบคลุม และสมบูรณ์มากที่สุดโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จริงจากการที่ผู้เขียนได้ทำวิทยานิพนธ์ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมทั้งจากการสอนและการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักให้แก่นักศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จตามหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่า 75 เรื่อง โดยคาดหวังว่าเนื้อหาสาระในหนังสือเล่มนี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาในเรื่องการเขียนผลงานทางวิชาการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการและเทคนิคของการเขียนงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ รายงาน การวิเคราะห์การบริหารโครงการ รวมตลอดถึงการเขียนอ้างอิงทางวิชาการ และแนวคิดการบริหารจัดการของนักวิชาการ หน่วยงาน และกฎหมายที่นำมาใช้สนับสนุนการนำเสนอผลงานทางวิชาการ นอกจากนี้แล้ว นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปยังอาจใช้เป็นแนวทางหรือเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการเขียนผลงานทางวิชาการของตนเองให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้นต่อไปอีกด้วย

                หนังสือเล่มนี้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 บท ได้แก่ บทที่ 1 หลักการและเทคนิคการเขียนงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ บทที่ 2 หลักการและเทคนิคการเขียนรายงาน บทที่ 3 หลักการและเทคนิคการวิเคราะห์การบริหารโครงการ บทที่ 4 การเขียนอ้างอิงทางวิชาการ และบทที่ 5 แนวคิดการบริหารจัดการของนักวิชาการ หน่วยงาน และกฎหมายที่นำมาใช้สนับสนุนการนำเสนอผลงานทางวิชาการ

                 หากหนังสือเล่มนี้ มีประโยชน์และมีความดีเกิดขึ้น ผู้เขียนขอมอบความดีนั้นให้นักศึกษาปริญญาโททั้งหลายที่ผู้เขียนได้มีโอกาสแนะนำให้ความรู้ รวมทั้งมอบความดีให้ลูกชาย นายวีรฐา วิรัชนิภาวรรณ และลูกสาว นางสาววรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา และกำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เมื่อเรียนสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์กลับมารับใช้ประเทศไทย

 

                                              วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
                                              อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มสธ.
                                              ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11120
                                              โทร. 02-504-8181-4
                                              เว็บไซต์: www.wiruch.com
                                             อีเมล์ : wiruch@wiruch.com
                                             9 กันยายน 2552

 

 

คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 2

          เพื่อช่วยให้หนังสือ “หลักการและเทคนิคการเขียนงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และรายงาน” ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 เล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาสาระและสมบูรณ์มากขึ้น ผู้เขียนจึงได้เพิ่มเติมเนื้อหาสาระทางวิชาการ ซึ่งรวมทั้ง หนึ่ง การสร้างกรอบแนวคิด 2 แบบสำหรับการทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ สอง การเพิ่มตัวอย่างการเปรียบเทียบหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ หรือการบริหารจัดการภาครัฐ จาก 60 หัวข้อ เป็น 105 หัวข้อ สาม การนำเสนอ “แนวทางและเทคนิคการเขียนหัวข้อวิทยานิพนธ์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์” พร้อมตัวอย่าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สี่ “ขั้นตอนสำคัญของการเขียนรายงาน” ที่แสดงให้เห็นขั้นตอนสำคัญของการเขียนรายงานรวม 7 ขั้นตอน ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้การเขียนรายงานด้านการบริหารจัดการภาครัฐ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ไม่เลื่อนลอย และไม่ขาดวิชาการที่เป็นสากล เนื่องจากมีกระบวนการคิดและการนำเสนออย่างเป็นระบบ มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุม ครบถ้วน รวมตลอดทั้งมีการนำแนวคิดของนักวิชาการ หน่วยงาน และกฎหมายมาอ้างอิงสนับสนุนความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะของผู้ทำรายงานทำนองเดียวกับการที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาในอดีตมาอ้างอิงสนับสนุนคำพิพากษาคดีของตนเอง ทำให้ได้รับการยอมรับสืบต่อกันมา

          หวังว่า หนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้การนำเสนอแนวคิดด้านการบริหารจัดการภาครัฐ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ต่อสังคมเป็นวิชาการ ชัดเจน เป็นระบบ และได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ๆ

 

                                                วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย คณะรัฐประศาสนศาสตร์

                                                มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย (คลอง 5)

                                                ถนนรังสิต-นครนายก

                                                อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12110

                                                เว็บไซต์ : www.wiruch.com

                                                อีเมล์ : wiruch@yahoo.com

                                                9 กุมภาพันธ์ 2556

 

สารบัญ
 

1. หลักการและเทคนิคการเขียนงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์

2. หลักการและเทคนิคการเขียนรายงาน

3. หลักการและเทคนิคการวิเคราะห์การบริหารโครงการ

4. การเขียนอ้างอิงทางวิชาการ

5. แนวคิดการบริหารจัดการของนักวิชาการ หน่วยงาน และ
    กฎหมายที่นำมาใช้สนับสนุนการนำเสนอผลงานทางวิชาการ

ผลงานทางวิชาการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ตั้งแต่ปี 2529-2556

บรรณานุกรม