หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

การบริหารจัดการและ
การบริหารยุทธศาสตร์
ของ
หน่วยงานของรัฐ

Management Administration and
Strategic Administration of the State Agencies

  

 

โดย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พฤษภาคม 2554

 

คำนำ

 
              
คำว่า การบริหารจัดการ นำมาใช้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน โดยในอนาคต มีแนวโน้มว่า การบริหารจัดการของหน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจะไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากบุคลากรจำนวนไม่น้อยของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างมีการศึกษาหาความรู้ มีความสามารถ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่แตกต่างกัน รวมทั้งประสานงานกัน และบุคลากรของแต่ละภาคต่างมีโอกาสเข้าไปปฏิบัติงานในอีกภาคหนึ่ง เช่น หลังจากออกจากงานภาครัฐได้เข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือหลังจากออกจากงานภาคเอกชนได้ไปสมัครรับเลือกตั้งและเข้าไปปฏิบัติงานในภาครัฐในฐานะเป็นฝ่ายการเมือง หรือเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจที่ประกาศรับสมัคร คำว่า การบริหารจัดการ นั้น ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า management administration ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ตำรา และในหลายหน่วยงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา (ดูตัวอย่าง และรายละเอียดในบทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการและการบริหารยุทธศาสตร์) สำหรับประเทศไทย มีนักวิชาการและหน่วยงานหลายแห่งใช้คำภาษาอังกฤษว่า management แทนคำว่า การบริหารจัดการ ทั้ง ๆ ที่คำว่า management แปลว่า การจัดการ แต่ในที่นี้ได้ใช้คำว่า management administration เพราะเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ตำรา และในหลายหน่วยงานของต่างประเทศดังกล่าวแล้ว

               คำว่า การบริหารจัดการ เมื่อนำมาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ ได้ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2539 ในสมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และยังปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี อีกด้วย คำนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง แพร่หลาย และต่อเนื่องในสมัยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และแม้กระทั่งในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.. 2549-2550 ก็ยังคงใช้คำนี้เช่นกัน และใช้สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

               ส่วนคำว่า การบริหารยุทธศาสตร์ ในที่นี้ ได้ใช้คำว่า strategic administration เพราะคำว่า การบริหาร ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า administration แต่บางครั้งพบว่า ได้มีการให้ความหมายของการบริหารยุทธศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษว่า strategic management ซึ่งคำภาษาอังกฤษดังกล่าวนี้ น่าจะแปลว่า การจัดการยุทธศาสตร์ หรือการจัดการเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า

               กล่าวได้ว่า การบริหารจัดการ การบริหารยุทธศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการบริหารการพัฒนา (development administration) และการบริหารการบริการ (service administration) แต่ละคำมีความหมายของบางส่วนที่คล้ายคลึง หรือใกล้เคียงกัน หรือมีลักษณะร่วมที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างน้อย 3 ส่วน คือ หนึ่ง ล้วนเป็น แนวทาง หรือวิธีการบริหารงานภาครัฐที่หน่วยงานของรัฐ และ/ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ นำมาใช้ในการบริหารเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ สอง มีกระบวนการบริหารงานที่อย่างน้อยประกอบด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ การวางแผน (planning) การดำเนินงาน (acting) และการประเมินผล (evaluating) และ สาม มีจุดหมายปลายทาง คือ การพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมทั้งประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงเพิ่มขึ้น สำหรับส่วนที่แตกต่างกัน คือ แต่ละคำมีจุดเน้นต่างกัน ซึ่งหมายความว่า  การบริหารจัดการเน้นเรื่องการนำแนวคิดการจัดการของภาคเอกชน เช่น การมุ่งหวังผลกำไร การแข่งขัน ความรวดเร็ว การตลาด การลดขั้นตอนและลดพิธีการ เข้ามาใช้การบริหารราชการ ในขณะที่การบริหารยุทธศาสตร์ซึ่งนับได้ว่า เป็นการบริหารจัดการใหม่ หรือการบริหารใหม่แนวทางหนึ่ง และเมื่อนำคำนี้มาใช้กับหน่วยงานภาครัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเรียกว่า เป็นการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Administration) หรือการจัดการภาครัฐ (New Public Management) ที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ประกอบด้วย 5 ส่วน (ขั้นตอน) ได้แก่ (1) วิสัยทัศน์ (2) พันธกิจ (3) เป้าหมาย (หรืออาจเรียกว่า เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ หรือจุดหมายปลายทาง) (4) ยุทธศาสตร์ (หรืออาจเรียกว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือประเด็นยุทธศาสตร์) และ (5) แผนที่ทางยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดการบริหารยุทธศาสตร์ของแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานของรัฐ ส่วนการบริหารการพัฒนาให้ความสำคัญเรื่องการบริหารและการพัฒนานโยบาย แผน แผนงาน โครงการ (policy, plan, program, project) หรือกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐ ส่วนการบริหารการบริการเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกและการให้บริการแก่ประชาชนที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เหล่านี้เป็นต้น

               คำว่า หน่วยงานของรัฐ (state agencies) เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้กับหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาล เป็นต้นว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัด อำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (organs under the constitution) โดยถือว่า เป็นหน่วยงานของรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) ด้วย

               หนังสือ “การบริหารจัดการและการบริหารยุทธศาสตร์ของหน่วยงานของรัฐ” นี้ ได้นำคำว่า การบริหารจัดการ การบริหารยุทธศาสตร์ และหน่วยงานของรัฐมารวมกันและพิจารณาศึกษา ทั้งนี้ ไม่เพียงต้องการแสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของการบริหารจัดการในทางวิชาการที่นำไปใช้กันอย่างแพร่หลายเท่านั้น แต่ยังต้องการตอกย้ำแนวคิดและลักษณะสำคัญของการบริหารยุทธศาสตร์ และการวางแผนยุทธศาสตร์ โดยนำหน่วยงานของรัฐ 12 หน่วยงานมาเป็นกรณีศึกษา คือ (1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอัยการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2) ศาล ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง รวมตลอดถึง (3องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปและรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ทั้งนี้ เป็นการนำหน่วยงานของรัฐที่สำคัญและบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (.. 2550) มาศึกษาเพื่อให้เป็นงานวิชาการที่น่าสนใจ ทันสมัย แตกต่างจากที่เคยมีมา สอดคล้องกับสภาพของประเทศ และนำไปปรับใช้ได้

               การศึกษาครั้งนี้อาจมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นได้ ผู้ศึกษาจะรวบรวมและนำไปแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป สำหรับข้อดีถ้าเกิดมีขึ้น ผู้เขียนขอมอบให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่มีจิตใจและการกระทำที่คิดและทำนอกกรอบเพื่อส่วนรวมในทิศทางที่ดีหรือคาดว่าดีกว่าเดิม โดยไม่ควรมีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝง และแม้จะได้รับแรงต่อต้านก็ควรมีจิตใจแน่วแน่มั่นคงไม่ท้อถอยและมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปจนประสบผลสำเร็จ ในเวลาเดียวกัน ผู้ศึกษาไม่ลืมที่จะมอบความดีนี้ให้แก่นายวีรฐา วิรัชนิภาวรรณ ลูกชาย ที่แม้ไปเรียนและทำงานอยู่นิวยอร์คก็ยังคอยเป็นห่วงเป็นใยชาติบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งมอบให้นางสาววรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ลูกสาว ที่มุ่งมั่นสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปเล่าเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มลรัฐแมสสะชูเซ็ทซ์ สหรัฐอเมริกา และยังได้รับทุนทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้เรียนต่อระดับปริญญาเอก โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ก็จะนำความรู้ความสามารถมาตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและให้บริการประชาชนต่อไป
 

                                                     วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
                                                     สาขาวิชาวิทยาการจัดการ
                                                     มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถนนแจ้งวัฒนะ
                                                     อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
11120
                                                     โทรศัพท์
02-504-8181-4
                                                     เว็บไซต์
: www.wiruch.com
                                                     e-mail address : wiruch@wiruch.com  และ  
                                                    
wirmail@yahoo.com

                                                     27 พฤษภาคม 2554

 

สารบัญ


บทที่
1 แนวคิดการบริหารจัดการและการบริหารยุทธศาสตร์

                1. แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ

                                1.1 แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหาร

                          1.2 ความสำคัญของการบริหารภาครัฐ

                          1.3 ภาพรวมความเป็นมาของคำที่หมายถึงการบริหารภาครัฐ

                          1.4 ความหมายของการบริหาร

                           1.5 ความหมายของการจัดการ

                           1.6 ความหมายของการบริหารการพัฒนา

                           1.7 ความหมายของการบริหารจัดการ

                           1.8 การสรุปและการวิเคราะห์เปรียบเทียบ

                2แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารยุทธศาสตร์

                                 2.1 ความเป็นมา

                           2.2 ความสำคัญและประโยชน์

                           2.3 ความหมาย

                           2.4 ขอบเขตและสาระสำคัญ

                           2.5 ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารภาครัฐกับการบริหารยุทธศาสตร์

                3. แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารยุทธศาสตร์

                               3.1 การวิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก

                                หน่วยงาน

                           3.2 การวางแผนยุทธศาสตร์ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ

                                 เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่ทางยุทธศาสตร์และตัวชี้วัด

                           3.3 การดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ

                           3.4 การควบคุมและการประเมินผลยุทธศาสตร์

บทที่ 2 แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ของต่างประเทศ

                1. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ตามแนวทางการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

                                 1.1 ความเป็นมา ความหมาย และตัวชี้วัดการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

                           1.2 ลักษณะหน่วยงานที่นำการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปปรับใช้

                                ปัจจัย และประโยชน์ที่หน่วยงานและประชาชนจะได้รับ

                2. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ตามแนวทางการบริหารหน่วยงานแบบ

                     สมดุล แผนที่ทางยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัด

                                2.1 ความเป็นมา ความหมาย และตัวชี้วัดการบริหารหน่วยงานแบบสมดุล

                          2.2 แผนที่ทางยุทธศาสตร์ และประโยชน์ที่หน่วยงานและประชาชนจะ

                               ได้รับ

                3. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ตามแนวทางการบริหารความรู้

                          3.1 ความเป็นมา ความหมาย และตัวชี้วัดการบริหารความรู้

                          3.2 กระบวนการ ปัจจัย และประโยชน์ที่หน่วยงานและประชาชนจะได้รับ

บทที่ 3 แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐของไทย

                1. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                2. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

                          2.1 แนวคิดการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ และแผนยุทธศาสตร์ของ

                                ส่วนราชการ

                          2.2 แนวคิดการปฏิบัติราชการตามคำรับรองของหน่วยงาน

                          2.3 แนวคิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

                3. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์เกี่ยวกับคำรับรองการปฏิบัติราชการของ

                    จังหวัดอุบลราชธานี

                                3.1 ตัวอย่างคำรับรองการปฏิบัติราชการของจังหวัดอุบลราชธานี

                          3.2 ตัวอย่างคำรับรองการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด

                          3.3 ตัวอย่างสรุปแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี และแนวทาง

                               การพัฒนาการปฏิบัติราชการของจังหวัดอุบลราชธานี

                          3.4 ตัวอย่างการประเมินสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด 4 มิติ

                          3.5 ตัวอย่างตารางสรุปตัวชี้วัดและเป้าหมายตามยุทธศาสตร์จังหวัด

                               อุบลราชธานี

                4. แนวคิดการบริหารยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของ

                    กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

                             4.1 ที่มาและขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ

                               ของหน่วยงาน

                          4.2 การบริหารยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี

                               (พ.ศ. 2552-2555) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

บทที่ 4 กรณีศึกษาการบริหารยุทธศาสตร์ของหน่วยงานของรัฐ 

                1. กรณีศึกษาการบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

                               1.1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง

                          1.2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน

                          1.3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

                          1.4 องค์กรอัยการ

                          1.5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

             2. กรณีศึกษาการบริหารยุทธศาสตร์ของศาล

                                2.1 ศาลรัฐธรรมนูญ

                          2.2 ศาลปกครอง

               3กรณีศึกษาการบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                                3.1 การบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป
                                    3.1.1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด
                                    3.1.2 เทศบาล
                                    3.1.3 องค์การบริหารส่วนตำบล
                          3.2 การบริหารยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
                                    3.2.1 กรุงเทพมหานคร
                                    3.2.2 เมืองพัทยา

บทที่ 5 ภาพรวมปัญหาและแนวทางการพัฒนา การเปรียบเทียบ และปัจจัยที่มีส่วน

              สำคัญทำให้การบริหารยุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จ

               1. ภาพรวมปัญหาและแนวทางการพัฒนาของการบริหารยุทธศาสตร์ของไทย

                              1.1 ภาพรวมปัญหาการบริหารยุทธศาสตร์

                          1.2 ภาพรวมแนวทางการพัฒนาการบริหารยุทธศาสตร์

                2. การเปรียบเทียบภาพรวมการบริหารยุทธศาสตร์

                3. ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญทำให้การบริหารยุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จ

                                2.1 ปัจจัยภายใน

                          2.2 ปัจจัยภายนอก

             4. สรุป

 

 บรรณานุกรม