หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

คำนำ

     หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่จะพิจารณาศึกษาถึงการพัฒนาชุมชนในหลายประเทศที่มีอุดมการณ์เหมือนกันและแตกต่างกัน อันเป็นการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ คือศึกษาถึงนโยบาย แนวทาง หลักการ รวมทั้งสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในอดีต เพื่อให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการพัฒนาชุมชนตามอุดมการณ์นั้น ๆ ในแต่ละประเทศ

     เป็นที่ปรากฏชัดว่า อุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองและระบบเศรษฐกิจนั้นได้มีผู้รู้จำตวนไม่น้อแยกแยะไว้มากพอสมควร ซึ่งมีทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน แต่ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาศึกษาและเปรียบเทียบ จึงได้แบ่งการพัฒนาชุมชนออกเป็นอุดมการณ์ใหญ่ ๆ คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีบางประเทศที่มีการพัฒนาชุมชนตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ดังเช่นประเทศอังกฤษหรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะไม่ก้าวไปพิจารณาศึกษาถึง

     วัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือเล่มนี้มีหลายประการ แต่ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้คือ

          ประการแรก   ต้องการให้เป็นหนังสือตำราสำหรับการเรียนการสอนวิชาหลักการพัฒนาชุมชน (414 260) วิชาการพัฒนาชุมชนเปรียบเทียบ (414 368) และวิชาหลักรัฐศาสตร์ (414 140) ของภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นวิชาเลือกทั่วไปสำหรับนักศึกษา และในแต่ละภาคการศึกษามีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนรวมกันประมาณ 300 คน

          ประการที่สอง  เป็นความพยายามนำความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์มาผสมผสานกับความรู้ทางด้านการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชนบท ทั้งนี้เนื่องมาจากมีผู้นำเอาความรู้ทั้งสองด้านนี้ประยุกต์เข้าด้วยกันน้อยรายมาก เท่าที่ผ่านมาได้มีการนำความรู้ทางด้านสังคมวิทยา การศึกษา เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา เกษตร หรือสาธารณสุข เป็นอาทิ มาผสมผสานเข้ากับความรู้ทางด้านพัฒนาชุมชนเป็นส่วนมาก ความพยายามนี้เป็นการแสดงนัยให้เห็นในเวลาเดียวกันว่า การเมืองกับการพัฒนานั้นเป็นของคู่กันเสมอมาในทุกระดับของชุมชน อีกทั้งมนุษย์ทุกคนไม่อาจแยกตัวออกจากการเมืองและการพัฒนาได้ ทั้งนี้ด้วยมูลเหตุที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์การเมืองและเป็นสัตว์โลกที่มีการพัฒนาตัวเองได้ดีที่สุดตลอดเวลา

          ประการที่สาม   ในฐานะที่ประเทศไทยเป์นประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง ดังนั้นถ้าได้มีการพิจารณาศึกษาถึงนโยบาย แนวทาง ตลอดจนหลักการพัฒนาชุมชนของประเทศต่าง ๆ ทั้งที่มีอุดมการณ์เหมือนกันและแตกต่างกันน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยอย่างมาก ประเทศที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนทั้งสิ้น การศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของการพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ อาจนำมาเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงการพัฒนาชุมชนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

          ประการที่สี่   เป็นการชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาชุมชนสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่มีอุดมการณ์ประชาธปไตยหรือคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน เป็นการแสดงนัยให้เห็นว่า การพัฒนาชุมชนอาจจะประสบความล้มเหลวได้ แม้ว่าประเทศนั้นจะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ถ้าหากผู้นำประเทศขาดประสิทธิภาพ

     เพื่อให้การเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นหมวดเป็นหมู่ และมีระเบียบระบบ จึงได้มีการแบ่งการพิจารณาศึกษาออกเป็น 4 ภาค รวมทั้งภาคผนวกด้วย ได้แก่

          ภาคที่ 1  เป็นแนวความคิดเบื้องต้นซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นฐานให้เข้าใจถึงความหมายที่ใช้ในการพัฒนาชุมชนกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนรูปแบบของการพัฒนาชุมชนที่ปรากฏในประเทศต่าง ๆ

          ภาคที่ 2   เป็นการพัฒนาชุมชนในประเทศต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาศึกษาถึงลักษณะสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร โดยมีการพิจารณาศึกษาเป็นแบบอย่างเดียวกันทั้งหมดในเรื่อง ลักษณะทั่วไป ประวัติความเป็นมา สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนรูปแบบการพัฒนาชุมชนและหลักการที่สำคัญ ๆ ที่แต่ละประเทศได้ยึดถือเป็นนโยบลายและแนวทางปฏิบัติ

          ภาคที่ 3   เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ซึ่งมีการแบ่งแยกให้เห็นถึงหลักการสำคัญรวมไปถึงความเกี่ยวพันของการพัฒนาชุมชนในแต่ละอุดมการณ์ พร้อมกันนั้น ได้มีการพิจารณาศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และทางเลือกสำหรับการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย

        ภาคที่ 4  เป็นภาคผนวก ที่ได้นำเสนอการพัฒนาชุมชนในประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา โดยมีการพิจารณาศึกษาเป็นแบบอย่างเดียวกันกับในภาคที่ 2

     ท้ายที่สุด ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณหัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุเมธ แก่นมณี ที่ได้ให้การสนับสนุนในการผลิตตำราเสมอมา รองศาสตราจารย์เกรียงศักดิ์ เขียวยิ่ง และรองศาสตราจารย์วิไลวัจส์ กฤษณะภูติ ที่ได้คอยให้คำแนะนำ คำปรึกษา รวมทั้งช่วยชี้แนะแก่ผู้เขียนเมื่อประสบปัญหาต่าง ๆ และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ต้องขอขอบคุณนางนิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ  ที่ได้ร่วมถกเถียงปัญหาตลอดจนให้กำลังใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ตลอดมา

                                                                วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                                2530