หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก

Eastern Concepts of
Management
Administration

  

โดย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์

มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

พฤษภาคม 2557

 

คำนำ

 
              
หนังสือ “การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก” เล่มนี้ ได้นำคำว่า การบริหารจัดการ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า management administration มาใช้อย่างเต็มภาคภูมิเนื่องจากประเทศไทยได้ใช้คำว่า การบริหารจัดการ นี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนทุกวันนี้ ส่วนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา ก็ได้ใช้คำว่า management administration เช่นกัน โดยใช้ในวงวิชาการ ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน คำว่า การบริหารจัดการ ในที่นี้หมายถึง การดำเนินงานหรือการปฏิบัติงานที่หน่วยงาน และ/หรือ บุคลากรของหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน นำมาปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือสร้างความสุขความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ การให้ความหมายเช่นนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกของหนังสือเล่มนี้

                หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก แบ่งเป็น 6 บท ได้แก่ บทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการ บทที่ 2-5 การบริหารจัดการตามแนวคิดขงจื๊อ เล่าจื๊อ พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียง ตามลำดับ และบทที่ 6 สรุป วิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ โดยส่วนที่เป็นการวิเคราะห์ได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) การวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพรวมการศึกษาและการจัดแบ่งกลุ่มการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกที่จัดแบ่งกลุ่มตามกรอบแนวคิด 3M รวม 100 เรื่อง (2) การวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะร่วม หรือแนวคิดที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันของการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก และ (3) การวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพรวมการบริหารจัดการระหว่างแนวคิดตะวันออกกับแนวคิดตะวันตก สำหรับส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะนั้น มีเนื้อหาสาระครอบคลุม (1) แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก (2) การเสนอแนวคิดการบริหารจัดการที่สำคัญของขงจื๊อ เล่าจื๊อ พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปพัฒนาเป็นตัวแบบการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก และ (3) แนวโน้มการบริหารจัดการของไทยในอนาคต

                มีเหตุผลหลายประการที่ผู้เขียนตั้งใจอย่างแรงกล้าในการเขียนหนังสือเล่มนี้ 
                ประการแรก ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะจุดประกายโดยเสนอการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของประเทศไทย เพื่อนำเข้ามาถ่วงดุลการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันตกที่ประเทศไทยนำมาใช้อย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้
                ประการที่สอง ผู้เขียนเห็นว่า การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันตกไม่สอดคล้องกับสังคมไทยมากเท่าที่ควร เนื่องจากเน้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เสรีนิยม หรือบริโภคนิยม ให้ความสำคัญกับวัตถุ เงินตรา ประสิทธิภาพ กำไรสูงสุด ความรวดเร็ว การต่อสู้แข่งขัน ความเจริญก้าวหน้า เทคโนโลยีที่ทันสมัย และผลประโยชน์สูงสุด ในขณะที่การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกมีแนวโน้มที่สอดคล้องกับสังคมของชาวตะวันออก ซึ่งรวมทั้งไทย เนื่องจากเน้นด้านจิตใจ คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต การเสียสละ ความเมตตา ความพอเพียง สภาพของวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสุขความเจริญอย่างมั่นคงและยั่งยืนของประชาชนและประเทศชาติ
                ประการที่สาม การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกได้ถูกละเลย หรือไม่ได้นำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการของไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่นักวิชาการ และ/หรือ นักบริหารเป็นจำนวนมากไม่เห็นความสำคัญมากเท่าที่ควร บางส่วนยังสับสนกับแนวคิดตะวันออกว่าเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอย่างไร ไม่แน่ใจว่าจะนำไปประยุกต์หรือปรับใช้อย่างไร และยังไม่มีการเน้นหรือส่งเสริมให้นำแนวคิดตะวันออกมาปรับใช้กับสังคมไทยอย่างชัดเจน
              
ประการที่สี่ หนังสือที่มุ่งเน้นการนำแนวคิดตะวันออกมาปรับใช้กับการบริหารจัดการของไทยมีน้อยมาก หรือไม่มีให้เห็นอย่างชัดเจน ตรงประเด็น และเป็นระบบ
             
 ประการที่ห้า ผู้เขียนมีความเชื่อว่า นักวิชาการไทยควรหลีกเลี่ยงที่จะอ้างแนวคิดหรือทฤษฎีการบริหารจัดการของต่างประเทศตลอดเวลา โดยเฉพาะแนวคิดหรือทฤษฎีของประเทศตะวันตก เพราะสังคมตะวันตกมีสภาพแตกต่างจากสังคมตะวันออกและสังคมไทย แต่นักวิชาการไทยควรมีความคิดและการกระทำที่จะพัฒนาแนวคิดหรือทฤษฎีการบริหารจัดการของไทยขึ้นมาเองจากความรู้ ประสบการณ์ สภาพความเป็นจริง วัฒนธรรม และการปฏิบัติจริงของคนตะวันออก พร้อมกับนำไปปรับใช้หรือนำไปผสมผสานกับทฤษฎีหรือแนวคิดตะวันตกด้วย เช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจมากกว่าการไปแปลหรือคัดลอกมาจากต่างประเทศ และยังจะทำให้เกิดความภูมิใจในความเป็นคนตะวันออก หรือคนไทยอีกด้วย
               ประการที่หก การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่บุคคลตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนควรนำมาปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือสร้างความสุขความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้ประเทศชาติและประชาชน รวมไปถึงการอยู่ร่วมกัน และการทำกิจกรรมทั้งหลายด้วย และ
              ประการสุดท้าย เป็นการนำเสนอการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับแนวคิดตะวันออกที่ให้ความสำคัญกับด้านจิตใจและสภาพของวัฒนธรรม รวมทั้งยังเป็นการบริหารจัดการของคนตะวันออก โดยคนตะวันออก และเพื่อประโยชน์ของคนตะวันออกเอง

                สำหรับขอบเขตของการศึกษา เป็นการนำแนวคิดหรือข้อความสำคัญของผู้รู้หรือบุคคลสำคัญทางตะวันออก อันได้แก่ ขงจื๊อ เล่าจื๊อ พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียง มาตีความหรือขยายความ และจัดกลุ่มหรือจัดหมวดหมู่ไปในทิศทางตามกรอบแนวคิดการบริหารจัดการที่ประกอบด้วย 3 ด้าน เรียกว่า 3M อันได้แก่ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Man) ด้านการบริหารจัดการคุณธรรม (Morality) และด้านการให้บริการประชาชน (Market) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกไปประยุกต์หรือปรับใช้ หรือนำไปอ้างอิงสนับสนุนได้ง่ายและสะดวก รวมตลอดไปถึงการนำไปศึกษาต่อยอด ขยายผล หรือพัฒนา โดยไม่เน้นการนำแนวคิดแต่ละแนวคิดของผู้รู้หรือบุคคลสำคัญดังกล่าวมาวิเคราะห์เจาะลึก

                สำหรับเหตุผลที่จัดกลุ่มเป็น 3M เนื่องจาก (1) เป็นการนำเสนอการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกด้วยการสร้างกรอบแนวคิดการบริหารจัดการขึ้นมาเพื่อช่วยให้การศึกษาวิเคราะห์เป็นระบบ และ (2) เป็นการนำเสนอที่เน้นการบริหารจัดการด้วยการเลือกนำด้านที่สำคัญและเป็นสาระสำคัญของการบริหารจัดการทั้ง 3 ด้านมาจัดกลุ่ม โดยการบริหารจัดการด้านที่เกี่ยวข้องกับคนหรือทรัพยากรมนุษย์เป็นด้านที่สำคัญที่สุดเพราะคนเป็นหัวใจของการบริหารจัดการ อีกทั้งด้านคุณธรรมหรือด้านจิตใจก็เป็นด้านที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมหรือการกระทำของคน ส่วนด้านการให้บริการประชาชนมีความสำคัญและจำเป็นเนื่องจากบุคลากร ผู้บริหาร และ/หรือ หน่วยงาน จะต้องมุ่งเน้นไปที่การให้บริการประชาชนที่ตอบสนอง และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งทำให้ประชาชนพึงพอใจด้วย

                หนังสือเล่มนี้ นับเป็นเล่มที่ 40 ของผู้เขียนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ และหากหนังสือเล่มนี้มีความดีเกิดขึ้น ก็ขอมอบให้ลูกชาย นายอัชฌะศิษฎ์ (วีรฐา) วิรัชนิภาวรรณ และลูกสาว นางสาววรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ขอให้เป็นคนดีที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม พร้อมกับนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์กลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทย
 

                                                    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                    อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย คณะรัฐประศาสนศาสตร์
                                                   
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
                                                    200 ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 5) อำเภอธัญบุรี
                                                    จังหวัดปทุมธานี 12110  
                                                    โทร. 02-577-1027-31
                                                   
เว็บไซต์ : www.wiruch.com
                                                   
อีเมล์ : newemail2556@gmail.com และ
                                                                  wiruch@wiruch.com
                                                    
12 เมษายน 2557

 

สารบัญ


บทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการ

                1. บทนำ
                2. ความสำคัญและความจำเป็นของการบริหารจัดการ
               
3. ความหมายของการบริหารจัดการ
                4. ความสำคัญและความจำเป็นของการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
               
5. บทสรุป

บทที่ 2 การบริหารจัดการตามแนวคิดขงจื๊อ

                1. บทนำ
               
2. การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์
               
3. การบริหารจัดการคุณธรรม
               
4. การให้บริการประชาชน
                5. บทสรุป

บทที่ 3 การบริหารจัดการตามแนวคิดเล่าจื๊อ

                1. บทนำ
               
2. การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์
               
3. การบริหารจัดการคุณธรรม
               
4. การให้บริการประชาชน
                5. บทสรุป

บทที่ 4 การบริหารจัดการตามแนวคิดพระพุทธเจ้า

                1. บทนำ
               
2. การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารจัดการคุณธรรม
               
3. การให้บริการประชาชน
                4. บทสรุป

บทที่ 5 การบริหารจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

                1. บทนำ
                        1.1 ความสำคัญ ความเป็นมา และความหมาย
                       
1.2 สาระสำคัญของการบริหารจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
                               1.2.1 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ
                                       พระเจ้าอยู่หัว
                               1.2.2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                               1.2.3 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                2. การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์
               
3. การบริหารจัดการคุณธรรม
               
4. การให้บริการประชาชน
                5. บทสรุป

บทที่ 6 สรุป วิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ

                1. สรุป
                        1.1 สรุปความหมายของการบริหารจัดการ และแนวคิดตะวันออก
                        1.2 สรุปการจัดแบ่งกลุ่มเพื่อการศึกษา และขอบเขตของการศึกษา
                        1.3 สรุปการบริหารจัดการตามแนวคิดขงจื๊อ
                        1.4 สรุปการบริหารจัดการตามแนวคิดเล่าจื๊อ
                        1.5 สรุปการบริหารจัดการตามแนวคิดพระพุทธเจ้า
                        1.6 สรุปการบริหารจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
                2. วิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ
                        2.1 วิเคราะห์
                               2.1.1 การวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพรวมการศึกษาและการจัดแบ่ง
                                       กลุ่มการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกของขงจื๊อ เล่าจื๊อ
                                       พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียงโดยจัดแบ่งกลุ่มตาม
                                       กรอบแนวคิด 3
M รวม 100 เรื่อง
                               2.1.2 การวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะร่วม หรือแนวคิดที่เหมือนกัน
                                       หรือคล้ายคลึงกันของการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
                                       ของขงจื๊อ เล่าจื๊อ พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียงที่จัดแบ่ง
                                       กลุ่มตามกรอบแนวคิด 3
M
                               2.1.3 การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดและส่งเสริม
                                       การบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออกระดับประเทศของไทย
                                       8 ประการ
                               2.1.4 การวิเคราะห์แนวคิดตะวันออกที่สำคัญของจีน
                               2.1.5 การวิเคราะห์เปรียบเทียบภาพรวมการบริหารจัดการระหว่าง
                                       แนวคิดตะวันออกกับแนวคิดตะวันตก
                       2.2 ข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิด
                             ตะวันออก
                              
2.2.1 ภาพรวมแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิด
                                       ตะวันออกระดับประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับ
                                       ประเทศชาติและประชาชน
                              
2.2.2 แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
                                       สำหรับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อนำมาปรับ
                                       ใช้ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน
                              
2.2.3 แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
                                       สำหรับภาคเอกชน พ่อค้า และนักธุรกิจเพื่อนำมาปรับใช้ใน
                                       การทำธุรกิจ
                               2.2.4 แนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
                                       สำหรับประชาชนเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาตนเอง และ
                                       ในการติดตามตรวจสอบหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
                               2.2.5 การเสนอแนวคิดการบริหารจัดการที่สำคัญของขงจื๊อ เล่าจื๊อ
                                       พระพุทธเจ้า และเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปพัฒนาเป็น
                                       ตัวแบบการบริหารจัดการตามแนวคิดตะวันออก
                               2.2.6 แนวโน้มการบริหารจัดการของไทยในอนาคต

บรรณานุกรม

ผลงานทางวิชาการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2557