หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

50 แนวคิด ตัวชี้วัด ตัวแบบของการบริหารจัดการ
และการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

50 Concepts, Indicators, Models
of Management
Administration
and Sustainable Management Administration

  

โดย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์

มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

กุมภาพันธ์ 2559

 

คำนำ

 
              หนังสือ “50 แนวคิด ตัวชี้วัด ตัวแบบของการบริหารจัดการ และการบริหารจัดการที่ยั่งยืน” เล่มนี้ ได้นำคำว่า การบริหารจัดการ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า management administration มาใช้อย่างเต็มภาคภูมิ (ในขณะที่นักวิชาการ หรือผู้รู้อื่นอาจแปล หรือใช้คำว่า management หรือ administration แทนคำว่า การบริหารจัดการ) มีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนที่แสดงว่า ประเทศไทยได้ใช้คำว่า การบริหารจัดการมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เช่น รัฐบาลที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2540 และรัฐบาลที่มี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้คำว่า การบริหารจัดการ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังใช้ในพระราชบัญญัติหลายฉบับ เป็นต้นว่า พระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา ก็ได้ใช้คำว่า management administration โดยใช้ในวงวิชาการ และในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
              หนังสือเล่มนี้มุ่งนำเสนอและเผยแพร่ประเด็นสำคัญ 2 ประการ

              ประการแรก คือ การให้ความหมายของการบริหารจัดการซึ่งรวมทั้งการบริหารจัดการที่ยั่งยืนในทิศทางใหม่หรือตามแนวใหม่ที่แตกต่างจากอดีตซึ่ง “มุ่งอธิบายลักษณะทั่ว ๆ ไปของการบริหารจัดการ” แต่ตามแนวใหม่นี้ ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดหรือการให้ความหมายในลักษณะที่การบริหารจัดการเป็น “แนวคิด (concept) ตัวชี้วัด (indicator) หรือตัวชี้วัดสำคัญของการปฏิบัติงาน (Key Performance indicator หรือ KPI) และตัวแบบ (model) ของการบริหารจัดการที่ประกอบด้วยสาระสำคัญของการบริหารจัดการในลักษณะของกลุ่มตัวชี้วัดหลายด้าน” ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นสาระสำคัญแต่ละด้านอย่างเป็นระบบและชัดเจน อันจะทำให้หน่วยงานและบุคลากรของหน่วยงานนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง เช่น การวิเคราะห์ การประเมินผล การพัฒนา หรือการปรับปรุงหน่วยงานและบุคลากรโดยใช้แนวคิด ตัวชี้วัด และตัวแบบที่ชัดเจน รวมทั้งนำไปปรับใช้ในทางวิชาการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การทำวิจัย และการศึกษาต่อยอดต่อไปได้อย่างสะดวก โดยผู้เขียนได้นำเสนอไว้ 50 แนวคิด ตัวชี้วัด และตัวแบบของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมทั้งการบริหารจัดการที่ยั่งยืนด้วย
              ประการที่สอง การมุ่งเสนอคำว่า
“การบริหารจัดการที่ยั่งยืน” ต่อสังคม และนำมาปรับใช้การบริหารจัดการแทนคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนำเสนอ “ความยั่งยืนในเชิงการบริหารจัดการ”

              กล่าวได้ว่า การบริหารจัดการที่ยั่งยืน (sustainable management administration) เป็นคำใหม่ และยังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย  หนังสือเล่มนี้ จึงมุ่งเสนอและเผยแพร่คำนี้อย่างเป็นระบบต่อสังคม โดยหมายถึง “การบริหารจัดการหรือการดำเนินงานใด ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม ซึ่งประกอบด้วย 8 ด้าน ได้แก่ ด้าน (1) เศรษฐกิจ หรือความเจริญก้าวหน้า (2) ความรู้ หรือเทคโนโลยี (3) คุณธรรม หรือจิตใจ (4) คุณภาพชีวิต (5) สังคม หรือส่วนรวม (6) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) ความสมดุล และ (8) เครือข่าย” คำว่า การบริหารจัดการที่ยั่งยืน นั้น มีที่มาจากแนวคิดที่ยั่งยืน (sustainable concept) หรือแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งได้มีการพูดถึงมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมมนุษย์ ปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) และปรากฏอย่างชัดเจนมากขึ้นในรายงานความคืบหน้าหลังการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่กรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) เรียกว่า รายงานบรันดท์แลนด์ (Brundtland Report 1987) แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกนำไปใช้และประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน ในส่วนของประเทศไทยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ได้กล่าวถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาจิตใจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้กล่าวถึงความสมดุลของการพัฒนาไว้ด้วย เช่นนี้ ถือว่าเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน

              สำหรับเหตุผลสำคัญที่ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดที่ยั่งยืน และแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว มาปรับเป็น “แนวคิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน” หรือ “การบริหารจัดการที่ยั่งยืน” โดยปรับเปลี่ยนจากคำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็น การบริหารจัดการที่ยั่งยืน มีดังนี้

                             1) คำว่า “การพัฒนา” แท้ที่จริงหมายถึง “การดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น” (change for the better) ความหมายดังกล่าวนี้ไม่แตกต่างไปจากความหมายของ “การบริหารจัดการ” ที่หมายถึง “การดำเนินงานใด ๆ ของหน่วยงาน และ/หรือ บุคลากรของหน่วยงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

                             2) ทุกวันนี้แนวคิด “การพัฒนา” (development) ได้รับความนิยมลดน้อยลงกว่าแนวคิด “การบริหารจัดการ” (management administration หรือ management หรือ administration) ขยายความได้ว่า แนวคิดที่ยั่งยืน และแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มีปรากฏมานานแล้วนับแต่ปี พ.ศ. 2515 ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2558) ซึ่งไม่น้อยกว่า 43 ปี โดยแต่เดิมนิยมใช้คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะโลกหรือสังคมโลกอยู่ใน “ยุคแห่งการพัฒนา” และนิยมใช้คำว่า การพัฒนา กันอย่างกว้างขวาง ดังเห็นตัวอย่างได้จากในอดีตที่มีการแบ่งประเทศต่าง ๆ ในโลกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed countries) ประเทศที่กำลังพัฒนา (developing countries) และประเทศด้อยพัฒนา  (underdeveloped countries หรือ underdevelopment countries) เป็นต้น ในเวลาต่อมา แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนา รวมตลอดทั้ง “ยุคแห่งการพัฒนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคที่เน้นการพัฒนาชนบท และการพัฒนาเมือง ได้เลือนหายไป พร้อมกับปรับเปลี่ยนมาเป็น “ยุคแห่งการบริหารจัดการ” ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) การบริหารจัดการสมัยใหม่ (New Public Management หรือ NPM และ New Public Administration หรือ NPA) การมีและใช้เทคโนโลยีและระบบเครือข่ายที่ทันสมัย การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว รวมทั้งเป็นยุคที่สอดคล้องกับสภาพของสังคมโลกที่ประเทศต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลันจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมทุนนิยม อีกทั้งประชาชนโลกอยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน (globalization) ที่ใช้อินเทอร์เน็ต (internet) และสื่อสังคม (social media) กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง เหล่านี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืนที่มีแนวโน้มเข้ามาแทนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ หน่วยงานและบุคลากรของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน อาจนำแนวคิดการบริหารจัดการที่ยั่งยืนไปปรับใช้ในการบริหารจัดการ ในการปฏิบัติงานจริง และในทางวิชาการได้ ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก

              ในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของแนวคิด ตัวชี้วัด และตัวแบบของการบริหารจัดการแต่ละตัวแบบนั้น ผู้ศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอในภาพรวมที่เน้นเฉพาะประเด็นสำคัญและจำเป็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อให้อ่านและเข้าใจง่าย รวมตลอดทั้งเพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการนำไปปรับใช้ การศึกษาแบบเจาะลึก และการศึกษาต่อยอดต่อไป ทั้งนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอความเป็นมา ข้อดีข้อเสีย และการวิเคราะห์เจาะลึกในแต่ละแนวคิด ตัวชี้วัด และตัวแบบของการบริหารจัดการ

              หนังสือเล่มนี้ นับเป็นหนังสือทางวิชาการเล่มที่ 41 ของผู้เขียนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จากสำนักพิมพ์ และหากหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์และความดีเกิดขึ้น ก็ขอมอบให้บุตรสาว ดร. วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และบุตรชาย นายอัชฌะศิษฏ์ (วีรฐา) ที่กำลังศึกษาปริญญาโทที่นิด้า ขอให้นำความรู้ทางวิชาการ ความสามารถ และประสบการณ์มาช่วยกันพัฒนาประเทศไทยในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามครรลองของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต่อไป

 

                                                    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                    ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

                                                    คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
                                                   
200 ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 5) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

                                                    12110 โทร. 02-577-1027-31 เว็บไซต์ : www.wiruch.com

                                                    อีเมล์ : newemail2556@gmail.com และ wiruch@wiruch.com

                                                    กุมภาพันธ์ 2559

 

 

สารบัญ

 

บทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการ

                1. บทนำ
                2. แนวคิดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ 
                            2.
แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหาร
                            2.2
ความสำคัญของการบริหารภาครัฐ
                           
2.3 ภาพรวมความเป็นมาของคำที่หมายถึงการบริหารภาครัฐ
                           
2.4 ความหมายของการบริหาร
                            2.5 ความหมายของการจัดการ
                            2.6 ความหมายของการบริหารการพัฒนา

                            2.7 ความหมายของการบริหารจัดการ

                            2.8 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ

              3. บทสรุป 

 

บทที่ 2 การบริหารจัดการที่ยั่งยืน                                                                          

              1. บทนำ

              2. ความเป็นมา ความสำคัญและความจำเป็นของการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

                            2.1 ความเป็นมาของการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

                            2.2 ความสำคัญและความจำเป็นของการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

              3. แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ยั่งยืน 

                            3.1 แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ยั่งยืนที่ปรากฏอยู่ใน
                                 พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                            3.2 แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ยั่งยืนที่ปรากฏอยู่ใน
                                 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 

                            3.3 แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ยั่งยืนที่ปรากฏอยู่ใน
                                 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 

              4. ความหมาย และสาระสำคัญของการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

                             4.1 ความหมาย

                             4.2 สาระสำคัญของการบริหารจัดการที่ยั่งยืน

              5. บทสรุป

 

บทที่ 3 ตัวชี้วัด และตัวแบบของการบริหารจัดการ 

              1. บทนำ

              2. 50 ตัวชี้วัด และตัวแบบของการบริหารจัดการ 

              3. บทสรุป

 

บรรณานุกรม

ผลงานทางวิชาการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2558