หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 
 

การบริหารจัดการยุคดิจิทัล

Digital Era
Administration

  

 

โดย

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์

มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

สิงหาคม 2561

 

คำนำ

 
              หนังสือ “การบริหารจัดการยุคดิจิทัล” เล่มนี้ มุ่งหวังผลในทางวิชาการและในทางปฏิบัติ หนึ่ง ในทางวิชาการ เขียนขึ้นสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยไม่เพียงมุ่งให้เป็นแหล่งที่มา (resource) ของข้อมูลที่เป็นวิชาการและความคิดเห็นเพื่อนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้ใช้เป็นพื้นฐานหรือเป็นแนวทางสำหรับการเรียน การสอน การวิจัย รวมทั้งนำไปทำวิจัย และพัฒนาต่อยอดต่อไป (research and development) เพื่อเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการของหน่วยงานอีกด้วย ข้อมูลที่เป็นวิชาการและความคิดเห็นจากหนังสือเล่มนี้ ไม่อาจค้นหาจากอินเทอร์เน็ต (internet) ได้ง่าย อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ตก็เป็นข้อมูลที่กระจัดกระจาย สะเปะสะปะ ไม่เป็นหมวดหมู่ที่ตรงประเด็น และบางส่วนก็ล้าสมัยไม่เหมาะกับการนำมาอ้างอิง แต่หนังสือเล่มนี้ เป็นข้อมูลใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานแนวคิดทางวิชาการและทางการปฏิบัติ พร้อมกับนำข้อมูลจากหนังสือวิชาการของต่างประเทศและงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วมาสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุม เพิ่มคุณค่าทางวิชาการ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์การบริหารจัดการของโลกและของไทยในปัจจุบันและอนาคต เช่นนี้ อาจนับได้ว่า เป็นลักษณะของการสร้างองค์ความรู้ (body of knowledge) หรือสร้างความรู้ทางวิชาการใหม่ กล่าวคือ ผลจากการศึกษาและนำเสนอข้อมูลจากหนังสือครั้งนี้ จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ หรือความรู้ทางวิชาการใหม่ ซึ่งหมายถึง ความรู้ที่กำหนดขอบเขตและระบุเฉพาะเจาะจงได้ เป็นสิ่งที่สร้าง ผลิต พัฒนา เผยแพร่ ถ่ายทอด และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ สอง สำหรับความมุ่งหวังผลในทางปฏิบัตินั้น เนื้อหาสาระสำคัญจากหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ประกอบด้วย 10 ด้าน หน่วยงานและบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนอาจนำไปปรับใช้เป็นตัวแบบ และกลุ่มตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicator หรือ KPI) อำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน เช่น การวางแผน การกำหนดวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การปฏิบัติงาน เป็นต้น และ สาม ในส่วนของประชาชน สาระสำคัญที่ได้จากการศึกษาการบริหารจัดการยุคดิจิทัลทำให้ประชาชนเกิดความรู้ และความเข้าใจ พร้อมทั้งใช้เป็นพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตใด ๆ ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การบริหารจัดการ และเทคโนโลยีโลกสมัยใหม่ว่าประกอบด้วยสาระสำคัญใดบ้างตามแนวคิดของการบริหารจัดการยุคดิจทัล ที่สำคัญคือ ประชาชนยังนำข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่อาจแบ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริง (fact) และความคิดเห็น (opinion) ไปปรับใช้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การอภิปราย การวิเคราะห์ การบริหารจัดการ ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป

              การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาครัฐ อาจจัดแบ่งเป็น 3 ยุคที่ชัดเจนได้แก่ ยุคเดิม ยุคใหม่หรือยุคข้อมูลข่าวสาร (ขณะนี้ พ.ศ. 2560 อยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร) และยุคดิจิทัล กล่าวได้ว่า การบริหารจัดการภาครัฐที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) หรือเรียกว่า New Public Administration หรือ NPA)) ที่นิยมใช้กันในทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ได้ล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากการเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ต (internet) เว็บไซต์ (website) เทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำสมัย (modern and advanced technology) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology) ระบบเครือข่าย รวมตลอดทั้งระบบการให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น โดยการบริหารจัดการยุคดิจิทัลได้เข้ามาแทนที่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน ดังคำกล่าวที่ว่า New Public Management is Dead--Long Live Digital Era Government ยิ่งไปกว่านั้น การบริหารจัดการยุคดิจิทัลจะเป็นอนาคตของการบริหารจัดการภาครัฐ (the future of public administration) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง ครอบคลุม ต่อเนื่องในเรื่องที่หน่วยงานและบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร เครือข่าย รวมตลอดไปถึงข่าวสารที่ทันสมัยและล้ำสมัยมาใช้ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนอย่างเป็นระบบด้วยทีมงานและมีความเป็นมืออาชีพ

              หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาสาระครอบคลุม 2 บท ได้แก่ บทที่ 1 "แนวคิดการบริหารจัดการ" เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะศึกษาบทที่ 2 "การบริหารจัดการยุคดิจิทัล" ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมา ความสำคัญ ความจำเป็น และความหมายของการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ประกอบด้วย 10 ด้าน ซึ่งเรียกว่า 2(PDICT) โดยทั้ง 10 ด้านนั้น ได้แก่ ด้าน (1) การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชน (People) (2) ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) (3) ความน่าเชื่อถือ (Dependability) (4) ความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) (5) การริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) (6) การปรับปรุงตลอดเวลา (Improvement) (7) ความสะดวกรวดเร็ว (Convenience) (8) การประสานงานอย่างเป็นเครือข่าย (Coordination Network) (9) การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Technology) และ (10) การทำงานเป็นทีม หรือทีมงาน (Teamwork)

              หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือทางวิชาการเล่มที่ 42 ที่ผู้เขียนเขียนติดต่อกันมา 30 ปี และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จากสำนักพิมพ์เสมอมา ผู้เขียนจึงขอขอบพระคุณสำนักพิมพ์ที่ช่วยพิมพ์เผยแพร่มา ณ โอกาสนี้ด้วย พร้อมกันนั้น หากหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์และความดีเกิดขึ้น ก็ขอมอบให้บุตรชาย นายอัชฌะศิษฏ์ (วีรฐา) ที่กำลังจะสำเร็จปริญญาเอก และเมื่อสำเร็จแล้ว ขอให้นำความรู้ทางวิชาการ ความสามารถ และประสบการณ์มาช่วยกันพัฒนาประเทศไทยในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามครรลองของประชาธิปไตยซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการบริหารจัดการยุคดิจิทัลต่อไป

 

 

                                                   วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                          ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

                                                           คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

                                                           200 ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 5) อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

                                                           12110 โทร. 02-577-1027-31 เว็บไซต์ : www.wiruch.com

                                                           อีเมล์ : newemail2556@gmail.com และ wiruch@wiruch.com

                                                           สิงหาคม 2561

 

 

 

สารบัญ

 

บทที่ 1 แนวคิดการบริหารจัดการ

                1. บทนำ
                
2. แนวคิดและความหมายของการบริหารจัดการ        

                             2.แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหาร          

                             2.2 ความสำคัญของการบริหารภาครัฐ                       

                             2.3 ภาพรวมความเป็นมาของคำที่หมายถึงการบริหารภาครัฐ    

                             2.4 ความหมายของการบริหาร   

                             2.5 ความหมายของการจัดการ    

                             2.6 ความหมายของการบริหารจัดการ 

                             2.7 การวิเคราะห์เปรียบเทียบ 

                 3. บทสรุป                                                                                      

 

บทที่ 2 การบริหารจัดการยุคดิจิทัล                                                                         

 

                 1. บทนำ         

                2. ความเป็นมา ความสำคัญ และความจำเป็นของการบริหารจัดการยุคดิจิทัล             

                            2.1 ความเป็นมาของการบริหารจัดการยุคดิจิทัล                                 

                             2.2 ความสำคัญและความจำเป็นของการบริหารจัดการยุคดิจิทัล                     

                               2.3 แนวคิดการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
                                  และสังคมแห่งชาติ
                                                                          

                             2.4 ความเป็นมาของรัฐบาลดิจิทัลในไทย                               

                 3. ความหมายของการบริหารจัดการยุคดิจิทัล 10 ด้าน                                                

                             3.1 การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชน (People)                      

                             3.2 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)                                                           

                             3.3 ความน่าเชื่อถือ (Dependability)                                                                  

                             3.4 ความเป็นประชาธิปไตย (Democracy)                                                           

                             3.5 การริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative)                                                               

                             3.6 การปรับปรุงตลอดเวลา (Improvement)                                                        

                             3.7 ความสะดวกรวดเร็ว (Convenience)                                                             

                             3.8 การประสานงานอย่างเป็นเครือข่าย (Coordination Network)                         

                             3.9 การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Technology)                                                    

                             3.10 การทำงานเป็นทีม หรือทีมงาน (Teamwork) 

                   4. บทสรุป          

                             4.1 การบริหารจัดการยุคดิจิทัล 10 ด้าน พร้อมทั้งตัวอย่างสาระสำคัญแต่ละด้าน

                             4.2 การเปรียบเทียบแนวคิดการบริหารจัดการยุคดิจิทัลกับ
                                  แนวคิดการบริหารจัดการอื่น                                                                                        

บรรณานุกรม     

ผลงานทางวิชาการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2561