หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 

 
 

                                                                      พิมพ์ครั้งที่ 1, 2563                          
 

 

ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล
Values of State Officials
to Serve the Digital Era
Administration

โดย

รองศาสตราจารย์ ดร. วิรัช  วิรัชนิภาวรรณ
อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
2563

 

                                         คำนำ


           
หนังสือ "ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล" เล่มนี้ ผู้เขียนมีความเชื่อพื้นฐาน 3 ประการที่เกี่ยวเนื่องกัน ประการที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบสำคัญในการอำนวยความสะดวกและในการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคดิจิทัล (the Digital Era) ที่มุ่งเน้นเรื่อง (1) การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชน (2) ความเป็นมืออาชีพ (3) ความน่าเชื่อถือ (4) ความเป็นประชาธิปไตย (5) การริเริ่มสร้างสรรค์ (6) การปรับปรุงตลอดเวลา (7) ความสะดวกรวดเร็ว (8) การประสานงานอย่างเป็นเครือข่าย (9) การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และ (10) การทำงานเป็นทีม ประการที่สอง ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศมีส่วนสำคัญทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายมีประสิทธิภาพ ทันสมัย และมีมาตรฐานสากลไม่มากเท่าที่ควร ส่งผลให้ประเทศชาติเสียหายและประชาชนเสียผลประโยชน์ สำหรับตัวอย่างค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เช่น (1) ค่านิยมของการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ (2) ค่านิยมที่ยึดถือระบบพวกพ้องในทางมิชอบ (3) ค่านิยมที่ใช้อำนาจบังคับ (4) ค่านิยมที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (5) ค่านิยมที่มุ่งเอาชนะฝ่ายตรงข้ามโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล และ (5) ค่านิยมที่เห็นผิดเป็นชอบเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม เป็นต้น และ ประการที่สาม หากหน่วยงานของรัฐปล่อยให้เหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรเป็นไปขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว ย่อมมีแนวโน้มทำให้ประชาชนและประเทศชาติต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) หรือเรียกว่า ระบอบข้าราชการ (Bureaucratic Regime) ซึ่งเป็นระบอบที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของข้าราชการประจำ (Bureaucratic Regime) ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ทั้งในและนอกราชการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นเครือข่ายต่อไปอีก ไม่เพียงเท่านั้น โอกาสที่ประชาชนจะได้รับการอำนวยความสะดวกและบริการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในทิศทางที่ริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีและเครือข่ายที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว และมีความน่าเชื่อถือ ตามแนวคิดการบริหารจัดการยุคดิจิทัล ควบคู่ไปกับการที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งรวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ และถ่วงดุลหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้ขอบเขตของกฎหมายคงเกิดขึ้นได้ยาก

               คำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" นั้น หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานที่มีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐหรือแนวนโยบายแห่งรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ หรือที่เรียกชื่ออื่นใดทั้งในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการอื่น ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ในอดีตสมัยสุโขทัย เรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ลูกขุน ในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เรียกว่า ขุนนาง และข้าราชการ และในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ได้มีการนำคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ มาใช้ โดยเป็นคำกลาง ๆ และอาจเรียกว่า ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ เจ้าพนักงานของรัฐ หรือเรียกอย่างอื่น ก็ได้ ส่วน "ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" นั้น หมายถึง ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ พฤติกรรม หรือการกระทำต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ยึดถือและนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและการให้บริการประชาชนสืบทอดกันมาอย่างถาวรหรืออย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีมานาน มีทั้งที่เป็นอุปสรรคและที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ อีกทั้งค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาขึ้นมาใหม่ได้ ตัวอย่างค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านบวกที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น เช่น (1) ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต การตรวจสอบได้ และความน่าเชื่อถือ (2) ค่านิยมที่ยอมรับการเปิดกว้าง การริเริ่มสร้างสรรค์ ความทันสมัย ความสะดวกรวดเร็ว และมาตรฐานสากล (3) ค่านิยมที่ไม่ใช้ความรุนแรง และไม่สร้างความแตกแยก (4) ค่านิยมที่ละอายและเกรงกลัวต่อการทำสิ่งไม่ดี (5) ค่านิยมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และ (6) ค่านิยมที่ยอมรับการมีส่วนร่วม การคิดและการเห็นต่าง เป็นต้น

              จากความเชื่อพื้นฐาน 3 ประการ สาระสำคัญของการบริหารจัดการยุคดิจิทัล ความหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐข้างต้น ประกอบกับตำรา หนังสือ หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีน้อยมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในมุมมองของนักบริหารจัดการภาครัฐ และเอกสารที่เกี่ยวกับค่านิยมบางส่วนได้กระจัดกระจายขาดการจัดระบบ ทั้ง ๆ ที่ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกหรือแขนขาสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยนับแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ยังเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทุกวงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศแล้ว พฤติกรรมหรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและให้บริการสาธารณะประชาชนย่อมล้มเหลวหรือไม่ได้ผลมากเท่าที่ควรตามไปด้วย

               การศึกษาครั้งนี้มีสาระสำคัญที่ครอบคลุมแต่ละหัวข้ออย่างสอดคล้องกัน ได้แก่ (1) แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  (2) วิวัฒนาการของค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงปัจจุบัน (3) ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 13 ประการ และสาเหตุ (4) ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น 13 ประการ และ (5) แนวทางการพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล

              การศึกษาครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ และการบริหารจัดการยุคดิจิทัล ทั้งนี้ ภายใต้อุดมการณ์และแนวคิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับนำแนวคิดการบริหารจัดการยุคดิจิทัลมาปรับใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน สำหรับวิธีการนำเสนอเป็นลักษณะของกระบวนการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบที่เน้นการวิจัยเอกสาร (documentary research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ซึ่งส่วนหนึ่งใช้วิธีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ (historical approach) เช่น วิวัฒนาการของค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงปัจจุบัน เป็นต้น ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริง (fact) และความคิดเห็น (opinion) จากหนังสือ ตำรา เอกสาร อินเทอร์เน็ต (internet) การสังเกตการณ์ ตลอดจนขอคำแนะนำปรึกษาจากผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากนั้น จึงนำข้อมูลมาประมวล จัดกลุ่ม แปลความ และวิเคราะห์ รวมทั้งเขียนพรรณนาหรือบรรยาย (descriptive interpretation and descriptive analysis approach) ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น มีข้อมูลบางส่วนที่ผู้ศึกษาใช้การวิเคราะห์แบบทำนายหรือคาดคะเน (predictive analysis) เช่น ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น 13 ประการ เป็นต้น สำหรับการเขียนพรรณนาหรือบรรยายนั้น เป็นการอธิบาย ขยายความ และแสดงเหตุผล พร้อมกับเสนอภาพและตารางไว้ด้วยตามความจำเป็น ในเวลาเดียวกัน ผู้ศึกษาได้เขียนอ้างอิงแบบเชิงอรรถ (footnote) ไว้อย่างชัดเจนและเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและนำข้อมูลที่เขียนไว้ไปใช้ต่อไปได้ง่ายและสะดวก

              หนังสือเล่มนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) การทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ หรือเกิดการสร้างความรู้ทางวิชาการใหม่และนำไปพัฒนาต่อยอดได้ด้วย เช่น วิวัฒนาการ และแนวทางการพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล (2) ประโยชน์ในทางวิชาการ เช่น หน่วยงานของรัฐนำข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและความคิดเห็นใช้ในการวางแผน การกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดยุทธศาสตร์ ตัวแบบ (model) และกลุ่มตัวชี้วัดสำคัญของการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicators หรือ KPIs) สำหรับสถาบันการศึกษาอาจนำข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่เป็นอุปสรรค และที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลไปปรับใช้สำหรับการเรียน การสอน ตลอดจนการทำวิจัยและการพัฒนา (research and development) ต่อยอดต่อไป (3) ประโยชน์ในทางปฏิบัติ โดยหน่วยงานของรัฐ และ/หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นำข้อเสนอแนะ เช่น แนวทางการพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล 13 ประการ ไปปรับใช้ในทางปฏิบัติจริง และ (4) ประโยชน์ต่อประชาชน หากนำไปศึกษา ย่อมช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล และนำไปปรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วม รวมตลอดทั้งการติดตาม และการตรวจสอบผลการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่อไป นอกจากที่กล่าวมาแล้ว นักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ยังนำเนื้อหาสาระจากหนังสือเล่มนี้ ไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านจิตใจ โดยเฉพาะค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมตลอดทั้งวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เรียกชื่อแตกต่างกันดังกล่าวแล้วข้างต้น

              หนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มที่ 43 ที่ผู้ศึกษาเขียนขึ้นและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนประมาณ 2 เดือน เนื่องจากได้นำผลงานในอดีตซึ่งผู้ศึกษาได้เขียนเริ่มแรกเมื่อ 30 ปีมาแล้ว คือ ในปี พ.ศ. 2532 ภายใต้ชื่อหนังสือ เรื่อง "ค่านิยมของข้าราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชนบท : สาเหตุและแนวทางแก้ไข" ต่อมาอีก 15 ปี คือ ในปี พ.ศ. 2547 ได้ปรับปรุงเพิ่มเติม และจัดพิมพ์ภายใต้ชื่อหนังสือ เรื่อง "ค่านิยมของข้าราชการไทยในยุคปฏิรูประบบราชการ" โดยสำนักพิมพ์นิติธรรม และล่าสุดซึ่งเป็นเวลาอีก 15 ปีต่อมา คือ ในปี พ.ศ. 2562 (ปัจจุบัน) นี้ ได้จัดพิมพ์ภายใต้ชื่อ "ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล" เล่มนี้ โดยสำนักพิมพ์โฟร์เพซ ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้นำข้อมูลเดิมมาแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการบริหารจัดการของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเพิ่มข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น เป็นต้นว่า ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 13 ประการ ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น 13 ประการ และวิวัฒนาการของค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งเพิ่มชุดความคิดทางวิชาการที่ชัดเจนและนำไปปรับใช้ในการทำวิจัยอย่างเป็นระบบไว้ด้วย หากในอนาคตมีข้อบกพร่องเกิดขึ้น  ผู้ศึกษาก็จะเก็บสะสมไว้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป ส่วนความดีของหนังสือเล่มนี้ ขอมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีค่านิยมที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล รวมทั้งยอมรับและเชื่อมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเสมอภาค ในเวลาเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้นโดยมีสิทธิและเสรีภาพตามมาตรฐานสากลพร้อมทั้งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

 

                                              วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
                                              ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  
                                              
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
                                              
200 ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 5) อำเภอธัญบุรี
                                              จังหวัดปทุมธานี 12110 โทร. 02-577-1027-31
                                              
เว็บไซต์ : www.wiruch.com
                                              
อีเมล์ : newemail2556@gmail.com และ 
                                                     
wiruch.com@gmail.com
                                              27 พฤษภาคม 2562

 

 

 

สารบัญ
 

คำนำ
สารบัญ
                                                        
สารบัญภาพ                                                      
สารบัญตาราง

บทที่
บทนำ

              1. ความเป็นมาและความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา                     
              2. ปัญหาของเรื่องที่ศึกษา                                           
    
              3. วัตถุประสงค์ของการศึกษา              
              4. กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา   
              5. ขอบเขตของการศึกษา                                           
              6. ข้อจำกัดของการศึกษา     
              7. ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง             
              8. ระเบียบวิธีการศึกษา           
              9. คำจำกัดความที่ใช้ในการศึกษา
            10. ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา
            11. สรุป
 

บทที่
แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ                
               1. ความนำ
              
2. แนวคิดและความหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ค่านิยม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และความสัมพันธ์                   
              
3. สรุปและวิเคราะห์  

บทที่
3 วิวัฒนาการของค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ          
               1. ความนำ    
              
2. ภาพรวมวิวัฒนาการของค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐจากอดีตถึงปัจจุบัน
               3
. สรุปและวิเคราะห์                

บทที่
4 ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และสาเหตุ          
              1
. ความนำ   
              2
. ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 13 ประการ   
              3
. สาเหตุการเกิดค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่จัดแบ่งเป็นสาเหตุที่เกิดจากระบบภายใน และสาเหตุที่เกิดจากระบบภายนอก    
              4
. สรุปและวิเคราะห์  

บทที่ 5 ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น
 
              1. ความนำ   
             
2. ค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ควรเป็น 13 ประการ 
              3
. สรุปและวิเคราะห์    
 
บทที่ 6 แนวทางการพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัล 
              1
. ความนำ     
              2. แนวทางการพัฒนาค่านิยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ส่งเสริมการบริหารจัดการยุคดิจิทัลที่ตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐและที่สภาพแวดล้อมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  
              3
. สรุปและวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ                 

บรรณานุกรม
     
              1. ภาษาไทย          
              2. ภาษาอังกฤษ         


ภาคผนวก
ผลงานทางวิชาการที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2562