หน้าหลัก ประวัติและสถานที่ติดต่อ วัตถุประสงค์ ตำรา หนังสือ ผลงานวิจัย บทความ ผลงานอื่น

 

 
 

 คำนำ

          แม้รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท ได้มีการระดมความรู้ความสามารถจากหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชนบท พร้อมทั้งมีการกำหนดนโยบายและบรรจุแผนพัฒนาชนบทไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ปัญหาของประชาชนในชนบทก็ยังไม่อาจทำให้หมดสิ้นไปได้ นอกจากนี้ ในขณะที่การพัฒนาประเทศชาติและการพัฒนาชนบทดำเนินการไป ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ในชนบทก็ได้ถูกใช้ ถูกทำให้เสื่อมสภาพและถูกทำลายไปไม่น้อย ยิ่งการพัฒนาที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศกว้างขวางขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ ถูกทำให้เสื่อมสภาพ และถูกทำลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กอปรกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปอย่างขาดระบบ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างระหว่างทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมอันส่งผลกระทบมาถึงประชาชนโดยส่วนรวม         ปัจจุบันได้มีการให้ความสนใจกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และองค์กรในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การเปิดโอกาสให้องค์กรในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง โดยได้บรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ในนโยบายของรัฐบาลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ตลอดจนในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ด้วย 

   เพราะฉะนั้น การศึกษาและเขียนเป็นหนังสือเรื่อง "การบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ : บทบาทขององค์กรในท้องถิ่น" ในภาพรวม จึงเป็นสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในชนบทควบคู่กันไปด้วย (sustainable environmentally sound developmant)

      ในการเขียนหนังสือครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ได้รับผลการศึกษาและได้รับแนวความคิดที่แตกต่างไปจากการศึกษาหรือการวิจัยที่มีอยู่แล้ว อันจะเป็นประโยชน์สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติขององค์กรในท้องถิ่นในอนาคตภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในเรื่องความรู้ความสามารถขององค์กรในท้องถิ่น เรื่องงบประมาณหรือเงื่อนเวลา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทที่กำลังเรียนหรือสนใจในเรื่องการพัฒนาชนบท การบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบทบาทขององค์กรในท้องถิ่นไม่มากก็น้อย

       สำหรับข้อบกพร่องที่เกิดมีขึ้น ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ และจะนำไปแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป

                                                    วิรัช วิรัชนิภาวรรณ

                                                    ภาควิชาสังคมศาสตร์

                                                    คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

                                                    มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                                                    2535